“อยากออกไปแตะขอบฟ้า แต่เหมือนโชคชะตาจะไม่เข้าใจ”
การศึกษาคือใบเบิกทางที่ยั่งยืนที่สุดในโลก เปรียบเสมือนทางด่วนที่จะพาเราไปเจอสิ่งดีๆ อย่างความมั่นคง อาชีพการงาน และความก้าวหน้าในชีวิต แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถขึ้นทางด่วนแห่งชีวิต หรือเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน โดยเฉพาะกับการศึกษาปริญญาโท
เงินทุน เป็นปัญหาสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนให้มนุษย์คนหนึ่งล้มเลิกความฝันการไปเรียนต่อต่างประเทศ แม้จะมีคำกล่าวที่ว่า การศึกษาสามารถทำได้ตลอดชีวิต แต่ก็อย่าหลงลืมไปว่า การศึกษาส่วนใหญ่ต้องใช้ทุนทั้งสิ้น
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ Mutual ติดต่อไปคุยกับ ดิว – ปียาภัสณ์ สุทธิพงษ์ชัย Co-Founder มูลนิธิมาทิลดา เจ้าของโครงการกองทุนกู้ยืมเรียนปริญญาโทโดยไม่คิดดอกเบี้ย ที่มีจุดยืนว่า “เราสัญญาว่าจะให้ทุนแก่คุณ โดยมีเงื่อนไขว่าคุณจะต้องจ่ายคืน ไม่ใช่ให้เรา แต่เพื่อคนรุ่นหลัง”
ความมั่นคงของคนมาจากการศึกษา
“วันนี้เราให้คุณยืม คุณใช้คืนให้รุ่นถัดไป”
ประโยคข้างต้น คือสิ่งที่ ‘มูลนิธิมาทิลดา’ เขียนลงในเว็บไซต์ และเพจของมูลนิธิ เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนรู้จักกับโครงการ Break Your boundary (BYB) ของมูลนิธิที่จะมอบทุนกู้ยืมการศึกษาให้กับผู้ที่ต้องการจะเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศโดยไม่จำกัดกรอบเวลา ไม่คิดดอกเบี้ย และเงินทุนที่จ่ายคืนนั้นจะนำมาเป็นเงินทุนสำหรับนักเรียนในรุ่นต่อไป โดยที่มูลนิธิไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ
มูลนิธิมาทิลดาก่อตั้งขึ้นในปี 2564 ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการศึกษา เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งเสริมผู้เรียนที่แสดงความมุ่งมั่นในการศึกษา และความตั้งใจในการคืนโอกาสกลับสู่สังคม
“จุดยืนของการก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาจากชุดความคิดง่ายๆ เลย คือ เรามองเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ยังไม่มีนโยบายรัฐที่เข้าไปแก้ไข ” ดิวกล่าว

เพราะเรียนจบด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ทำให้ดิวสนใจปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย จึงรวมกับครอบครัวเพื่อตั้งมูลนิธิมาทิลดา และออกแบบโครงการให้ทุนต่างๆ โดยมีโครงการหลักอยู่สองโครงการ และเน้นที่สองเป้าหมาย คือ ให้ทุนกับ โรงเรียนห่างไกล และการจัดตั้งกองทุนกู้ยืมสำหรับเรียนต่อปริญญาโทในต่างประเทศโดยไม่คิดดอกเบี้ย
“เราเห็นว่าปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือความเหลื่อมล้ำ และเชื่อว่าเพื่อแก้ปัญหานี้ สิ่งที่เราต้องการในปัจจุบัน คือการเพิ่มจำนวนชนชั้นกลางให้มีจำนวนมากขึ้น แต่คนจำนวนมากกลับไม่สามรถก้าวข้ามชนชั้นได้ เพราะไม่มีปัจจัยที่พาเขาก้าวข้ามชนชั้นไป ซึ่งก็คือการศึกษา เราจึงอยากมาเพิ่มโอกาสการเข้าถึงปัจจัยนั้น”
