ถ้าพี่ดารามีที่นั่ง นักแสดงเอ็กซ์ตร้า น้าไฟและตำแหน่งอื่นๆ ในกองถ่ายก็ควรจะมีเหมือนกัน ‘เนย’ ชิดชนก หลกภิชาติ นักแสดงอิสระ

“เนยรักการแสดง ทั้งร้องและเต้น มันคงจะดีมากที่ความฝันหรือความชอบสูงสุดของเราสามารถเลี้ยงชีพเราได้”

แม้เป้าหมายสูงสุดในชีวิต คือ การเป็นนักแสดงในจอสักเรื่อง แต่สำหรับ ‘เนย’ ชิดชนก หลกภิชาติ ชีวิตหลังกล้องทำให้เธอรู้ว่า ผลงานที่ดีไม่ใช่แค่ภาพสวย บทที่น่ายกย่อง หรือนักแสดงที่สวมบทบาทได้อย่างไร้ที่ติ แต่มันคือความเป็นมนุษย์ของคนทำงาน

“ตอนที่เราเป็นเอ็กซ์ตร้าใหม่ๆ มันทรมานมาก ต้องไปเช้ากว่าคนอื่น เพราะเราเหมือนตัวแถมที่ไม่รู้ว่าจะต้องเข้าซีนเมื่อไหร่ เราต้องพร้อม ไม่มีแม้กระทั่งเก้าอี้นั่งให้ ต้องนั่งพื้น นอนพื้น”

นอกจากถูกเลือกปฏิบัติ บางคนถูกคุกคามทางเพศด้วยสายตาหรือคำพูด บางคนเป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ ถูกทำลายความมั่นใจเพียงเพราะพวกเขามาทำงานที่รัก ยังไม่รวมผู้คนหลากหลายตำแหน่งที่ทุ่มเท 24 ชั่วโมงไม่ต่างจากเครื่องยนต์เพื่อผลงานที่ดีที่สุดในสายตาของผู้ชม 

“ชีวิตในกองถ่ายความเป็นมนุษย์มันน้อยมาก เราทำงาน 24 ชั่วโมง ถ่ายให้เสร็จวันนี้ เอาให้ตาย พรุ่งนี้ค่อยหยุด ทำงานเหมือนเครื่องยนต์ ขนาดเครื่องยนต์ยังต้องพัก แต่นี่คือคน”

เหตุผลที่ทำให้คุณอยากเป็นเป็นนักแสดงคืออะไร

คิดว่ามันเป็นการผสมของสองเหตุผล อย่างแรก คือ เนยชอบแสดงอยู่แล้ว ทั้งร้อง ทั้งเต้น ทั้งเล่นละคร อะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ต่อหน้าคน เนยจะมีความสุขมาก ชอบได้ยินเสียงปรบมือ ชอบได้ยินเสียงชื่นชม บวกกับเนยเรียนที่นิเทศ จุฬาฯ ก็จะมีโชว์เยอะเลยก็เลยทำให้ใครหลายคนมองเห็นว่าเนยทำอะไรได้บ้าง

แล้วมันก็มีอีกงานหนึ่งเป็นงานคืนสู่เหย้า มีรุ่นพี่ศิษย์เก่ามาร่วมงาน แล้วเนยก็เป็นคนเต้นนำแล้วเนยก็เต้นไม่หยุดเลยทั้งคืน ก็เลยมีพี่ที่ทำงานใน GDH โทร.มาตอนเช้าว่า น้องคือคนที่ใส่เสื้อฟ้า ชมพู เมื่อคืนหรือเปล่า พี่มีงานเต้นให้ เป็นคนนำเต้นในสวนลุมเป็นเพลงของฮาย อาภาพร เราก็เต้นแบบเอ้ย หนึ่ง สอง สาม สี่ ไป ไป ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในวงการครั้งแรกที่ได้ออกกล้อง แล้วมันก็นำมาซึ่งงานต่างๆ หลังจากนั้น 

