“ผมอยากเป็นเหมือนดาบิด เด เคอา” ความฝันของเด็ก 10 ขวบจากสัตหีบ ในวันที่ครอบครัวกำลังเสี่ยงเป็น ‘คนไร้บ้าน’ ณ หัวลำโพง

หัวลำโพง คือ จุดหมายปลายที่คนไร้บ้านส่วนใหญ่เลือกพักอาศัย ผลสำรวจโดยโครงการแจงนับ (One Night Count) จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ประจำปี 2566 ระบุว่า สถานีรถไฟและสถานีขนส่งผู้โดยสาร เป็นสถานที่ที่มีแนวโน้มพบ ‘คนไร้บ้านหน้าใหม่’ ได้มากที่สุด ‘โอม’ (นามสมมุติ) ก็กำลังเข้าข่ายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่มาพักอาศัยที่หัวลำโพงเช่นเดียวกัน โอมเป็นเด็กวัย 10 ขวบที่หอบกระเป๋าตามมากับพ่อแม่

บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมช่วงหัวลำโพง จุดที่คนมักมาใช้บริการนั่งเล่น นัดเจอเพื่อนๆ ใช้เวลาว่างไปกับการดื่มด่ำธรรมชาติที่หาได้น้อยในพื้นที่กรุงเทพฯ แห่งนี้ และเป็นจุดที่มักมีการแจกอาหาร วันนี้ก็เช่นกัน เมื่อเริ่มมีการตั้งโต๊ะเตรียมแจกของ บางคนก็ลุกเดินไปต่อแถวกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ความรวดเร็วนี้เกิดขึ้นภายในพริบตาเดียว คนที่นำกับข้าวมื้อนี้มาแจกยังไม่ทันได้วางของ ทุกคนก็ต่อแถวกันเรียบร้อยแล้ว

เพราะตัวเล็กและยังเด็ก โอมจึงวิ่งมาต่อแถวได้เป็นคนแรกสุด เด็กน้อยยืนรออย่างใจเย็น พร้อมกับยกมือขึ้น 2 นิ้วให้กับคนที่มาแจกข้าว เพื่อบอกว่ามื้อนี้เขาขอข้าว 2 กล่อง อีกกล่องจะเอาไปฝากพ่อ

“วันนี้ผมได้ผัดกระเพรากับหมูยอ แต่ยังไม่กินตอนนี้ จะเก็บไว้กินทีหลัง” โอมอธิบายเพิ่มเติม

จากสัตหีบ สู่หัวลำโพง

วันที่เราได้คุยกับโอม ครอบครัวของโอมเพิ่งย้ายมาอยู่ที่หัวลำโพงได้ 9 วัน ชีวิตของโอมในตอนนี้เลยเป็นการปรับตัว เขายังไม่ไปโรงเรียนเพราะแม่บอกว่าต้องรอให้ทุกอย่างเข้าที่ก่อน ชีวิตในแต่ละวันของโอมตอนนี้ ถ้าไม่มาเดินเล่นบริเวณคลองนี้ ก็จะไปบ้านเพื่อนที่อยู่ใกล้กัน 

ก่อนหน้านั้นครอบครัวโอมอาศัยอยู่ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โอมก็ไม่รู้เหตุผลว่า ทำไมเขาถึงต้องมาที่นี่ รู้แค่ว่าพ่อกับแม่บอกให้มาก็ต้องมา

“พ่อกับแม่บอกว่า เดี๋ยวจะไปกรุงเทพฯ นะ ผมก็ไม่รู้ว่าจะไปเมื่อไหร่ พอวันต่อมาผมกลับจากโรงเรียน พ่อแม่ก็จัดกระเป๋าให้แล้วก็มากรุงเทพฯ เลย”

พ่อแม่ของโอมอาจจะเหมือนคนอื่นๆ ที่ตัดสินใจย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะพวกเขาคิดว่าที่นี่จะมีโอกาสมากกว่าที่ที่เคยอยู่ หางานได้ง่ายกว่าและมีตัวเลือกเยอะ ถ้าครอบครัวไหนมีสมาชิกตัวน้อย พวกเขาก็ถือเป็นคนที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน โอมเล่าว่า เขาอยากกลับไปที่บ้านเดิม เพราะที่นั่นมีเพื่อนสนิทของเขาอยู่ แต่หลังจากได้คำตอบจากแม่ว่า จะไม่กลับไปที่นั่นอีก โอมก็ต้องเริ่มต้นหาเพื่อนใหม่ที่นี่ด้วยเช่นเดียวกัน

หลายวันมานี้โอมไม่ต้องไปโรงเรียน ทำให้เขามีเวลาได้หาเพื่อนใหม่และหากิจกรรมใหม่มากยิ่งขึ้น ภารกิจในแต่ละวันของเขา คือ หิ้วข้าวที่ได้รับแจกไปฝากครอบครัว หรือไม่ก็ไปตกปลาที่คลองผดุงกรุงเกษม เพื่อนำไปขายต่อ มีวันที่ได้ปลาและก็มีวันที่ไม่ได้อะไรเลย แต่โอมถือคติว่ายังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

โอมเหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่มีความฝัน ความฝันของโอม คือ ‘นักฟุตบอลตำแหน่งผู้รักษาประตู’ หรือชื่อที่โอมเรียกว่า ‘นายประตู’ โอมบอกว่าเขาชอบเล่นฟุตบอลแล้วก็มักเล่นในตำแหน่งนี้ แถมนักฟุตบอลในดวงใจของโอม คือ ‘ดาบิด เด เคอา’ (David De Gea) ผู้รักษาประตูชื่อโด่งดังที่ใครๆ ก็รู้จัก โอมชอบเขามาก ทุกๆ วันโอมจะยืมโทรศัพท์ของเพื่อน หรือของคนที่บ้านเพื่อมาดูดาบิด โอมบอกกับเราว่า โตขึ้นเขาอยากเป็นเหมือนดาบิด

“ผมจะฝึกเล่นฟุตบอลตั้งแต่เด็กๆ จากนั้นก็จะเก็บเงินซื้อชุดกีฬา ผมอยากได้ชุดของทีมแมนยู (Manchester United) แล้วก็จะเก็บเงินซื้อลูกฟุตบอลครับ”

ตอนนี้ทั้งพ่อและแม่ของโอมทำงานรับจ้างรายวันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง และพักอยู่ในห้องเช่าละแวกนี้ แต่เนื่องจากรายได้ที่ไม่แน่นอน โอมบอกว่าเมื่อวานครอบครัวเขานอนในห้องเช่า แต่วันนี้คงต้องนอนข้างนอก เพราะแม่จ่ายไม่ไหว

ชีวิตของโอมในตอนนี้มีทั้งความสุขและความรู้สึกไม่ดี เมื่อไรที่รู้สึกไม่ดี วิธีแก้ของโอม คือ ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ให้หายเศร้า

‘คนไร้บ้าน’ คำนี้เป็นคำที่เด็กวัย 10 ขวบแบบโอมก็รู้จัก โอมบอกว่า “คนไร้บ้านก็คือคนที่ไม่มีบ้าน” พร้อมกับยกตัวอย่างว่า วันนี้โอมคือคนไร้บ้าน ส่วนเมื่อวานไม่ใช่เพราะเขากับครอบครัวมีที่พัก แต่เขาไม่ได้รู้สึกกลัวคำคำนี้ โอมมองว่ามันก็เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต

‘เด็ก’ คนที่ได้รับผลจากทุกๆ การตัดสินใจของผู้ปกครอง

การเป็นคนไร้บ้าน ไม่ใช่สิ่งที่บางคนเลือก แต่ถูกสถานการณ์บังคับ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ตกงาน ขาดรายได้ หรือปัญหาครอบครัว ถูกกดดันจากที่บ้าน หรือทะเลาะกับคนในบ้าน จนทำให้ต้องออกจากบ้านมา แต่เด็กก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของพวกเขาก็ไม่น้อยไปกว่าที่ผู้ใหญ่เจอ 

รายงานการศึกษาที่ชื่อว่า ‘เด็กโตนอกบ้าน…ในสถานฯ ที่ไม่ใครมองเห็น’ โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2566 ได้สำรวจสถานการณ์ของเด็กไทยที่เติบโตที่อื่นที่ไม่ใช่ที่บ้าน พบว่า เด็กไทยราว 120,000 คน เติบโตนอกบ้านภายใต้การเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ และไปอยู่ตามสถานรับรองขนาดใหญ่ เช่น วัด สถานรองรับ ในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นต้น

งานวิจัยชี้อีกว่า การที่เด็กไม่ได้เติบโตมาในบ้าน ส่งผลให้พวกเขาอาจขาดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและกระตุ้นพัฒนาการ รวมถึงขาดทักษะชีวิตและขาดโอกาสในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเองโดยตรง ซึ่งในบางสถานการณ์เด็กที่ติดตามไปกับครอบครัวที่ไม่มีที่พักอาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง พวกเขาจะถูกเรียกว่า ‘เด็กเร่ร่อน’

ข้อเสนอนโยบายในการพัฒนาเด็กเร่ร่อนของครูข้างถนน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า เด็กเหล่านี้กำลังอยู่ในสังคมที่ไม่ได้รับสวัสดิการอย่างถูกต้อง พวกเขาขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษา ขาดโอกาสในการเตรียมตัวเพื่อมีอนาคตที่ดี และขาดโอกาสที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัย ถึงแม้จะไร้บ้านแต่มีครอบครัวอยู่ด้วย แต่การพักอาศัยในพื้นที่สาธารณะ ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการกระทำความผิด หรือตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

เพื่อไม่ให้เด็กตกอยู่ในอันตรายและให้ความฝันของพวกเขายังเติบโตไปพร้อมกับเขาได้ การแก้ไข้ปัญหาคนไร้บ้านจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้พวกเขาเติบโตไปเป็นคนไร้บ้านอย่างเต็มด้วยได้อีกด้วย

อ้างอิง:
  • ข้อเสนอนโยบายในการพัฒนาเด็กเร่ร่อนของครูข้างถนน. 2562. ทองพูล ยัวศรี และแววรุ้ง สุบงกฎ.
  • เด็กโตนอกบ้าน…ในสถานฯที่ไม่ใครมองเห็น. 2566. มหาวิทยาลัยมหิดล.