จะไม่กลับบ้าน ถ้ายังไม่ได้ดี : 3 เรื่องเล่าจาก First Jobber ต่างจังหวัด ที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ

“กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” 

เมืองฟ้าอมร กำลังรอต้อนรับทุกคนหลังงานเทศกาลหยุดยาวที่สุดของประเทศไทย แรงงานก่อสร้าง แม่ค้าขายไก่ย่าง รองผู้จัดการธนาคาร อาเฮียเจ้าของอู่ซ่อมรถย่านสาทร ทุกคนกำลังตบเท้าเข้ามาทำหน้าที่อันเป็นปกติของตัวเองในเมืองที่เจริญที่สุดในประเทศไทย 

เส้นเลือดใหญ่ของกรุงเทพฯ กำลังเดินทางกลับมาทำให้เมืองนี้มีชีวิตอีกครั้ง พวกเขาคือ คนต่างจังหวัดหลากหลายอาชีพ ที่เป็นฟันเฟืองหลักของธุรกิจมากหน้าหลายตาในเมืองใหญ่

เพราะที่นี่เต็มไปด้วยโอกาสและความฝัน การเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนต่างจังหวัดอยู่เสมอ เพราะทุกคนต่างก็อยากมี ‘ชีวิตที่ดีขึ้น’ แต่ก็ต้องแลกมากับสุขภาพจิตที่เสียไปจากการอยู่ไกลบ้าน และค่าใช้จ่ายของการเป็นคนต่างถิ่น

Mutual ชวนคุยกับเหล่า First Jobber ที่มีพื้นเพจากหลายจังหวัด หลากอาชีพ กับการใช้ชีวิตด้วยลำแข้งของตัวเองในเมืองใหญ่ ไกลบ้าน ค่าใช้จ่ายสูง ความรับผิดชอบที่ถาโถม กับตาชั่งแห่งความเจริญ และการกระจุกตัวของงานในเมืองใหญ่

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากทำงานในกรุงเทพฯ แต่ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะทุกคนรู้ดีว่าโอกาสที่ชีวิตจะเติบโต มักกระจุกอยู่แค่ในตัวเมือง และการร้องไห้บนเครื่องบินเจ็ท ย่อมดีกว่าความทุกข์ที่ไม่มีเงินซื้อกับข้าวมื้อเย็น

“เหมือนเราเข้าเมืองมาเพื่อเก็บเงิน แล้วเอาไปทำตามความฝันที่อยู่ใกล้บ้าน” – เจณ อายุ 24 จาก จ.นครปฐม

“การอยู่ตัวคนเดียวในกรุงเทพฯ มันต่างจากคนที่มีบ้าน หรืออยู่กับพ่อแม่ในกรุงเทพฯ มาก คนต่างจังหวัดจะมีความเหงาและความโดดเดี่ยวที่เข้มข้นมาก มันตัวคนเดียวจริงๆ ยิ่งเรียนจบ ยิ่งเห็นชัด เพราะเราต้องออกมาอยู่ในเมืองที่เราไม่ได้รู้จักดีขนาดนั้นตัวคนเดียว”

เจณ–เจณิกาพร ปิยะรัตน์ เป็นคนจังหวัดนครปฐม ที่สนใจด้านศิลปะและภาพยนตร์ จึงต้องเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เพราะเข้าถึงการศึกษาในด้านนี้ได้มากกว่าต่างจังหวัด และอยู่ยาวๆ มาจนถึงชีวิตการทำงานในปัจจุบันที่ย่างเข้าวัย 24 ปี เพราะมีโอกาสที่อาชีพในสายนี้จะเติบโตได้มากกว่า

การใช้ชีวิตในเมืองกรุง ไม่ได้น่าอิจฉาสำหรับเจณ เพราะนอกจากค่ากินแต่ละวัน ยังเจอค่าที่พักที่สูงลิ่ว

“พอเรียนจบแล้ว ความเครียดเรื่องเงินมันมหาศาล ต่อให้ทำงานเดียวแล้วได้เงินพอสำหรับใช้ชีวิตหนึ่งเดือน แต่เราก็ต้องหางานเสริม เพราะเราไม่รู้ว่าเดือนต่อไปจะมีรายได้พอหรือเปล่า เราก็เลยต้องหาหลายลู่ทางในการหาเงินให้ได้มากที่สุด”

ด้วยสาเหตุนี้เจณจึงเลือกที่จะเป็น ‘ฟรีแลนซ์’ ตั้งแต่ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน โดยทำงานในด้านโปรดักชันภาพยนตร์ ที่รับตั้งแต่งานผู้กำกับ ตากล้อง ไปจนถึงคนตัดต่อ ในขณะที่เปิดร้านสักควบคู่ไปด้วยในเวลาว่าง โดยใช้ห้องพักของตัวเองเป็นสตูดิโอ

