‘แกล้งรำ คุยโทรศัพท์คนเดียว นั่งแท็กซี่เบาะขวา’ สารพัดเทคนิคเอาชีวิตรอด ในเกม ‘ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ’ ที่บอกว่า ‘สังคมไม่ปลอดภัย’ มันตลกร้ายกว่าที่คิด

“มันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ และทุกคนน่าจะเคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กัน” 

ด้วยเหตุนี้เองทำให้คำพูดติดปากอย่างคำว่า ‘ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ’ กลายมาเป็น ‘เกม’ ผลงานธีสิสของ ต้า-พิมพิศา เกือบรัมย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมัณฑนศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเกมนี้กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

เกมถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ เป็นเกมประเภทเอาตัวรอด (Interactive Game Website) ที่ให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นผู้หญิงที่ต้องกลับบ้านคนเดียว โดยผู้เล่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของเกมด้วยการตอบคำถามเพื่อนำไปสู่สถานการณ์ต่างๆ

หลากหลายเสียงในโลกออนไลน์ที่เล่นเกมจบแล้วต่างมีความรู้สึกร่วมกันคืออึดอัดต่อสถานการณ์ในเกม และการรับรู้ถึงความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ 

เกมเอาตัวรอด จำลองเหตุการณ์ตลกร้ายที่เกิดขึ้นจริงในสังคม 

“เรื่องประเด็นความปลอดภัยมันเป็นประเด็นที่ใกล้ตัวมาก แล้วตัวเราเองก็ถูกสอนมาตลอดว่าตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่าเราต้องระวังตัวนะ เวลากลับบ้านจะต้องคอยดูข้างทาง ระมัดระวังให้ดี อะไรประมาณนี้ แต่เรารู้สึกว่าต่อให้ระมัดระวังกันมากขนาดไหน พอดูข่าวหรือเล่นอินเทอร์เน็ตก็ยังเห็นข่าวว่าผู้หญิงถูกคุกคาม หรือถูกปล้นข่มขืนมาอยู่เรื่อยๆ แล้วมักจะมีคอมเมนต์ใต้ข่าวประมาณว่าคุณก็เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงเอง หรือว่าเกิดจากความประมาท หรือโทษการแต่งว่าที่โดนแบบนั้นเพราะแต่งตัวโป๊หรือเปล่า” 

“ซึ่งเราคิดว่าคนที่ควรประนามจริงๆ น่าจะเป็นที่ตัวคนที่เข้ามาคุกคามหรือเปล่า เพราะว่าต่อให้เหยื่ออาจจะประมาท หรือไม่ได้ประมาท หรืออะไรก็แล้วแต่เขาก็ไม่สมควรที่จะถูกคุกคาม” 

ต้าเล่าถึงจุดเริ่มต้นแนวคิดของการทำเกมนี้ นำไปเสนออาจารย์ที่ปรึกษา

“ครั้งแรกที่คิดหัวข้อไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์เขาแนะนำว่ามันก็สามารถช่วยเรื่องการเตือนสังคม แต่ให้ระวังเรื่องข้อมูล ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าเราอาจจะเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ลงไปได้ ด้วยเรื่องนี้ทำให้เราต้องไปรีเสิร์ชข้อมูลหนักมาก รวมถึงการทำแบบสอบถามการโดนคุกคามระหว่างกลับบ้านเองด้วย โดยเก็บข้อมูลจากคนในทวิตเตอร์” 

แต่เดิมต้าตั้งใจให้เป็นผลงานธีสิสจบ ซึ่งมีระยะเวลาทำแค่ 4 เดือนเท่านั้น ตอนส่งอาจารย์จะทำแค่ส่วนที่เป็นการออกแบบภาพ (visual design) การวางโครงเรื่อง ลำดับเวลาเนื้อเรื่อง พอในส่วนของธีสิสจบ ก็เกิดการต่อยอด เพราะเราเห็นว่าเกมนี้มันน่าจะมีประโยชน์ให้คนตระหนักถึงความน่ากลัวของการกลับบ้าน ก่อนนำไปจัดแสดงผลงานก็มีการหาทีมมาพัฒนาเกม ต่อยอดทำเว็บไซต์ให้เล่นได้จริงจนเป็นเกมเวอร์ชันปัจจุบันนี้

