ผู้ลี้ภัยและเศษผ้า ส่วนผสมแบรนด์เสื้อผ้าใหม่ของแอนเจลินา โจลี

ตอนนี้หลายพื้นที่คงกำลังเผชิญกับฝนตก เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเราเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หลังจากเผชิญกับอากาศร้อนมาอย่างยาวนาน

ซึ่งสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ที่ไทย แต่เป็นทั่วโลกที่เผชิญกับอากาศร้อนเช่นเดียวกัน โดยผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสภาพอากาศบอกว่า ปลายปีนี้เราอาจกลับมาเผชิญอากาศร้อนอีกครั้ง อันเป็นผลพวงมาจากเอลนีโญ (EL Nino เมื่อกระแสลมเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ไปทางตะวันตกแทน มีผลให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปที่ทวีปอเมริกาใต้ ส่งผลให้บริเวณทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียเกิดความแห้งแล้ง แต่ฝั่งอเมริกาใต้จะมีฝนมากขึ้น)

ความร้อนที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) หรือที่บ้านเราชินกับการเรียกว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ ซึ่งตัวการสำคัญที่นักเชี่ยวชาญระบุว่า ยังคงส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศโลกอย่างหนัก ก็คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) ที่มาจากการทำอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุสาหกรรมการบิน การขนส่งทางเรือ

‘วงการแฟชัน’ ถือเป็นวงการหนึ่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลำดับต้นๆ เพราะการผลิตเสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อผ้าประเภท fast fashion (เสื้อผ้า รองเท้า หรือเครื่องประดับ ที่มีกระบวนการผลิตต้นทุนต่ำ เน้นออกมารวดเร็วและมีราคาถูก) ทำให้ปล่อยมลพิษในกระบวนการผลิตออกมามาก

นอกจากกระบวนการผลิตจะส่งผลกระทบต่อโลก คุณภาพชีวิตแรงงานในกระบวนการผลิตก็มีปัญหาไม่แพ้กัน แรงงานหลายคนต้องเผชิญกับการถูกกดค่าจ้าง หรือชั่วโมงการทำงานที่เกินมาตรฐาน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมเองก็ก่อมลพิษให้กับคนทำงาน

ที่ประเทศเอธิโอเปีย ถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตเสื้อผ้า แรงงานต่างเล่าว่า พวกเขาได้รับเงินค่าจ้างไม่ถึง 7 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ (ประมาณ 243 บาท) แน่นอนว่ารายได้เท่านี้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ยังไม่รวมถึงสภาพการทำงานที่พวกเขามักถูกนายจ้างด่าทอเสมอ

‘ความยั่งยืน (Sustainability)’ จึงเป็นแนวคิดที่คนให้ความสนใจมากที่สุด การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้ได้ยาวนานที่สุด ในวงการแฟชชันแนวคิดนี้ก็ถูกรับเข้ามาด้วย หลายๆ แบรนด์ที่มีข่าวว่าสร้างผลกระทบต่อโลกหรือแรงงาน อย่าง Zara H&M Adidas เป็นต้น ก็พยายามบอกสังคมว่า พวกเขากำลังปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เข้าสู่แนวคิดนี้

ในขณะที่แบรนด์เกิดใหม่หลายๆ แบรนด์ต่างก็มาด้วยแนวคิดนี้เช่นกัน อย่างแอนเจลินา โจลี (Angelina Jolie) นักแสดงชื่อดังจากฮอลีวูดก็กำลังเข้าสู่วงการเสื้อผ้าเช่นกัน ด้วยการสร้างแบรนด์ของเธอเองที่ชื่อว่า ‘Atelier Jolie’ มาพร้อมกับแนวคิดที่ว่าผู้บริโภคจะได้รับบทบาทเป็นดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้าด้วยตัวเอง ควบคู่ไปกับแรงงานในการผลิตเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นช่างตัดเสื้อ หรือช่างแพทเทิร์น เพื่อสร้างแฟชันที่เป็นของตัวเอง โดยที่วัตถุดิบในการทำเสื้อผ้า โจลีบอกว่าไม่ต้องสร้างใหม่ แต่นำของที่มีอยู่ในตู้หรือของวินเทจทั้งหลายมาแต่งใหม่ โดยทีมช่างที่เธอรวบรวมจากคนหลากหลายกลุ่ม

“เราจะให้พื้นที่กับทุกคนที่เข้ามาร่วมสร้างสรรค์งานไปด้วยกัน เราตั้งใจที่จะสร้างทีมรวบรวมคนที่มีที่มาหลากหลาย มีที่ฝึกงานให้กับผู้ลี้ภัยและคนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ค่อยได้รับการชื่นชม แต่เราจะให้เกียรติพวกเขาตามความสามารถที่มี ในขณะเดียวกันเราก็จะทำงานร่วมกับช่างฝีมือระดับโลก พวกเราหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่แต่ละคนมี และทำให้เกิดการสนับสนุนเพื่อสร้างแบรนด์ของพวกเขาเอง”