เจณเล่าว่า งานประจำที่มีความมั่นคง และมีสวัสดิการต่างๆ เป็นอีกทางเลือกที่ลังเลในตอนแรก แต่การเป็นฟรีแลนซ์เป็นทางที่จะหาเงินได้มากกว่า เพราะสามารถรับงานได้หลากหลายกว่า ซึ่งต้องยอมแลกมากับความเครียดที่ไม่สามารถหยุดคิดเรื่องงานได้แม้ในเวลาพักผ่อน และต้องกระตือรือร้นในการไขว่คว้างานอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้มีงานเข้ามา และมีเงินพอใช้ในแต่ละเดือน

“ตั้งแต่วันแรกที่เรียนจบมาจนถึงวันนี้ มีความคิดเดิมในทุกๆ ปลายเดือนเลยว่า เดือนหน้าจะมีงานไหม เหมือนเดินบนทางน้ำแข็งที่พร้อมจะหักลงมาตลอดเวลา เหมือนเราต้องทำงานตลอดเวลาถึงจะมีชีวิตรอด”

“ทุกสังคมที่เราเข้าหา ยากมากเลยที่จะไม่คิดเรื่องงาน เพราะมันจะเป็นตัวตนที่เราสร้าง ถ้าเราอยู่เฉยๆ ไม่สนใจจะไขว่คว้างาน ก็จะมีรายได้ไม่พอกับการอยู่กรุงเทพฯ ตัวคนเดียว”

แม้บางเดือนเจณจะมีรายได้เยอะมาก แต่ก็ไม่ใช่ทุกเดือนที่จะมีงานเข้ามา และยังมีค่าต้นทุนของการเป็นช่างสักมือใหม่ ที่ต้องจ่ายค่าอุปกรณ์และค่าแต่งห้องสตูดิโอ รวมถึงค่าบิล ค่าบัตรเครดิต และเป้าหมายที่อยากสร้างบ้านให้พ่อกับแม่ ที่กำลังอยู่บ้านเช่าหลังจากผ่านเหตุการณ์ล้มละลาย สำหรับเจณจึงไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองใช้จ่ายกับอะไรก็ได้ตามใจชอบ

สำหรับเจณ กรุงเทพฯ ไม่เคยเป็นพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกสบายใจ แม้ตอนนี้โอกาสในสายงานภาพยนตร์จะหาได้ง่ายในตัวเมือง แต่สุดท้ายแล้วความฝันของเจณ คือ การกลับไปเปิดชุมชนศิลปะ (Art Community) ที่รวบรวมผลงานศิลปินในพื้นที่ต่างจังหวัด

“เหมือนเราเข้าเมืองมาเพื่อเก็บเงิน แล้วเอาไปทำตามความฝันที่อยู่ใกล้บ้าน”

ก่อนจะไปถึงฝัน ไม่ว่าระหว่างทางจะต้องทำงานหนักแค่ไหน แต่สำหรับเจณร่างกายและจิตใจที่ดีต้องมาเป็นอันดับหนึ่งอยู่เสมอ เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่กระทบกับชีวิตเราได้ทุกมิติแม้กระทั่งเรื่องงาน สิ่งที่เธอฝึกฝนไม่น้อยไปกว่าทักษะการทำงาน จึงเป็นการบาลานซ์เรื่องสุขภาพควบคู่ไปด้วย 

ความรู้สึกเศร้า เหนื่อย เครียด เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญกับเจณมากกว่า คือ ต้องทำยังไงถึงจะรับมือและผ่านปัญหาเหล่านั้นไปได้ การศึกษาหาข้อมูลต่างๆ จึงเป็นวิธีที่เจณใช้อยู่เสมอ อย่างเช่นการเซิร์ชหาวิธีรับมือกับความเศร้า หรือหาคำตอบว่า จะมีวิธีแก้ปัญหาอาการเครียดจนนอนไม่หลับยังไงบ้าง

“จริงๆ ชีวิตมันง่ายกว่านี้ได้มากเลย การทำงานไกลบ้านทำให้เราต้องสู้ชีวิตมากกว่าคนอื่น” – พู่กัน อายุ 24 จาก จ.บึงกาฬ

“จริงๆ ชีวิตมันง่ายกว่านี้ได้มากเลย การทำงานไกลบ้านทำให้เราต้องสู้ชีวิตมากกว่าคนอื่น”

สู้ชีวิตที่ พู่กัน–พิชาภรณ์ คุรุบาศรี หมายถึง คือการเป็นคนจังหวัดบึงกาฬ ที่ต้องเริ่มทำงานไกลจากครอบครัว มาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ในวัย 23 ปี แบบพึ่งพาตัวเอง 100% ทั้งต้องขุดพลังใจ ฮึดสู้ขึ้นมาด้วยตัวคนเดียว และต้องหาเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องเสียมากกว่าอยู่ที่บึงกาฬ

