อาทิตย์นี้คุณโกหกไปแล้วกี่ครั้ง? เรื่องอะไรบ้าง
‘โกหก’ ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ การจงใจกล่าวคำที่ไม่จริง พูดปด หรือพูดเท็จ ซึ่งคงไม่ใช่พฤติกรรมที่ดี เพราะเป็นการหลอกลวงคนอื่น แต่ในโลกของการโกหกก็ยังมีประเภทของมัน บางการโกหกอาจมีข้อดีเช่น White Lies การโกหกเพื่อถนอมน้ำใจหรือทำให้อีกฝ่ายสบายใจ เป็นการโกหกด้วย ‘ความหวังดี’
หรือการโกหกอีกประเภทหนึ่งที่ส่งผลดีแค่พวกพ้อง แต่ส่งผลกระทบกับคนอื่น นั่นคือ Blue Lies การโกหกเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มที่ตัวเองอยู่
Christian L. Hart ที่ทำการศึกษาพฤติกรรมการหลอกลวงตัวเอง (The Nature of Deception) เขียนบทความลงเว็บไซต์ Psychology Today เพื่ออธิบายพฤติกรรม Blue Lies ว่า เริ่มแรกคำนี้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เรียกพฤติกรรมของฝั่งตำรวจที่ออกมาปกป้องเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ร่วมชุมนุม ซึ่งพวกเขามักให้เหตุผลว่า เป็นการกระทำเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเหมาะสมตามศีลธรรม

แต่ Blue Lies ไม่ได้ใช้แค่กลุ่มตำรวจเท่านั้น แต่หมายรวมถึงพฤติกรรมโกหกเพื่อปกป้องกลุ่มหรือองค์กรที่ตัวเองสังกัดอยู่ ซึ่งการโกหกสีน้ำเงินนี้ถูกมองเป็นการแสดงความจงรักภักดีและความซื่อสัตย์ที่สมาชิกมีต่อกลุ่ม
Hart อธิบายต่อว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะครอบครัว เพื่อน หรือที่ทำงาน เราจะพยายามปกป้องคนหรือกลุ่มนั้นเอาไว้ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นฝ่ายผิดจริงๆ หรือต้องใช้วิธีการที่ดูเห็นแก่ตัวก็ตาม ทำให้ถ้าคนอื่นโกหกเรา เราอาจรู้สึกว่าเขาน่ารังเกียจ หรือเป็นคนที่ผิดศีลธรรม ในทางกลับกันถ้ามีคนโกหกเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเราหรือกลุ่มที่เราเป็นส่วนหนึ่ง เราอาจมองว่าเขาเป็นคนมีคุณธรรม เที่ยงตรง
สงครามเป็นสถานการณ์ที่ Hart ยกมาประกอบเพื่อให้คนเห็นภาพของ Blue Lies มากขึ้น เขาบอกว่า คนอเมริกันบางคนไม่พอใจที่วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียโกหกถึงสาเหตุที่เขาส่งทหารบุกยูเครน แต่กลุ่มคนเหล่านี้อาจยกย่องสายลับอเมริกาที่ใช้อุบายหลอกลวง จนสามารถเอาชนะรัสเซียในสงครามเย็นได้ พวกเขาจะมองว่าการตีสองหน้าเป็นสายลับ เป็นพฤติกรรมที่ชอบธรรม
หรือในระดับพรรคการเมืองเอง การโกหกเพื่อปกป้องสมาชิกในพรรค หรือเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม อาจถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ชอบธรรมเช่นกัน Hart ยกงานวิจัยที่ค้นพบว่า คนที่โกหกเพื่อกลุ่มอาจกลายเป็นคนที่ดูน่าเชื่อถือกว่าทุกๆ คนที่อยู่ในกลุ่มทั้งหมด และการโกหกในทางหนึ่งเป็นการเพิ่มความผูกพันของสมาชิกให้แน่นแฟ้นขึ้น
นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่ชื่อว่า Lying in the name of the collective good ทำการศึกษาพฤติกรรม Blue Lies รายงานผลทดลองว่า มีเด็กอายุ 7, 9 และ 11 ปีหลายคนที่พร้อมจะตอบสิ่งที่เป็นเท็จ เมื่อถูกถามถึงกระบวนการคัดเลือกสมาชิกในทีมหมากรุกโรงเรียนที่พวกเขาอยู่ ซึ่งการโกหกนี้ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง แต่ทำเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของทีมหมากรุก ทำให้นักวิจัยวิเคราะห์ต่อว่า การโกหกแบบ White Lies จะดึงดูดคนเข้าหากัน เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันการโกหกแบบ Black lies การโกหกหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง จะทำให้คนแตกแยก ส่วนการโกหกแบบ Blue Lies จะดึงบางคนเข้าหากัน ในขณะเดียวกันก็ผลักคนอื่นๆ ออกไป

ในงานวิจัยนี้ยังบอกอีกว่า มีเด็กหลายคนเติบโตมากับตัวละครมีพฤติกรรมโกหกหลอกลวง แต่พวกเขากลับมองว่าตัวละครเหล่านั้นมีคุณธรรม หรือเป็นฮีโร่ เช่นตัวละคร Severus Snape จาก Harry Potter ที่เป็นสายลับสองหน้าหลอกลวงฝ่ายตรงข้าม เพื่อชัยชนะของกลุ่มตัวละครเอก
สถานะสมาชิกกลุ่มอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Blue Lies กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพิ่มคุณค่า หรือถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะมันสื่อถึงความซื่อสัตย์และการเป็นคนที่ไว้ใจได้ในกลุ่ม และการจะตัดสินใจว่า การโกหกนั้นผิดหรือถูก เป็นการโกหกที่ดีหรือแย่ อาจต้องขึ้นอยู่กับว่าใครกำลังถูกโกหก แล้วเขาได้รับผลประโยชน์หรือไม่ ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้าม คนที่เราไม่ชอบถูกหลอกลวง เราก็อาจรู้สึกเห็นดีด้วยก็ได้ หรือสะใจที่เขาถูกโกหก
แต่ขึ้นชื่อว่าการโกหกคงไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด ถ้าเลือกได้เราคงอยากอยู่กับความจริง มากกว่าสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และไม่รู้ว่าวันไหนจะพังทลายลง
อ้างอิง
- Photo by JESHOOTS.COM on Unsplash