แล้วปกติหางานแสดงอย่างไร

คนอื่นอาจจะหางานจากการเข้าไปส่งประวัติและผลงานในคอมเมนต์โพสต์ประกาศหานักแสดง แต่เนยไม่ได้ทำแบบนั้น สำหรับเนย เนยจะรอให้คนมาทาบทามแล้วถึงไปแคสต์ ซึ่งคนที่ทาบทามเหล่านั้น เขาคือคนที่รู้จักเนยและมีโปรไฟล์ของเนยอยู่แล้ว เขาจะเอาภาพลักษณ์ของเนยไปขายให้ลูกค้า 

ถึงจะมีคนติดต่อมา แต่ว่าเราต้องไปแคสต์อีกรอบหนึ่งด้วยใช่ไหม

ใช่ ของเนยจะมี 2 แบบ แบบแรก คือ ถ้าเป็นงานเล็กๆ คนที่เนยเคยทำงานด้วยจะส่งรูปปัจจุบันไปพร้อมกับโปรไฟล์ไปให้ลูกค้า แต่ถ้าเป็นงานที่ค่าตัวเยอะ ถึงจะมีโปรไฟล์แล้ว ถ้าทางกองถ่ายเขาสนใจก็จะเรียกไปแคสต์ ซึ่งอันนั้นเขาจะให้เราแต่งตัวจริงๆ แต่งหน้าทำผมจริงๆ เข้าห้องกดกล้องอัดติดไมค์ ให้ลองแสดงจริงๆ เลย 

แต่ว่าช่วงโควิดจะแคสต์ออนไลน์ จะท้าทายนิดหนึ่ง เพราะต้องแต่งหน้า ทำผมเองให้เหมาะกับคาแรกเตอร์นั้น สำหรับเนยการเป็นนักแสดง ถ้าชุดเปลี่ยน อินเนอร์ก็เปลี่ยน ช่วงโควิดก็ต้องเดาใจนิดหนึ่งว่าเขาวางคาแรกเตอร์นี้แบบไหน เราก็ต้องเลือกชุดและเครื่องประดับให้เข้ากัน

เคยเเคสต์งานมากที่สุดกี่งาน

1 อาทิตย์ 3 งาน มีได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางครั้งก็ไม่ได้งานเลย เราก็เสียความมั่นใจเหมือนกัน เเต่หลังๆ เราก็รู้ว่าที่แคสต์ไม่ผ่านไม่ใช่ว่าเราไม่เก่งหรือไม่มีความสามารถ แต่คาแรกเตอร์เราแค่ไม่ตรงกับตัวละคร 

คาแรกเตอร์แบบไหนที่คุณไปแคสต์บ่อยๆ

จริงๆ พอเนยเลือกรับบทจากคนที่รู้จักเนยอยู่แล้ว เนยจะได้แต่บทเดิมๆ บทคล้ายๆ เดิม คนรับใช้ เด็กรับใช้ แม่บ้าน คนขัดห้องน้ำ เล่นเป็นแบคทีเรีย งานจะเป็นแนวนั้นหมดเลย เพราะเขาเห็นว่าเนยทำได้ ก็เลยค่อนข้างมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้งานแนวนั้นอีกครั้ง

การที่เราได้บทซ้ำๆ สะท้อนอะไรบ้าง

สะท้อนว่า เนยไม่ได้อยู่ใน beauty standard ก่อนหน้านี้เนยไม่ค่อยมั่นใจในความสวยของตัวเอง แล้วบทที่เนยได้รับมันยิ่งตอกย้ำความไม่สวยของเนย ยิ่งไปเจอคนในกองที่คนนี้หล่อจัง สวยจัง ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าหรือเราต้องเล่นให้ตลกกว่านี้ น่าเกลียดกว่านี้ เพื่อที่จะช่วยขับให้นักแสดงหลักดูดี แต่ตอนนี้รับงานแนวนั้นลดลงแล้ว เพราะยิ่งไปอยู่ ณ จุดนั้น กองถ่ายมันเป็นพื้นที่ทำให้เนยไม่มั่นใจในตัวเองด้วยเหมือนกัน

