ตัวละครคนหูหนวกในภาพยนตร์

ไม่ใช่คนที่น่าเวทนา แต่ยืนหยัดใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองภายใต้ข้อจำกัดที่มี วิธีนำเสนอตัวละคร ‘หูหนวก’ ในโลกบันเทิงตอนนี้

ความหลงใหลในโลกใต้น้ำที่ทำให้เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) สร้างภาพยนตร์อวตาร (Avatar) ขึ้นมา เพื่อพาคนดูไปยังโลกมหาสมุทร และอาจเป็นหนทางที่มนุษย์พยายามเอาชนะขีดจำกัดธรรมชาติ ทำให้โลกแห่งความบันเทิงเกิดสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น

แต่การสร้างความแปลกใหม่ในโลกภาพยนตร์-ซีรีส์ อาจไม่ใช่แค่คิดนวัตกรรมใหม่ๆ หรือเสาะแสวงหาพื้นที่ที่มนุษย์ไม่เคยไปมาบอกเล่า แต่คือการนำเสนอความหลากหลายของมนุษย์ให้มากกว่าเดิม

‘คนหูหนวก’ เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกนำเสนอมากขึ้นในโลกหน้าจอ

โคด้า (Coda) ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลจากรางวัลออสการ์ คือหนึ่งหลักฐานที่บอกว่าคนหูหนวกในโลกบันเทิงกำลังมีทิศทางนำเสนออย่างไร เรื่องราวของ ‘รูบี้ รอสซี’ ตัวละครเอกที่เป็นคนหูดี ท่ามกลางครอบครัวที่เป็นคนหูหนวก เธอจึงทำหน้าที่เป็นล่ามดูแลครอบครัว ไปพร้อมๆ กับการไล่ตามความฝันในสายดนตรี

รูบี้ รอสซี ตัวละครจากโคด้า

ซึ่งหนังเรื่องนี้ไม่ได้เล่าแค่เรื่องราวของตัวละครที่พิการทางการได้ยิน แต่นักแสดงที่รับบทก็เช่นเดียวกัน ทรอย คอตเซอร์ (Troy Kotsur) และมาร์ลี แมทลิน (Marlee Matlin) ที่รับบทเป็นพ่อแม่ในเรื่องก็เป็นนักแสดงหูหนวก และเป็นคนแรกๆ ที่ได้รับรางวัลออสการ์

“ตัวละครที่เป็นคนหูหนวกมักถูกนำเสนอในลักษณะเหมารวม  คนสร้างส่วนใหญ่ก็เพิกเฉยที่จะนำเสนอวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้จริงๆ พวกเขาชอบที่จะนำเสนอว่า ‘หูหนวก’ เป็นแค่อาการอย่างหนึ่งที่ตอนสุดท้ายจะรักษาหายได้ด้วยวิธีทางการแพทย์ บ่อยครั้งที่คนหูหนวกก็เป็นแค่ข้อความบนกระดาษในฉากๆ หนึ่ง หรือเป็นสิ่งที่สร้างเสียงหัวเราะอย่างเวทนาของคนดู”

แอนนี่ โรเบิร์ตส์ (Annie Roberts) เจ้าหน้าที่จาก Royal National Institute for Deaf People เป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือคนที่หูหนวกในประเทศอังกฤษ บอกว่า ที่ผ่านมาในโลกสื่อบันเทิงตัวละครคนหูหนวกแทบจะไม่ได้รับบทบาทเป็นตัวละครนำ ภาพลักษณ์ที่ถ่ายทอดในจอก็ไม่ตรงตามลักษณะและวิถีชีวิตจริงๆ ของพวกเขา ที่สำคัญคนกลุ่มนี้มักถูกนำเสนอในสถานะ ‘เหยื่อ’

โรเบิร์ตส์ ยกตัวอย่างภาพยนตร์เก่าแก่อย่าง จอห์นนี เบลินดา (Johnny Belinda) ออกฉายในปี 1984 เป็นเรื่องราวของตัวละครเอกที่มีชื่อเดียวกับภาพยนตร์ ‘เบลินดา’ เป็นหญิงสาวที่หูหนวก รับบทโดยนักแสดงเจน ไวแมน (Jane Wyman) ที่เป็นคนหูดี 

