ลูกเขียนหนังสือไม่สวย ไม่สวยในสายตาใคร? : ฟื้นฟูกล้ามเนื้อมัดเล็กหลังโควิด-19 กับ ‘หมอซี’ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรม

“เหนื่อยแล้ว” “ปวดมือ” “หนูไม่อยากเขียน” ทำไมลูกเราไม่ชอบการเขียนหนังสือ?

อันที่จริงความสามารถในการเขียนหนังสือของลูก มักจะปรากฏตามพัฒนาการปกติตามวัย นั่นคือ เริ่มสังเกตเห็นได้ชัด ในช่วง 3- 6 ปีขึ้นไป การบังคับ กดดัน และความคาดหวังของพ่อแม่ อาจสร้างความรู้สึกเข็ดขยาดในการเขียน จนส่งผลต่อความรู้สึกปิดกั้น ไม่อยากเรียนรู้ เพราะลูกไม่สนุกอีกต่อไปแล้ว 

แล้วเราจะเข้าใจพัฒนาการของลูกได้อย่างไร เมื่อไรที่เขาพร้อมจะเขียนหนังสือ?

Mutual คุยกับ ‘หมอซี’ หรือ แพทย์หญิงสินดี ตันศิริ (จำเริญนุสิต) กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเวชธานี ถึงพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มีผลต่อการเขียนหนังสือในเด็กปฐมวัย 

สาเหตุใดบ้างที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งชอบ/ไม่ชอบการเขียนหนังสือ แล้วถ้าลูกยัง ‘เขียนไม่ได้’ นั่นหมายถึงเขาล้มเหลวทางการเรียนรู้หรือไม่ สิ่งนี้จะมีผลอย่างไรต่ออนาคตของเขา เพื่อให้พ่อแม่และครูได้กลับมาตั้งหลักและทำความเข้าใจถึงช่วงเวลาเหมาะสมที่ควรจะส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกอย่างถูกจุด

แพทย์หญิงสินดี ตันศิริ (จำเริญนุสิต) กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเวชธานี

ในฐานะกุมารแพทย์ เห็นอะไรบ้างในพัฒนาการของเด็กไทยปัจจุบัน

ปัจจุบัน ปัญหาส่วนใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกมาปรึกษา มักจะเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูเป็นหลัก 

ซึ่งเมื่อประเมินที่ตัวเด็กจริงๆ แล้ว มักมี 2 กรณี คือ กรณีแรก เด็กอาจจะไม่ได้มีปัญหามาก แต่อยู่ที่ปฏิสัมพันธ์หรือการเลี้ยงดู ความคาดหวังของพ่อแม่ที่อาจจะมี การเปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น หรือมีภาวะความเครียด ความกังวล ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป กรณีที่สอง พบได้บ่อยขึ้น เช่น ลูกพูดช้าจากการขาดการกระตุ้น  มีทักษะการสื่อสารหรือภาษาที่ช้ากว่าวัย ภาวะสมาธิสั้นหรือไฮเปอร์ หรือมีปัญหาเรื่องการรอคอยและการยับยั้งชั่งใจ

เพราะเทคโนโลยีและยุคสมัยใหม่ ที่เอื้อให้เราใช้หน้าจอเยอะ พ่อแม่พูดคุยกับลูกลดลง เล่นกับลูกน้อยลง หรือบ่อยครั้งที่ตัวพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เองก็ใจร้อน รอคอยไม่ได้เช่นกัน  

ในขณะเดียวกันปัญหาการเรียนก็เริ่มมีมาในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการเรียนออนไลน์มาเป็นการเปิดเทอมแบบเต็มรูปแบบ พบ เด็กมีปัญหาในเรื่องของการอ่านเขียน หรือ โรคการเรียนรู้บกพร่อง Learning Disorder (LD) มากขึ้น จากการที่ไม่ได้รับการประเมินในเรื่องการเรียนในช่วงที่เรียนออนไลน์ 

การเรียนรู้บกพร่อง Learning Disorder (LD) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็กวัยไหน

ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก ป.1-2  แต่ในบางกรณีเด็กที่ไม่มีอาการมากนัก หมายถึง เขาสามารถที่จะเรียนรู้อ่าน เขียนง่ายๆ ได้ แต่พอโตขึ้นในวัยช่วง ป.3-4 ที่ต้องเขียนและต้องอ่านเยอะขึ้นจะมีความยากลำบากมากขึ้น