ถ้าแคสต์ไม่ผ่าน เขาบอกเหตุผลไหมว่าทำไมไม่ได้ 

มีหลายแบบมาก บางคนหายไปเลย แต่ทุกครั้งพอถึงวันที่เขาบอกว่าจะประกาศเนยจะทักไปหาคนที่ติดต่อว่าผ่านไหม ซึ่งเนยรู้สึกว่ามันควรพูดนะ บางคนก็บอกว่าปล่อยคิว แปลว่าไม่ได้ บางคนเนยไม่แน่ใจว่าเกิดปัญหาภายในที่ยังตัดสินใจไม่ได้หรืออยากปฎิเสธแต่ไม่กล้า เช่น ใกล้จะถึงวันบอกว่าผู้กำกับยังตัดสินใจไม่ได้ แล้วก็หายไปเลย

หลังจากออกกองถ่ายมาหลายครั้ง คุณมองเห็นอะไรในชีวิตหลังกล้องบ้าง

ตอนที่เราไปออกกองที่ไม่ได้ทำหน้าที่นักแสดง ไปเป็น Production Manager (PM) หรือผู้ช่วยผู้กำกับ ก็จะมีบางกองถ่ายที่ใช้มุกหรืออารมณ์ขันที่เป็นเชิง Sexual Harrassment มากมายกับคนในกอง แล้วมันไม่เจอหน้ากล้อง มันอยู่หลังกล้อง มันไม่ถูกบันทึก

แล้วก็มีความปิตาธิปไตย ตอนนั้นเนยโดนทีมไฟทีมกล้องพูด Sexual Harrassment เนยก็หันไปหาพี่ผู้ชายที่สนิทให้ช่วย เขาก็บอกว่านี่คือเรื่องปกติ เนยก็เลยไปเล่าให้พี่ผู้หญิงที่เป็น PM ฟัง เขาก็บอกว่า อ่อนไหวจัง เรื่องแค่นี้เอง พี่ก็เคยโดน เรารับไม่ได้เลยร้องไห้ออกมา เนยร้องไห้ออกมา มันไม่ใช่แค่เรากลัวที่โดน Sexual Harrassment แต่ไม่มีใครรู้สึกว่าสิ่งนี้มันผิดปกติ จนเนยต้องไปคุยกับโปรดิวเซอร์ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้น โชคดีมากที่โปรดิวเซอร์เขาก็ไปเตือนให้

พอเจอแบบนี้ ทำให้เรากลัวที่จะรับงานแสดงในครั้งต่อไปไหม

สำหรับตอนเป็นเอ็กซ์ตร้า พอเจอแบบนี้แล้ว ทำให้ไม่กล้ารับงานแสดงที่ชุดต้องเปิดเผยเนื้อหนัง เพราะเรากลัวที่ถูกมองด้วยสายตาแบบนั้น เราเลยเลือกที่จะไม่รับงานที่แต่งตัวแบบนั้น ทุกครั้งที่แคสต์งานจะถามก่อนว่าชุดเป็นประมาณไหน จะบอกไปเลยว่าไม่อยากโชว์ตรงนี้ ไม่อยากสั้นขนาดนี้  ทั้งๆ ที่ทุกคนสามารถแต่งตัวแบบนั้นและมั่นใจได้ 

นอกจากเรื่อง Sexual Harrassment คนทำงานกองถ่ายต้องเจอกับอะไรอีกบ้าง 

ในกองถ่ายมีหลายประเภท แล้วการสื่อสารที่ดีที่สุดของแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน แต่กองถ่ายโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มันจะมีความลำดับขั้นมาก คนที่เป็นผู้กำกับหรือนักแสดงจะสามารถพูดกับคนที่เป็นเอ็กซ์ตร้าหรือผู้ช่วยผู้กำกับ ทีมไฟหรือทีมกล้องจะพูดยังไงก็ได้ 

เราเคยไปฝึกงานตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ แล้วตั้งคำถามหลังจากที่ผู้กำกับพูดจาไม่ดีใส่ทีมงาน เลยไปถามรุ่นพี่ แต่ได้คำตอบว่า ผู้กำกับเขาคงไม่รู้จะไประบายที่ไหน ก็เลยถามต่อไปเลยว่า แล้วถ้าเรารู้สึกไม่ดี จะไประบายที่ไหน เขาก็ตอบไม่ได้ สุดท้ายเขาก็ยังเชื่อแบบเดิมว่าคนที่มีอำนาจสั่งการคนอื่น คือ ผู้กำกับ หรือคนที่มีพริวิลเลจ อย่างดาราต่างๆ จะสามารถทำตัวยังไงก็ได้กับคนในกอง

ในฐานะที่คุณเคยฝึกงานและช่วยเพื่อน พี่ น้องในคณะเป็นคนทำงานกองถ่าย แต่พอมาทำงานในกองถ่ายจริงๆ มันมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร 

ความแตกต่าง คือ ความรัดกุมเรื่องเวลา ถ้าเป็นเพื่อนในคณะ เราจะทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ ชอตนี้ไม่สวยขอใหม่ได้มั้ยมึง เพราะเราไม่ใช้เงิน แต่ใช้น้ำใจนิเทศ (หัวเราะ) แบบเรามาทำให้เต็มที่ ลุยตั้งแต่เที่ยงคืนยาวไป 6 โมงเช้า บรรยากาศในกองก็ดีกว่า มีความสุขมาก แต่พอเข้ามาสู่วงการที่เราได้เงินจริงๆ แล้ว มันก็จะค่อนข้างมีความรัดกุมเรื่องเวลามากขึ้น เขาก็พยายามทำให้ทันเบรก เพราะถ้าเกินเวลา เราก็ต้องจ่ายเงินให้ทุกคนที่อยู่ในกองเพิ่มเป็นค่าล่วงเวลา บรรยากาศการทำงานก็เปลี่ยนไป มีการใช้อารมณ์ ใช้คำพูดที่ไม่น่ารัก 

แต่สิ่งที่เหมือนกันและรู้สึกว่าเป็นการผลิตซ้ำมากๆ คือ พี่ดาราในกองที่เป็นนักแสดงจะถูกดูแลอย่างดี ซึ่งเนยเข้าใจว่าโดยปกติ นักแสดงไม่ควรจะตัวเปียกตอนฝนตก เพราะจะออกกล้องไม่ได้ ต้องไปเป่าตัวให้แห้ง มันเสียเวลา ถ้าออกแดดนานๆ เดี๋ยวหน้าเยิ้ม จะเสียเวลาแต่งหน้าใหม่ ในคณะฯ อาจจะยังเห็นไม่ชัดมาก แต่พอออกไปข้างนอก มันเห็นชัดมาก พี่ดาราจะไม่สามารถถูกแตะต้องได้เลย เขาจะถูกดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนที่มีโมเดลลิ่ง บางครั้งจะมีผู้จัดการหรือผู้ดูแลส่วนตัวมา จะมีเก้าอี้พิเศษ ไม่สามารถนั่งกินด้วยกันได้ แต่ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกกองถ่าย แต่บางครั้งมันก็ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม 

ตอนที่เราเป็นเอ็กซ์ตร้าใหม่ๆ มันทรมานมาก ต้องไปเช้ากว่าคนอื่น ใช้พลังกายมากเป็นพิเศษ เพราะเราเหมือนตัวแถมที่ไม่รู้ว่าจะต้องเข้าซีนเมื่อไหร่ เราต้องพร้อม ไม่มีแม้กระทั่งเก้าอี้นั่งให้ ต้องนั่งพื้น นอนพื้น แต่ได้เงินน้อยมาก บางครั้งเขากดราคาประมาณ 500-800 บาทต่อคิวหรือประมาณ 10-12 ชั่วโมง แต่เราไป 6 โมงเลิกห้าทุ่ม มันไม่คุ้มเลย แค่ค่ารถไปกลับก็เหลือเงินน้อยมากแล้ว