เบลิดาถูกข่มขืนระหว่างที่หมู่บ้านของเธอกำลังจัดงานเทศกาลเต้นรำ หนังพยายามโชว์ให้เห็นว่า เธอไม่สามารถส่งเสียเพื่อขอความช่วยเหลือได้เลย แม้จะอยู่ท่ามกลางคนมากมาย และแม้ว่าไวแมน จะได้รับรางวัลออสการ์จากบทนี้ แต่ภาพลักษณ์ตัวละครในหนังเรื่องดังกล่าวกลับไม่ได้ส่งเสริมคนหูหนวกจริงๆ เลย

“คนหูหนวกมีแค่ 2 ทางเลือกบนจอ ไม่เป็นตัวตลก ขายมุกขำๆ ก็ต้องเป็นคนที่น่าเวทนา แทบน้อยมากที่เราจะได้เห็นตัวละครคนหูหนวกที่แข็งแกร่ง มีลักษณะซับซ้อน หรือสวยงาม เราแค่เห็นอะไรที่มันเป็นแค่เปลือกจริงๆ”

ในมุมคนสร้างภาพยนตร์-ซีรีส์ก็มีความพยายามนำเสนอความหลากหลายของคนในสังคม แต่โรเบิร์ตส์มองว่ายังน้อยไป ที่แย่ที่สุดคือเป็นการนำเสนออย่างผ่านๆ เพื่อให้ทำเหมือนว่าพวกเขาสนใจเรื่องนี้จริงๆ เธอยกตัวอย่างทอย สตอรี่ (Toy Story) ภาค 4 มีฉากหนึ่งที่ตัวละครเป็นเด็กชายใส่เครื่องช่วยฟัง เป็นลักษณะหนึ่งของคนที่พิการทางการได้ยิน แต่เขากลับปรากฏตัวเพียงเสี้ยววิ ไม่มีคำอธิบายใดๆ ทำให้โรเบิร์ตส์รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และเห็นถึงความไม่ใส่ใจของคนที่อยู่เบื้องหลัง  

แม้ว่าหน้าที่สำคัญของสิ่งเหล่านี้คือการสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม แต่โรเจอร์ อีเบิร์ต (Roger Ebert) นักวิจารณ์หนังชื่อดังที่จากไปแล้ว เคยบอกไว้ว่า หน้าที่หนึ่งของภาพยนตร์ คือ เป็นเครื่องจักรที่ช่วยสร้างทักษะความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ให้กับคนดู เช่นเดียวกับที่อาเลฆันโดร กอนซาเลซ อิญญาร์ริตู (Alejandro González Iñárritu) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังก็เคยบอกไว้ว่า ภาพยนตร์เป็นเหมือนกระจกที่ทำให้เราได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเอง 

เพราะภาพยนตร์ไม่ได้มีหน้าที่แค่สร้างความบันเทิงได้เท่านั้น แต่มันยังทำให้คนดูสามารถเข้าใจบางประเด็นผ่านการปรุงแต่งอย่างดี พวกเขาอาจเข้าใจเรื่องยากๆ ขณะที่หัวเราะก็ได้

มิลลิเซ็นต์ ซิมมอนด์ส

A Quiet Place ภาพยนตร์อีกเรื่องที่ถ่ายทอดตัวละครที่เป็นคนหูหนวกในรูปแบบที่ต่างจากที่ผ่านมา ‘เรแกน แอ็บบอตต์’ เป็นลูกสาวคนโตที่กำลังประสบปัญหาสูญเสียการได้ยิน รับบทโดยมิลลิเซ็นต์ ซิมมอนด์ส (Millicent Simmonds) ที่เป็นนักแสดงหูหนวก ตัวละครแอ็บบอตต์แตกต่างตรงที่ไม่ใช่คนน่าสงสารเวทนา ต้องให้คนอื่นช่วยเหลือ แต่เธอสามารถใช้ชีวิตภายใต้ข้อจำกัดที่ตัวเองมีได้

กระแสตอบรับและกำไรงามที่หนัง A Quiet Place ได้รับ ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่ทำให้ผู้สร้างเริ่มหยิบคนหูหนวกหรือเล่าถึงพวกเขาด้วยวิธีใหม่ๆ เช่น Deaf D เรียลลิตี้โชว์จาก Netflix เล่าเรื่องของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกัลลอเดท เป็นมหาวิทยาลัยของคนหูหนวก หรือซีรีส์ This close ที่ถ่ายทอดชีวิตหนุ่มสาวที่เป็นคนหูหนวกในอเมริกา