สำหรับอาการที่แสดงออก เราสามารถสังเกตได้ตั้งแต่ปฐมวัย หรือช่วงที่เด็กอยู่ในวัยอนุบาลก็ได้ เช่น เวลาเราเล่นเกมเกี่ยวกับสัญลักษณ์ ตัวหนังสือ พยัญชนะ หรือการนับเลข นับจำนวน เด็กจะหลีกเลี่ยง บ่ายเบี่ยง ไม่เข้าใจหรือเรียนรู้ได้ช้า ไม่ชอบนิทาน ไม่ชอบขีดเขียนเลย อาการเช่นนี้ อาจมีความเสี่ยงในโรค LD หรือบกพร่องทางทักษะการอ่านเขียน ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องอาศัยการประเมินจากกุมารแพทย์ร่วมด้วย 

หรือเมื่อเขาขึ้นในช่วงชั้นป.1 ที่ต้องเขียนเยอะขึ้น เขาอาจแสดงออกว่า เขาไม่ชอบการขีดเขียน หรือแม้แต่จำพยัญชนะง่ายๆก็ยังจำไม่ได้ รวมถึงในทักษะเชิงคณิตศาสตร์และภาษา โดยที่เขาไม่สามารถสื่อสารได้สมวัย เช่น ถามว่า “กี่อัน” ก็ไม่เข้าใจวิธีการหาคำตอบ หรือไม่สามารถนับเลขได้ ถูกต้อง

อาการดังกล่าว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากโควิด-19 อย่างมีนัยยะสำคัญอย่างไร  

ในภาพรวมเด็กที่มีปัญหานี้อาจจะไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมาก แต่การ Detect หรือ การตรวจพบช้าลง ยิ่งพอมีการเรียนออนไลน์มากขึ้น กว่าเราจะพบว่าลูกมีอาการผิดปกติอาจจะช้าและยากขึ้น 

อันดับแรก ดูว่าตัวเด็กเขามีลักษณะเป็นอย่างไร มีปัญหาจริงหรือไม่ สามารถผ่านการทดสอบพัฒนาการตามวัยหรือไม่ นั่นคือมองหาว่า เป็นความผิดปกติที่เป็นจากตัวเขาเอง หรือเป็นจากที่ความสามารถของเด็กไม่เป็นไปตามที่ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูคาดหวัง 

ส่วนวิธีให้คำปรึกษาเบื้องต้น หากเป็นจากตัวเด็กมีปัญหาจริงๆ คงต้องแนะนำแนวทางการช่วยเหลือ ร่วมกับให้ทางครอบครัวประสานกับโรงเรียน เพื่อส่งเสริมทักษะเหล่านี้ต่อไป โดยต้องเชื่อมโยงกับบริบทของแต่ละบ้านด้วยว่าเป็นยังไง เพราะแต่ละครอบครัวก็มีข้อจำกัดและมีปัจจัยที่ต่างกันไป ไม่ว่าจะจำนวนสมาชิกในครอบครัว การใช้ชีวิต การทำงาน ประกอบอาชีพ หรือว่าช่วงเวลาที่มีให้ลูก หมอคงประเมินตรงนั้นก่อนว่าครอบครัวเขามีข้อจำกัดหรือเปล่า 

แต่หากเป็นจากการที่ครอบครัวมีความคาดหวังไม่ตรงกับวัยของเด็ก หรือว่าเป็นลักษณะที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็ก หมอก็จะชี้แจงให้คุณพ่อคุณแม่ทราบเพื่อให้เข้าใจลูกมากขึ้น ปรับตัวให้เป็นไปตามจังหวะลูกมากที่สุด ปัญหาเรื่องพัฒนาการก็จะดีขึ้น

เมื่อขาดการเล่นอย่างอิสระ ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ในแง่ของพัฒนาการมันเกิดอะไรบ้าง 

สำหรับเด็กเล็ก สิ่งแวดล้อมค่อนข้างมีผลต่อตัวเขาเยอะมาก ในช่วงเวลาโควิด-19 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเราทุกคนเครียด พ่อแม่บางคนต้องอยู่กับลูก 24 ชม. ไม่มีเวลาส่วนตัว ไหนต้องทำงานออนไลน์ ชีวิตยุ่งเหยิงมากขึ้น ไม่มีเวลาส่งเสริมการเล่นของลูก ส่งผลให้เด็กซึมซับความเครียดความกังวลของพ่อแม่เยอะขึ้น เช่นเดียวกันกับพ่อแม่บางคนกังวลมากจนเกินไป กลัวลูกจะติดโควิด-19 หรือกลัวคนอื่นเอาเชื้อเข้ามาในบ้าน พ่อแม่แพนิคและป้องกันมากจนเกินไป ยิ่งย้ำคิดย้ำทำ เด็กก็ซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นเหมือนกัน

