กัลยา ทาสม

กฎหมายคนเข้าเมือง VS สิทธิการศึกษา : ครูปุ๊ กัลยา ทาสม ครูคนแรกที่โดนคดีนำเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาเรียนหนังสือ

“มองในมุมครู เด็กทุกคนเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่ากัน เพราะว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน” 

ครูปุ๊ กัลยา ทาสม เดินทางจากอ่างทองกว่า 100 กิโลเมตรมาที่ ‘สภาทนายความแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์’ เพื่อหอบเอาคดีความและความหวังมาให้ที่นี่ช่วยเหลือ หากใครกำลังงงว่าครูคนนี้คือใคร หรือทำไมต้องรู้จักครูคนนี้

ขอเล่าย้อนก่อนว่า ครูปุ๊ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 โรงเรียนเล็กๆ ในจังหวัดอ่างทอง แต่สิ่งไม่ปกติเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม  มีหมายคดีมาถึงมือครูปุ๊ โดยเนื้อความสรุปได้คือ คณะครู เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน และผู้ใหญ่บ้านรวม 5 คน ถูกตำรวจ สภ.ป่าโมก ดำเนินคดีฐานพาบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และข้อหาให้ที่พักพิง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท 

ครูโดนจับเพราะให้การศึกษาแก่เด็ก 

“คือโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนเล็กในอำเภอป่าโมก แต่ด้วยความที่โรงเรียนเล็ก เด็กน้อยตอนที่ย้ายมาประจำตำแหน่งมีเด็กแค่ 12 คน  จึงทำเรื่องรับเด็กจากที่อื่นๆ มาเรียน ซึ่งกระบวนการแบบนี้ทำมานานแล้ว ผอ.คนก่อนๆ ก็ทำแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งเด็กที่รับเรามาก็จะเป็นเด็กด้อยโอกาสบ้าง เด็กไร้สัญชาติ หรือ เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยบ้าง ซึ่งพวกเขาก็จะมีมูลนิธิวัดสระแก้วเป็นผู้ดูแลที่พักและอาหาร  เรายืนยันว่าเด็กที่เข้าเรียนกับเรามีการทำข้อมูลในการนำเด็กเข้ามารับโอกาสทางการศึกษา หรือเอกสารการเรียนตามระเบียบการรับนักเรียนนักศึกษา 2548 ตามกระบวนการที่ กระทรวงศึกษากำหนด” อ่านเพิ่มเติม

กระบวนการหลักๆ ที่ครูปุ๊กล่าวถึงคือการขอรหัส G ให้แก่นักเรียน รหัส G หมายถึง นักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ซึ่งพวกเขาต้องมีตัวเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา แต่ไม่เกี่ยวกับเลข 13 หลักของกระทรวงมหาดไทย โดยประเทศไทยรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานให้เด็กที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยรวมถึงไม่มีหลักฐานการแสดงตน สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาของไทยได้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ที่ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเดิมจำกัดไว้ให้เฉพาะบางกลุ่ม

“พอมีคนมาเรียนประมาณหนึ่ง บางคนก็ดึงพี่น้องมาเรียนด้วย นักเรียนก็เยอะขึ้นนับรวมๆ ประมาณ 126 คน เราก็โดนตรวจสอบจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง เพราะเห็นว่ามีเด็กจำนวนมากขึ้นเยอะ จนสุดท้ายกลายเป็นว่าเราถูกดำเนินคดีพร้อมกลุ่มผู้ใหญ่บ้านอีก 5 คน ข้อหานำเข้าต่างด้าว และให้ที่พักพิง” 

126 + 5 คือตัวเลขสำคัญในเรื่องนี้ 126 คือ จำนวนนักเรียนไร้สัญชาติ หรือ ‘ต่างดาว ในสายตาของกฎหมาย และ 5 คือ จำเลยในคดีความฐานพาบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และข้อหาให้ที่พักพิง

“พอหลังเกิดเรื่องเด็กทั้งหมดต้องหยุดเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเด็กกลับบ้านที่ส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งชายแดน หรือฝั่งพม่า ถ้าเปิดในเฟสจะมีเด็กทักอินบ็อคมาคุยกับครูตลอดว่า ครูหนูจะได้กลับไปเรียนไหม? เรื่องคดีความก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่เราเสียใจและเสียดายที่สุดคือการที่พวกเขาไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว” 

เรื่องนี้ไม่มีใครอยากยุ่ง เพราะมันซับซ้อนครูปุ๊บอก นั่นจึงทำให้ครูปุ๊เข้าร้องขอความเป็นธรรมกับสภาทนายความฯ ชื่อและภาพของครูปุ๊ได้ปรากฏบนสื่อในวันที่ 2 กรกฎาคมเป็นครั้งแรก ด้วยภาพน้ำตาคลอเบ้า 