Sound of metal เป็นอีกเรื่องที่ได้รับรางวัลออสการ์และมีตัวละครนำเป็นคนหูหนวก ก็คือ ‘รูเบน’ มือกลองในวงดนตรีหนึ่ง ชีวิตของเขากำลังรุ่งโรจน์ แต่ก็มาพร้อมกับความจริงที่ว่าเขากำลังสูญเสียการได้ยิน หนังเรื่องนี้ได้รับคำวิจารณ์ว่าสามารถทำให้คนดูเข้าใจและสัมผัสชีวิตของคนที่กำลังสูญเสียการได้ยินจริงๆ แล้วยังได้เห็นโลกของคนหูหนวกที่ก็ดำเนินไปไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม พวกเขายังเสพสื่อบันเทิงอย่างเพลง หรือดูสื่อต่างๆ ได้เช่นกัน

รูเบน ตัวละครจาก Sound of metal

นอกจากปรับวิธีปรุงเล่าเรื่องตัวละครหูหนวกใหม่ การเสพสื่อของคนหูหนวกก็ได้รับการปรับปรุงเช่นกัน ภาพยนตร์ที่กล่าวมาข้างต้น มีฟังก์ชันคำบรรยายเมื่อตอนที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ทำให้คนหูหนวกสามารถเข้าไปดูหนังได้เหมือนกัน และมีแนวโน้มว่าเรื่องอื่นๆ ก็จะมีคำบรรยายเพิ่มเช่นกัน

ย้อนกลับมาที่หนังโคด้า ความน่าสนใจของมันไม่ใช่แค่ถ่ายทอดชีวิตของคนหูหนวกอย่างตรงไปตรงมา แต่ทำให้เห็นว่าคนอื่นๆ จะสร้างเสียงหัวเราะกับพวกเขาอย่างไร โดยไม่ใช่การหัวเราะเยาะเย้ย เพราะมีบางคนรู้สึกว่าการหัวเราะคนหูหนวกเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

โรเบิร์ตส์ยกตัวอย่างฉากหนึ่งในภาพยนตร์ รูบี้ต้องพาพ่อแม่ที่เป็นคนหูหนวกไปพบแพทย์ โดยเธอทำหน้าที่เป็นล่าม จนกระทั่งถึงตอนที่เธอต้องอธิบายให้พ่อแม่ฟังว่า พวกเขาไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เนื่องจากอีกฝ่ายมีอาการติดเชื้อ

ความอึดอัดใจของรูบี้ที่ต้องพูดกับพ่อแม่เรื่องนี้ก็ทำให้คนดูหัวเราะ ไปพร้อมๆ กับเห็นว่าคนหูหนวกที่อยู่ในเมืองเล็กๆ การจะพบแพทย์หรือคนที่ไม่สามารถสื่อสารกับพวกเขาได้เป็นเรื่องยาก แล้วพวกเขาจะได้รับการรักษาอย่างไร โชคดีครอบครัวในหนังมีลูกสาวที่ทำหน้าที่นี้ได้

ฝั่งไทยเองก็มีนักแสดงที่เป็นคนหูหนวกได้โลดแล่นบนจอแก้วอย่างเฟิรสท์ – ธัญชนก จิตตกุล เป็น Miss Deaf Thailand 2013 และนักแสดงจากละครสงครามนางงาม 2

แต่โรเบิร์สต์ก็ยังมีคำถามทิ้งไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่ทิศทางใดในอนาคต “มันจะถูกมองว่าเป็นการฉวยโอกาสจากคนหูหนวกไหม? หรือตัวละครหูหนวกยังคงถูกมองว่าแปลกประหลาด เป็นคนพิเศษ แทนที่จะได้รับความเคารพและเข้าใจสิ่งที่พวกเขาเป็นจริงๆ ได้รับการปฏิบัติเหมือนคนอื่นๆ ในสังคมหรือไม่”

บทบาทตัวละครหูหนวก ณ วันนี้อาจเป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นว่าสังคมบางส่วนให้ความสำคัญและพยายามโอบรับความหลากหลายที่มีบนโลกใบนี้ ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีกลุ่มคนอื่นๆ ได้รับการถ่ายทอดที่ถูกต้อง แล้วทำให้คนดูสามารถเข้าใจโลกนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น เพราะภาพยนตร์ไม่ใช่แค่สื่อบันเทิง แต่มันยังเป็นพื้นที่ให้เราได้เรียนรู้กันและกันได้ด้วย

ภาพประกอบ : บัว คำศรี
อ้างอิง