จุดนี้ยิ่งเสริมให้เด็กไม่กล้าจะทำอะไร พอยิ่งไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้เล่นอย่างอิสระ ทำให้เขาขาดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ หรือ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 หรือ sensory play 

เขาจะไม่กล้าเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่กล้าลองผิดลองถูก เกิดเป็นความกลัวหรือความไวต่อสิ่งเร้าที่มากขึ้น ปรับตัวได้ช้าเมื่อออกไปเผชิญโลกข้างนอกเขา รวมไปถึงทำให้เด็กกังวลได้ง่ายขึ้นด้วย

ในแง่ของการเรียนรู้ เมื่อสมองต้องปรับโหมดไปเรียนออนไลน์ มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ธรรมชาติของเด็กเขาเรียนรู้ผ่านการเล่น นั่นหมายถึง เขาใช้พลังงานจากการเคลื่อนไหว ได้ทดลอง ได้สัมผัส แต่พอมาเรียนออนไลน์มันขัดธรรมชาติของเด็ก

การอยู่กับหน้าจอ ต้องอยู่ในบริเวณที่จำกัด เขาก็ไม่สามารถที่จะเห็นคนจริงๆหรือมีปฏิสัมพันธ์ในลักษณะ 1:1 อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเกิดครูสอน เขาฟังไม่ทันหรือไม่เข้าใจสิ่งที่ครูพูด เขาไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ทันที การเรียนออนไลน์สร้างช่องว่างทางการพัฒนาการเยอะมากหรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมในบ้านเองก็ตาม บางบ้านไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ พ่อแม่ต้องทำงานไปด้วย หรือไม่มีพื้นที่ให้เขาได้นั่งเรียนอย่างสงบ ตรงนี้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้เช่นกัน

ในช่วงเวลาเรียนออนไลน์ สังคมเคยถกเถียงกันว่าเราจะเอายังไงกับเด็กเล็กดี เช่น ให้ลูกเรียนต่อไปหรือให้ลูกหยุดเรียนไปเลย ถ้าย้อนเวลาไป คุณหมอคิดว่าแบบไหนมันเหมาะสมที่สุด 

ตอบยากเหมือนกันนะ เพราะตอนนั้นไม่มีใครแน่ใจว่า สถานการณ์ของโรคระบาดจะเป็นอย่างไร หลายครอบครัวก็มีการสูญเสีย รวมทั้งแต่ละบ้านก็มีข้อจำกัดของตัวเอง มันไม่สามารถใช้คำว่า บ้านนี้ถูก บ้านนี้ผิด หรือว่าแบบไหนจะโอเคที่สุด

พ่อแม่แต่ละคนมีเรื่องที่ต้องทำต่างกัน มีตัวแปรมากมายไม่ว่าจะเรื่องเงิน เรื่องเศรษฐกิจ หมอคิดว่าถ้าตั้งต้นจากการที่เราให้ข้อมูลหรือส่งสารไปให้พ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเด็กได้เข้าใจถึงธรรมชาติพัฒนาการของเด็กเล็กที่ควรเป็นตามวัย น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะมันจะทำให้พ่อแม่ตั้งหลักได้ว่า สิ่งที่เด็กเล็กต้องเรียนรู้คืออะไร อาจจะช่วยบรรเทาได้บ้าง

ที่สำคัญ ช่วงเวลาที่ผ่านมา บางโรงเรียนก็สามารถจัดการปัญหาเรื่องการเรียนรู้ของเด็กเล็กได้ เช่น มีกระเป๋าที่เป็นกระเป๋าของเล่นให้พ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่ไปจัดกิจกรรมเอง และประเมินผล แต่ไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะทำได้ เพราะบางโรงเรียนก็มีข้อจำกัดเรื่องความพร้อม

ส่วนตัวในฐานะหมอเด็ก ค่อนข้างเห็นด้วย ในการสนับสนุนเครื่องมือหรือสื่อที่เผยแพร่ ให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อชี้แนะว่าในแต่ละวันพ่อแม่ควรทำอะไร ควรจะแบ่งเวลายังไงเพื่อให้อย่างน้อยที่สุด เด็กในวัยที่ต้องไปโรงเรียนหรือเด็กที่ต้องเรียนรู้ได้ดำเนินชีวิตต่อไปโดยที่ส่งผลกับพัฒนาการน้อยที่สุด

