บังคับทรงผมนักเรียน = การกดทับตัวตน : กฎระเบียบทรงผมที่ยังมีอยู่ในโรงเรียนทะเลแคริบเบียน เพื่อลบล้างอัตลักษณ์ของนักเรียนผิวดำ

‘กฎระเบียบไว้ทรงผม’ ในโรงเรียน อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้นักเรียนเฉพาะในไทยเท่านั้น  อีกฝั่งหนึ่งของโลกก็เช่นเดียวกัน ‘ไบรซ์’ นักเรียนชายผิวดำคนหนึ่งจากโรงเรียนในจากตรินิแดด (Trinidad) ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในประเทศตรินิแดดและโตเบโก (Trinidad and Tobago) ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมพิธีจบการศึกษา เพราะทรงผมของเขาไม่เป็นไปตามกฎระเบียบโรงเรียนที่กำหนดว่า ‘ต้องเรียบร้อย’ 

ทรงผมของไบรซ์เป็นทรงแอโฟรแบบสั้น (Low afro) เป็นทรงผมที่ชายผิวดำหลายคนนิยมไว้กัน  ไม่ได้มีแค่ไบรซ์ที่ถูกห้าม ยังมีนักเรียนชายคนอื่นๆ อีกหลายสิบคนที่ถูกห้ามเช่นกัน

“พวกครูๆ ให้เรานั่งอยู่มุมสุดของงาน ที่ที่พ่อแม่แทบจะมองไม่เห็นเราด้วยซ้ำ นี่ถือเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายมาก แล้วมันก็เกิดขึ้นในวันที่ควรเป็นวันแสนพิเศษของเรา” ไบรซ์ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง

เมื่อเรื่องนี้ถูกปล่อยออกไป กระแสความคิดเห็นก็หลั่งไหลมาเต็มที่ โดยเฉพาะบนโลกอินเทอร์เน็ตที่คนส่วนใหญ่รู้สึกไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจเช่นนี้ของโรงเรียน 

“คนที่มีความเป็นแบบเจ้าอาณานิคม (Colonial Mentality) ไม่สมควรอยู่ที่นี่”

“นี่มันน่าขยะแขยงมาก บ่งบอกเลยว่าประเทศที่เราอยู่เป็นอย่างไร”

จากกระแสที่เกิดขึ้นก็ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของตรินิแดดและโตเบโก  อนุญาตให้นักเรียนสามารถไว้ผมทรงคอร์นโรลได้ (หรือ Cornrows ทรงผมที่มีลักษณะเป็นการถักเปียติดหนังหัวเส้นเล็กๆ เริ่มตั้งแต่โคนผมไปจนถึงปลาย ถักทั้งหัว)

การเลือกปฏิบัติผ่านทรงผมเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยที่มีการค้าทาสโดยคนยุโรป ทาสส่วนใหญ่มักเป็นคนผิวดำ ทำให้พวกเขาถูกบังคับให้ตัดผมเกรียนติดหนังหัว ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงอำนาจของเจ้านาย ลดทอนความเป็นมนุษย์อีกฝ่าย แล้วที่สำคัญเป็นความพยายามที่จะล้างวัฒนธรรมคนผิวดำออกไป

และแม้จะผ่านมาหลายทศวรรษ ความคิดเช่นนี้ก็ยังคงมีหลงเหลือเป็นมรดกในสังคม อย่างในที่ทำงานหรือสถานศึกษาบางแห่ง ทรงผมแอโฟรถูกมองว่าเป็นทรงผมที่ไม่ถูกตามกาลเทศะ ผิดระเบียบ

เช่นกันเดียวกัน ก็มีความพยายามที่จะลบล้างสิ่งนี้ ในปี 2022 ที่เกาะแองกวิลลา (Anguilla) ประเทศเปอร์โตริโก (Puerto Rico) เป็นเกาะแรกในกลุ่มประเทศและหมู่เกาะทะเลแคริบเบียน ที่สามารถออกกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติผ่านทรงผม โดยรัฐมนตรีการศึกษาและการพัฒนาสังคมที่นั่น อนุญาตให้นักเรียนสามารถทำผมตามที่ตัวเองต้องการ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเส้นผม

“การเสนอระเบียบทรงผมข้อนี้มันเป็นสิ่งที่สำคัญกับฉัน เพราะกฎต่างๆ ในที่ที่เราอยู่ มันบ่งบอกว่าเราเป็นใคร ซึ่งเราพยายามขจัดความคิดแบบยุโรปออกไป แล้วเขียนขึ้นมาใหม่เองว่าเราจะดำเนินชีวิตอย่างไรในแองกวิลลา มันเป็นเสรีภาพของเรา” รัฐมนตรีการศึกษาและการพัฒนาสังคมกล่าว

ฟากฝั่งอเมริกาก็มีความพยายามในเรื่องนี้เช่นกัน กฎหมายอาญาในรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ปี 2019 ถือเป็นก้าวสำคัญ เพราะมีข้อที่กำหนดที่ว่า “จงสร้างโลกที่เปิดกว้างและเคารพธรรมชาติของเส้นผมในทุกรูปแบบ” 

จริงๆ แล้วการเลือกปฏิบัติผ่านทรงผมอาจเป็นเพียงจุดเล็กๆ เมื่อเทียบกับร่มใหญ่ที่กำลังครอบมันอยู่ คือ การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ บอนนี่ วัตสัน โคลแมน (Bonnie Watson Coleman) สมาชิกสภาคองเกรส ที่สนับสนุนกฎหมายนี้บอกว่า ปัญหานี้มันมากกว่าแค่เรื่องทรงผม แต่เป็นปัญหาด้านสิทธิของพลเมือง โคลแมนเขียนจดหมายเรียกร้องให้รัฐอื่นๆ เปลี่ยนแปลงกฎหมายเช่นกัน โดยที่นิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ เวอร์จิเนีย และอิลลินอยส์ ก็ผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว 