จากบทความเรื่อง Stronger Economic Growth Will Drive Latin America’ s Middle Class Expansion ของเว็บไซต์ euromonitor.com ที่เผยแพร่เมื่อปี 2019 บอกว่า กลุ่มชนชั้นกลางมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายด้านการบริโภค มีกำลังซื้อหรือความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น มีส่วนในการส่งเสริมการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
นอกจากนี้ รายได้ของรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนา ได้รับผลประโยชน์จากผู้บริโภคกลุ่มนี้ผ่านภาษีที่จัดเก็บได้ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อวงจรแห่งความรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจ
“การศึกษามันพาเราข้ามชนชั้นได้ง่ายขึ้น ดูได้ชัดจากที่คนที่จบนอก กับจบในไทย แม้ว่าจะเป็นสาขาเรียนเดียวกัน คณะเดียวกัน แต่ทั้งเงินเดือน และตำแหน่งงาน หรือโอกาสดีๆ ที่ได้รับต่างกันมาก”
ในมุมมองของดิวมองว่าจริงๆ แล้วปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีทุกระดับ แต่ระดับปริญญาโทกลับมีช่องว่างเยอะกว่าระดับอื่นๆ หากมองกลับไปในระบบการศึกษานั้นแทบไม่มีทุนให้กับคนที่อยากต่อยอดเรียนปริญญาโทอย่างเป็นทางการ หรือถ้าหากมีก็จะเป็นทุนลักษณะของการติดสัญญาที่ต้องกลับมาใช้ทุนด้วยการทำงาน หรือเงื่อนไขผูกมัดอื่นๆ หรือการชิงทุนในองค์กรต่างๆ ก็ต้องเป็นบุคคลที่เก่งระดับหอคอยงาช้าง และต้องเรียนในสาขาวิชาที่จำกัด
“ตอนออกแบบโครงการ เราคิดหนักมาก อยากตอบโจทย์หลายๆอย่างพร้อมกัน คือ อยากสร้างวาทกรรมในสังคมไทยว่าการศึกษาคือการลงทุน ให้มันเข้มแข็ง ไม่อยากต่อยอดแนวคิดที่ว่าคนรวยเอาเงินไปให้คนจนเพื่อช่วยเหลือ แต่คือคนลงทุนกับตัวเอง เราต้องออกแบบบนเงินทุนที่ไม่ได้มีเยอะ สุดท้ายจึงออกแบบเป็นลักษณะทุนกู้ยืม เพราะเมื่อคนต้องคืน เค้าจะคิดมากขึ้นว่า เป้าหมายของเขาจริงๆคืออะไร เขาพร้อมที่จะลงทุนกับตัวเองไหม”
ดิวยอมรับว่าโครงการ Break Your boundary ที่เป็นลักษณะกองทุนกู้ยืมสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนปริญญาโทโดยไม่คิดดอกเบี้ย ยังอยู่ในช่วงของการเป็นพื้นที่ทดลอง ที่ไม่รู้ว่ามันจะสามารถเป็นจิ๊กซอว์ที่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริงไหม ซึ่งก็ต้องรอดูต่อไปในอนาคต

โอกาสที่สองของชีวิต ถ้ายังไม่ใช่…เริ่มใหม่ได้เสมอ
