“นักเรียนทุกคนสามารถเข้ามหา’ลัยได้ แต่ปัญหาคือพวกเขาอยากเข้ามหา’ลัยเดียวกันมากเกินไป” มหกรรมโกงเข้ามหา’ลัยครั้งยิ่งใหญ่ : The College Admission Scandal

“ที่นี่อเมริกา ถ้าคุณมีเงินเชื่อเถอะว่าคุณสามารถเข้าถึงอภิสิทธิ์บางอย่าง ที่เด็กๆ คนอื่นอาจเข้าไม่ถึง”

ย้อนกลับไป 2 ปีที่แล้ว มีคดีหนึ่งที่ถือเป็นคดีใหญ่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา คือ คดีโกงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีเครือข่ายผู้กระทำความผิดกว่า 50 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครองที่เลือกใช้วิธีนี้เพื่อให้ลูกๆ สามารถเข้ามหา’ลัยในฝันได้

Netflix สร้างภาพยนตร์กึ่งสารคดีที่ชื่อว่า Operation Varsity Blues : The College Admission Scandal เพื่อเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว

เรื่องเริ่มต้นจากชายที่มีนามว่า ริง ซิงเกอร์ (Rick Singer) เขาเปิดบริษัทเดอะคีย์เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางเรียนต่อระดับอุดมศึกษา แต่ฉากหลัง คือ การใช้วิธีโกงเพื่อให้ลูกค้าของพวกเขาสามารถเข้าเรียนต่อมหา’ลัยที่ต้องการได้

“วิธีเข้ามหา’ลัย มีวิธีที่เรียกว่า ‘ประตูหน้า (front door)’ หมายถึงการพยายามสอบเข้าด้วยตัวเอง แล้วก็ ‘ประตูหลัง (back door)’ ก็คือการบริจาค ซึ่งต้องใช้เงินมากกว่าเป็นสิบเท่า อาจจะหลายล้านดอลลาร์ แต่วิธีนี้ไม่รับประกันว่าลูกของคุณจะได้เข้าแน่ๆ อย่างดีคือคณะกรรมการอาจจะพิจารณาลูกคุณอีกรอบ”

ซิงเกอร์เรียกวิธีการของเขาว่า ‘ประตูข้าง (Side door)’ มันเป็นการผสมระหว่างการจ่ายเงินให้มหา’ลัยเข้ากับการปลอมแปลงคุณสมบัติผู้สมัคร ซึ่งมีตั้งแต่เปลี่ยนเชื้อชาติผู้สมัครจากอเมริกาเป็นลาติโน หรือแอฟริกันอเมริกา เพื่อให้เข้าเกณฑ์คนกลุ่มน้อยมีโอกาสเข้ามหา’ลัยมากขึ้น หรือสร้างประวัติให้เป็นนักกีฬาเพื่อเข้ามหา’ลัยด้วยโควต้านักกีฬา หรือแม้กระทั่งโกงผลคะแนนสอบที่ใช้ในการสอบเข้ามหา’ลัย เช่น ข้อสอบ SAT (Scholastic Aptitude Test)

สารคดีพาเราลงลึกไปกับวิธีการทำงานของซิงเกอร์ แต่ละขั้นตอนที่อันตรายและทำให้เราย้อนกลับมาคิดว่า สิ่งที่เขาทำคุ้มกันไหม วิธีการที่อาจทำให้ซิงเกอร์เสี่ยงติดคุกหลายสิบปี แลกกับการให้เด็กคนหนึ่งได้เรียนในมหา’ลัย 

ลูกค้าของซิงเกอร์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปกครองที่ติดต่อเข้ามา พวกเขาเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า ลูกอยากเข้ามหา’ลัยนี้ แต่พวกเขาไม่มั่นใจว่าลูกจะเข้าได้หรือไม่ นั่นเลยเป็นเหตุผลที่เขาติดต่อซิงเกอร์ที่การันตีว่า ลูกๆ พวกเขาจะเข้ามหาลัยได้แน่นอน 

