เฉียง ไปอยู่ไหนมา : ไม่มีวัยไหนที่พร้อมที่สุด บางครั้ง Safe Zone คือข้ออ้างที่ทำให้สิ่งที่อยากทำเป็นแค่ความฝัน

การเดินทางคนเดียวของ ‘เฉียง’ วรฉัตร ธำรงวรางกูร เจ้าของเพจ เฉียง ไปอยู่ไหนมา คือ การฝืนตัวเองและโยนคำถามในหัวทิ้งไปเพื่อก้าวออกจาก Safe Zone ของตัวเอง

หลายครั้งเรามักกลัวการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย แต่กับเฉียง การไปนอนบ้านคนไม่รู้จักและเชื่อมความสัมพันธ์กับคนรอบตัว คือ เรื่องธรรมดา

การเที่ยวแบบผจญภัย 10 ประเทศในระยะ 6 เดือนที่มาพร้อมกับความฉิบหาย ตกเครื่องบิน ฝนตก อกหัก โดนคนแปลกหน้าเดินตามจึงกลายเป็นเสน่ห์ของการเที่ยวในแบบของเฉียง 

เที่ยวคนเดียว สำหรับคนอื่นอาจเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับเฉียง เขาภูมิใจกับความกล้าที่จะออกจาก Safe Zone ของตัวเอง โดยไม่ยอมให้คำว่าพื้นที่ปลอดภัยมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำในสิ่งที่เขารักอีกต่อไป 

Mutual คุยกับเฉียงตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่เขาเดินออกจาก Safe Zone ในฐานะนักเดินทางและนักเล่าเรื่องที่ลงไปสัมผัสชีวิตเรื่องราวและความหลากหลายของผู้คน

เพราะการเดินทางตลอด 3 ปีบอกเฉียงว่า ไม่ใช่แค่นักเดินทาง แต่ทุกคนต่างมี Safe Zone และจุดสบายใจของตัวเองเหมือนกัน

และจุดหมายปลายทางอาจไม่สำคัญกว่าความสนุกและความภูมิใจที่เกิดขึ้นระหว่างทาง

การเที่ยวแบบผจญภัยที่มาพร้อมความฉิบหาย

จริงๆ แล้ว ก่อนจะมาเป็นบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวที่ลงลึกเรื่องชีวิตของผู้คน เฉียงเคยเป็นพิธีกรท่องเที่ยวสายข้อมูลมาก่อนที่ทำให้คนไม่ชอบเที่ยวได้ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็พบว่า เขาไม่เหมาะกับการเที่ยวสายข้อมูลที่จะต้องคอยบอกรายละเอียดสถานที่ต่างๆ รวมถึงวิธีการเดินทาง

หลังจากนั้น เขาก็ผันตัวไปเป็นสจ๊วต แล้วก็รู้ว่าตัวเองไม่ถนัดการทำงานที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ ระหว่างการทำงานเขาจึงตัดสินใจตามออกเดินทางอีกครั้ง ด้วยการรับคำเพื่อนเก็บกระเป๋าไปเอธิโอเปีย

“เพื่อนชวนเฉียงไปเอธิโอเปีย พอไปถึงทำให้เรารู้ว่าโลกนี้กว้าง มีชาวชนเผ่าที่ไม่สามารถออกจากประเทศได้ แต่มีความฝันที่อยากจะเป็นหมอ มีเด็กกินขยะ รู้จักความเชื่อใหม่ๆ เช่น Bull jumping ผู้ชายจะแต่งงานต้องกระโดดข้ามวัว”

“ระหว่างทางลำบากมาก มันเหนื่อยมาก แต่กลับมาแล้วรู้สึกว่า หารูปแบบการท่องเที่ยวของตัวเองเจอแล้ว คือ เราสนุกกับการท่องเที่ยวแบบผจญภัย”

และหลายๆ ครั้ง การเที่ยวแบบผจญภัยก็มาพร้อมกับความฉิบหาย

เฉียงเล่าว่า ทุกครั้งที่ไปทะเล สิ่งที่เขาต้องทำ คือ แต่งรูปให้ท้องฟ้าสดใสๆ ทั้งๆ ที่ความจริง ฝนตกจนหลายๆ คนตั้งฉายาให้ว่า เฉียงเรียกฝน เฉียงไปไหนก็มีแต่ภัยพิบัติ เฉียงไปไหนก็มีแต่ความฉิบหายวายวอด