หากใครอยากยื่นเรื่องสมัครขอทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาจากมูลนิธิมาทิลดา เริ่มจากเข้าไปที่เว็บไซต์หลักของมูลนิธิแล้วกดในหมวดสมัครทุน หลังจากนั้นเว็บไซต์ก็จะลิงก์ไปที่หน้า Google Forms หรือแบบฟอร์มออนไลน์เพื่อให้กรอกข้อมูลรายละเอียด ซึ่งจะต้องตอบคำถามสองส่วนหลักๆ คือ รายละเอียดส่วนตัว และอัปโหลดวิดีโอนำเสนอตนเองที่ให้ความยาวประมาณ 3 – 5 นาทีเท่านั้น โดยแบบสอบถามไม่มีส่วนไหนที่ถามถึงผลคะแนน IELTS หรือ TOEFL หรือปริมาณความสำเร็จที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขอทุนกู้ยืมที่ค่อนข้างจะ ‘เรียบง่าย’ ที่มีความแตกต่างจากการขอทุนในที่อื่นๆ
“ทุนของเราไม่จำกัดสาขาวิชา ไม่ได้ให้แก่คนที่เก่งที่สุด หรือให้ทุนกับคนที่เลือกสาขาเรียนที่ตลาดแรงงานต้องการมากที่สุด เกณฑ์พิจารณาสำคัญ คือ แพชชันของการเรียนว่าคุณอยากเรียนวิชานั้นจริงๆ รวมถึงสามารถตอบคำถามได้ว่าวิชานั้นจะเกิดประโยชน์กับตัวคุณยังไง เราไม่จำกัดว่าคุณจบวิชาการที่เกี่ยวข้องมาเป็นพื้นฐานก่อนหรือเปล่า ขอทุนข้ามสายเราก็ไม่ว่า ขอแค่มีใจ”
ดิวเล่าว่า คุณสมบัติสำคัญที่คนขอทุนนี้ต้องมี คือ ประสบการณ์การทำงานมาแล้ว 3 ปี การที่ร่างเกณฑ์นี้ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อวัดความเชี่ยวชาญในการทำงานเพื่อเรียนต่อ แต่เพื่ออยากเป็นโอกาสที่สองของคนที่อยากเปลี่ยนสายเรียน หรือเพิ่งเจอสิ่งที่ชอบหลังจากที่ทำงานมาสักระยะหนึ่ง แล้วต้องการไปต่อยอดต่อในระดับปริญญาโท
“บางคนเรียนจบปริญญาตรีแล้วทำงานในสายนั้นๆ สรุปแล้วทำไปแล้วไม่ชอบ เราเลยต้องกำหนดว่าต้องทำงานมาแล้ว 3 ปีถึงจะขอทุนได้ เพราะการทำงานมาสักระยะหนึ่งพอจะทำให้รู้ใจตัวเองบ้างแล้วว่า สายงานของเรานั้นมันคือสิ่งที่ใช่หรือไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่เราก็อยากเป็นโอกาสที่สองให้เขาไปเจอสิ่งที่ใช่ในระดับปริญญาโท”
ดิวมีมุมมองว่า ระบบการศึกษาไทยส่วนใหญ่มักจะกำหนดกรอบให้เรียนในสิ่งที่ไม่รู้ว่าเหมาะสมจริงกับผู้เรียนหรือเปล่า แต่ต้องเรียนไปเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงาน หรือเพราะกลัวตกงาน ซึ่งรูปแบบระบบการศึกษานี้ ทำให้สังคมเราเต็มไปด้วยคนเก่งที่ไม่กล้าเสี่ยง และไม่กล้านำแนวคิดใหม่ๆเข้ามาใช้ และไม่ได้รักในสิ่งที่ตัวเองทำจริงๆ
“เราเพิ่งตั้งทุนนี้มาได้ประมาณ 2 ปี และเพิ่งแจกทุนไปได้ 1 คนเมื่อปีที่แล้ว เป็นโปรแกรมเรียนปริญญาโทด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ซึ่งก่อนหน้านี้เขาจบปริญญาตรีเกี่ยวกับ การออกแบบเพื่อการสื่อสาร (Communications Design) ซึ่งถ้ามองภาพใหญ่มันเป็นการข้ามสายงานนิดๆ แต่คนขอทุนเขาบอกว่า พอเขาได้ทำงานในระดับหนึ่งก็อยากต่อยอดในเรื่องความรู้ใหม่ๆ มากกว่าต่อยอดที่เขาจบมา”

กองทุนกู้ยืมของมูลนิธิไม่จำกัดว่าแต่ละปีจะต้องให้ทุนประมาณกี่คน แต่จะคัดสรรหลักสูตรที่ผู้ขอทุนเข้ามาให้คุ้มค่าที่สุด และมีแผนการเรียนชัดเจน รวมถึงความอยากเรียนจริงๆ
ให้คะแนนที่ความมุ่งมั่น แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเขาตั้งใจ หรือมีแพชชันเรียนจริงๆ ไม่ใช่แค่ขอทุนแบบหว่านๆ?