สำหรับพู่กัน สาเหตุที่ต้องทำงานในกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างกันกับเจณ

“เหมือนเราเข้าเมืองเพื่อมาหาฝัน มันเป็นพื้นที่ที่ได้ลองทำอะไรมากกว่าอยู่บ้าน แม้ว่าจะต้องอยู่ตัวคนเดียว หรือต้องรับผิดชอบอะไรหลายอย่าง แต่ก็คุ้มค่าที่จะแลก”

พู่กันเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการสวมหมวกสองใบ ใบแรก คือ ‘พนักงานประจำ’ ที่ทำงานเป็นผู้ช่วยสตูดิโอถ่ายภาพ มีหน้าที่ตั้งแต่เป็นผู้ช่วยตากล้อง คิดคอนเทนต์ ไปจนถึงวางแผนการตลาด ในขณะที่หมวกอีกใบ คือ การเป็น ‘ฟรีแลนซ์’ ตัดต่อวิดีโอควบคู่ไปด้วย

“ตอนตัดสินใจเรื่องงานฟรีแลนซ์ตัดสินใจยากมาก เพราะรู้ว่าเราจะเหนื่อยแน่นอน แต่เพราะฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี เราก็อยากช่วงแบ่งเบาภาระของพ่อแม่”

หลังจากธุรกิจที่บ้านล้มละลายเพราะพิษเศรษฐกิจ พ่อกับแม่หันมาทำอาชีพรับจ้างทั่วไป พู่กันซึ่งเป็นพี่คนโตจึงตั้งใจไว้ว่า เมื่อตัวเองเรียนจบจะช่วยเหลือครอบครัวเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ

ทั้งต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองและส่งเงินช่วยที่บ้าน รายได้จากการทำงานประจำเพียงอย่างเดียวจึงไม่มีทางมากพอ โดยเฉพาะในเรทเงินของเด็กจบใหม่ เหมือนอย่างพู่กันในช่วงที่เพิ่งเริ่มทำงานเดือนแรกๆ บางเดือนมีเงินเหลือส่งให้พ่อแม่ได้บ้าง แต่บางเดือนก็มีไม่พอแม้แต่จะให้ตัวเองใช้ จะขอเงินจากพ่อและแม่ก็ไม่มีให้

“ตอนนั้นเราไม่อยากโทษที่บ้านว่า ทําไมเขาไม่สามารถให้เงินเราได้ สุดท้ายเราก็เลยมาโทษตัวเองว่าเป็นเพราะเราใช่ไหม ที่ไม่ได้ทำงานที่หาเงินได้มากพอ ที่จะสามารถส่งเงินให้เขา และสามารถเลี้ยงตัวเองได้”

สำหรับพู่กัน การยอมเหนื่อยกับการทำงาน จึงดีกว่าความเครียดที่ไม่มีเงิน 

แต่สิ่งที่ต้องแลกไป จึงเป็น ‘เวลาพักผ่อน’ เพราะต้องแบ่งเวลามาตัดต่อวิดีโอ ในเวลาหลังเลิกงานประจำในวันพุธ-อาทิตย์ หรือวันหยุดพักผ่อนบางวัน เพื่อหารายได้เสริมที่พอใช้ในแต่ละเดือน 

“บางทีก็รู้สึกหมดไฟในการทำงานเหมือนกัน เพราะเราไม่มีเวลาไปใช้ชีวิตเลย แม้กระทั่งจะเอาเงินไปทำตามความฝัน หรือทำสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ”

“ตอนนี้เราไม่สามารถมีความสุขกับอะไรง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพ้อฝันแบบตอนเด็กก็ไม่ได้ แต่เรามองเลยว่าอะไรหาเงินได้ และอะไรหาเงินไม่ได้”

เมื่อการทำงานในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นเรื่องจำเป็น ความรู้สึกเศร้าปนเครียดก็ยังวนเวียนมาเรื่อยๆ และแต่ละคนก็คงวิธีรับมือกับความเครียดไม่เหมือนกัน 

สำหรับพู่กัน วิธีที่ฮีลใจได้ในทุกๆ ครั้ง คือ การปล่อยให้ตัวเองระบายความรู้สึกด้านลบทั้งหมดออกมา ทบทวนตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นซ้ำสอง และลุกขึ้นมายิ้มได้ใหม่อีกครั้งในวันถัดไป หรือถ้าครั้งไหนความรู้สึกพาดิ่งจนปีนไม่ขึ้น การมีเพื่อนที่ไว้ใจอยู่ข้างๆ คอยรับฟังปัญหา คอยให้กำลังใจกันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้พู่กันสู้ต่อได้

