ณัฐวดี ก้อนทอง นักแปล

“คำเป็นภาชนะที่เก็บรักษาช่วงเวลาต่างๆ เอาไว้” คุยกับณัฐวดี ก้อนทอง ถึงบทบาท ‘นักแปล’ ตัวกลางระหว่างนักเขียน ตัวอักษร และคนอ่าน

ถ้ากาลเวลาทำให้ใจคนเปลี่ยน ภาษาที่มนุษย์ใช้เขียนก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน

อย่างเช่นคำว่า ‘กอปร’ ที่คนยุคหนึ่งเคยเขียนกันเป็นปกติ ปัจจุบันอาจกลายเป็นคำแปลกตา หรืออ่านแล้วสร้างความรู้สึกหงุดหงิดเล็กๆ ในใจคนยุคใหม่ได้ เพราะพวกเขาคุ้นชินกับคำว่า ‘ประกอบ’ มากกว่า 

คำถามต่อมา ถ้าหนังสือเล่มหนึ่งถูกเขียนในยุคที่คนต่างชินกับการใช้ชุดคำชุดหนึ่ง แต่ชุดคำนั้นอาจล้าสมัยในอีกยุคหนึ่ง หนังสือเล่มนั้นควรปรับเปลี่ยนหรือไม่?  คนหนึ่งที่จะตอบคำถามนี้ได้ คือ นักแปลผู้อยู่เบื้องหลังการเรียบเรียงงานแปล ที่ต้องคลุกคลีกับงานหลายๆ ประเภท หลากหลายช่วงอายุการเกิด 

“ภาษาที่สวยงาม ไม่ใช่การเลือกใช้คำศัพท์โบราณ หรือมีความหมายอลังการ แต่เป็นการใช้คำที่เหมาะสม”

มุมมองจากณัฐวดี ก้อนทอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หัวหน้าสาขาวิชาการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล ที่อยู่กับการเรียนการสอนวิชาการแปลมามากกว่าสิบปี

นักแปลสำหรับณัฐวดี คือ คนกลางรับหน้าที่สื่อสารและถ่ายทอดความเข้าใจระหว่างคนเขียนและคนอ่าน แม้จะสื่อสารคนละภาษา แต่นักแปลช่วยได้ แล้วก็เป็นเรื่องที่เหล่านักแปลต้องเคยเจอ การแปลหนังสือที่เขียนมานาน ศัพท์ที่ใช้อาจทันสมัยในยุคหนึ่ง และกลายเป็นความล้าสมัยในอีกยุค

เนื่องในโอกาสงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติประจำปี 2567 Mutual ชวนท่องโลกบนหน้ากระดาษไปกับณัฐวดี ทำความเข้าใจอาชีพนักแปลที่เป็นตัวกลางระหว่างคนเขียนและคนอ่าน ใครพร้อมแล้ว ไถหน้าจอลงด้านล่างเพื่ออ่านบทสัมภาษณ์แบบเต็มๆ

อาจารย์เริ่มมาสนใจการแปลได้ยังไง 

สมัยเรียนปริญญาตรี เราได้เรียนวิชาการแปลแล้วรู้สึกว่าเป็นความรู้ใหม่มาก ตอนเรียนมัธยมไม่เคยมีใครเคยพูดถึงวิชานี้มาก่อน แม้ว่าตอนนั้นครูจะเคยให้ลองแปลงานบ้าง แต่เรามองมันเป็นกิจกรรมในวิชาภาษาอังกฤษเฉยๆ 

พอเราได้เรียนวิชาที่พูดถึงการแปลทั้งเทอมตอนป.ตรี ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาตั้งแต่ตอนนั้น

การแปลมีความน่าสนใจยังไงสำหรับอาจารย์

สำหรับเรามันมีความท้าทาย เพราะการแปลไม่มีเฉลย ไม่เหมือนสูตรคณิตศาสตร์ที่ 1+1 = 2  มันมีความดิ้นได้ของภาษา มีปัจจัยทางสังคม หรือบริบทต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องเยอะมากในการทำงานแปลชิ้นหนึ่ง