ถ้าสมมติหนึ่งคิว 12 ชั่วโมง เราเคยทำงานล่วงเวลามากสุดกี่ชั่วโมง 

ตอนที่เราไปฝึกงาน เป็นผู้ช่วยผู้กำกับตอนนั้นถ่ายในโรงละคร แล้วเหมือนมันใช้ได้แค่วันนั้นวันเดียว มันต้องการความยิ่งใหญ่ เพราะเป็นตอนท้ายๆ ก็เลยอยากให้มันสวยมาก ไม่พอใจก็ถ่ายใหม่ เราทำงาน 24 ชั่วโมง ออกกองตี 5 ครึ่ง จนถึงตี 5 ครึ่งของอีกวัน จริงๆ มันควรจบ 4 ทุ่ม เลยมา 7 ชั่วโมง เราสามารถใช้เวลาเหล่านั้นแบบเด็กนักเรียนได้เลย ตอนนั้น auto pilot ใครสั่งอะไร เราทำเสร็จแล้ว แต่ตื่นมาจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ทำอะไรบ้าง

ปัจจัยอะไรที่ทำให้คนทำงานต้องทำงานหนักและควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้

เนยว่าสาเหตุหลักๆ คือ เรามีเงินน้อยและไม่ได้รับการสนับสนุนขนาดนั้น เราเลยต้องทำเวลาที่จำกัดให้มันสวยงามที่สุด ซึ่งบางครั้งมันไม่ได้ก็ต้องบีบ ทำให้เสร็จวันนี้แหละ เราเอาให้ตายแล้วกัน แล้วพรุ่งนี้ค่อยหยุด สำหรับเนย เราไม่ควรใช้ชีวิต 24 ชั่วโมง แล้วไม่ใช่แค่ใช้ชีวิตธรรมดา มันคือการแสดง การถือกล้องหนักๆ จัดไฟเยอะๆ ต้องคิดตลอดเวลา

แล้วพองานบีบ เวลาบีบ เงินบีบ ทำให้ควบคุมอารมณ์และคำพูดได้ยากขึ้น ตอนที่เนยไปฝึกงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ วันแรกค่อนข้างดีมาก แต่พอผ่านไป 20 วัน ทุกคนพักผ่อนน้อย เริ่มถ่ายตี 4 จนถึงเที่ยงคืนวนลูปทุกวัน สำหรับเนยมันเห็นชัดมาก ตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายที่อารมณ์คนเปลี่ยนไป ผู้กำกับพูดแรง ทีมงานอารมณ์เสียมากขึ้น

อีกอย่างมันมีการให้ความสำคัญเรื่อง seniority (ความอาวุโส) เราเคยมีประสบการณ์ที่คนที่ตำแหน่งสูงกว่าหรือเจ้าของบริษัทสามารถบอกให้เปลี่ยนตอนนี้ ไม่เอาอันนี้ โดยไม่ถามคนทำงานสักคำว่าเหนื่อยมั้ย ไหวมั้ย เรารู้สึกว่าเขากุมอำนาจเยอะมาก เลยทำให้เขากล้าที่จะสั่งการเดี๋ยวนั้นเลย คือ เนยเข้าใจพอยท์ที่อยากให้งานออกมาดี  แต่คนไม่ไหวแล้ว เนยรู้สึกว่าความเป็นมนุษย์มันน้อยมาก สั่งการเหมือนเราเป็นเครื่องยนต์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เครื่องยนต์ยังต้องพักเลย แต่นี่คือคน

มันรวมถึงแพชชันด้วยไหม เพราะทุกคนก็อยากให้งานออกมาดี

ตอนเรียน มันคือแพชชัน เพราะสามารถเก็บเป็นพอร์ตโฟลิโอได้ ลุยหมด เพราะรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้เติบโต แต่พอออกมาทำงานจริง นอกจากเงินคือชื่อเสียง ถ้าทำได้ไม่ดี การได้รับความไว้วางใจของงานในอนาคตก็น้อยลง ไม่ใช่แค่นักแสดง โปรดักชันเฮ้าส์ก็เหมือนกัน เขาคงอยากทำให้ดีที่สุด

จริงๆ แล้ว การทำงานก็สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคืออาหาร บรรยากาศตอนพักกินข้าวในกองถ่ายเป็นอย่างไร 

