3 goals of Best Mental Health Society

3 เป้าหมาย ‘สุขภาพจิตดีแห่งชาติ’ ที่ต้องไปให้ถึง! : เมื่ออาการป่วยใจไม่ใช่แค่เรื่องของคนๆ เดียว แต่เป็นเรื่องระดับชาติที่รัฐ เอกชน ชุมชน และพลเมืองต้องช่วยกัน

“กายพร้อม ใจพร้อม เราทำได้!”

ขนาดประโยคให้กำลังใจจากโฆษณาเครื่องดื่มบำรุงร่างกายอย่างนมถั่วเหลือง ยังบอกกับเราว่า การที่เราจะทำอะไรให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ไม่ใช่แค่ต้องมีร่างกายที่พร้อมอย่างเดียว แต่พลังใจเองก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญเหมือนกัน

“สุขภาพจิตไม่ใช่แค่เรื่องปัญหาสุขภาพ หรือสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องการพัฒนาชาติ… มีผลสำรวจว่าทั่วโลกเราสูญเสียวันทำงานมากกว่า 1 หมื่นล้านวัน ไปกับปัญหาสุขภาพจิต”

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กล่าวไว้ใน งานเสวนาเปิดภาพอนาคตสุขภาพจิตคนไทย 2576 ที่จัดขึ้นโดยสื่อสาธารณะ The Active เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยอิงจากข้อมูลการวิเคราะห์ความรู้ด้านสุขภาพจิตเพื่อประเมินวาระสุขภาพจิตระดับโลกในบริบทของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Lancet Commission on Global Mental Health and Sustainable Development) โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตทั่วโลก

แม้ว่าอาการป่วยใจจะเกิดขึ้นแค่ภายในตัวใครสักคน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแค่กับใครคนเดียว และเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา 

ผลสรุปงานวิจัย อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ.2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033) ที่ได้รับความร่วมมือจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การมหาชน (NIA), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) ได้เสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะทางจิตสำหรับ 4 ภาคส่วนด้วยกัน ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน ชุมชน และประชาชน

ทุกทีมล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ‘สุขภาพจิตที่ดี’ ของทุกคนในสังคม แต่เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมและผลักดันในทุกด้าน Mutual ชวนไปดู 3 เป้าหมาย ‘สุขภาพจิตดีแห่งชาติ’ ที่ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อไปให้ถึง

“ป่วยใจไม่มีจริง คิดไปเองทั้งนั้น”

บางครั้งเราก็ยังได้ยินประโยคนี้อยู่บ่อยๆ จากคนรอบตัว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาสุขภาพจิตคือเรื่องภายในใจ ที่สังเกตจากภายนอกได้ยากกว่าอาการทางกาย โรคทางจิตเวชจึงมักจะมาพร้อมกับการตีตราจากสังคม หรือแม้กระทั่งตัวเอง และยิ่งทำให้ยากต่อการเข้าถึงการรักษา

ข้อมูลจากระบบศูนย์กลางการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย กรมสุขภาพจิต พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งคิดเป็น 4.39% ของประชากร

จากสถิติพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ปัญหาสุขภาพจิตมีอยู่จริง มีอยู่เยอะมาก และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ เพื่อเป้าหมายการมี ‘สุขภาพจิตดี’ จึงต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต เพื่อทำให้ตระหนักได้ว่าเรื่องนี้สำคัญถึงขั้นที่สามารถยกเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ได้

ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในระดับนโยบายและกฎหมาย ที่จะช่วยสอดแทรกเรื่องสุขภาพจิต ปกป้องสุขภาพใจของประชาชนได้อย่างครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้าง ในขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ต้องคอยกำหนดนโยบายภายใน และให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิตกับองค์กร และไม่กีดกันผู้มีปัญหาสุขภาพจิต

อย่างไรก็ตามนอกจากองค์กรใหญ่ๆ ผู้ที่มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน คือ ชุมชนที่เราอยู่อาศัย มีความใกล้ชิดและผูกพันด้วย อาจเป็นแวดวงสังคมที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด เวลาต้องการขอความช่วยเหลือจากใครสักคน ดังนั้น หากภายในชุมชนมีการส่งเสริมในเรื่องความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิต และมีการป้องกันปัญหาเรื่องนี้ที่เหมาะกับคนภายในชุมชนเอง อาจเป็นทางที่สามารถช่วยฮีลใจได้เหมาะสมกับคนในชุมชนมากที่สุด

ท้ายที่สุด ในยุคที่เทคโนโลยีทำให้เราเข้าถึงชุดข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว การค้นหาชุดความรู้เรื่องสุขภาพจิต และวิธีปกป้องหรือสำรวจหัวใจตัวเอง ก็เป็นส่วนที่เริ่มจากตัวเราได้เช่นกัน

“รอนานๆ ก็อาจจะบั่นทอนหัวใจ อย่าให้นานเกินไป ก่อนอะไรมันอาจจะสาย…”

แม้ จีน กษิดิศ จะเขียนท่อนฮุคของเพลง ร W8 ถึงความทรมานของคนที่รอในความสัมพันธ์ แต่เนื้อเพลงท่อนนี้ก็อาจใช้ได้กับการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยใจที่กำลังเฝ้ารอการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ง่าย เพราะปัญหาสุขภาพจิตอาจไม่ใช่แค่อารมณ์ความรู้สึก แต่มันคือ ‘โรค’ ที่ต้องรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ

ข้อมูลจากสถิติกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนจิตแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานครทั้งหมด 845 คนในปี 2565 โดยแบ่งเป็นจิตแพทย์ทั่วไป 550 คน และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 295 คน

สัดส่วนของจำนวนจิตแพทย์เมื่อเทียบกับประชากรไทยที่มี 66 ล้านคน จึงยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กำหนดไว้ว่าในจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน ต้องมีจิตแพทย์เกือบ 2 คน ในการดูแลถึงจะเพียงพอ (ในเชิงสถิติ WHO กำหนดว่าสัดส่วนต้องเป็น 1.7 คน แต่ไทยมีเพียง 1.28 คน)

จากงานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ.2576 ยังพบอีกว่า ในปี 2565 พบผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเข้ารับบริการกว่า 2.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยจิตเวชสะสมกว่า 3.99 ล้านคน ส่งผลให้ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์รักษาใจมีภาระล้นมือ และนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า จากเดิมร้อยละ 2.7 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 12.2 ในปี 2565

แต่ต้นเหตุของภาวะหมดไฟ ไม่ได้มีแค่เรื่องบุคลากรไม่เพียงพอ แต่ยังรวมถึงงบประมาณคนรักษาใจ ที่สูงพอจะเป็นแรงจูงใจด้วยเช่นกัน โดยในงานประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ได้กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันหากคิดงบประมาณที่กรมสุขภาพจิตได้รับโดยคิดเฉลี่ยตามจำนวนประชากร จะอยู่ที่คนละ 50 บาท ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยสากลทั่วโลก 5 เท่าที่สูงถึง 250 บาท

ในส่วนของภาครัฐที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย จึงต้องช่วยส่งเสริมการผลิตบุคลากรทางด้านสุขภาพจิต และสร้างแรงจูงใจด้วยการปรับงบประมาณ และจำนวนบุคลากรให้สอดคล้องกับผู้เข้ารับการรักษา รวมถึงส่งเสริมและกระจายอำนาจการจัดการเพื่อให้การดูแลสุขภาพใจเข้าถึงทุกคน และเข้ากับอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยที่ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนเอง ก็สามารถช่วยส่งเสริมกันและกันได้

ก่อนที่จะเข้าถึงการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ภายในองค์กรเอกชนก็สามารถกำหนดสวัสดิการที่ช่วยดูแลสุขภาพจิตได้ ในขณะเดียวกันหากวิธีการดูแลสุขภาพจิตในเบื้องต้นสามารถเข้าถึงชุมชน ผู้นำชุมชนก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางด้านสุขภาพจิตได้ตั้งแต่ต้นทาง

เมื่อเรื่องทางใจเป็นเรื่องของความรู้สึก สิ่งที่ตอบสนองประสาทสัมผัสเราอยู่ตลอดเวลาอย่าง ‘สิ่งแวดล้อม’ ก็เป็นอีกเรื่องที่ส่งผลต่อสุขภาพใจได้ไม่แพ้กัน โดยงานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ.2576 ระบุว่า การอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สะดวกสบาย มีพื้นที่และกิจกรรมที่หลากหลาย สอดรับกับรูปแบบวิถีชีวิตของคนทุกกลุ่มจะช่วยส่งเสริมให้คนในพื้นที่มีสุขภาพจิตดีขึ้นได้

ในทางกลับกัน ความเป็นเมืองที่ผู้คนอยู่กันอย่างหนาแน่น มีความเหลื่อมล้ำสูง ผู้คนมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมกันลดลง ทำให้มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและการก่ออาชญากรรมสูงขึ้น และยิ่งเกิดการสะสมความเครียดจากภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม หรือมลภาวะทางอากาศ

สำหรับประเทศไทย พบว่ามีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในเมืองเพียงแค่ 7.49 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่ WHO กำหนดว่าควรมีพื้นที่สีเขียวไม่ต่ำกว่า 9 ตารางเมตรต่อคน 

ในส่วนนี้จึงต้องอาศัยการร่วมมือจากภาครัฐที่เป็นผู้พัฒนาเมืองในเชิงนโยบาย ในขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมในที่ทำงานก็มีผลต่อสุขภาพใจได้เช่นกัน โดยงานวิจัยพบว่า ร้อยละ 80 ของพนักงาน จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความพึงพอใจในงานของตนเองมากขึ้น เมื่อองค์กรให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน

สิ่งที่ชุมชนและพลเมืองจะช่วยได้ คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสุขภาพจิตที่ไม่ใช่แค่ในเชิงพื้นที่ แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมค่านิยมและวัฒนธรรมที่ช่วยเหลือกันและกัน และไม่อคติต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิต เพราะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน

อ้างอิง:

  • catalog.dmh.go.th
  • www.hfocus.org
  • www.mhinnovation.net
  • www.thaihealthreport.com
  • งานเสวนา เปิดภาพอนาคตสุขภาพจิตคนไทย 2576 โดย The Active
  • งานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ.2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033) โดยกรมสุขภาพจิต, NIA, ETDA และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา โดย MQDC