นักแปลจะต้องมีคลังคำอยู่ในหัว ทำให้การแปลแต่ละครั้งจะมีความท้าทาย เป็นการต่อสู้ภายในจิตใจว่า จะเลือกใช้คำไหนดีภายในเวลาที่กำหนด แล้วก็ต้องลุ้นผลตอบรับต่อว่า คนที่อ่านงานเราคิดว่า คำที่เราใช้มันดีหรือเปล่า

อะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายในการทำงานแปลสำหรับอาจารย์ 

สิ่งที่ท้าทายที่สุด คือ นักแปลจะต้องถ่ายทอดหรือเลือกใช้คำแปลอย่างไร เพื่อให้ใจความของผู้เขียนถูกส่งไปหาผู้อ่านได้สมบูรณ์ที่สุด 

ถ้าเรื่องการตีความอาจจะมีความยากง่ายสลับกันไป และการหาข้อมูลก็เป็นสิ่งที่หลายๆ คนในยุคนี้น่าจะทำได้ง่ายแล้ว แต่การถ่ายทอดนี่แหละที่เป็นเรื่องท้าทาย เพราะเป็นสิ่งที่เราไปเอามาจากที่ไหนไม่ได้ แต่มันคือการที่เราต้องตัดสินใจว่า จะเลือกใช้คำอะไรจากประสบการณ์ที่เราสั่งสมมา บางทีเรามีคำอยู่ในใจ แต่เราก็ยังสงสัยว่ามันใช้ได้จริงๆ ไหม ถ้าคนอื่นมาอ่านแล้วเขาจะคิดเหมือนเราหรือเปล่า 

การแปลงานชิ้นหนึ่ง มีอะไรที่นักแปลต้องคำนึงถึงบ้าง

ต้องคิดถึงทั้งคนเขียนและคนอ่าน แต่ควรคิดถึงคนเขียนมากกว่าหน่อย ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะต้องแปลทุกอย่างตามเขาทั้งหมดนะ เพราะว่าไวยากรณ์หรือลักษณะโครงสร้างของแต่ละภาษาไม่เหมือนกัน แต่เหตุผลที่นักแปลต้องนึกถึงคนเขียนเป็นหลัก เพราะนอกจากแปลความหมายให้คนอ่านเข้าใจ เราต้องใส่ความมุ่งหมายของคนเขียนในงานด้วย

เราได้มีโอกาสแปลหนังสือ ตายเพื่อรัก (ตำนานแห่งทะเลสาบลัวร์) และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ ของ เอฟ สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องสั้นจำนวน 5 เรื่อง จะมีอยู่ 2 เรื่องที่ฟิตซ์เจอรัลด์ใช้สำนวนการเขียนที่เน้นการบรรยายขยายความ เช่น มีฉากหนึ่งที่ตัวละครชายนึกชมตัวละครหญิงที่ยืนดูตัวเองอยู่หน้ากระจก เขาเขียนไปสามบรรทัดเพื่อบรรยายว่า ผู้ชายคนนี้คลั่งรักผู้หญิงคนนั้นมากขนาดไหน เราก็ต้องเลือกใช้คำที่มีความหมายอลังการสอดคล้องไปกับต้นฉบับ ในขณะที่อีก 3 เรื่องเขาใช้วิธีเขียนคล้ายๆ บทหนัง คือ เขียนด้วยคำที่เข้าใจได้ง่ายกว่า เราก็ต้องเลือกคำแปลในระดับเดียวกัน

