กายไม่พร้อม ใจก็พัง ถึงเวลาหรือยังที่มนุษย์ออฟฟิศต้องมีสวัสดิการเรื่องสุขภาพจิตอย่างเป็นทางการ

ณ เวลานี้ ออฟฟิศที่หลายคนอิจฉาไม่ใช่แค่การมีกาแฟดื่มฟรี มีวันลาเกิน 13 วันต่อปี หรือได้ Work From Home ได้อาทิตย์ละ 3 วัน แต่คือการที่ออฟฟิศ หรือบริษัทนั้นๆ มีสวัสดิการด้านสุขภาพจิตแบบจริงจังต่างหาก 

ผลสำรวจปี 2563 ของสมาคมนักจิตวิทยาที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association) พบว่ามนุษย์วัยทำงานกว่า 81% ยึดเอาเกณฑ์สวัสดิการด้านสุขภาพจิตเพื่อพิจารณาในการเลือกงาน

แม้ทุกคนจะเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่าปัญหาสุขภาพจิตอาจจะเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ได้ผูกติดแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และไม่ได้มีแค่เรื่องโรคซึมเศร้า แต่ยังรวมถึงอาการแพนิค ความเครียด หรืออารมณ์แปรปรวน ซึ่งชีวิตการทำงานอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถก่อตัวทำให้เป็นความทุกข์ระดับบุคคลได้ 

พนักงานใจพัง งานไม่เดิน เงินสะดุด เอ้า! 10 20 30 40 ความเสียหายระดับบุคคลจะขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ เหมือนทำนองเพลงที่ร้องได้โดยไม่ต้องมองเนื้อ

Red Flags สวัสดิการที่ต้องการ มากกว่าที่ระบุไว้ประกันสังคม 

อย่าเพิ่งเบื่อ…ถ้าคุณยังเห็นสถิติตัวเลขที่มีคนเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่าเพิ่งปิดหนีตัวเลขคนฆ่าตัวตายที่ไม่เคยลดลงเลย เพราะข้อมูลเหล่านี้คือตัวการันตีว่าหากไม่มีมาตรการป้องกันเรื่องสุขภาพจิตระดับชาติ มนุษย์โลกอาจจะเต็มไปด้วยคราบน้ำตาแห่งความบอบช้ำทางจิตใจ 

ก่อนหน้านี้ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติปี 2562 ผู้นำนานาประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชากรของตนเอง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งต้องบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573

เมื่อปี 2563 ช่วงปีเดียวกับผลสำรวจที่ยกมากล่าวอ้างข้างต้นมีการจัดทำรายงาน “No health without mental health” โดยองค์กรอิสระ United for Global Mental Health ที่ออกหนังสือแถลงการณ์ให้รัฐบาลและฝ่ายนโยบายของทุกประเทศ ต้องบูรณาการบริการด้านสุขภาพจิตในระบบสุขภาพภาพรวม ประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประเทศที่กำลังริเริ่มสร้างหลักประกันสุขภาพ ต้องขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมการรักษาและป้องกันโรคสุขภาพจิต

เพราะการจัดการนโยบายเรื่องสุขภาพจิตในแต่ละประเทศยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม และเด็ดขาดเท่าเรื่องอื่นๆ เช่น สถิติปัจจุบันที่มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง แต่งบประมาณด้านโรคมะเร็งกลับถูกให้ความสำคัญมากกว่า หรือความล้าสมัยของกฎหมาย การฆ่าตัวตายยังถือเป็นอาชญากรรมในอย่างน้อย 23 ประเทศ เป็นผลให้คนส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธสิทธิที่จะมีสุขภาพจิตที่ดี

สำหรับประเทศไทยก็มีการกำหนดสิทธิการรักษาพยาบาลต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงการรักษาโรคจิตเวชได้อย่างครอบคลุม เช่น สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ครอบคลุมการรักษาโรคซึมเศร้าทั้งข้าราชการและครอบครัว หากแพทย์ตรวจแล้วระบุว่าเป็นโรคซึมเศร้าสามารถรักษาทันที ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม 

สิทธิประกันสังคมและบัตรทอง ให้ความคุ้มครองการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชทุกประเภท สามารถใช้สิทธิในโรงพยาบาลที่กำหนดไว้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 

แต่! แม้ข้อกำหนดจะเขียนไว้ว่าสามารถเข้าถึงได้ แต่ก็ไม่ใช่การเข้าถึงแบบง่ายๆ 

“โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมไม่มีจิตแพทย์ ต้องขอย้ายโรงพยาบาล”

“ไปใช้สิทธินะ แต่ต้องรอทั้งวัน ต้องลางานไปเลย”

สารพัดปัญหาที่ชาวโซเชียลเอามาบอกเล่าต่อ สะท้อนถึงความยากของการเข้ารักษา ด้วยข้อจำกัดของโรงพยาบาล จำนวนจิตแพทย์-นักจิตวิทยา ราคายานอกบัญชีที่ต้องจ่ายเพิ่มเอง ยังไม่นับการต้องมานั่งตอบ HR ว่าวันนี้ลาไปไหน? 