“มันเป็นการวัดสถานะ สถานะของคุณสูงขึ้นกว่าเดิม เพราะลูกของคุณสังกัดสิ่งที่เรียกว่า สถาบันการศึกษาชั้นนำ” 

บาร์บารา คัลมัส ที่ปรึกษาอิสระด้านการศึกษา ให้สัมภาษณ์ในสารคดีว่า เหตุผลที่ทำให้พ่อแม่พยายามผลักดันให้ลูกเข้ามหา’ลัยที่มีชื่อเสียง แม้ว่าลูกเองก็อาจจะไม่ได้อยากเข้า หรือไม่ได้อยากเรียนต่อด้วยซ้ำ  ส่วนหนึ่งเพราะการที่ลูกได้อยู่ในมหา’ลัยดีๆ ก็เหมือนกับพวกเขาได้เข้าไปด้วย ทดแทนในวันที่พวกเขาไม่สามารถทำได้ 

Common App เว็บไซต์สำหรับสอบเข้ามหา’ลัยในอเมริกา เปิดเผยตัวเลขผู้สมัครที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ประมาณ 50% ในช่วงปี 2019 – 2020 จาก 5,434,484 คน เป็นจำนวน 7,057,980 คน แม้อาจจะมีคำกล่าวว่า การเรียนต่อมหา’ลัยไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วในยุคนี้ แต่ก็ยังมีคนอยากเข้ามากขึ้นเรื่อยๆ

“การศึกษาระดับสูงกว่ามัธยมกลายเป็นเหมือนสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นของที่ซื้อได้ มันเป็นเป้าหมายในตัวเอง แทนที่จะเป็นการได้รับการศึกษา” จอน ไรเดอร์ อดีตเจ้าหน้าที่รับสมัครนักศึกษาที่มหา’ลัยสแตนฟอร์ด ให้สัมภาษณ์ในสารคดีว่า ฝั่งมหา’ลัยเองก็มีการแข่งขันไม่แตกต่างกัน ที่น่าตกใจคือพวกเขารับรู้ว่ามีการโกงเช่นนี้เกิดขึ้น แต่กลับนิ่งเฉย ยอมรับการจ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือยิ่งพยายามทำให้มหา’ลัยตัวเองเข้าถึงยากมากขึ้น 

“ชื่อเสียงมหา’ลัยมันเป็นของลวงตา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษาเลย แต่มหา’ลัยก็พยายามทำตัวเองให้เข้าถึงยาก เพื่อถีบอันดับตัวเองขึ้นเรื่อยๆ”

ปัจจุบันคดียังคงอยู่ในช่วงสืบสวนผู้กระทำผิด ตัวริงเกอร์เองอยู่ในช่วงพิจารณาโทษ เนื่องจากเขายอมรับผิดและให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการจับผู้กระทำผิดคนอื่นๆ ทำให้ตอนนี้เขายังไม่ถูกพิจารณาโทษในทันที

คดีนี้ถือเป็นคดีใหญ่ที่นอกจากมีผู้กระทำผิดจำนวนมาก ยังมีเหล่าคนดังที่ทำผิดด้วย เช่น เฟลิซิตี ฮัฟฟ์แมน (Felicity Huffman) นักแสดงจากซีรีส์ดังอย่าง Desperate Housewives

แต่การเปิดโปงครั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าการโกงเข้ามหา’ลัยจะหายไปหรือลดลง ไรเดอร์บอกว่ายังมีการโกงเกิดขึ้นเสมอ แล้วจะยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ที่อเมริกา แต่เป็นทุกที่ในโลก หากเรายังให้ความสำคัญกับชื่อเสียงมหา’ลัย แล้วปล่อยให้คนแข่งขันเรื่อยๆ มากกว่าจะหาวิธีแก้ไข หรือทำให้ระบบการศึกษาไม่ใช่สินค้าที่ต้องแย่งชิง

“นักเรียนทุกคนสามารถเข้ามหา’ลัยได้ แต่ปัญหาคือพวกเขาอยากเข้ามหา’ลัยเดียวกันมากเกินไป” ไรเดอร์ทิ้งท้ายไว้ในสารคดี

ภาพ : Netflix