“อายุผ่านไปแล้วก็ผ่านไป สูงวัยคือแค่ไหน ใครเป็นคนขีดเส้น” สิ่งที่คนวัย 74 อยากบอกกับคนอายุน้อยกว่า ‘สว่าง แก้วกันทา’

เส้นผมสีขาว

ริ้วรอยบนใบหน้า

สัญญาณที่แทนว่าอายุเรากำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับบางคน เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดเพราะแสดงถึง ‘ความแก่’  เพราะรู้สึกว่าเวลาชีวิตกำลังนับถอยหลัง ศักยภาพของเราอาจไม่เท่าเดิมอีกแล้ว

แต่อายุก็คืออายุ ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เช่นเดียวกับเวลา ไม่มีทางกดหยุดหรือย้อนกลับได้ คำถามคือแล้วเราจะอยู่อย่างไรเมื่อช่วงเวลานั้นของเรามาถึง?

“แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างลายคราม” คือมุมมองของสว่าง แก้วกันทาที่ใช้ดำเนินชีวิตในช่วงวัย 74 ปี 

เพราะอายุสำหรับสว่างเป็นเพียงตัวเลข เขายังคงทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ พัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อนวัยเดียวกัน แม้หลายคนจะบอกว่าช่วงวัยนี้เป็นเวลาแห่งการพักผ่อนแล้ว

สว่าง แก้วกันทา

เขายังคงแบกกล้องไปถ่ายรูป งานอดิเรกที่สว่างทำตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงตอนนี้ รวมถึงการแต่งกายด้วยเสื้อยืดตัวโปรด กางเกงยีนส์ที่คาดด้วยเข็มขัด บางวันอาจเพิ่มหมวกสักใบ  เป็นสไตล์การแต่งตัวที่ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อแสดงว่าความเยาว์วัยหรือตัวตนยังคงอยู่กับเราเสมอ หากมันเป็นสิ่งที่เราต้องการ

บทสนทนาต่อไปนี้ ถือเป็นเรื่องเล่าจากชายคนหนึ่งที่อยากแชร์ประสบการณ์และคำแนะนำที่คนวัยไหนก็หยิบใช้ได้ 

ช่วงนี้คุณชอบถ่ายรูปอะไรเป็นพิเศษ?

หลังๆ ผมชอบถ่ายรูปนก แต่เราไม่ได้ศึกษาอย่างซีเรียสนะ เราเป็น Photographer (นักถ่ายภาพ) ไม่ใช่ Birder (คนที่ศึกษาเกี่ยวกับนก) (ยิ้ม) 

ทำไมถึงชอบถ่ายรูปนก

เป็นความชอบถ่ายภาพ เราถ่ายอะไรก็ได้ ช่วงปี 2528 ผมพบกับคนอังกฤษ แล้วเขาชอบดูนก เขาบอกนกในไทยประเทศเดียวมีมากกว่ายุโรปทั้งทวีปอีก ฉะนั้น เขาจะมาประเทศไทยเพื่อมาดูนก แถวดอยอินทนนท์เยอะเลย 

แล้วความชอบถ่ายรูปกับการทำงานเรื่องผู้สูงอายุมีความเกี่ยวข้องกันไหม?

ประเด็นผู้สูงวัยจริงๆ ไม่ค่อยอยู่ในหัวผมสักเท่าไหร่ มาเรียนรู้ ซึมซับ เรียกว่า ‘เข้ากระดูกดำ’ เอาภายหลัง ส่วนเรื่องถ่ายรูป ตอนแรกไม่ได้เรียนด้านนี้โดยตรง ตอนผมทำงานที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหา’ลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ช่วยนักวิจัยทำงานภาคสนาม เก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัย ไปลงพื้นที่ในชุมชนกับพยาบาลซึ่งเขาจะเป็นคนที่เก็บข้อมูล ส่วนผมถ่ายรูป เพราะมันมีภาพให้ถ่ายเยอะ เลยเริ่มสนใจตั้งแต่ตอนนั้น

ผมลาออกจากงานตอนอายุ 45 เพราะลูกเริ่มโต ภรรยาก็สอนอยู่ที่โรงเรียนที่เขาสามารถเบิกค่าเทอมลูกได้ ค่ารักษาพยาบาลของตัวเองกับลูกได้ ผมรู้สึกว่า เออ เราบินได้แล้ว ผมลาออกไปทำงานแถวชายแดนไทย-พม่า ของ International Rescue Committee (IRC) ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ดูแลเรื่องโภชนาการเด็ก อาหารเด็กในค่ายผู้อพยพ ช่วงนั้นผจญภัยมาก