บางกองถ่ายจะมีโต๊ะอาหารสำหรับพี่ดารากับผู้กำกับ ซึ่งมีอาหารวางไว้เลย บางครั้งก็มีคนเข้าไปเสิร์ฟผลไม้ในห้องกำกับ แต่คนอื่นๆ เช่น เอ็กซ์ตร้า น้าไฟ ต้องเดินไปเอาเอง แล้วที่ทำให้เรารู้สึกว่าอาหารการกินแตกต่าง คือ  พี่ดาราเขามีเวลาสำหรับการสั่งอาหารข้างนอก มากินในห้องพักเขา แต่น้าไฟ ทีมกล้อง หรือผู้กำกับเอง เขาไม่มีเวลาสำหรับทำสิ่งนั้น 

แต่มีครั้งหนึ่งที่เนยรู้สึกว่า อาหารวันนี้แม่งเศร้าชิบหาย มีผัดเผ็ดกบกับแตงกวาผัดไข่ สำหรับพี่ดาราหรือพี่เมคอัพเขาสั่งได้ โอ๊ย แต่คนอื่นๆ ที่ไม่มีเวลาก็ต้องทนกินสิ่งนี้ไป ถึงแม้จะไม่ชอบ หรือบางกองถ่ายก็จะมีสเตชันสำหรับทำขนมเอง เช่น ขนมปังปิ้ง เนยกินเยอะมาก เพราะมีเวลาถึงได้กิน แต่พี่ๆ ที่เขาต้องจัดไฟตลอดเวลา อยู่หน้ากล้องตลอดเวลาจะไม่มีโอกาสกินเลย แต่บางกองถ่ายที่ใหญ่กว่านั้นจะมีคนอยู่ที่สเตชันนั้น เหมือนร้านน้ำเลย เอาอะไรจ้ะ พี่เขาก็จะชงน้ำให้  

เท่าที่เล่ามา ทั้งความอาวุโส การเลือกปฏิบัติ หรือความปิตาธิปไตยมันสะท้อนความไม่เท่าเทียมในกองถ่าย ถ้าให้จัดอันดับจากประสบการณ์การทำงาน คุณคิดว่าแต่ละตำแหน่งอยู่ตรงไหนบ้าง

ถ้าเปรียบเทียบกองถ่ายเหมือนห้องห้องหนึ่ง จะมีห้องหนึ่งที่มีอีกแอร์ อีกห้องมีเก้าอี้นั่งสบาย ห้องเหล่านั้นจะเป็นห้องผู้กำกับ และจะมีพื้นที่สำหรับน้าไฟ ทีมกล้อง ทีมเสียง ส่วนเอ็กซ์ตร้าอาจจะไม่ได้อยู่ในห้องนั้น ถ้าไม่ได้อยู่ในห้องที่ร้อนและมีเก้าอี้ ก็ต้องไปหาที่อยู่เอง 

แต่ในมุมของเนยรู้สึกว่า กลุ่มบนสุดคือผู้กำกับ รองลงมาเป็นนักแสดงที่หล่อสวยตามมาตรฐานสังคม รองลงมาก็จะเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ค่อนข้างโดนกดดันจากผู้กำกับ รองลงมาอีกเป็นเอ็กซ์ตร้าที่เป็นตัวแถมให้ภาพสวยงามขึ้น ก็ยังพอได้พัก มีที่นั่งสำหรับพักผ่อนแม้ว่าจะไม่มีเก้าอี้ แต่กลุ่มที่ถูกมองเห็นความสำคัญน้อยที่สุด คือ น้าไฟ ทีมกล้อง ทีมไฟ กล้อง เสียง เนยรู้สึกว่าเขาไม่มีเวลาพักด้วยซ้ำ ต้องจัดไฟจัดกล้องให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมากินข้าว นั่งกินตรงไหนก็กินตรงนั้นเลยเพื่อให้เสร็จ แล้วกลับไปทำงานได้เร็วที่สุด

น้าไฟ ทีมกล้อง เขาเจอแรงกดดันอะไรบ้าง คุณถึงมองว่าเขาเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้าม