“ทุกทริปที่เราไปฝนตก แล้วเราก็จะต้องแต่งรูปให้ท้องฟ้าสวย เราก็มีคำถามตลอด เอ้า ก็ฝนมันตก กูเป็นอะไร ทำไมมาเที่ยวทุกทริปฝนต้องตก แล้วถ่ายรูปไม่ได้ แสงไม่ได้ แต่ปรากฎว่าคนที่ติดตามก็ชอบมากบอกว่า ไปแล้วฝนตกเหมือนกันเลย  จนเริ่มได้ฉายา เฉียงเรียกฝน ไปไหนก็มีแต่ภัยพิบัติ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ผิดอะไร ถ้าเราจะลงรูป ฟ้ามืด แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นกิมมิคที่เราแชร์ให้คนได้อ่าน”

ก้าวออกจาก Safe Zone ที่ไร้แพลนแล้วไปตายเอาดาบหน้า 

การเดินทางสำหรับเฉียง คือ การฝืนตัวเอง โยนคำถามในหัวทิ้งไปเพื่อก้าวออกจาก Safe Zone ที่คุ้นเคย 

“Safe Zone ของเฉียงคือข้ออ้างที่จะไม่ทำ ไม่ไปแล้ว ไม่เอาดีกว่า แต่พอออกจากเซฟโซน ก็คือฝืนตัวเอง แต่เฉียงรู้สึกว่า โอเค ถ้าออกจากประตูห้องนี้ไปแสดงว่าเรากำลังออกจากเซฟโซนละ ก็เลยเอาวะ แล้วเดี๋ยวดูว่าจะเป็นยังไง เพราะเราเป็นแบบนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ค่อยแพลน ไปตายเอาดาบหน้า”

การเที่ยว 10 ประเทศในระยะเวลา 6 เดือนจึงเริ่มต้นขึ้น  เริ่มจากจอเจียร์ ตุรกี จอร์แดน ดูไบ อเมริกา แล้วก็อเมริกาใต้ บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี โบลิเวีย แล้วปิดท้ายด้วยเปรู 

ขณะเดียวกันการเดินทางคนเดียวก็ทำให้เฉียงรู้จักโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายมากขึ้น ทั้งหลงทาง โดนคนแปลกหน้าเดินตาม และมิตรภาพดีๆ 

“ตลอดครึ่งปี เรามีเพื่อนใหม่ที่น่ารัก เพื่อนหลากหลาย เพื่อนเป็นโสเภณี มีมิตรภาพดีๆ เยอะ แล้วเราก็มีความรักด้วย”

เฉียงบอกว่า สำหรับ 5 ประเทศแรก เขาเลือกเล่าความสวยงามของสถานที่ แต่ 5 ประเทศสุดท้าย เขาเลือกที่จะเล่าทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างทาง

“จริงๆ แล้ว 5 ประเทศหลังมีเพื่อนที่อยู่อเมริกาช่วยแพลนให้ แล้วเราก็เล่าเป็นไดอารีทุกวันว่าเราไปเจออะไรบ้างผ่านเพจ เพราะมันมีความภูมิใจเกิดขึ้นหลายอย่างมาก ยกตัวอย่าง มาชูปิกชูเป็นการปีนเขาครั้งแรกของเฉียง แล้วปีน 5 วัน วันละ 20 กว่ากม. ไปนอนเตนท์ พอถึงฝนตก ฟ้าปิด แต่สุดท้ายฟ้ามันก็เปิดแค่นาทีเดียว ที่อาร์เจนตินา เราก็เลือกนอนโฮสเทลทำให้เราเจอเพื่อนเยอะๆ มาก เพราะจะมีคนเข้ามาทัก เข้ามากอด ชวนไปเที่ยวกัน หรือที่เปรู เราไปว่ายน้ำกับปลาปิรันย่า กระโดดลงน้ำไปด้วยกางเกงในตัวเดียว  แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว เพราะเราต้องทำให้ถึงที่สุดจะได้ไม่เสียใจทีหลัง”