ภาพจำของโจลีที่คนส่วนใหญ่มีนอกจากการเป็นนักแสดง ก็คือการทำงานเป็นนักเคลื่อนไหวด้านมนุษยธรรม แม้จะอำลาตำแหน่งทูตพิเศษของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แต่โจลียังคงทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและกลุ่มอื่นๆ เสมอ ทำให้การสร้างแบรนด์ของเธอจึงมีงานพาร์ทนี้ผสมด้วย

ตลอดการทำงานในวงการ โจลีผ่านการร่วมงานและได้สวมใส่ชุดสวยๆ มากมาย เธอบอกว่า ดีไซเนอร์มักจะเป็นหัวเรือที่ออกแบบหรืออนุมัติว่าเสื้อผ้าชุดไหนควรได้ตัด แต่ช่างฝีมือหรือช่างตัดเสื้อก็สำคัญไม่แพ้กัน พวกเขาก็มีส่วนร่วมในการออกแบบงานศิลปะทุกชิ้น

“ฉันกำลังสร้างพื้นที่สำหรับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ได้ทำงานร่วมกับช่สงตัดเสื้อผู้เชี่ยวชาญหลากหลายทั่วโลก”

แต่การสร้างแบรนด์ด้วยแนวคิด Sustainability ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในวงการแฟชัน มีหลายๆ แบรนด์ที่กำเนิดและมาพร้อมกับแนวคิดนี้อยู่แล้ว อย่างแบรนด์ Patagonia (พาทาโกเนีย) แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้งชื่อดังของอเมริกา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1973

Yvon Chouinard ผู้ก่อตั้งแบรนด์ดังกล่าว เป็นผู้สนับสนุนแนวคิดให้สังคมตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยแบรนด์เคยทำโฆษณาที่บอกว่า ‘DON’T BUY THIS JACKET อย่าซื้อเสื้อตัวนี้’ เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาการซื้อเครื่องนุ่งห่มเกินความจำเป็น รวมถึงวัตถุดิบที่นำมาผลิตเสื้อผ้าก็ใช้สิ่งที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม

หรืออีกแบรนด์อย่าง Reformation แบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงจากลอสแองเจลิส ที่ให้ความสำคัญกับคนผลิตเสื้อผ้า ตั้งแต่ต้นทางอย่างดีไซเนอร์ที่ออกแบบ ไปจนถึงปลายทางการผลิตอย่างแรงงานที่ตัดเย็บเสื้อผ้า พวกเขาบอกว่า เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ กระเป๋าทุกชิ้น ล้วนมีคนอยู่เบื้องหลังเพื่อให้มันเกิดขึ้นมาได้ แต่คนเหล่านี้กลับเผชิญปัญหาในการทำงาน ไม่ว่าจะสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดโรค หรือค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม

Reformation จึงมาด้วยแนวคิดที่ว่า เราจะมอบแฟชันที่ยั่งยืนให้กับทุกคน (Reformation’s mission is to bring sustainable fashion to everyone) ทำให้สินค้าทุกชิ้นของแบรนด์จะผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถรีไซเคิลได้ ขณะที่คนทำงานทุกคนก็จะได้รับการปฎิบัติที่ดี ที่สำคัญแบรนด์พยายามผลิตของแต่ละชิ้นให้น้อยที่สุด เพื่อลดขยะและทำให้คนที่สวมใส่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง (สามารถดูแบรนด์อื่นๆ ได้ที่นี่

ฝั่งบ้านเราเองก็เริ่มมีหลายแบรนด์ที่มาด้วยแนวคิดยั่งยืน อย่างเช่น pipatchara แบรนด์กระเป๋าที่เด่นเรื่องกระเป๋าแบบถัก บอกว่า กระเป๋าทุกชิ้นถูกผลิตจากกลุ่มชุมชนหนึ่งทางภาคเหนือของไทย โดยที่แบรนด์ไปติดต่อพวกเขาเพื่อให้เข้ามาช่วยผลิตกระเป๋า เป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนอีกทาง และคอลเลคชันใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปอย่าง Infinitude Coral วัสดุที่นำมาทำกระเป๋าและเสื้อผ้าก็มาจากฝากระป๋องที่ถูกรีไซเคิล

แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาของแบรนด์ที่มีแนวคิดเหล่านี้คือราคาที่สูง แต่ถ้าใครอยากตามแฟชัน โดยไม่ทำลายโลกหรือว่าคนผลิต การสนับสนุนแบรนด์เหล่านี้ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่สำหรับคนที่กำลังไม่พอ การมองหาเสื้อผ้ามือสอง หรือลองลงแรงอีกนิด หาข้อมูลว่าเสื้อผ้า กระเป๋า หรือเครื่องประดับที่เราจะซื้อ แบรนด์พวกนี้มีแนวคิดอย่างไรก็อาจช่วยได้

ภาพจาก UNHCR
อ้างอิง
wwd.com
thegoodtrade.com
thereformation.com
voathai.com
reuters.com
bbc.com