“ช่วงเวลาของการทำผลงานธีสิสมีเวลาทั้งหมด 4 เดือน จากกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาสำหรับการหาข้อมูลไปทั้งหมด 2 เดือน เพราะอยากสะท้อนเหตุการณ์เข้ามาในเกมเลย ทั้งการหาข้อมูลในข่าว จากการตอบแบบสอบถาม สัมภาษณ์คนถึงประสบการณ์การและวิธีการรับมือ แล้วก็มีการจำลองสถานการณ์จริงกับตัวเอง” 


สารพัดเทคนิคที่ทำให้ผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายในสังคมอันตราย 

ต้าเล่าว่าช่วงการหาข้อมูลมีการจำลองสถานการณ์ สัมภาษณ์ สอบถามเพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึกของความน่ากลัวจริงๆ เพื่อถ่ายทอดผ่านเกม 

“เราลองเดินกลับบ้านเปลี่ยวๆ เพื่อจำลองความน่ากลัว สัมภาษณ์คนอื่นๆ ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย หรือกลุ่ม LGBTQ ทำให้เราได้รู้ว่าทุกเพศเคยโดนคุกคามกันหมด เคยมีกรณีศึกษาหนึ่งที่เราเอาใส่ในเกมด้วยคือ เราสัมภาษณ์คนหนึ่ง เขารู้สึกว่าเหมือนมีคนเดินตาม เขาก็เลยวางกระเป๋าแล้วแกล้งรำตรงนั้นเลยสุดท้ายคนที่เดินตามเขาก็ตกใจ แล้ววิ่งหนีไป คุยจบมันเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง ก่อนหน้านี้เราก็เคยพูดเล่นกับเพื่อนเหมือนกัน ว่าถ้าเกิดมืดๆ มีคนเดินตาม เราทำเป็นผีเข้าดีไหม เผื่อเขากลัว แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีคนนําวิธีนี้มาใช้งานได้จริงๆ เหมือนกัน” 

จากผลสำรวจโดยเครือข่ายเมืองปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในปี 2561 พบว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะทั้งเพศหญิง ชาย และไม่ระบุเพศ จำนวน 1,654 คน ร้อยละ 35 หรือ 1 ใน 3 ระบุว่าเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเพศหญิงมีอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 45 เช่นเดียวกับ The World Population ReView ปี 2022 รายงานผลการสำรวจเมืองอันตรายที่สุดในโลกสำหรับนักท่องเที่ยวผู้หญิง โดยประเทศไทยติด 10 อันดับแรกจากทั้งหมด 50 ประเทศ 

ทั้งหมดสอดคล้องกับสิ่งที่ต้าทำการสำรวจผ่านโลกออนไลน์เรื่องความปลอดภัยในการเดินทางที่มีคนเคยประสบเหตุการณ์ถูกคุกคามมากถึง 30% จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ต้ายอมรับว่าช่วงระหว่างที่ค้นหาข้อมูลรู้สึกหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม 

“ตอนสืบค้นข้อมูลเรารู้สึกหดหู่มาก ต้องมานั่งอ่านข่าวเตือนภัย ซึ่งบางคนก็แค่นั่งรถกลับบ้านเฉยๆ บางคนที่โดนเป็นชาวต่างชาติ สื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ก็ถูกล่อลวงไปทำมิดีมิร้าย มันใกล้ตัวเรามากๆ เลยทำให้เรากลัวการเดินทางไปพักใหญ่เลย” 


น้องมีแฟนยัง? คำถามสั้นๆ ที่แฝงไปด้วยความไม่ปลอดภัย 

ส่วนตัวต้าเล่าว่าเคยมีประสบการณ์การถูกเดินตาม หรือถูกคุกคามเช่นกัน แม้จะเป็นช่วงตอนกลางวันมันก็ทำให้รู้สึกกลัวไม่ต่างกับตอนกลางคืน