“เด็กบางคนเขามาหาเราจูงมือพี่น้องกันมาเพราะอยากเรียน บางคนไม่มีเอกสาร ไม่มีสูติบัตร เราก็พาไปทำเรื่องให้ถูกต้อง พาเรียนหนังสือ บางคนตอนแรกเขาไม่มีความฝัน รู้แค่ว่าอยากทำอาชีพอะไรก็ได้ที่มีเงิน แต่พอเรียนแล้วเขาอยากเป็นพยาบาล เป็นครู เป็นนักดนตรี การศึกษามันทำให้เขาได้ต่อยอด ได้เรียนรู้” 


กฎหมายคนเข้าเมือง VS สิทธิการศึกษา

“มันยากนะ” กวี เจริญเศรษฐี ทนายความที่รับดูแลคดีครูปุ๊ และคนอื่นๆ อีก 5 ราย โดยสิ่งที่ยากคือมันอาจจะนับเป็นเคสแรกที่เกิดการฟ้องร้องกรณีนี้ขึ้น 

“จริงๆ แล้วครูก็ดำเนินตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของกระทรวงศึกษาธิการ  (ศธ.)ในการรับเด็กที่ไม่มีเอกสารทะเบียนราษฏร์หรือไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาเรียน แต่ทางด้านกฎหมาย ตำรวจเข้าถือกฎหมายคนเข้าเมือง คือถ้ามาแบบไม่ถูกต้องก็ต้องโดนจับ ต้องถูกส่งกลับบ้านเกิดไป แต่มุมของครูอยู่ดีๆ เด็กมาบอกว่าอยากเรียนครูก็ต้องรับตามมติที่ยังกำหนดใช้เมื่อปี 2548 ที่เด็กทุกคนต้องมีสิทธิที่จะได้เรียนจริงไหม” ทนายกวีตั้งคำถาม พร้อมบอกปัจจุบันนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนที่พนักงานสอบสวนส่งสํานวนไปถึงชั้นอัยการ รอการร่วมสอบเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไป 

“หลักการของกฎหมายมันดีนะ ทางมติด้านการศึกษาก็บอกว่าให้รับเด็กทุกคนเข้าเรียน และทางด้านกฎหมายเข้าเมือง คือถือเรื่องเอกสารเป็นหลัก แต่เด็กเหล่านี้ถามว่ายากไหมสำหรับการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายสำหรับพวกเขา ตอบว่ายากมากพวกเขาเองยังไม่รู้เลยว่าต้องไปทำอะไรตรงไหนอย่างไร ที่สำคัญคือเรื่องการใช้จ่ายในการดำเนินการ พวกเขาขาดแคลน แต่หลักการปฏิบัติมันมีปัญหามากๆ ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพในเคสของคุณปุ๊ก็ถูกตํารวจจับกุม กล่าวหาว่านําพาเด็กเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ที่พักพิง พูดกันตามจริงในเคสนี้ทางข้อกฎหมายเนี่ยมันเป็นเรื่องของการนําพาหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตํารวจตั้งธงว่าเด็กไม่มีเอกสารต้องผลักดันออก อย่างนี้เด็กทั้งหมดก็จะต้องถูกผลักดันออกจากสู่ระบบต่างๆ ออกนอกระบบการศึกษาทั้งหมด จะไม่ได้เรียน ซึ่งมันขัดต่อหลักการของกระทรวงศึกษาธิการ สุดท้ายผู้ปฏิบัติอย่างครูมาถูกจับกุม” 

ทนายกวีคิดว่ากฎหมายมันควรบูรณาการและเอื้อกว่านี้ พร้อมกับระบุหลักปฏิบัติให้ชัดเจนไปเลยจะได้ไม่เกิดคดีแบบนี้อีก ซึ่งถ้าถือกฎหมายอย่างเคสของครูปุ๊จะมีเด็กจำนวนมากถูกผลักออกไปจากระบบการศึกษากว่า 1 หมื่นรายหรือมากกว่านั้น

“สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่เคยมีฎีกาชัดเจน หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะไปทำให้ข้อกฎหมายมันต่อเนื่องให้มันดีไปเลย” 

ไร้สัญชาติ แต่ต้องไม่ไร้การศึกษา 

ปัญหาประเด็นการศึกษาของเรื่องเด็กไร้สัญชาติในไทยถูกพูดถึงอย่างยาวนาน ข้อมูลองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนไร้สัญชาติที่ไม่ไร้รัฐอาศัยอยู่ถึง 539,696 คน 

เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือสัญชาติใดเลยจะถูกจัดเป็นเด็กไร้สัญชาติ และหากไม่มีเอกสารแสดงตนของรัฐไทย หรือรัฐใดอีก ก็จะกลายเป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติที่ไร้เอกสาร และมักถูกสันนิษฐานว่าเป็นคนที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เด็ก 126 ในคดีความของครูปุ๊ปัจจุบันถูกรับเรื่องและดูแลโดยมูลนิธิกระจกเงา ครูปุ๊เสริมว่าในจำนวนเด็ก 126 คนที่ถูกส่งกลับบางคนเกิดที่ประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่ก็ยังถูกผลักออกไปนอกประเทศ