ดังนั้นแล้ว ในช่วงนี้มีไวรัลการขิงออฟฟิศตัวเองของเหล่ามนุษย์ทำงานจึงมีการตั้ง Red Flags หรือสัญญาณเตือนไว้ว่าถ้าบริษัทไหนบอกว่าสวัสดิการออฟฟิศ คือ ประกันสังคม ให้หนีไป! เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่เราได้รับอยู่แล้ว (อาจจะเรียกง่ายๆ ว่าการจ่ายเงินซื้อแบบภาคบังคับ ราคาเริ่มต้น 350-750 บาทต่อเดือน) บริษัทไม่สามารถยกเอาสิ่งนี้มาอ้างว่าเป็นสวัสดิการพนักงานได้ 

จะเอาของแทร่ ไม่เอาแบบของแถม 

การเรียกร้องสวัสดิการสุขภาพจิตแบบของแทร่ ที่ไม่ใช่ของแถมจากประกันสังคมจึงเริ่มขึ้น ขอยกตัวอย่างของแทร่ในองค์ระดับโลกที่มีนโยบาย Mental Wellness Benefits อย่างเป็นรูปธรรม 

Unilever บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 172,000 คน มีโครงการเชิงนโยบายมากมายเกี่ยวกับสุขภาพจิตของพนักงาน สร้างแอปพลิเคชันเพื่อให้ปรึกษานักจิตวิทยาภายในองค์กรตลอด 24 ชั่วโมง จัดกิจกรรมรณรงค์ภายในบริษัทเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางจิต และจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการนอนหลับ การออกกำลังกายแก่พนักงาน

Palo Alto Networks ผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลกมีการวางโปรแกรม FLEXBenefits โดยการให้ค่าใช้จ่าย 1,000 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 36,000 บาท) ต่อปีเพื่อให้พนักงานใช้ไปกับสิ่งของที่ชุบชูใจ สามารถเลือกที่ทำงานของตัวเองได้ รวมถึงยังสามารถเข้าถึงบริการ Modern Health ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านสุขภาพจิตระดับโลกที่จะมีโค้ชคอยให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ด้านอาชีพ ด้านการเงิน ที่สามารถเข้าถึงแบบ Video Call ได้ตลอดเวลา 

COCKROACH LABS บริษัทด้านการจัดการข้อมูล สร้างนโยบายที่ครอบคลุมถึงสุขภาพจิตแบบที่ไม่ต้องบอกว่าบริษัทกำลังมีนโยบายสุขภาพจิต ทั้งการมีมื้ออาหารกลางวันของว่างฟรีตั้งแต่จันทร์ถึงพฤหัส วันลาสำหรับพ่อแม่ที่เพิ่งคลอดนานถึง 1 ปี สวัสดิการเบิกการรักษาพยาบาลคนในครอบครัว สิทธิประกันการรักษาสัตว์เลี้ยง พร้อมงบช่วยเหลือการขนย้ายที่อยู่อาศัย ออฟฟิศแบบ Pet-Friendly ซึ่งนโยบายเหล่านี้ใครได้เป็นพนักงานย่อมชีวิตสดใสผิดกับชื่อบริษัทที่แปลว่าแมลงสาบแน่นอน 

ย้อนมาอิจฉาตาร้อนในไทยกันบ้าง บริษัท LINE (Thailand) เปิด LINE Care ให้พนักงานได้โทรปรึกษาปัญหาต่างๆ กับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังมีบริการอาหารเช้าและกลางวันฟรีให้แก่พนักงาน 

บริษัท สิบเอ็กซ์ พลัส จำกัด บริษัทที่ดำเนินธุรกิจประเภทไอที ซึ่งบริษัทก็มีสวัสดิการมอบให้กับพนักงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการกู้บ้านกับธอส. สวัสดิการคอร์สเรียนเสริมทักษะการทำงานทั้งในองค์กรและนอกองค์กร ทุนการศึกษาระดับปริญญาโท สวัสดิการนวดเพื่อสุขภาพ โดยสามารถเลือกร้านนวดเองได้ รวมถึงสวัสดิการโปรแกรมดูแลสุขภาพจิตให้พนักงานโดยนักจิตบำบัดผู้มีความเชี่ยวชาญ

เมื่อ Mutual ลองตั้งคำถามว่า “สวัสดิการอะไรของบริษัทที่คุณชอบ ดีต่อใจจนไม่อยากย้ายไปไหน” คำตอบที่ได้มามีหลากหลาย ที่ไม่ได้ระบุถึงเรื่องจำนวนเงินเดือนเพียงอย่างเดียว 

“Flexible benefit ซื้ออะไรก็ได้ตามใจที่ไม่ผิดศีลธรรมในงบที่บริษัทให้”