“ตอนนั้นนั่งรถแท็กซี่ตอนกลางวัน ระหว่างที่นั่งไปเรื่อยๆ คนขับก็ชวนเราคุยแล้วอยู่ดีๆ เขาก็พูดขึ้นมาว่าเรา ‘อายุเท่าไหร่แล้ว’ พอตอบว่าอายุประมาณ 19-20 ปี แล้วเขาก็พูดขึ้นมาว่า ‘อ๋อ 19 หรอ’ แล้วก็พูดต่อว่าพี่ก็อายุ 30 กว่าไม่ห่างกันมากเนอะ’ เราเริ่มรู้สึกว่ามันแปลกๆ แล้วเขาก็ยิงคำถามว่าเรื่อยๆ ว่า ‘มีแฟนหรือยัง’ พร้อมเล่าเรื่องของตัวเอง แล้วก็บอกว่า ‘พี่ดูแลดีนะ’ ซึ่งเราก็กลัว พยายามนั่งเงียบๆ และขอลงกลางทาง เพราะกลัวว่าถ้าเขาไปส่งถึงบ้านเรา รู้จักบ้านเราเขาจะตามมาไหมอะไรประมาณนี้ แล้วสิ่งที่เราคิดว่านี่คือการคุกคามมากๆ คือช่วงระหว่างที่เรากำลังลงรถเขาหันมาคุยด้วยบอกว่า ลงรถแล้วเหรอ เสียดายจังอยากนั่งด้วยกันนานๆ” 

“ขนาดตอนกลางวัน ช่วงเวลานั้นเรายังรู้สึกกลัวมากๆ ไม่อยากจะคิดว่าสถานการณ์แบนนี้มันเกิดขึ้นกับเราตอนกลางคืนจะน่ากลัวกว่านี้มากๆ”


หวังว่าเหยื่อรายต่อไปจะไม่ใช่เรา… 

ต้ามองว่าประโยคที่บอกว่ากลับถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ เหมือนกับว่าเป็นการที่เราได้รับยืนยันจากคนๆ นั้นว่า เขาถึงบ้านอย่างปลอดภัยแล้วนะ ระหว่างทางไม่เจอเหตุการณ์อันตรายอะไร ซึ่งปัญหาหลักๆ มาจากความปลอดภัยในสังคม เช่นมาตรการการลงโทษคนร้าย หรือเรื่องของการพกพาอาวุธป้องกันตัว 

ผลสำรวจของ The Economist สำรวจเมืองที่มีความปลอดภัยที่สุดประจำปี 2021 พบว่ากรุงเทพฯ ได้ลำดับที่ 43 จากทั้งหมด 60 เมือง โดยได้คะแนนรวม 60.2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งหมด 66.1 

ในอดีตประเทศไทยเคยมีแคมเปญชื่อว่า ‘ปักหมุดจุดเผือก’ จัดทำโดยเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงและองค์กรภาคี โดยเปิดพื้นที่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ผู้หญิงส่งเสียง สะท้อนปัญหาของตัวเองด้วยการปักหมุด แจ้งพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงและต้องการให้พัฒนาเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง แต่ก็เป็นแคมเปญที่จัดทำโดยภาคประชาชน

ต้าให้ความเห็นว่าหลังจากปล่อยเกมออกไป ความรู้สึกตอนทำก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะดัง หรือคนพูดถึงเยอะขนาดนี้ แค่หวังว่าอย่างน้อยจะมีคนสักกลุ่มหนึ่งไปเล่นแล้วได้อะไรกลับมาบ้าง 

“กระแสตอนนี้เกินคาดไปมากๆ จุดประสงค์ของการทำเกม ‘ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ’ ตอนแรกคือคาดหวังแค่เรื่องสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย และอยากให้คนเข้าใจว่าสถานการณ์การคุกคามระหว่างกลับบ้านที่เราเจอมันเป็นยังไง มันอันตรายขนาดไหน เพราะมันยังมีชุดความคิดว่าโทษเหยื่อ และยังไม่เข้าใจจริงๆ ว่าความอันตรายเป็นยังไง อย่าหวังแค่ว่าระวังตัวแล้วจะปลอดภัยทุกครั้ง”