ถึงจะล้มลุกคลุกคลาน สู้กับฟ้าฝนและความกลัวในใจตัวเอง แต่การพาตัวเองมายังสถานที่และผู้คนใหม่ๆ ก็ทำให้เฉียงยิ่งเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองมากขึ้น

มุมของเฉียง บางเรื่องเราก็ไม่จำเป็นต้องคิดมากหรือหาข้ออ้างมากมาย เพราะสุดท้ายเราก็อาจจะไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ

“ตอนไปว่ายน้ำกับปลาปิรันย่า พอกลับมา เฉียงถามตัวเองว่า กูทำไปได้ยังไงวะ  จนได้คำตอบว่า มันคืออะดรีนาลีน ณ ช่วงนั้น มันคือรูป รส กลิ่น เสียง อากาศ สถานการณ์แล้วเราก็สัญญากับตัวเองว่าเราจะทำให้มันเป็นที่สุดของครึ่งปีนั้นเลยเป็นแรงผลักดันให้ลอง มันจะเป็นยังไงค่อยว่ากัน”

“ถ้าเราคิดเยอะ มันจะเจอจุดอะไรมากมายที่ไม่ควร เฉียงจะบอกตัวเองตลอดว่า ถ้ามึงคิดเยอะเกินไป มึงไม่ได้มาหรอก ครึ่งปี มึงไม่มาตั้งแต่แรก แต่เราแบบ ก็เราตัดสินใจแล้ว แสดงว่า ทุกอย่างที่เราตัดสินใจ ทุกอย่างมันดีตลอด ถึงมันไม่ดี มันก็มีเรื่องไม่ดีที่เป็นประสบการณ์”

“มันภูมิใจเหมือนบางคนได้กินของอร่อย บางคนได้เห็นวิวสวยๆ บางคนได้ซื้อรถ ซื้อบ้าน เราภูมิใจที่เราปีนเขาได้  เพราะเฉียงเริ่มต้นจากเด็กขี้อายมาก ไม่กล้าทำอะไรเลย ไม่ชอบเที่ยว ไม่ชอบอะไรเลย คิดว่าทำไม่ได้ แล้วมันจะมีคำว่าเดี๋ยวก่อนๆ ในหัวตลอด  แต่ตอนนี้เราทำแล้ว เรามี checkbox เต็มไปหมดเลย นี่คือความภูมิใจของเรา” 

ไม่มีวัยไหนที่พร้อมที่สุด สำหรับสิ่งที่รัก ถ้าอยากทำก็ทำเลย

เราไม่มีวันเป็นคนที่เก่งและพร้อมที่สุด หลายๆ ครั้งความต้องการของตัวเราจึงกลายเป็นเป้าหมายระยะไกลที่ไม่มีวันสำเร็จ

แต่เฉียงบอกว่า ทุกคนมีความพิเศษและแตกต่างกัน สุดท้ายเราจะไม่มีวันพร้อม 100% เพราะไม่ว่าอย่างไรก็จะมีคนที่เก่งกว่าเราเสมอ ในวัยที่ยังมีแรง ถ้าอยากลองทำอะไรก็ทำเลย 

“เรื่องท่องเที่ยว ถ้าคุณอยู่ในวัยที่ยังไม่พร้อม ต่อให้โตกว่านี้ก็ไม่พร้อมเหมือนกัน เพราะเดี๋ยวคุณก็จะมีงาน มีลูกน้อง มีลูก มีแฟนแก่ เห็นปะ มันไม่มีวัยไหนที่พร้อม 100% เลย แต่ถ้าตอนนี้ยังมีแรงที่จะออกมาลองก็ทำไปเถอะ หรือลองไปเที่ยวคนเดียวดู ถ้าไม่ชอบก็ไม่เป็นไร” 

“ความชอบ ความอยาก การค้นเจอตัวเองมันไม่ได้อยู่ตลอด มันเปลี่ยนตลอดเวลา ช่วง 3 ปีนี้เฉียงอยากอยู่ตรงนี้ ปีหน้าเฉียงไปเจออะไรระหว่างเดินทาง เฉียงอาจจะอยากเปลี่ยนเป็นอีกแบบก็ได้ มันไม่ใช่ว่าคุณเจอตัวเองแล้ว คุณเจอตัวเองแล้วมันจะหยุดอยู่แค่นี้ คุณสามารถเจอตัวเองได้เรื่อยๆ”