ในแง่ของร่างกาย เช่น พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ การหยิบจับ ช่วงโควิด-19 ที่เด็กเล็กไม่ได้ทำอะไรเลย มันส่งผลอะไรบ้าง

ส่งผลแน่นอน เพราะพัฒนาการของเด็กเล็กแทบจะทุกอย่าง เริ่มต้นมาจากพวก Sensory หรือระบบประสาท ผ่านการจับ การสัมผัส การดมกลิ่น การได้ทดลองและสำรวจ ช่วงเวลาที่เราห้ามเขา มันเท่ากับการบล็อกสิ่งที่เขาควรจะเรียนรู้

กลายเป็นว่าเด็กซึมซับการที่ทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้ ถูกห้ามอยู่บ่อยๆ พอจะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ทำอะไรใหม่ๆ เขาก็ไม่กล้าหรือไม่มั่นใจว่าทำได้มั้ย เขาไม่รู้จักการใช้ร่างกายตัวเองได้ดีพอ จนเกิดเป็นความรู้สึกว่า ‘ฉันต้องพึ่งพาผู้ใหญ่’ 

เพราะการเรียนรู้ของเด็กคือประสบการณ์ ยิ่งเราทำให้เขาประสบการณ์น้อย การแยกแยะและการสำรวจตัวเองของเขาก็จะน้อยลง ต้องอาศัยการดูจากผู้ใหญ่หรือคนเลี้ยงดูเขา ช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงถือว่าค่อนข้างปิดกั้นด้านพัฒนาการเด็กไปพอสมควร  

เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาคลี่คลาย แต่เราไม่มีการแก้ไขสิ่งที่มันหล่นหายในเรื่องพัฒนาการของเด็กเล็ก คุณหมอคิดเห็นอย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ หมอคิดว่าเราอาจหลงลืม ไม่เข้าใจจังหวะของเด็ก

โรงเรียน ครู หรือพ่อแม่เองก็ตาม หมออยากให้เข้าใจสภาวะที่เด็กเล็กต้องเจอในวันนี้ และเราจะเชื่อมโยงกับเขาได้ ถ้าโรงเรียนไม่เข้าใจ ว่าเด็กในวัยนี้มีช่วงขาดตอนในการพัฒนาตอนนั้น จะทำให้เด็กๆ เครียดและกังวล เขาจะไม่สนุก เราต้องเข้าใจก่อนว่าที่ผ่านมา เขายังไม่ทันได้ใช้ประสบการณ์ของการทำอะไรสักอย่างเลย กิจกรรมต่างๆถูกงด ทุกคนต้องใส่หน้ากากไว้ตลอดเวลา  แล้วอยู่ดีๆ เขาก็ถูกคาดหวังให้ทำในสิ่งเขายังไม่เคยทดลอง หรือเคยเรียนรู้มาก่อน  ก่อให้เกิดเป็นความไม่มั่นใจมากขึ้น ไม่ภูมิใจในตัวเอง กระทบ Self-Esteem ได้ด้วย 

ฉะนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจ ตามปกติแล้วพัฒนาการของเด็กอนุบาลเด็กเล็ก โดยเฉพาะเรื่องกล้ามเนื้อ ควรเป็นอย่างไร  

ในแง่ทฤษฎี พัฒนาการในเด็กเล็ก ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยอนุบาลหรือประถม เราไม่ได้โฟกัสกล้ามเนื้อมัดเล็กเพียงอย่างเดียว กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การบูรณาการประสาทสัมผัส และอีกหลายอย่างมีส่วนสำคัญในวัยนี้

แน่นอนสิ่งที่จะทำให้เด็กเล็กควบคุมร่างกายเขาได้ ต้องเริ่มจาก ร่างกายแกนกลางที่เป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ไม่ว่าจะ แขน ขา คอ ขั้นต่อไปคือกล้ามเนื้อที่ละเอียดมากขึ้น นั่นคือ กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น มือ ข้อมือ นิ้วมือ รวมถึงหรือการรับรู้ข้อต่อทั้งหลาย 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมันจะเกิดขึ้นผ่านประสบการณ์ นั่นหมายความถึงว่าถ้าเราไม่ให้โอกาสเด็กได้สำรวจ ได้ทดลอง ได้ใช้งาน ได้ลองผิดลองถูก มันจะระงับการพัฒนาของเด็กได้ 