นักเขียนบางคนตั้งใจใช้ลักษณะภาษาแบบฉบับยุคของเขา หรือชอบใช้ศัพท์หรูหรา เพื่อให้เนื้อหาดูมีความอลังการ คนแปลก็ต้องเลือกใช้คำแปลให้ได้ในลักษณะนั้น แต่ถ้าเขาเขียนที่ใช้ภาษาระดับทั่วไป แล้วเราเลือกใช้คำแปลเป็นศัพท์เข้าใจยากโดยไม่จำเป็น เราก็จะกลายเป็นคนที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจงานชิ้นนั้นแบบผิดๆ ไป โดยที่ไม่ได้เป็นความตั้งใจของผู้เขียนตั้งแต่แรก

ภาษาสวยสำหรับเรา จึงไม่ใช่การใช้คำยากๆ หรือเลือกใช้คำที่คนไม่เคยเห็นเสมอไป แต่หมายถึงภาษาที่เลือกใช้คำอย่างเหมาะสม

การแปลที่ใช้ภาษาอย่างเหมาะสม ต้องบาลานซ์เรื่องอะไรบ้าง 

หนังสือภาษาศาสตร์สังคม ของอาจารย์อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ เขียนถึงปัจจัยเชิงสังคมต่างๆ ที่เราต้องเอามาดูควบคู่ไปกับการแปลอยู่เสมอ เช่น เพศ วัย สถานะทางสังคม อาชีพ หรือยุคสมัย

บางทีนักแปลหญิงต้องแปลงานของผู้เขียนที่เป็นผู้ชาย หรือผู้เขียนอาจจะเป็นคนที่อยู่คนละยุคกับนักแปล ถ้าเราไม่ศึกษาทำความเข้าใจเขาก่อน จะมีผลต่อการแปล เราต้องศึกษาคนเขียนก่อนว่า เขามีวิธีใช้ภาษาอย่างไร เขาเป็นใคร เพื่อที่เราแปลงานแล้วจะออกมาตรงกับผู้เขียนมากที่สุด ไม่ได้มีความเป็นตัวเรามากเกินไป จนทำให้คนอ่านเกิดความเข้าใจผิดต่อผู้เขียน 

เราเคยให้นักศึกษาแปลงานของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) เราก็จะต้องถามก่อนว่า ทุกคนรู้จักเขาไหม บางคนอาจจะไม่คุ้นเคยไม่รู้จัก ไม่เป็นไร เป็นเรื่องที่หาข้อมูลได้ แต่ถ้าไม่ศึกษาก่อนมันจะเป็นปัญหา บางคนอาจจะแปลโดยเข้าใจว่า ดาร์วินยังมีชีวิตอยู่ แล้วแปลบทสัมภาษณ์เขาโดยใช้ภาษาปัจจุบัน จะดูประหลาดทันที

แล้วบริบทของผู้อ่านมีผลต่อการแปลไหม

คนอ่าน คือ คนที่นักแปลต้องนึกถึงด้วย ในแง่ที่ว่า ถ้าเราอ่านงานเขียนชิ้นนี้ จะเลือกใช้คำหรือเรียงประโยคอย่างไรที่จะไม่ทำให้คนอ่านรู้สึกแปลกไปจากภาษาของเขา 

อย่างเช่นถ้าเรียงประโยคไม่ตรงตามหลักโครงสร้างภาษาไทย มันจะกลายเป็นอุปสรรคในการอ่านโดยที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาเลย นักแปลก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของแต่ละภาษาด้วย

นอกจากนี้หนังสือบางเล่มที่ดังๆ และลิขสิทธิ์หมดอายุไปแล้ว เราจะเห็นการแปลหลายเวอร์ชันมากๆ การเลือกใช้คำของผู้แปลแต่ละคน ก็จะบอกยุคสมัยของการผลิตงานแปลนั้นได้ 

อย่างเรื่อง Little Woman ในฉบับภาษาไทยก็มีทั้งเวอร์ชัน สี่ดรุณี (พ.ศ.2494) ที่แปลโดย อาจารย์สนิทวงศ์ (อุไร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) ต่อมาก็จะมีเวอร์ชัน สาวน้อย (พ.ศ.2558) ที่แปลโดยอริณี เมธเศรษฐ สมมติเปรียบเทียบแค่สองเวอร์ชันนี้ คำว่า พี่-น้อง ที่ตัวละครใช้เรียกกัน ก็เปลี่ยนไปเป็น ฉัน-เธอ หรือ พี่-เธอ