ที่อังกฤษการเลือกปฏิบัติผ่านทรงผมเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายนับตั้งแต่ปี 2010 แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ภาครัฐจึงมีความพยายามที่จะออกมาตรการแก้ไขปัญหา เช่น กฎระเบียบการแต่งการในบางโรงเรียน หากห้ามไว้ทรงผมบางทรงโดยไม่มีเหตุผลอันควร หรือเหตุผลมาจากเชื้อชาติ มีแนวโน้มผิดกฎหมาย

ฮาโล คอลเลคทีฟ (Halo collective) กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เกิดจากการรวมตัวของวัยรุ่นผิวดำในลอนดอน กำลังผลักดัน ‘ฮาโลโค้ด (halo code)’ เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับที่ทำงานและสถานศึกษา มุ่งไปที่การปกป้องคนผิวดำกับการไว้ทรงผมตามธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติผ่านทรงผม สนับสนุนการมีอัตลักษณ์ที่แตกต่าง

หนึ่งในนักเคลื่อนไหวของฮาโลบอกว่า “เราอยากให้เด็กผิวดำภูมิใจในรูปลักษณ์ของพวกเขา ไม่ถูกลงโทษเพราะสิ่งนี้”

‘เวเนซุเอลา (Venezuela)’ เป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติ พวกเขามีศัพท์ที่คิดขึ้นเพื่อใช้เรียกผมของคนดำว่า ‘Pelo malo’ มีความหมายว่า ‘ผมเสีย’ การเหยียดผ่านทรงผมถือเป็นเรื่องปกติของที่นี่ 

“ที่มหาวิทยาลัย คุณอาจจะได้ยินอาจารย์พูดว่าคุณมีใบหน้าที่สวยมาก แต่คุณไม่ควรไว้ผมทรงแบบนั้น เพราะคุณจะไม่มีวันหางานทำได้” คำกล่าวจากพูลเลตต์ อับดุลลาห์ (Paulette Abdallah) ที่ขายผลิตภัณฑ์แต่งผมสำหรับผู้หญิงผิวดำในเมืองหลวงของเวเนซุเอลา เธอพยายามสนับสนุนให้พวกเขารักผมของตัวเอง และแต่งมันในรูปแบบที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเส้นผม

ปัญหาการเหยียดทรงผมในเวเนซุเอลาได้ถูกหยิบไปทำเป็นภาพยนตร์สั้นที่ชื่อว่า Pelo Malo มีฉากหนึ่งของเรื่องที่เป็นภาพเด็กชายพยายามหนีบผมตัวเองให้ตรง ทำให้หนังได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยจากเทศกาลภาพยนตร์ซานเซบัสเตียน (San Sebastián film festival) ในปี 2013

ซูไลคา พาเตล (Zulaikha Patel) นักรณรงค์ชาวแอฟริกาใต้ที่เคยถูกเลือกปฏิบัติจากทรงผมเมื่อตอนที่เธออายุ 13 ปี กฎของโรงเรียนที่พาเตลอยู่นั้นห้ามนักเรียนผิวดำไว้ทรงผมเดรดล็อคและแอโฟร

“โรงเรียนนี้ถูกสร้างขึ้นบนฐานคิดที่ว่า จะไม่มีนักเรียนผิวดำเข้ามาเรียน เมื่อฉันเข้าไป สภาพแวดล้อมที่นั่นจึงไม่เป็นมิตรกับฉันเอาซะเลย เงื่อนไขที่พวกเขาสร้างขึ้นก็เป็นเหมือนการทำสงครามกับตัวตนของเรา แปลว่าก่อนคุณจะเข้าไปในโรงเรียน คุณต้องทิ้งอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ที่ประตู และเอาตัวเองไปหลอมรวมกับความเป็นคนผิวขาว”

พาเตลจึงเริ่มทำการประท้วงกฎโรงเรียนข้อนี้ เธอชวนนักเรียนหญิงคนอื่นๆ มาร่วมประท้วง รวมถึงในโลกออนไลน์ที่กลุ่มของเธอใช้แฮชแท็ก #StopRacismAtPretoriaGirlsHigh  ซึ่งได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการของแอฟริกาใต้สั่งระงับกฎข้อนี้ของโรงเรียน 

ปัจจุบันพาเตลยังคงทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ เธอเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็กเรื่องนี้ที่พูดถึงปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมาชื่อว่า My Coily Crowny Hair เล่าตัวละครเอกที่เป็นเด็กหญิงชาวแอฟริกาใต้ ที่อยู่ในช่วงกำลังเรียนรู้จะรักเส้นผมของเธอตามธรรมชาติ และภูมิใจที่จะเป็นตัวเอง

“การได้เห็นตัวตนของพวกเขาอยู่ในหนังสือมันช่วยเสริมพลังให้กับการดำรงอยู่ของเด็กๆ เหล่านี้”

อาจพูดได้ว่าปัญหาทรงผมกับนักเรียนเกิดขึ้นในหลายที่ๆ ทั่วโลก ซึ่งเหตุผลก็แตกต่างออกไป แต่คงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่เราต้องหาว่าทำไมเขาจึงออกกฎเหล่านี้ 

เพราะทรงผมหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย ย่อมเป็นสิทธิ์ของเจ้าตัวที่จะกำหนดและจัดการเอง มันอาจเป็นก้าวเล็กๆ แต่สำคัญที่จะทำให้เด็กๆ รู้จักกับคำว่าสิทธิ ทำให้เขาปกป้องตัวเองได้เมื่อโตขึ้น

อ้างอิง