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรื่องการเดิน ถ้าเราอุ้มเด็กไว้ตลอดเวลาหรือว่าวางไว้บนรถเข็น ไม่ปล่อยให้เขาได้เดินหรือว่าล้มลุกคลุกคลานเอง อาจทำให้เขาจะเดินช้า เช่นเดียวกัน ถ้าพ่อแม่ห้ามลูกไม่ให้เดินหรือวิ่ง เด็กอาจจะเรียนรู้ว่าฉันไม่สามารถวิ่งได้ เพราะกลัวพ่อแม่จะดุ 

ในทางกลับกัน ถ้าลูกมีประสบการณ์ที่มากพอ จนเขาเคลื่อนไหวได้ดี มันจะส่งผลให้กล้ามเนื้อมัดเล็กต่างๆ เช่น มือและตาทำงานได้ดีขึ้นด้วย เชื่อมโยงไปสู่การหยิบจับหรือการสำรวจข้าวของต่างๆ ผ่านการใช้มือของเขาเอง 

ท้ายที่สุดผลลัพธ์ของการมีกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แข็งแรง จะทำให้ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดียิ่งขึ้น เช่น ลูกสามารถดึงกางเกง ดึงเสื้อ แปรงฟัน กินข้าว หรือถอดรองเท้าเองได้ จะเห็นได้ว่ามันพัฒนาไปสู่การใช้งานในชีวิตประจำวัน จากนั้นต่อยอดไปสู่เรื่องของการเรียน การจับดินสอ การเล่นของเล่น การใช้กรรไกร นี่คือพัฒนาการที่ควรจะเป็น

ช่วงวัยที่สำคัญของเด็กเล็ก หากเราพลาดการส่งเสริมกิจกรรมด้านพัฒนาการ มันจะเกิดอะไรขึ้น

มันก็ไม่เกิดการเรียนรู้ เพราะทักษะต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้ทดลอง สัมผัส หยิบจับ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นการทำงานของสมองอีกที

จึงมีคำกล่าวที่ว่า สมองเด็กในช่วง 6 ปีแรกสำคัญ เพราะเวลานี้เป็นโอกาสทองที่เขาจะได้สร้างใยสมองหรือเครือข่ายต่างๆ เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะเดียวที่เด็กยังต้องเรียนรู้อีกภายนอกท้องคุณแม่ผ่านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เขาได้เจอ ฉะนั้นถ้าไม่มีการขัดเกลา เด็กขาดการกระตุ้นไม่ได้รับสิ่งเร้า โอกาสในการเรียนรู้ก็จะหายไป และหลังจากเขาอายุ 6-7 ขวบ การสร้างใยสมองอาจไม่เต็มประสิทธิภาพ ต่อให้จะฝึกมากแค่ไหน มันก็จะได้ไม่เต็มตามศักยภาพเขา

เรามักเข้าใจว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กเกี่ยวข้องกับแค่ นิ้วมือ ข้อมือ ข้อต่อ อยากให้คุณหมอเชื่อมโยงให้เห็นว่า พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานร่วมกับระบบอื่นอย่างไรบ้าง

หมอขอยกตัวอย่าง การที่เราจะเขียนหนังสือหรือหยิบจับอะไรก็ตาม เราต้องใช้ดวงตาซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก ผนวกกับการวัดระยะ การแยกซ้ายขวา การกะประมาณแรง ที่มาจากสมองให้สัมพันธ์กัน

ซึ่งหลายกิจกรรมในชีวิตประจำวัน มักใช้การทำงานของมือหรือกล้ามเนื้อมัดเล็กที่เชื่อมโยงกับการสั่งการของสมองด้วย เช่น เด็กบางคนไม่สามารถดื่มนมกล่องได้ เพราเขาไม่รู้จะถือกล่องโดยที่ไม่บีบแรงเกินไปยังไง หรือบางคนเวลาเล่นกับเพื่อน ก็ไม่สามารถเล่นได้ เพราะกะแรงของตัวเองไม่ถูก จึงแสดงออกเป็นการเล่นที่รุนแรง 

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของ Sensory หรือระบบประสาทบูรณาการของเด็กว่าเขาสามารถที่จะควบคุมร่างกายตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน หรือสามารถจดจ่อกับงานตรงหน้าได้มากน้อยแค่ไหนด้วย จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของกล้ามเนื้อต่างๆ จะเชื่อมโยงกับการทำงานของสมองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

เช่นนั้น ความรู้สึกเครียดหรือไม่มีความสุข ส่งผลต่อกล้ามเนื้อมัดเล็กไหมด้วยหรือไม่

