ไม่ใช่คนไม่ดี ฉันมีสติไม่ดี…ความจริง 5 ข้อใต้ชายคา ‘หลังคาแดง’ จาก รพ.คนเสียจริต สู่การเป็นพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีในเขตเมือง

‘หลังคาแดง’ แค่ได้ยินก็ขยาด!  

ภาพจำของคนไข้ที่เดินตาลอย คุยคนเดียว เดี๋ยวยิ้มเดี๋ยวหัวเราะ พฤติกรรมเหล่านี้ถูกเรียกรวมๆ ในกลุ่ม ‘คนบ้า’ ที่มักจะถูกพบเจอในบริเวณโรงพยาบาลจิตเวช รวมถึงภาพการรักษาแบบเดิมๆ ที่เคยมีการจับขัง ล่ามโซ่ หรือใช้ความรุนแรงกับคนไข้

หลังคาแดงกลายมาเป็นภาพลักษณ์ด้านลบของเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งทำให้โรคทางใจกลายเป็นปัญหาที่หลายๆ คนอาจไม่กล้าไปรักษา หรือไม่รู้ว่าเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ สุดท้ายกลายเป็นการตีตราปัญหาสุขภาพจิตทั้งจากสังคมหรือตัวเอง หรือมองว่าโรงพยาบาลจิตเวชเป็นสถานที่ที่น่ากลัว

จริงๆ แล้วหลังคาแดงไม่ใช่ภาพแทนของสุขภาพจิตในเรื่องอะไร หรือชื่อของโรงพยาบาลจิตเวชที่ไหน แต่เป็นฉายาที่ใช้เรียก สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย 

แบรนด์หลังคาแดงได้กลายมาเป็นทั้งชื่อ ฉายา และภาพจำด้านจิตเวชแบบเดิมๆ ที่หลายคนอาจเคยเห็นผ่านตา

– ฉายาคือหลังคาแดง แต่ชื่อจริงๆ คือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

– พี่แอ๊ด คาราบาว บอกผ่านเพลง ‘บ้า’ ไว้ว่า คนสติไม่ดี ไม่ใช่คนไม่ดี และไม่ใช่คนโง่

– เมื่อก่อนล่ามโซ่ ตอนนี้ฉีดยา รักษาด้วยใช้ไฟฟ้ากระตุ้น (Modified ECT)

– โรงพยาบาลเป็นพื้นที่สาธารณะ และส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีในเขตเมือง (Urban Mental Health)

ทั้งหมดนี้เป็นความจริงของ ‘หลังคาแดง’ ที่ Mutual อยากชวนไปทำความรู้จักเรื่องราวด้านจิตเวชในอดีตและปัจจุบันผ่านภาพหลังคาแดงเวอร์ชันอัพเดต 

หลังคาในอดีตเคย(สี)แดง แต่ตอนนี้เป็นสีอื่นแล้ว 

ภาพอาคารด้านในสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

ถ้าเรายังเล่นมุกหลังคาแดง แสดงว่าคุณไม่เด็กแล้วนะ!

จริงๆ แล้วไม่มีโรงพยาบาลในไทยที่ไหนที่ชื่อว่าหลังคาแดง แต่ ‘สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา’ ถูกเรียกอย่างนั้น เพราะภาพจำที่ติดตาคนในพื้นที่มองเห็นหลังคาโรงพยาบาลที่มีสีแดงจริงๆ ข้อมูลนี้ถูกระบุชัดเจนในเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเช่นเดียวกัน 

‘เรือนผู้ป่วยเป็นห้องมีลูกกรงสายบัว โปร่ง ไม่มีหน้าต่าง หลังคาสังกะสีทาสีแดง’ 

แต่การทำให้หลังคาสีแดงมีที่มาหลายๆ แหล่งข้อมูล จากคำบอกเล่าของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ หลวงวิเชียรแพทยาคม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในอดีต อธิบายไว้ว่าที่โรงพยาบาลมีหลังคาสีแดง ในช่วงของนายแพทย์โมเดอร์น คาร์ทิว (Dr. Modern Carthew) ผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลแห่งนี้ ที่มีการซื้อสีแดงใช้ทาหลังคาเพื่อกันสนิมขึ้นสังกะสี

ในมุมของ นายแพทย์ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อํานวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาคนปัจจุบัน ก็ให้มุมมองว่าไม่แน่ว่าในอดีตการทาหลังคาสีแดง อาจจะเพื่อแสดงสัญลักษณ์อาณาเขตโรงพยาบาลจากภัยสงคราม