“มีเครื่องทำกาแฟเทพ ใน Pantry ซื้อแค่เมล็ดคั่วมาทำได้เลย อร่อยกว่าร้าน”

“นวดแก้ออฟฟิศซินโดรม จัดสัปดาห์ละครั้ง ฟินมาก” 

หรือ 

“Me time ให้พนักงานใช้โควต้าได้คนละ 1 ครั้ง/เดือน สามารถเลิกงานก่อนเวลาปกติได้ 2 ชั่วโมง” 

“ลาคลอดได้ 90 วัน ได้เงินเต็ม ผู้ชายลาช่วยเลี้ยงลูกได้ 30 วัน” 

การใส่ใจพนักงานเป็นเรื่องจำเป็นที่ตำราผู้บริหาร หรือฝ่ายบุคคลไหนๆ ก็ต้องเคยผ่านตามาบ้าง แต่ไม่ใช่แค่กับการหานักจิตวิทยา หรือเบิกงบจ่ายค่าแอปฯ ให้พนักงานนั่งปรึกษา 

ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เมื่อเดือน ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมาโดยระบุว่าสุขภาพจิตในสถานที่ทำงานก็จะนึกถึงเรื่องความเครียดในที่ทำงาน ซึ่งไม่ใช่แค่ความเครียดที่เราต้องเจอภายใน 1 วัน เช่น เดทไลน์ ผู้คน-ลูกค้าที่อาจเข้ากับเราไม่ได้ แต่ต้องมองไปที่ภาพรวมว่าสิ่งเหล่านี้สะสมจนกลายเป็นความทุกข์ทรมานในการทำงานหรือไม่ นำไปสู่ภาวะหมดไฟ

“นโยบายองค์กรที่มุ่งเน้นไปที่ตัวเลขหรือผลลัพธ์โดยไม่แคร์คนทำงาน คือสิ่งที่พนักงานเครียดมาก และที่ตอบตรงกันมากที่สุดคือ ‘หัวหน้า หัวหน้า หัวหน้า’ สิ่งที่จะทำให้คนทำงานไม่เครียดคือการมีหัวหน้าที่เข้าใจและคอยถามความรู้สึกของเขา และ the Right to disconnect ที่ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยว่าจะไม่ต้องตอบอีเมลในช่วงเวลาค่ำและได้พักผ่อนจริงๆ ให้สามารถปิดสวิตช์การทำงานได้จริงๆ รวมถึงการเปิดช่องให้พนักงานเข้าถึงการได้รับบริการหรือการส่งเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพใจ”

ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าการปรับ Toxic Work Environment หรือบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษในองค์กร ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงาน ถ้าหากการสร้างนโยบาย หรือสวัสดิการเรื่องสุขภาพให้แก่พนักงานอาจจะเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับบางบริษัท แต่การเอาใจใส่จากผู้บริหารก็อาจจะช่วยฮีลใจไม่แพ้สวัสดิการที่เป็นตัวหนังสือ 

อาจจะเริ่มจาก การคอยสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ บรรยากาศการทำงานที่ดีต้องมีทั้งผู้พูด และผู้ฟัง ไม่เพียงแค่ความไม่เข้าใจ ไม่ราบรื่นในการทำงาน แต่รวมถึงการรับฟังปัญหาและเสนอแนะวิธีแก้ไข รวมถึงสารทุกข์สุกดิบ อื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องงานได้เช่นกัน 

หากิจกรรมสนุกๆ ให้พนักงานคลายเครียด ถ้าต้องโฟกัสแต่เนื้องานที่ทำอย่างเดียว ยิ่งทำให้คนทำงานรู้สึกเครียดเป็นพิเศษ อาจจะมีการจัดกิจกรรมเล็กๆ สร้างความเป็นกันเอง โดยไม่ต้องมีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้เช่นกัน 

หลายบริษัทอาจจะมองว่าเรื่องพวกนี้คือสิ่งยุ่งยาก แล้วต้องชั่งใจเรื่องกำไรขาดทุนในการสร้าง Manpower แต่หลายๆ บริษัทที่ติดท็อปลิสต์ที่คนอยากทำงานด้วย ก็มีการสร้างนโยบายแบบอู้วู้ว! ที่ดูจะเสียเงินไม่น้อย แต่ผลที่ได้กลับมาคุ้มค่าแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

ฝากบอกถึงผู้บริหารบริษัทต่างๆ ถ้าได้เห็นชื่อบริษัทตัวเองในโพสต์ที่คนอยากทำงานด้วยมากที่สุด ก็ย่อมดีกว่าบริษัทที่คนอยากหนีไป๊! จริงไหม? 

อ้างอิง

hiring.monster.com/5 Mental Health Benefits to Offer Employees 

American Psychological Association

forbes.com/Mental Health Benefits: A Workplace Must-Have

jobthai.com

psychiatry.or.th

thecoverage.info

unitedgmh.org

nationalhealth.or.th