ผมทำได้ปีกว่า เพื่อนเราที่เป็นคนอเมริกันเขาขออนุญาตชวนลูกสาวไปอยู่ด้วย ลูกสาวเรียนจบม.6 พอดีเลยให้ลองไปอยู่ ถ้าเขาชอบก็อยู่ต่อยาวๆ เลยได้ ปรากฎเขาชอบก็เลยอยู่เรียนยาว ที่บ้านเหลือแค่ภรรยากับลูกชายที่กำลังเข้าวัยรุ่นเลย เรากลัวภรรยาดูแลลูกไม่ไหว บวกกับเขามาเยี่ยมเรา เห็นว่างานที่ทำมันอันตราย ต้องขับรถขึ้นเขา เขาบอกว่าให้กลับบ้านเถอะ 

แต่พอกลับมาผมก็รู้สึกว่า เอ๊ะ เราจะกลับไปทำอะไรดี ตอนนั้น HelpAge International (องค์กรเอกชนระหว่างประเทศ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ) เปิดรับสมัครเลยลองทำดู ปรากฎว่าได้ ก็ทำงานผู้สูงอายุมาเรื่อยๆ

ตอนนั้นคุณก็อายุ 46 แล้ว กังวลกับการเริ่มต้นทำงานอีกครั้งไหม?

เป็นมิติใหม่ของผมตอนทำงานในองค์กรต่างชาติ เขาจะไม่มีเรื่อง Age Discrimination (การเลือกปฎิบัติทางอายุ) เวลารับสมัครคุณจะต้องไม่ระบุว่าอายุเท่าไร เพราะว่ามันจะปิดกั้นคนสมัครที่อายุเยอะ อายุ 46 เขาก็ยังรับเพราะเรามีความสามารถ

ทำงานกับฝรั่งมันเรียนรู้อะไรเยอะ จริงอยู่ที่บางงานเขาอาจขอดูวุฒิการศึกษา แต่สิ่งที่เขาดูหลักๆ คือ ความสามารถและประสบการณ์ของเรา ถ้าเป็นของไทยต้องดูที่วุฒิ ทำงานได้-ไม่ได้ก็อีกเรื่อง 

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณสนใจงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เพราะเราเองก็กำลังเข้าสู่วัยนี้ด้วยหรือเปล่า?

ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยนะว่าเราจะอายุ 60 เมื่อไหร่ แต่จากการทำงานเราได้รับการอบรม รู้เรื่องผู้สูงอายุหลายๆ อย่าง ทีนี้ Self – Actualization On Aging (การเข้าใจตัวตนของเรา) มันซึมซับตรงนี้ ผมเรียนครูมา จะคิดเสมอว่าสิ่งที่เราเรียนรู้ เราจะเอาไปสอนต่ออย่างไร เพราะเราไม่ได้คิดว่า มันคือความรู้แค่ของเราเอง ผมจะคิดต่อเสมอว่าจะถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ให้คนอื่นๆ ต่อยังไง 

แล้วการที่คุณมีความรู้เพิ่มขึ้นหรือได้ทำงานกับผู้สูงอายุ ส่งผลกับมุมมองที่คุณมีต่อวัยนี้อย่างไรบ้าง? 

เราไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้สูงอายุ แต่เราทำงานไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะอายุ 60  มันไม่มีเส้นชายแดนหรือเขตแดนขีดไว้ อายุผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย เรารู้ว่าแต่ละปีอายุเท่าไหร่ แต่ไม่ได้คิดว่าอายุเท่านี้เราเป็นผู้สูงอายุแล้วนะ ผมซึมซับทัศนคติทางบวกเรื่องผู้สูงอายุตั้งแต่เราอายุ 40 กว่าด้วยซ้ำ

เคยเป็นวิทยากรครั้งหนึ่ง ให้คนเข้าร่วมแบ่งกลุ่มแล้วถามว่าคุณคิดอย่างไรกับผู้สูงอายุ ผมยกตัวอย่างโฆษณาสมัยก่อนที่จะชอบสื่อว่า ผู้หญิง = ดอกไม้ จู้จี้ ขี้บ่น น่ารัก หรืออ่อนโยน แล้วผู้สูงอายุล่ะ คำตอบมีทั้งร่มโพธิ์ร่มไทร ปูชนียบุคคล ไม้ใกล้ฝั่ง เฒ่าหัวงู ขี้บ่นจุกจิก เสร็จแล้วผมถามว่า ผู้สูงอายุบ้านคุณไม่มีใครดีเลยหรอ (หัวเราะ)