พวกเขาได้รับแรงกดดันจากผู้กำกับมาก เพราะถ้าทำไม่ทัน ผู้กำกับจะโมโห บางคนโดนด่า ภาพไม่สวย จัดไฟไม่เร็วพอ ผู้กำกับจะรู้สึกว่าต้องทำงานให้ทันตลอดเวลา ฉากนี้ใน break down มันเกินมา 5 นาทีแล้ว ทีมกล้องทำไมช้าจังวะ ทีมไฟทำไมช้าจังวะ แล้วทีมไฟเขาเป็นคนที่เรียนรู้จากประสบการณ์ ไม่ได้มีการศึกษาสูงมาก ก็เลยทำให้เขารู้สึกว่าการถูกวีนถูกด่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเขารู้สึกว่าเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้สูงกว่าคนอื่นในสังคม เขามองตัวเองตัวเล็ก   

นอกจากการทำงาน สวัสดิการในกองถ่ายที่เราได้รับเป็นอย่างไรบ้าง 

ตอนได้คำถามก็สงสัยตัวเองว่า ทำไมเนยถึงไม่นึกถึงสิ่งที่เรียกว่าประกันเลย  แล้วไม่เคยอ่านสัญญาที่ออกเลยว่า มันมีประกันสำหรับสุขภาพเราไหม มีประกันไหม แบบสาบานจริงๆ ว่าไม่เคยอ่าน เพราะถ้าพูดถึงสวัสดิการเนยจะนึกถึงน้ำ อาหารในกองถ่ายมากกว่า  จนกระทั่งมาคิด สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่นึกถึงเรื่องนี้เพราะบทที่เราได้รับมันไม่ได้เสี่ยงต่อชีวิตเช่น เล่นเป็นนักเรียนในภาพยนตร์ เล่นเป็นแบคทีเรียในโถส้วม เนยรู้สึกว่ามันไม่ได้น่ากลัว ไม่ใช่การไปยืนบนที่สูงหรือยืนอบนเส้นด้ายที่อันตราย

ทั้งๆ ที่มองย้อนกลับไป การออกกองทำให้สุขภาพเราเสียมาก เช่น ออกกองข้ามวันข้ามคืน หรือไปเล่นแบคทีเรียเ ขาโรยผงที่ถึงบอกว่าเป็นสมุนไพรแต่ก็น่ากลัวอยู่ดี เขาโยนเยอะมาก แล้วเราสูดเข้าไป พอเลิกกองเนยเอาทิชชู่เช็ดมีผงติดอยู่ข้างใน ตอนนั้นเนยไม่คิดถึงสุขภาพที่จะเสียไปเลย พอมาเจอคำถามนี้ เลยถามตัวเองว่ามันแย่ขนาดที่เราหลงลืมเรื่องสุขภาพของเราไปเลย อีกอย่างหนึ่งคือเงินที่ได้ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันคุ้มกับการไปรักษาสุขภาพด้วยซ้ำ 

ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น สำหรับคุณทางออกของปัญหานี้คืออะไรเพื่อให้คุณภาพชีวิตคนทำงานกองถ่ายดีขึ้น 

เรารู้สึกตั้งเเต่เรียนเลย คือ เงินสนับสนุน เด็กหลายคนต้องออกเงินเองหลายแสนหลายล้านเพื่อธีสิส  แล้วพอเราออกมาทำงานกองถ่ายข้างนอกก็ยิ่งเห็นชัดว่า พอเราไม่ได้รับเงินสนับสนุนมันเลยทำให้เราทำงานด้วยเวลาและเงินที่จำกัด เพราะเงินมันเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง เช่น เราจะใช้นักแสดงได้กี่วัน เราจะใช้สถานที่ได้นานเเค่ไหน แล้วถ้าเงินพอ เราจะสามารถวางตารางการถ่ายทำได้ยืดนานขึ้นเราสามารถจ้างนักแสดงหรือทีมงานมาทำงานทุกวันได้ 