หรืออย่างเรื่อง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่ก่อนหน้านี้มีประเด็นในโซเชียลว่า ทำไมผู้ชายถึงเรียกแทนตัวเองว่า ‘กัน’ มีคนมาถามว่า อันนี้คือจะพิมพ์ว่า ‘ฉัน’ หรือเปล่า ทำไมพิสูจน์อักษรไม่ดูให้ดี โอ้โห ไปถึงนั่น (หัวเราะ) จริงๆ คำว่า ‘กัน’ คือ คำที่ผู้ชายใช้เรียกแทนตัวเองในสมัยก่อน เพราะฉะนั้นงานแปลในยุคสมัยที่เขาใช้คำนี้ ก็จะใช้คำที่คนอ่านในยุคนั้นคุ้นเคย แต่ถ้ามันแปลในสมัยนี้ โฮล์มส์อาจจะคุยกับหมอวัตสันโดยใช้คำว่า คุณ-ผม หรือ นาย-ฉัน แทนก็ได้

ถ้างั้นคนแปลจะต้องเลือกอะไรระหว่างการใช้คำโบราณ เพื่อให้ตรงกับบริบทที่งานถูกสร้าง หรือคำที่ผู้อ่านในยุคปัจจุบันจะเข้าใจมากที่สุด

ควรที่จะต้องเป็นคำที่ตรงตามยุคสมัยที่งานเกิด หรือบริบทเนื้อเรื่องโดยนักแปลช่วยผู้อ่านได้ด้วยการให้เชิงอรรถอธิบายเพิ่มเติม เพราะงานเขียนในสมัยก่อนก็มีคุณค่าของมัน ถ้าเราแปลงานที่มันสร้างขึ้นมาในยุคสมัยหนึ่ง การถ่ายทอดสิ่งที่มีในยุคสมัยนั้นก็เป็นเรื่องที่นักแปลควรจะทำให้ได้  

มีอยู่ช่วงหนึ่งเราอ่านเรื่อง ศิวาราตรี ที่แต่งโดยพนมเทียน (ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ) ภาษาที่ใช้ในเรื่องคืออลังการสุดใจเลย แม้ใช้คำที่เข้าใจยาก แต่เราก็รู้สึกว่าภาษาของเขาสวยมาก และอยากเปิดพจนานุกรมค้นหาความหมายของคำไปด้วย เช่น ถ้าจำไม่ผิดมีการเปรียบเปรยเสียงอันไพเราะเหมือนคำคำหนึ่งที่เราไม่เข้าใจในตอนแรก พอเปิดพจนานุกรมถึงได้รู้ว่า เขาต้องการจะเปรียบกับเสียงของ ‘นกบนสวรรค์’ ด้วยคำที่ไม่มีคำว่า ‘นก’ อยู่ด้านหน้า อย่างเคสนี้เขาใช้คำที่เราไม่เข้าใจนะ แต่เราจะไปกับเขาไหมล่ะ

ก็คือวัดใจผู้อ่าน

ใช่ คือถ้าเรารู้จักคำคำนั้น เราก็จะเข้าใจเลยว่า โอ้โห เสียงนั้นต้องเพราะขนาดไหนนะ ถึงจะชมว่าเสียงช่างไพเราะเหมือนนกที่อยู่บนสวรรค์ วูบหนึ่งฉันแทบจะขึ้นสวรรค์ไปด้วยเลย ถึงแม้ว่าฉันจะนั่งอยู่ที่บ้านฉันเอง