“สมัยสงครามมันมีธรรมเนียมของฝรั่งว่า ถ้าตึกไหนหลังคาเป็นสีแดง นั่นคือโรงพยาบาล เครื่องบินจะไม่ทิ้งระเบิด”

หลังคาแดงมีหลายๆ แหล่งที่มา แล้วตอนนี้หลังคายังเป็นสีแดงอยู่ไหม? คำถามที่หลายคนอยากรู้ 

“จะมีอาคารอยู่บางส่วนที่หลังคาเป็นสีแดง เป็นอาคารอนุรักษ์ของเรา 2-3 หลัง ที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้” ผอ.ศรุตพันธุ์ ตอบพร้อมเชิญชวน สำหรับใครที่อยากตามมาย้อนรอยที่มาของหลังคาแดง

ไม่มี ‘หลังคาแดง’ มีแต่ ‘สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา’

ภาพป้ายชื่อสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

คนส่วนใหญ่รู้จัก ‘หลังคาแดง’ ‘โรงบาลบ้า’จริงๆ แล้วชื่อของโรงพยาบาลดั้งเดิม คือ ‘โรงพยาบาลคนเสียจริต’ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็น ‘สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา’ ในปัจจุบัน 

เปลี่ยนมาหลายชื่อ เพื่อมีจุดประสงค์เดียวกันคือลดการตีตรา โรงพยาบาลคนเสียจริต คือ ชื่อแรกที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันก่อตั้งในพ.ศ.2432 สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นโรงพยาบาลแห่งที่สองถัดจากโรงพยาบาลศิริราช และเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย 

ในหนังสือ ‘พระมหากรุณาธิคุณ พระบรมราชจักรีวงศ์ต่อสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา’ อธิบายไว้ว่า ชื่อที่ใช้เรียกผู้ป่วยในสมัยนั้น คือ ผู้ป่วยวิกลจริต ผู้เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่คือ ผู้ป่วยชนชั้นล่างที่มีฐานะไม่ดี ไม่มีคนดูแล ประชาชนทั่วไปยังมีอคติต่อปัญหาสุขภาพจิตอยู่มาก

ด้วยความคับแคบของพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 4-5 ไร่ ที่รองรับปริมาณคนไข้สุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ทัน ทำให้ต้องย้ายมาติดกับคลองสานและถนนสมเด็จเจ้าพระยา ชื่อที่โรงพยาบาลใช้ถัดมาจึงเป็น ‘โรงพยาบาลคนเสียจริต ปากคลองสาน’ ในพ.ศ.2448

ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง การสร้างโรงพยาบาลคนเสียจริตจึงไม่ถูกใจประชาชนในละแวกนั้นมาตั้งแต่ต้น บ้างก็ถูกเรียกว่า ‘โรงบ้า’ หรือ ‘หลังคาแดง’ มาตั้งแต่สมัยนั้น เพื่อเป็นการลดอคติที่มีต่อสุขภาพจิตและโรงพยาบาลจิตเวช จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘โรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี’ ในพ.ศ.2475

ต่อมา พ.ศ.2497 รพ.ได้รับเงินสนับสนุนในการพัฒนา สร้างอาคาร และได้รับอุปกรณ์การแพทย์สุขภาพจิตที่อยู่ในระดับสากลโลก ทำให้โรงพยาบาลสามารถจัดตั้งคลินิกสุขภาพจิตขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนั้นจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา’ ตามธรรมเนียมของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มักจะตั้งชื่อตามตำบลหรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้กับชุมชน

ท้ายที่สุด หลังคาแดงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่รักษาปัญหาสุขภาพจิตอย่างเดียว แต่เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรด้านสุขภาพจิตขาดแคลน ในขณะที่ยอดผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่นี่จึงมีหลักสูตรการอบรม และส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านจิตเวชเสริมกันไปด้วย จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา’ ตั้งแต่พ.ศ. 2545 มาจนถึงปัจจุบัน

สถานพยาบาลของคนสติไม่ดี ไม่ใช่คนไม่ดี 

ภาพจาก MV เพลง “บ้า” ของ “คาราบาว”

“มีบ้านเป็นหลังคาแดงอยู่มานมนาน

ก็คือสถานพยาบาลอาการสมอง…”