อีกอย่าง คือ การสร้าง awareness เพราะหลายคนในกองยังไม่รู้ว่าระบบอาวุโสหรือปิตาธิปไตยที่มากเกินไปมันจะส่งผลยังไง ทุกคนยังมองเป็นเรื่องปกติ หรือคิดว่างานยังสำคัญกว่าสุขภาพของเขาในอนาคต และบางคนที่มี awareness ก็ต้องแพ้ให้กับเงิน เช่นน้องๆ ในคณะมี awareness กันหมด แต่ก็ต้องแพ้ให้กับเงิน เราเลยทำได้แค่ทำให้มันราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เท่ากับจำนวนเงินที่มีอยู่ และความราบรื่นนั้นเท่ากับการทำงานอย่างหนักในช่วงเวลาที่จำกัด แล้วยังเสียสุขภาพในระยะยาว

รวมถึงการ empathy ซึ่งคิดว่าเป็นผลมาจากความอาวุโสที่เขาจะทำอะไรก็ได้เพราะมีอำนาจ ตำแหน่ง หรืออายุมากกว่า เขาเลยไม่เห็นอกเห็นใจ ซึ่งถ้าเขามองเห็นความสำคัญเรื่องนี้และมีงบประมาณที่มากพอก็อาจจะทำให้ทุกคนในกองสุขภาพกายและใจดีขึ้น เพราะมันคงจะดีที่ไปกองถ่ายและทำงานที่รักได้อย่างมีความสุขทุกวัน เพราะการออกกองเหนื่อยมากต้องพักผ่อนให้เต็มที่และไปออกกองโดยใช้พลังทั้งหมดนั้น และกลับมาพักผ่อนอย่างเต็มที่อีกครั้ง เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ชีวิตปกติของมนุษย์เราควรพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงและควรได้ออกไปใช้ชีวิต 

ถ้ามีข้อกำหนดที่พูดถึงเรื่องชีวิตคนทำงานกองถ่าย จะทำให้คุณภาพชีวิตคนในกองถ่ายดีขึ้นไหม 

ตอนนี้ก็มีข้อตกลงร่วมกันบ้างแล้ว อย่างเช่น ผมจะไม่ออกกองเกิน 8 ชั่วโมงหากรับไม่ได้เราก็จะไม่ร่วมงานกัน เรารู้สึกว่าถ้ามีกฎหมายมันจะไม่ได้ส่งผลแค่ production house แต่ยังส่งผลต่อลูกค้าที่รู้ว่าเราจะต้องแค่วันละเท่านี้ จำนวนชั่วโมงเท่านี้

มนุษย์เท่ากัน สำหรับคุณหมายถึงอะไร 

มันคือการไม่เลือกปฏิบัติ เรารู้สึกว่าเอาแค่คำพูดให้มันเท่ากันทุกคน เข้าใจว่าบางครั้งนักแสดงหลักต้องได้รับการดูแลมากกว่าเพราะต้องใช้ความเป๊ะ หน้าไม่เยิ้มเครื่องสำอางค์ เสื้อผ้าไม่เปียกฝน แล้วก็ได้รับคำพูดที่น่ารักมากกว่าทุกคน คำถามคือแล้วทำไมไม่เอาคำพูดเหล่านั้นที่พูดกับพี่ดารามาพูดกับพี่ช่างกล้อง มาพูดกับนักแสดง เอ็กซ์ตร้า หรือมาพูดกับผู้ช่วยผู้กำกับ 

ทุกคนรู้ว่าการสื่อสารที่สามารถเข้ากับทุกคนก็มีหลายแบบ ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถสื่อสารเข้ากับเขาอย่างดีที่สุด แต่สิ่งที่ดีที่สุดมันก็คือการสื่อสารอย่างมีความเห็นอกเห็นใจ หรือไม่ใส่อารมณ์ ซึ่งทุกคนรู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรทำแต่ก็ไม่มีใครทำ เพราะรู้สึกว่าคนนี้มีอำนาจน้อยกว่าตัวเอง

ถ้าสมมติว่าพี่ดารามีที่นั่ง  นักแสดงเอ็กซ์ตร้าหรือตำแหน่งอื่นๆ ในกองถ่ายควรจะมีที่นั่งด้วยเหมือนกัน