ถามโยงมาถึงกระแสที่บอกว่า เด็กยุคใหม่มีคลังคำศัพท์น้อยลง เพราะอ่านหนังสือแล้วไม่เข้าใจบางคำ ออกมาตั้งคำถามว่าแปลผิด มากกว่าจะหาความหมายของคำที่ไม่เข้าใจ ในมุมคนทำงานแปลรู้สึกยังไง

คำแรกที่ผุดขึ้นมา คือ น่าเสียดาย

ถ้าเป็นตัวเราหรือคนที่เรียนการแปล เวลาเราเห็นคำที่ไม่คุ้นเคย เราอาจรู้สึกเหมือนกันในครั้งแรกว่า คำนั้นพิมพ์ผิดหรือเปล่า แต่สิ่งที่ตามมา คือ เราจะไปเช็กก่อนว่าคำนี้มันมีจริงไหม วิธีใช้เป็นยังไง หรือคนเขียนใช้คำผิด สะกดผิด หรือจริงๆ มันไม่ต้องใช้คำนี้ก็ได้

แต่การที่เราบอกว่า ‘คำนี้ใช่เหรอ’ ‘ไม่ต้องใช้ได้ไหม’ มันน่าเสียดาย เพราะว่ามันอาจทำให้คำคำหนึ่งหายสาบสูญไปจากโลกนี้เลยก็ได้นะ สำหรับนักเขียนมันคือการเชิญชวน นี่คือคำที่ฉันรู้จักไง เธอจะอ่านเรื่องของฉันหรือเปล่า เธอจะเข้ามาในดินแดนของฉันเพื่อทำความรู้จักมันไหม 

เราไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้มันน่าหงุดหงิดนะ เพราะว่ามันก็คือการเปลี่ยนแปลงของเวลา ไม่ใช่ว่าเด็กสมัยนี้ไม่รู้จักอ่านหนังสือ ใครที่บอกว่าคนไทยอ่านไม่เกิน 7 บรรทัด ไม่จริง ทุกคนอ่าน เพียงแต่ว่าแพลตฟอร์มที่อ่านต่างไปจากเมื่อก่อนที่เป็นหนังสือ 

แต่ในฐานะที่อย่างน้อยช่วงชีวิตเรารู้จักคำนี้ แต่คนที่เกิดหลังจากเราเขาไม่ต้องการคำนี้แล้ว มันเหมือนกับว่า เพื่อนที่โตมาด้วยกันกับเราโดนคัดออกไปเรื่อยๆ แล้ว พอหายไปแล้วมันก็ใจหาย และการที่เราบอกว่าน่าเสียดาย ก็เพราะว่ามันทำให้คนเขียน หรือคนแปลใช้ลูกเล่นของภาษาได้น้อยลง บางทีพวกเขาอาจจะมีความรู้สึกเบื่องานตัวเอง ทำไมเขียนแล้วใช้แต่คำซ้ำๆ ความรู้สึกแบบนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า มันน่าจะมีคำอื่นๆ ที่เรายังไม่รู้อีกนะ 

เราเห็นเทรนด์บางอย่างจากผู้เขียน บางคนเริ่มคิดว่าจะลดคลังคำของตัวเองตามกระแส ซึ่งมันน่าเสียดายยิ่งไปกว่าเดิมอีกนะ เพราะว่าคนเขียนก็จะคิดว่าคนอ่านอาจจะไม่ชอบอ่านคำยากๆ

อุตสาหกรรมหนังสือเราเล็กด้วยหรือเปล่า การปรับตามกระแสคนอ่านเพื่อความอยู่รอดมันจึงสำคัญ

ใช่ อุตสาหกรรมหนังสือของเรามันไม่ได้ใหญ่เลย แต่พอคิดถึงว่าเทรนด์นี้มันไปทำให้คนสร้างสรรค์งานไม่หยิบคำบางคำมาใช้แล้ว เอาคำอื่นที่ง่ายๆ ดีกว่า ก็น่าเสียดาย เพราะการที่เขาออกมาพูดว่าจะปรับคำให้ง่ายกว่าเดิม แสดงว่าเขาต้องมีคลังคำที่มากกว่านั้นอยู่ แต่เขาเลือกที่จะไม่ใช้ซะแล้ว