หลังจากที่ครูปุ๊เป็นข่าว จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมต.ศธ.) ก็เข้าเป็นพยานให้กับครูปุ๊ ด้วยเหตุผลว่าการกระทำของ ผอ.กับพวกจึงเป็นการดำเนินการตามมตครม. เรื่องการให้เด็กไม่มีสัญชาติไทยได้เรียนหนังสือ ได้เสนอต่อสภาความมั่นคง ซึ่งสภาความมั่นคงเห็นชอบ ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลที่เป็นมติสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อ 12 ม.ค. 2548 ที่ตนเองเคยผลักดันสมัยเป็นรมต.ศธ. ดังนั้นแล้วจึงไม่ใช่การทำผิดกฎหมาย

อีกฟากหนึ่งทางคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงาที่รับเรื่องดูแลเด็ก 126 คน ก็มีการทำผลสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กไร้สัญชาติ โดยสรุปผลได้ว่าเป็นเด็กด้อยโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อาข่าในพื้นที่ชายแดนไทย – พม่า โดยน่าจะมีอยู่ 3 กลุ่ม และมีแนวทางจัดการปัญหาสถานะบุคคลที่แตกต่างกัน

1.เด็กที่เป็นราษฎรไทยอยู่แล้ว โดยมีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 ซึ่งบางคนเกิดในประเทศไทย

2.เด็กที่ถือเอกสารแสดงสัญชาติพม่า โดยมีบัตรสีชมพูของเมียนมาที่แปลเป็นไทยได้ว่า ‘บัตรพิสูจน์ความเป็นสัญชาติ’ (ไม่ได้เรียกบัตรประชาชนเหมือนของประเทศไทย) 

3.เด็กที่ยังไม่มีเอกสารแสดงตัวใดๆ กลุ่มนี้ก็จัดการตามข้อเท็จจริงของพวกเขานั่นเอง 

“ปัญหาทุกอย่างจะไม่เกิดเลยถ้าเด็กมีเอกสารชัดเจน แต่เพราะความยากจนทำให้เขาเข้าไม่ถึง เด็กบางคนอยู่ชายแดนพม่า ถ้าจะทำบัตรต่างด้าว วีซ่านักเรียนเพื่อเรียนในไทย ก็ต้องไปทำเรื่องที่เมืองหลวงของพม่า แต่เขาไม่มีเงิน เขายากจน หรือเด็กที่เกิดในไทยแล้วรอสัญชาติก็ต้องให้พ่อแม่ไปทำเรื่อง ซึ่งบางคนก็กลัวถ้าไปทำแล้วโดนจับ หรือต้องมีการพิสูจน์ดีเอ็นเอ เขามีเงินไม่พอหรอก” ครูปุ๊บอกเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ทางมูลนิธิกระจกเงาก็ทำตัวอย่างนำร่องเด็ก 2 คนให้เข้ามาเรียนอย่างถูกกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางแก่เด็กคนอื่นๆ



“สำคัญเลยคือเราอยากรู้การทำเรื่องเด็กแต่ละคนให้มาเรียนถูกกฎหมายอย่างจริงจังต้องใช้เงินเท่าไรเพราะเราไม่รู้เลย” 

ในตอนนี้มีหน่วยงานหลายหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ และถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายหลักปฏิบัติเรื่องการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ ทางศธ. ก็มีการประชุมหารือเรื่องนี้ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาเด็กไร้สัญชาติเป็นจำนวนมากเช่นที่เชียงรายเป็นต้น 

ส่วนทางด้านคดีความของครูปุ๊และอีก 5 คน ทนายกวีบอกว่า “ก็ต้องมีการดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม” 

ครูปุ๊กล่าวทิ้งท้ายว่า หากคดีจะไม่จบในเร็ววัน ยังไงหากจะใช้เวลา 3 ปี 5 ปี เราก็ต้องสู้ เพราะว่าเรา เรามั่นใจว่าเราทําถูกต้อง เราไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่มีการรับเงินเด็ก ไม่มีการทุจริตใด เราต้องการให้โอกาสทางการศึกษากับเด็ก เขาควรจะได้รับการศึกษาเพราะว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ทุกคนต้องการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เขาก็อยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเราก็ควรให้โอกาสเขา 

ปัจจุบันแม้ครูปุ๊จะถูกย้ายจากการเป็นผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ไปเป็นผู้ช่วยที่โรงเรียนอื่น และมีคดีความที่อาจจะส่งผลต่อการต้องโทษวินัยข้าราชครู แต่ในเฟสบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า “กัลยา ปุ๊ ทาสม” ก็ยังคงเขียนเรื่องราวของเด็กๆ ทั้ง 126 คน และยังคงติดต่อหน่วยงานต่างๆ ให้โรงเรียนรับเด็กเหล่านั้นเข้ามาสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

อ้างอิง