แม้คำว่าหลังคาแดง จะเป็นฉายาติดตัวสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยามาตั้งแต่ยุคแรกๆ แต่เหตุผลหนึ่งที่คำนี้ยังคงร่วมสมัย ไม่ว่าจะถามคนยุคไหนก็ยังเข้าใจความหมาย ส่วนหนึ่งก็มาจากการตอกย้ำของสื่อภาพยนตร์หรือบทเพลงต่างๆ ซึ่งคงหนีไม่พ้นเนื้อเพลง บ้า ที่ แอ๊ด คาราบาว เคยแต่งไว้ 

เพลงบ้าถูกแต่งขึ้นมาในปี 2543 แต่ยอดสตรีมมิงรวมทุกแอปพลิเคชัน ยังคงติดอันดับ 3 เพลงคาราบาวที่มีคนฟังมากที่สุดในปี 2565 โดยมียอดฟังอยู่ที่ 6.7 ล้านรอบ จากข้อมูลเฟซบุ๊กแฟนเพจของวง

นอกจากฉายาคำว่าหลังคาแดงที่ถูกส่งต่อๆ กันมา คือภาพจำของคนไข้ในโรงพยาบาลจาก MV ที่อยู่ในกรงขัง เดินตัวแข็ง หรือหัวเราะขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล

หากใครที่เคยฟังทั้งเพลงจะรู้ว่า การตีตราและกีดกันคนไข้สุขภาพจิตมีมาตลอด อย่างเช่นใน MV ที่คนไข้ในกรงขังโรงพยาบาลพยายามจะบอกวิธีเปลี่ยนล้อรถยนต์กับผู้หญิงด้านนอกกรง แต่กลับโดนมองขวาง และโดนไล่ เพียงเพราะว่าเป็นคนบ้า 

“ฉันเป็นคนบ้าเพราะว่าสติไม่ดี

ไม่ใช่คนไม่ดี ฉันมีสติไม่ดี”

เป็นสิ่งที่พี่แอ๊ดบอกไว้ในเพลงตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้ว ว่าคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นเพียงอาการอย่างหนึ่งที่ไม่ได้วัดคุณค่าความเป็นคนดีของใคร

“ใช่แล้วคนบ้า ใครก็ว่าบ้า

บ้าก็บ้าเสียวะ

ถึงจะบ้า แต่ว่าไม่โง่” 

พี่แอ๊ดทิ้งท้ายในเพลง

จากคุมขัง ล่ามโซ่ สู่จิตบำบัด : วิวัฒนาการการรักษาคนภายใต้ ‘หลังคาแดง’

ภาพผู้ป่วยจิตเวชของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาในอดีต

ถ้าพูดถึง ‘หลังคาแดง’ ภาพจำการบำบัดและรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชของคุณเป็นแบบไหน?

หากคำตอบคือ ‘คุมขัง ล่ามโซ่ เจาะกระโหลก’ อยากบอกว่านั่นคือเรื่องจริง! แต่เป็นความจริงในสมัยก่อน ที่ไม่มีอีกแล้วในตอนนี้

ย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ก่อตั้งสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา หนังสือพระมหากรุณาธิคุณ พระบรมราชจักรีวงศ์ต่อสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา อธิบายไว้ว่า แรกเริ่มที่นี่รักษาผู้ป่วยจิตเวชโดยใช้สมุนไพรตามศาสตร์การแพทย์แผนโบราณ แต่ถ้าผู้ป่วยแสดงอาการมาก อาจใช้วิธีคุมขัง นัตถุ์ยากอกเลือด (การเอาเลือดออกจากร่างกายบางส่วน โดยเชื่อว่าการเอาเลือดเสียออกจะช่วยบรรเทาอาการจิตเวชได้) หรือใช้ไสยศาสตร์ตามความเชื่อของแพทย์ในยุคนั้น

ในยุคนั้นการบำบัดรักษาค่อยๆ มีพัฒนาการขึ้นมา และค้นพบว่าการสร้างความเพลิดเพลิน หรือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจช่วยบำบัดคนไข้ได้ จึงเกิดวิธีการบำบัดด้วย ‘สิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘พื้นที่สีเขียว’ (ซึ่งยังใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน) ดังนั้นหากใครที่เคยไปหรือเคยเห็นโรงพยาบาลจิตเวชผ่านๆ ตา อาจสังเกตได้ว่าทุกที่จะมีส่วนที่เป็นพื้นที่โล่ง นั่นเป็นเพราะพื้นที่นั้นเคยใช้เป็นเพื่อการบำบัดรักษาคนไข้นั่นเอง

การปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา จึงค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ และเข้มข้นมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ผลักดันการอนุรักษ์พันธุ์ไม้และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ จนทำให้เกิดงานเกษตรกรรมและงานหัตถกรรมจากฝีมือคนไข้ และเกิดการบำบัดรักษาด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘อุตสาหกรรมบำบัด’ ซึ่งต่อยอดออกมาเป็นงานเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และงานช่าง

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เตียงในโรงพยาบาลไทย มาจากฝีมือของคนไข้เรา” ผอ.ศรุตพันธุ์ พูดเสริม

การแพทย์ด้านจิตเวชเริ่มได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกมาเรื่อยๆ แต่เห็นชัดที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 8 สมัยที่ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ผู้เป็นบิดาจิตเวชศาสตร์ของไทย เป็น ผอ.รพ. ในขณะนั้น ซึ่งทำให้เริ่มมีการรื้อกรงขังผู้ป่วย การรักษาสมองแบบช็อตไฟฟ้า Modified Electroconvulsive Therapy (M ECT) หรือการวางรากฐานงานสุขภาพจิต 4 ด้าน คือ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน 

สำหรับการรักษาด้วยยา ผอ.ศรุตพันธุ์ เล่าว่ามีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จากการใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสมด้านเคมีหลายๆ รุ่น

“ยาควบคุมแรกๆ ก็ทำให้พวกเขาสงบลง สามารถทํางานอยู่ในสังคมได้มากขึ้น แต่ก็จะมีผลข้างเคียงเยอะ อย่างที่ภาพที่เราเห็น คนไข้ทางจิตเวช ตัวแข็งบ้าง น้ําลายไหล เดินยืด”

ผอ. ย้ำว่า ยาสำหรับการรักษาผู้ป่วยด้านจิตเวชมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากอดีต ปัจจุบันมีผลข้างเคียงน้อยมาก และมีประสิทธิภาพในรักษามากขึ้น

ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลแต่เป็นพื้นที่สาธารณะสบายใจ ให้คนมีความสุขในเขตเมือง

ภาพอาคารและสวนของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

สำหรับใครที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ รู้สึกอยากไปสัมผัสกับพื้นที่ ‘หลังคาแดง’ ของจริง แต่ยังกังวลว่าไม่ได้ป่วยใจจะไปได้ไหม หรือบรรยากาศด้านในจะน่ากลัวหรือเปล่า 

ขอบอกว่าไม่ต้องกลัว! เพราะเป้าหมายหนึ่งของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา คือการเป็นโรงพยาบาลของประชาชน ที่เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะด้วย

“เราคาดหวังว่า ในอนาคตสมเด็จเจ้าพระยาจะเป็นผู้นําของ Urban Mental Health หรือสุขภาพจิตเขตเมือง  นอกจากงานบําบัดและรักษาที่เราทําอยู่แล้ว เพิ่มส่วนงานส่งเสริมสภาพแวดล้อมบริบทเมือง”

ผอ.ศรุตพันธุ์ เล่าว่าสวนที่นี่เพิ่งได้รับรางวัลชมเชยการออกแบบภูมิทัศน์ ในการประกวด Asia-Pacific 2023 รางวัล IFLA Asia-Pacific LA AWARDS 2023 ซึ่งช่วยยกระดับและเปลี่ยนภาพลักษณ์ของหน่วยงานบริการทางจิตเวชให้เป็นมิตรกับประชาชน ด้วยการส่งเสริมให้เกิดธรรมชาติบำบัด และรู้สึกผ่อนคลายไปพร้อมกัน

“เราปรับภูมิทัศน์เพื่อให้คนรู้สึกสบายใจ ไม่กลัว เหมือนเดินเข้ามาในห้าง เข้ามาแล้วดูโล่งๆ ติดแอร์ ทำให้มันสว่าง มันก็จะไม่รู้สึกอึดอัด มีผลต่อสุขภาพจิต”

พื้นที่สีเขียวจากพันธุ์ไม้กว่า 70 ชนิด กินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของพื้นที่โรงพยาบาลทั้งหมด หากมองจากมุมสูงเป็นไปได้ว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ลำดับต้นๆ ประจำเขตคลองสาน

ใครจะเข้ามาวิ่งหรือเดินเล่น ผอ.ยินดีให้เข้ามาได้ทุกคน แต่เตือนทิ้งท้ายเล็กน้อยว่า อาจได้เจอเพื่อนใหม่ที่ชื่นชอบและอยากมาสัมผัสธรรมชาติเหมือนกันอย่างตะกวด

อ้างอิง