“เรามักจะผ่านวันแย่ๆ มาได้ด้วยการเศร้าให้ถึงที่สุด แล้วเราก็จะหายเศร้าไปเลย เพราะเป็นคนที่ถ้าเศร้าแล้วจะคุยกับตัวเอง รู้สึกอะไร เหนื่อยไหม ไหวไหม จุดที่ดำดิ่งก็จะร้องไห้ออกมา แล้วหลังจากนั้นอารมณ์ก็จะสงบขึ้น และเราก็จะเข้าใจอะไรมากขึ้น”

“ถ้าเลือกได้จะไม่อยู่กรุงเทพฯ แน่ๆ เพราะค่าครองชีพที่นี่มันสูง ไม่ว่าจะทำงานมากขนาดไหนก็ไม่มีเงินเก็บ” – เฟิร์น อายุ 22 ปี จาก จ.ชลบุรี

กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับคนวัยทำงานเพียงอย่างเดียว เพราะสำหรับนักศึกษา ที่นี่ยังเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสทางด้านการศึกษากระจุกตัวอยู่ด้วย เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดหลายๆ แห่ง

โดยเฉพาะสำหรับ เฟิร์น–สุพัตรา ครบอยู่ ในวัย 22 ปี ที่ฝันอยากเป็นนักร้องที่มีเพลงเป็นของตัวเอง เพราะกรุงเทพฯ มีทั้งมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ และสตูดิโอเพลงที่จะช่วยสานฝันให้เป็นจริงได้อยู่มาก

นั่นเป็นเหตุผลที่เฟิร์นออกห่างจากครอบครัวที่จังหวัดชลบุรี มาเช่าหอพักอยู่ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่เพราะค่าใช้จ่ายของการเป็นคนต่างจังหวัดที่ค่อนข้างสูง เฟิร์นจึงต้องทำงานแบ่งเบาภาระของพ่อกับแม่มาตลอด

“ทำงานแล้วต้องจัดการเรื่องเวลา แบ่งเวลาการเรียนกับการทำงาน ต่างจากตอนเด็กที่เราจะทำอะไรก็ได้ มีความเครียดมากขึ้น เพราะชีวิตการทำงานมีการแข่งขันสูง”

4 ปีที่ผ่านมา พ่อกับแม่ของเฟิร์นเป็นคนจ่ายค่าเทอมและค่าที่พักเต็มจำนวน ส่วนค่ากินอยู่ เฟิร์นร้องเพลงตามร้านอาหารตอนกลางคืน และค่าสอนพิเศษดนตรีให้เด็กเล็กเป็นรายได้เสริมจากที่พ่อแม่ให้มา

ปัจจุบันเฟิร์นยังเหลือเรียนอีกหนึ่งวิชาในเทอมถัดไป แต่เทอมนี้เธอต้องเป็นคนจ่ายค่าเทอมด้วยตัวเอง จึงสมัครเป็น ‘พาร์ทไทม์’ ผู้ช่วยบาริสตาร้านกาแฟ เพื่อหารายได้เสริมอีกส่วน โดยที่ยังคงสอนพิเศษควบคู่ไปด้วย โดยค่าที่พักและค่ากินอยู่พ่อแม่ยังคอยช่วยเหลืออยู่บางส่วน

“ค่าครองชีพที่กรุงเทพฯ สูงเลยต้องให้ครอบครัวช่วยไปก่อน เราเครียดเรื่องเงินที่จะใช้ในอนาคตว่า ถ้าไม่มีเขาซัพพอร์ตแล้วเราจะหาเงินได้มากพอไหม”

ความรับผิดชอบต่องานและชีวิตตัวเอง เป็นความกดดันหลักๆ ที่เฟิร์นปรับตัวหลังเข้าสู่โลกของการทำงาน และยิ่งอยู่ตัวคนเดียวในหอพัก ความรู้สึกทุกอย่างจึงเหมือนทวีคูณเพิ่มขึ้น แต่วันไหนที่ดิ่ง เศร้า หรืออยากร้องไห้ขึ้นมา พ่อและแม่ก็จะเป็นคนแรกที่เฟิร์นโทรหาอยู่เสมอ

“ถ้าได้ทำงานใกล้บ้าน ใกล้ครอบครัว ก็จะไม่เหงา ประหยัดอะไรไปได้เยอะมากๆ แล้วก็มีคนคอยซัพพอร์ตความรู้สึกเราเวลาเจอเรื่องแย่ๆ ด้วย”

“ถ้าเลือกได้จะไม่อยู่กรุงเทพฯ แน่ๆ เพราะค่าครองชีพที่นี่มันสูง ไม่ว่าจะทำงานมากขนาดไหนก็ไม่มีเงินเก็บ”