มันเชื่อมโยงกันนะ ตามประสบการณ์ของเด็ก เขาจะแยกความรู้สึกยาก การที่เขาทำอะไรไม่ได้เหมือนเพื่อน เขียนไม่ได้เหมือนเพื่อน วิ่งไม่ได้เหมือนเพื่อน เนื่องจากปัญหาจากกล้ามเนื้อหรือพัฒนาการของเขา แค่นี้เขาก็เครียด กังวล และไม่มีความสุขแล้ว

ผลต่อเนื่องคือมันทำให้เขาไม่มั่นใจ ไม่กล้าสำรวจ หรือเป็นภาวะด้านจิตใจ ดังนั้นเวลาเราช่วยเหลือเด็ก เราต้องทำไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่ให้เด็กกังวลจนเกินไป ร่วมกับการฝึกกระตุ้นความแข็งแรงและพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ ทำให้เขามั่นใจในการใช้งานมากขึ้น

ความรู้สึกว่าตัวเองทำได้สำคัญแค่ไหนสำหรับเด็กเล็ก

สำคัญมากๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเริ่มทำอะไรก็ตามแล้วเขารู้สึกว่าเขาทำได้ มันจะกระตุ้นให้เขาอยากทำต่อไป เขาจะรู้สึกว่าอยากลองใช้มือ อยากลองสำรวจมากขึ้น เกิดการต่อยอด เพราะทำแล้วเขารู้สึกสนุก ทำแล้วมี feedback ที่ดี เช่นเดียวกับการเรื่องการเรียนหรือการเขียน

หมอมักจะบอกพ่อแม่ว่า ความพร้อมในการเรียนของเด็กจะมาก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าเขาอยากทำ รู้สึกสนุกที่ได้ทำ ไม่ใช่ว่าถูกบังคับให้ทำ หรือ ทำตอนที่ยังไม่พร้อม

เมื่อความรู้สึกฉันทำได้สำคัญมากในเด็กเล็ก การที่เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่ได้ เขียนไม่สวย จับปากกาไม่ได้ เขียนไม่ตรงบรรทัด มันจะก่อให้เกิดอะไรบ้าง?

ตรงนี้จริงๆ ก็อาจจะขึ้นกับช่วงวัยด้วยเหมือนกัน เรารู้อยู่แล้วว่าช่วง 3-6 ขวบ มีความแตกต่างระหว่างพัฒนาการค่อนข้างเยอะ คือต้องยอมรับว่า Brain Maturity หรือวุฒิภาวะของสมองของเด็กแต่ละคนที่จะแสดงอะไรออกมาในวัยนี้จะมีความหลากหลาย โดยที่ไม่ได้หมายความว่า คนที่เริ่มทำได้ภายหลังจะด้อยกว่า คือบางคนในวัยเท่านี้ เราสอนเท่านี้ เขาทำได้ เขารู้ กรณีที่เจอบ่อย เช่น การสอนสี สมมุติเด็กขวบครึ่ง ถึง 2 ขวบ บางคนสอนสีเขาจำได้แล้ว เพราะพัฒนาการทางภาษามาไว ในขณะที่บางคนยังไม่ได้เลย ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่ทำไม่ได้ในวัยนี้จะมีพัฒนาการช้า อย่างไรก็ตาม ก็จะมีจุด cut point เช่น 4 ขวบ ทุกคนควรจะบอกชื่อสีได้แล้ว อย่างน้อย 4 สี เป็นต้น ปัญหาคือ คนที่ในช่วงวัยนั้นยังไม่ได้ (โดยที่พัฒนาการด้านอื่นปกติ) พ่อแม่บางคนจะเป็นทุกข์มากเลยว่า ทำไมลูกฉันไม่ได้ 

เรื่องการเขียนก็เหมือนกัน ในช่วงวัย 3-5 ขวบ มันมีเรื่องวุฒิภาวะของสมองเด็กแต่ละคนที่ยังไม่มาพร้อมกัน เพราะงั้นเราไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ที่เหมือนกันในเด็กอนุบาลให้เขียนได้สวย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการอยากจะเขียนของเด็กมากกว่า ตรงนี้ถ้าคุณครูหรือพ่อแม่สร้างให้เด็กรู้สึกว่าการทำสิ่งนี้มันสนุก  แล้วยังทำไม่ได้ แล้วค่อยมาลองมาเล่นใหม่ หรือค่อยๆ หารูปแบบที่มันเหมาะกับลูกเราในการเขียน อย่างเช่นบางคนยังไม่ชอบใช้ดินสอ เขียนในทรายมั้ย อย่างน้อยมันก็เป็นการเขียนตัวอักษร พยัญชนะเหมือนกัน เป็นการลากเหมือนกัน หรือพวก Finger Painting หรือว่าศิลปะที่ก็เป็นลักษณะที่ได้ใช้มือเหมือนกัน ถ้าการดัดแปลง ที่ทำให้เป็นพื้นฐานของการเขียนสนุก สุดท้ายเด็กก็จะลองเขียนอยู่ดี หมอเลยคิดว่าช่วงวัยอนุบาล จะเป็นวัยที่ค่อนข้างเป็นช่วงวิกฤติเหมือนกัน ที่เด็กชอบหรือไม่ชอบการเขียนหรือว่าการเรียน