“จุดยืนคือเราไม่จำกัดสาขาวิชา จะขอทุนไปเรียนอะไรก็ได้ ซึ่งเราวัดความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้สมัครว่าเขาตั้งใจแค่ไหน คำตอบจากการสัมภาณ์จะสะท้อนความตั้งใจ เช่น ถ้าอยากได้ทุนจริงๆอาจจะบอกที่มาได้ว่าเรียนแล้วเปลี่ยนชีวิตยังไง หรืออยากเรียนเพราะอะไร เพราะคนอื่นแนะนำ หรือเพราะมีประสบการณ์ทดลองมาแล้ว”
“อีกอย่างหนึ่งคือที่บอกว่าไม่คิดดอกเบี้ย ทุนไม่คิดจริงๆ แต่สุดท้ายก็ต้องมีการเซ็นสัญญา รวมถึงทำแผนมาว่าจะชดใช้เงินที่เอาไปยังไง นานแค่ไหน ระยะเวลาเท่าไร คนเราคงไม่คิดมีหนี้ก้อนใหญ่กับสิ่งที่ไม่ใช่ หรือหนี้ที่ต้องแบกรับในอนาคต ซึ่งที่ทำทุนออกมาในลักษณะเงินกู้เพื่อทำให้คนตัดสินใจง่ายขึ้นในส่วนนี้ นอกจากนี้ ถ้าใครได้ทุนไปแล้วยังรู้สึกเรียนไม่รอด หรือไม่ใช่ เราก็ต้องมาคุยกันถึงวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น”
ให้ทุนแก่คุณ โดยมีเงื่อนไขว่าคุณจะต้องจ่ายคืน ไม่ใช่ให้เรา แต่เพื่อคนรุ่นหลัง
คำถามสำคัญที่คาใจใครหลายคนว่า การที่มูลนิธิออกทุนในลักษณะกองทุนไม่คิดดอกเบี้ย แล้วมูลนิธิได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ ดิวตอบว่า ตนเองมีเป้าหมายว่าอยากเปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศไทย
“ถ้าเราลองทำเคสกองทุนกู้ยืมแล้วมันประสบผลสำเร็จแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันก็อาจจะส่งเสียงถึงรัฐบาลได้ว่าจริงๆ student loan หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มันสามารถพาเราข้ามหรือยกระดับประเทศ อาจจะแข่งขันกับสิงคโปร์ได้ ซึ่งมันอาจจะเป็นสิ่งที่ต้องไปปฏิรูปกยศ.”
ดิวให้มุมมองว่าในปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีกยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาโดยรัฐบาล ซึ่งข้อจำกัดเยอะมาก แต่ก็พยายามปฏิรูปมาเรื่อยๆ แต่ยังมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ให้เรียนเฉพาะในประเทศ จำกัดเงินต่อปี จำกัดคณะหรือให้งบไม่เท่ากัน
ข้อมูลการกู้ยืมเงินล่าสุดจากเว็บไซต์ทางการของกยศ. ระบุว่า กองทุนกู้ยืมแบ่งจ่ายเป็น 2 ส่วนคือในส่วนของค่าเล่าเรียนตลอดการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่เกิน 200,000 บาท และค่าครองชีพรายปีไม่เกิน 36,000 บาท สำหรับปริญญาโทกองทุนจะสนับสนุนทุนกู้ยืมแค่ 4 หมวดสาขาวิชาเท่านั้น คือ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตรศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และหมวดแพทยศาสตร์ โดยจะให้ไม่เกิน 200,000 บาท
“ต้องยอมรับว่ากยศ.ก็พยายามปฏิรูปตัวเองมาตลอด เพิ่มเงินให้แต่ละปีมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยได้เรียนมหาวิทยาลัย สนับสนุนคนไทยจำนวนหนึ่งได้ แต่ยังไม่ไปถึงระดับนานาชาติ ซึ่งเราคิดว่ามันน่าจะมีกองทุนอีกหนึ่งกองทุนออกมารองรับในส่วนนี้ อาจจะทำให้เรากลายเป็นประเทศที่น่าสนใจใกล้เคียงกับสิงคโปร์”
ดิวมองว่าโมเดล student loan ของประเทศสหรัฐอเมริกาน่าสนใจไม่น้อย แม้ว่าจะโดนโจมตีในส่วนของที่ว่าการกู้ยืมเรียนจะเก็บดอกเบี้ย แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะมีการเอาเงินกองคลังไปอุดหนุน และล้างดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยืมต้องจ่าย
“ถึงแม้ว่าการทำแบบนี้ได้ต้องใช้งบเยอะ แต่โดยเนื้อในของกองทุนกู้ยืมที่สหรัฐฯ เป็นลักษณะของกองทุนเงินบริจาค ซึ่งเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนเพื่อผลกำไรแล้วกลับมาเป็นทุนเวียนกันไป ซึ่งก็เป็นโมเดลที่อาจจะทํายาก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำ ถ้าเราแบ่งงบดีๆ คล้ายๆ กับกองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย”
ดิวกล่าวเพิ่มอีกว่า จุดประสงค์ของการตั้งมูลนิธิหลายๆ มูลนิธิ คือ หวังว่าปัญหามันจะสิ้นสุดลงไป มันเป็นปัญหาที่เราอยากแก้ แล้วเราไม่สามารถรอให้รัฐแก้ได้ เราก็เลยต้องแก้เอง และหวังว่ามันจะส่งเสียงถึงรัฐบาล