ตอนเด็กๆ เราอาจเคยลองจินตนาการว่า ถ้าอายุมากขึ้นเราจะเป็นอย่างไร แล้วคุณเคยจินตนาการไหมว่าตอนที่ตัวเองกลายเป็นคนสูงวัย เราจะเป็นคนแบบไหน 

มีคนเคยถามผมว่า คุณคิดว่าตอนคุณอายุ 80 ปี คุณจะเป็นยังไง เราก็คิดไม่ออก เลยบอกว่า เออ สงสัยจะใส่กางเกงขาก๊วย นุ่งเสื้อขาว แล้วเดินอยู่แถวทางเท้ามั้ง (หัวเราะ) ยังคิดไม่ออกเลย ทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ความเป็นคนสูงวัย แล้วทำงานให้คนสูงวัยด้วยกันอีก ทำให้คุณได้เปรียบในการทำงานไหม? 

เป็นคนที่พูด wavelength คลื่นเดียวกัน สื่อสารกันได้ แต่ถ้าเป็นคนอีกวัยอาจจะเริ่มสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เพราะคนละคลื่นกัน เรื่องที่ยากในการทำงานกับผู้สูงอายุ คือ การจะเปลี่ยนทัศนคติเขา เพราะเขาถูกหล่อหลอมมาแบบหนึ่ง เช่น ไม่ต้องคิด ทำตามที่บอก เวลาทำงานกับผู้สูงอายุที่มีความคิดแบบนี้เขาจะขอว่า บอกมาเลย ผมทำได้หมด แต่ถ้าเราบอกให้เขาทำ เขาทำได้ แต่มันไม่ยั่งยืน ผมมักจะบอกว่าให้เขาลองทำงานแบบคิดนอกกรอบ 

ที่บอกว่าบางคนมีมุมมองที่ไม่ดีต่อวัยสูงอายุ เช่น ไม้ใกล้ฝั่ง ขี้บ่นจุกจิก ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนวัยนี้ไหม?

เป็นทัศนคติทางลบต่อวัยสูงอายุ ผมขาวต้องไปย้อมให้ดำ การมีทัศนคติแบบนี้จะทำให้คนไม่คิดถึงคนแก่ หรือไม่คิดว่าแก่มาแล้วจะทำยังไง มันต้องวางแผนเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ เป็นงานหนึ่งที่เราต้องทำ ปรับทัศนคติคนให้เตรียมตัวเพื่อช่วงสูงวัย 

แล้วคุณคิดว่าตัวเองเหมือนคนสูงวัยทั่วๆ ไปไหม ตามที่สังคมส่วนใหญ่นิยามไว้

อาจจะไม่นะ

แตกต่างตรงไหนบ้าง?

คิดไม่เหมือนคนอื่น เช่น คิดว่าแก่แล้วไม่ต้องทำอะไร ให้ลูกหลานทำ ก็ลูกเราไม่ได้อยู่ด้วย เราต้องยืนบนขาตัวเอง ไม่เป็นภาระ เพราะลูกเขาจะมีภาระของเขาเอง

ไม่ได้คิดว่าแก่แล้วเป็นวัยควรพักผ่อน

ไม่ใช่ คิดว่าจะทำจนกว่าจะทำไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลยอาจจะตายเร็ว มันจะห่อเหี่ยว

ผมเคยขึ้นไปพูดที่ TEDxChiang Mai 2019 ด้วยประโยคหนึ่ง “แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างลายคราม” และได้ไอเดียมาจากโควทของ National Geographic “Too Young To Die” ทำให้คิดถึงท่อนหนึ่งในเพลงไทย “อย่าเพิ่งตายเลยบัดนี้…..”  (หัวเราะ) มาแก่อย่างมีคุณค่า แก่ก่อนอย่าเพิ่งตายเลย

ก่อนจากกัน คนวัย 74 มีอะไรอยากฝากหรือแนะนำอะไรกับคนที่อายุน้อยกว่าไหม? 

ต้องเริ่มคิดว่าแก่แล้วเราจะอยู่ยังไง ถ้าให้พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือแก่แล้วจะเอาอะไรกิน คิดออมเงินเก็บไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