อะไรบ้างที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งรู้สึกว่าไม่ชอบการเขียน 

ถ้าเราบังคับเขา โดยเฉพาะตอนที่เขายังไม่พร้อม

การเขียนหนังสือไม่ได้ ร้ายแรงมากน้อยขนาดไหน 

ปัจจุบันมีการแข่งขันความสามารถของลูกมากขึ้น พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนเก่ง มีความสามารถ อ่านออกเขียนได้ สร้างความกดดันให้กับลูก ซึ่งธรรมชาติของเด็ก หากบังคับหรือกดดันมากๆ อาจทำให้เกิดปัญหาต่อต้านได้ การเขียนเป็นทักษะด้านหนึ่งที่ต้องอาศัยพัฒนาการตามวัย  โดยเด็กส่วนใหญ่สามารถจับดินสอได้ถูกต้อง ที่อายุประมาณ 4- 6 ปีขึ้นไป

แต่หมออยากให้มองให้ไปไกลกว่าแค่เด็กจะเขียนสวยหรือไม่สวย เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มีผลต่อการเขียน ยังมีผลต่อการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน เช่น เด็กไม่สามารถติดกระดุม ใส่กางเกง ถือของก็หล่นตลอด หยิบจับไม่ได้ เปิดขวดน้ำไม่ได้ กดปุ่มก็ไม่มีแรง ถ้าเป็นอย่างนั้นปัญหาในเรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือมีผลร้ายแรงเหมือนกัน พ่อแม่อาจจะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไขเรื่องพัฒนาการของลูก

สรุปแล้ว ถ้าเด็กเขียนหนังสือไม่สวย แปลว่าเขามีปัญหาจริงมั้ย

ต้องถามก่อนว่าไม่สวยในสายตาของใคร การเขียนหนังสือไม่สวยหรือทำงานไม่เรียบร้อย อาจจะเจอได้ในเด็กที่มีปัญหาซนสมาธิสั้น หรือปัญหาด้านกล้ามเนื้อจริงๆ ด้วยภาวะของตัวเขาที่ไม่สามารถจะควบคุมตัวเองหรือกล้ามเนื้อได้หรือไม่สามารถจะทำงานที่ต้องจดจ่อใช้สมาธิได้นาน รีบๆทำ ดังนั้นเขาจะไม่สามารถควบคุมการเขียนหรือการใช้มือได้ แบบนี้สำหรับหมอคือมีปัญหาและอยากให้มาพบแพทย์

ถ้าในแง่ของพัฒนาการตามปกติ หมอให้เป็นแนวทางคร่าวๆ ว่า เด็กในช่วง ป.2 เทอมปลาย เขามักจะเขียนในบรรทัดได้ แต่อาจจะเขียนตัวไม่เล็กมาก แต่ตัวจะเล็กลงเรื่อยๆ จนถึงประมาณ ป.3-4  ถ้าในช่วงวัยดังกล่าวไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อมือได้หรือยังเขียนไม่สวย หมออยากให้พ่อแม่พาลูกมาหาสาเหตุด้วยกันว่าปัญหาเกิดจากอะไร

การที่จะทำให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้ เราต้องซัพพอร์ตเขายังไงบ้าง ทั้งครูและพ่อแม่

อันดับแรก หมออยากให้พ่อแม่และครูตั้งหลัก โดยการรู้จักตัวเองก่อน ต้องเรียนรู้ตัวเองก่อนว่าเราเป็นคนแบบไหน เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งเนอะ ถ้าเรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง เราจัดการอารมณ์ตัวเองได้ หรือแม้แต่เรารู้ข้อจำกัดของเรา หมอโอกาสที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้เด็กก็จะง่ายขึ้น

อันดับต่อมา อยากให้พ่อแม่หรือครู สังเกตลูกให้เป็น ชวนสังเกตในระดับดีเทลจริงๆ ลูกกำลังเล่นอะไรอยู่ ลูกชอบเล่นแบบไหน จุดแข็งจุดด้อยเขาเป็นอย่างไร เขาจะมีความสุขในบรรยากาศบ้านหรือห้องเรียนแบบไหน?

ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวสำคัญที่ซัพพอร์ตลูกได้ ซึ่งหมอมักจะบอกพ่อแม่ว่า ถึงแม้เราจะยุ่งก็ตาม แต่อยากให้หาเวลาที่มีคุณภาพ อาจจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ได้ แต่อย่างน้อยทำให้ลูกก็รู้สึกว่าในโมเมนต์นี้ดีจัง พ่อแม่อยู่กับเขาโดยไม่ต้องร้องขอ ฟังเขา เล่นกับเขา เด็กก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า รู้สึกว่าพ่อแม่สนใจเขา พ่อแม่ไม่ได้มีแต่สั่งให้เขาต้องทำนู่นทำนี่ เด็กก็จะมีความมั่นใจ เขาจะรู้สึกว่าคนนี้รักเขาให้ความสำคัญกับเขา นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะช่วยซัพพอร์ตเขาได้

หากเราไม่พัฒนาและฟื้นฟูพัฒนาการที่ขาดหายไปในเด็กเล็กอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา

สมองของเด็กในช่วงปฐมวัยค่อนข้างสำคัญ ถ้าเราข้ามหรือขาดการพัฒนาตรงนี้ไป ในแง่ของพัฒนาการย่อมส่งผลระยะยาว อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านจิตใจ ทำให้เด็กเกิดความสงสัยในตัวเองว่าฉันทำได้มั้ย? ฉันมีคุณค่าพอหรือเปล่า?  ยิ่งพอสงสัย โอกาสที่เราจะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ก็จะลดน้อยลง ความรู้สึกลุกขึ้นกล้าลองในสิ่งใหม่ๆ มันก็จะยากขึ้น ซึ่งอาจมีผลในเรื่องของการเรียนหรือการประกอบอาชีพในอนาคต

อย่างที่กล่าวไปว่าวัยเด็กเป็นช่วงวัยที่สำคัญ เพราะว่าเขายังอิงข้อมูลจากผู้ใหญ่เยอะมาก  เขายังมองคุณค่าของตัวเองผ่านสายตาของพ่อแม่หรือคนเลี้ยงดู ถ้าเราเติมเต็มให้เขา จนเขารู้สึกว่าเขาทำได้ เขามีคุณค่าในตัวเอง เขาเจอว่าเขามีทรัพยากรในตัวเอง มันก็จะติดตัวอยู่ยาวไปจนโต ไม่ว่าเขาจะผ่านช่วงวัยรุ่นหรือในช่วงวิกฤติในเรื่องของฮอร์โมน สิ่งนี้มันจะยังอยู่กับตัวเขา ไม่ได้ลดทอนไปไหน

หมอจะบอกพ่อแม่เสมอว่า ถ้าคุณลงทุนตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัฒนาการหรืออะไรก็ตาม ถ้าเราฝึกหรือกระตุ้น อย่าคิดได้คิดว่าปล่อยไปเดี๋ยวลูกก็ทำได้เอง ผลลัพธ์สุดท้ายมันคือความเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจของลูกเอง

นอกจากเรื่องพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก คุณหมออยากฝากถึงความสำคัญถึงพัฒนาการเรื่องอื่นๆ ในเด็กปฐมวัยอะไรอีกบ้าง

Motor Planning หรือการวางแผนการเคลื่อนไหวร่างกายก็เป็นสิ่งสำคัญ 

การส่งเสริมสหสัมพันธ์ร่างกายของเด็กในช่วง ปฐมวัย หรือ 3-6 ขวบจะทำให้เด็กๆ มีพื้นฐานของการเคลื่อนไหวได้อย่างแข็งแรง ซึ่งจะเชื่อมโยงในเรื่องของพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ต่อไปอีก เด็กจะมีความมั่นใจ และสามารถพัฒนาไปสู่การแก้ปัญหาหรือการทำงานที่เฉพาะเจาะจงในอนาคต 

ที่สำคัญสิ่งหนึ่งที่เราอาจจะลืมไป แต่มีผลสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ นั่นคือ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือในบ้าน เช่น ถ้าในโรงเรียนจำนวนนักเรียนและครู มีความสมดุลกัน ครูก็มีโอกาสที่จะได้เข้าใจลักษณะของเด็กแต่ละคน และดูแลด้านพัฒนาการของเด็กได้อย่างแท้จริง