สำหรับอาจารย์มองว่าคำโบราณ หรือคำเก่าๆ มีคุณค่ายังไง

เป็นเหมือนภาชนะที่นำสิ่งที่อยู่ในช่วงเวลาหนึ่งมาหาเรา คนยุคนั้นก็ใช้คำพวกนี้อย่างปกติ เหมือนกับเราในปัจจุบันที่มีชุดคำนิยมใช้ มันก็มีความแตกต่างทางยุคสมัยและระดับภาษา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะอยากเข้าไปทำความรู้จักความแตกต่างนี้ไหม 

นอกจากเรื่องคลังคำน้อย ก็มีเรื่องการสะกดคำผิด โดยเฉพาะคำทับศัพท์ ในหลักภาษาศาสตร์มีหลักในการสะกดออกมาเป็นภาษาไทยไหม หรือว่าใช้การท่องจำ

เราไม่ใช้การท่องจำแน่ๆ เพราะว่าการทับศัพท์ในปัจจุบันเราจะเห็นความหลากหลาย หรือบางคนก็อาจจะบอกว่า มันใช้ตัวอักษรนี้ในภาษาอังกฤษ ดังนั้น เวลาถ่ายเสียงออกมาเป็นภาษาไทยก็ต้องเป็นแบบนี้สิ แต่ว่าการพูดคุยกันโดยไม่มีหลักอะไรยึดเลย สุดท้ายมันก็ไม่จบ ดังนั้นในชั้นเรียนการแปลเราจะใช้หลักของราชบัณฑิตยสภา เพราะว่าเป็นหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับภาษาและบัญญัติศัพท์ในประเทศเราโดยตรง 

การทับศัพท์กับการบัญญัติศัพท์ก็จะต่างกัน การทับศัพท์ คือ วิธีการถอดเสียงของคำนั้นๆ ออกมา ก็จะมีหลักการบางอย่างให้ยึดตาม เช่น ตัว ‘U’ ในคำว่า ‘But’ จะออกเสียงเป็นไม้หันอากาศ แต่ในคำว่า ‘Put’ จะออกเสียงเป็นสระอุ เขาจะกำหนดไว้เลยว่าต้องใช้อย่างไร และเขาก็จะมีเว็บไซต์ให้ลองค้นหาว่า เวลาเราใส่คำภาษาอังกฤษลงไป แล้วเขาจะถอดเสียงออกมาเป็นคำทับศัพท์ภาษาไทยให้เราอย่างไร ก็จะมาจากฐานข้อมูลของราชบัณฑิตยสภา แต่อาจจะไม่ได้มีทุกคำ 

ส่วนศัพท์บัญญัติ คือ คำศัพท์ภาษาไทยที่คิดขึ้นใหม่ จากการเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิในศาสตร์แขนงนั้นๆ จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในที่ประชุมสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

แต่เราก็แจ้งไว้กับนักศึกษาทุกคนว่า เราไม่ได้มีหลักเดียวให้ยึด ถ้าในอนาคตสำนักพิมพ์หรือหน่วยงานที่ไปทำงานด้วย เขาอยากใช้การสะกดที่ไม่เหมือนกับราชบัณฑิตฯ อันนั้นคือข้อตกลงที่เราต้องทำตาม อย่างเช่นถ้าเป็นบริษัททำสื่อดิจิทัล เขาอาจจะเลือกคำที่คนนิยมใช้กันมากกว่าคำที่ถูกต้องตามหลักราชบัณฑิตฯ ก็ได้ เพราะมันมีผลต่อการเข้าถึงชิ้นงานจากช่องค้นหาด้วย เราต้องดูที่กลุ่มผู้ใช้งานจริงว่าเขาใช้แพลตฟอร์มรูปแบบไหนในการอ่าน