เพราะเมื่อเจอตัวเองแล้ว จะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ไม่สำคัญ

ทุกคนมีความสุขและจุดสบายใจของตัวเอง

สำหรับเฉียง การเดินทางไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางครั้งเราก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอด แต่ท้ายที่สุดเราจะเติบโต

การเดินทางของเฉียงคือ ทุกอย่างมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ถึงเราจะรู้ว่าอยากทำอะไร แต่เราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรเกิดขึ้นบ้างและเราพร้อมที่จะรับทุกอย่างและทุกเรื่องระหว่างทาง การไปเที่ยวคนเดียวทำให้เฉียงโตขึ้นมาก เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบและรู้สึกว่าวัตถุอะไรต่างๆ ไม่ได้สำคัญกับเฉียงขนาดนั้น เพราะเรารู้ว่าโลกใบนี้มีอะไรให้ให้เรียนรู้อีกเยอะเลย”

นอกจากนี้มากกว่าการนำเสนอการท่องเที่ยวแนวผจญภัยและเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ‘เฉียง ไปอยู่ไหนมา’ กำลังบอกความธรรมดาของคนในพื้นที่ โดยไม่มีการตัดสินแทนผ่านมุมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

“เฉียงเคยคิดว่าคนชนเผ่าน่าสงสาร ทำไมเขาไม่อยู่บ้านดีๆ ทำไมไม่มีคนมาช่วยเหลือ แต่การเดินทางไปหลายๆที่บอกเราว่า ทุกคนมีความสุขและจุดสบายใจของตัวเอง เราชอบคิดแทนว่า มาตรฐานของมนุษย์ควรได้รับอะไรบ้าง แต่สุดท้ายมันไม่ได้มีใครเลือกได้ขนาดนั้น”

“อย่างเพื่อนเราที่เป็นคนตาบอด เขาก็ถนัดในแบบที่เขามองไม่เห็นและหาความสุขให้ตัวเองได้ หรือชนเผ่าเขาก็อาจจะสบายใจกับการอยู่บ้านของเขาแบบนี้ก็ได้” 

“การเดินทางไปสถานที่หลากหลาย เราก็แค่เรียนรู้ ถ่ายทอด แต่เราต้องไม่ไปแทรกแซง แล้วเฉียงก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะเข้าไปแทรกแซงหรือเปลี่ยนแปลงใคร เฉียงไม่ได้คิดว่าทุกวันนี้เราทำคอนเทนต์เพื่อเปลี่ยนโลก แม้ว่าจะเคยอยากเปลี่ยน แต่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดง่ายขนาดนั้น ทุกอย่างมีโครงสร้างที่ซับซ้อน เราแค่ทำหน้าที่ของเรา ให้คนเห็นแล้วไปตัดสินใจหรือถกเถียงกันเอง”

“ถ้าเราให้พื้นที่ความเป็นเขาที่เป็นเขาจริงๆ แล้วมีคนดูหรือสนใจ เขาจะเห็นจุดที่ต้องเปลี่ยน โดยที่เราไม่ต้องพูดเลย”

ในเวลาเดียวกัน การเดินทางของเฉียงก็จะดำเนินต่อไป เพราะทุกๆ เรื่องราวและทุกๆ ความสัมพันธ์ที่เขาเล่าผ่านคลิปการเดินทางหรือข้อเขียนหลายบรรทัดอาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนได้

“เฉียงรู้สึกว่าทุกคนมีสตอรี่และเรื่องราวที่เราสามารถหยิบมาให้คนเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเองเปล่งประกายได้ เฉียงชอบไปเจอคนเยอะไม่ใช่เพราะว่าเราอยาก เพราะว่าเขาสวยเขาหล่อ แต่เราชอบไปฟังเรื่องราวของเขาก็เลยทำให้มันการเดินทางมันไม่จบสักที” เฉียงทิ้งท้าย