ฝั่งราชบัณฑิตฯ เองก็มีการเปลี่ยนแปลงคำ บางทียุคหนึ่งประกาศให้สะกดแบบนี้ พอถัดมาอีกยุคเปลี่ยนการสะกดใหม่ คนเลยเกิดความสับสนว่าทำไมถึงเปลี่ยน ตามไม่ทัน 

ส่วนตัวคิดว่า ภาษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด อย่างเช่นภาษาที่เราใช้ทุกวันนี้ ก็ไม่ใช้กันในสมัยก่อน คำที่เคยเขียนแบบหนึ่งในสมัยก่อน ปัจจุบันราชบัณฑิตฯ อาจเปลี่ยนวิธีการสะกดใหม่แล้วก็ได้ หรือคำบางคำก็เพิ่มขึ้นมาหรือหายไป ทั้งหมดนี้ต้องมีการรวบรวมและอัพเดทข้อมูลกันอยู่เรื่อยๆ 

เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารสำนักงานราชบัณฑิตยสภา บอกว่า การทับศัพท์หรือการใช้ศัพท์บัญญัติมันก็เหมือนการที่เราออกสินค้าทดลองในตลาด เพื่อทดสอบว่ามันจะไปต่อได้ไหม อย่างคำว่า ‘เมตาเวิร์ส’ ก็จะมีสองแบบนะ เรามีเมตาเวิร์ส ซึ่งเป็นคำทับศัพท์ กับ ‘จักรวาลนฤมิตร’ ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติ เราในฐานะที่เป็นคนใช้งานคำศัพท์นี้ ก็จะมีความเห็นส่วนตัวว่าชอบใช้คำไหนมากกว่ากัน ถ้าคำไหนเป็นที่นิยมในสังคมน้อยกว่า คำนั้นก็จะหายไปเอง

อย่างคำว่าคอมพิวเตอร์ เมื่อก่อนก็จะมีการบัญญัติไว้สองคำ คือ คอมพิวเตอร์ กับ คณิตกรณ์ แล้วเราก็พบว่าคอมพิวเตอร์เป็นคำที่ฮิตกว่า เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงสิ่งนี้ เราก็ใช้คำว่าคอมพิวเตอร์ทับศัพท์ แล้วทุกคนก็เข้าใจหมด 

อยากฝากอะไรทิ้งท้ายถึงผู้อ่านไหม

การสะกดเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก และกำลังมีปัญหาเยอะทีเดียว เดี๋ยวนี้ผู้เรียนสะกดคำภาษาไทยผิดเยอะมากๆ เมื่อก่อนนี้เราใช้พจนานุกรมเช็ก นักศึกษาก็จะบอกว่า ‘โห อาจารย์ เกินไป ใครมันจะไปเอามา’ แต่เดี๋ยวนี้ราชบัณฑิตยสภาเขามีแอปพลิเคชันแล้วนะ โหลดมาไม่ต้องเสียเงินเลย บอกให้ทุกคนโหลดตั้งแต่ต้นเทอม สรุปกลางเทอมก็สะกดผิดเหมือนเดิม (หัวเราะ)
มีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝาก คือ หนังสือ คลังคำ ของอาจารย์นววรรณ พันธุเมธา ส่วนตัวเราชอบอ่านมาก สามารถอ่านเป็นหนังสืออ่านเล่นได้เลย มีประโยชน์โดยเฉพาะเวลาที่เราแปลงานแล้วนึกคำไม่ออก เช่น เราจะแปลคำว่า หัวเราะ มันก็จะมีหัวเราะหึหึ หัวเราะก๊าก หัวเราะกิ๊ก หัวเราะคิกคัก หัวเราะเอิ๊กเอิ๊ก หัวเราะงอหาย หัวเราะท้องคัดท้องแข็ง หรือหัวเราะร่วน มันก็จะทำให้เรามีคำศัพท์ที่หลากหลายมากขึ้น