เสรีนิยม อนุรักษนิยม ชาย หญิง

หญิงเสรีนิยม Vs ชายอนุรักษนิยม แนวโน้มอุดมการณ์ของคนเจน Z เพราะความไม่เท่าเทียมทางเพศที่สะสมมานานในสังคม

ตื่นตัว

การเปลี่ยนแปลง

พลังแห่งอนาคต

ถ้าลองพิมพ์คำว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ในกูเกิล 3 บรรทัดข้างต้นจะเป็นสิ่งที่เราเห็นต่อท้าย ประโยคขยายที่ทำให้เราเห็นภาพชัดมากขึ้นว่า สังคมกำลังมองคนรุ่นใหม่อย่างไร คนที่จะมาเป็นความหวัง มาพร้อมกับสิ่งใหม่ๆ รับไม้ต่อจากคนรุ่นก่อนเพื่อขับเคลื่อนสังคมต่อไป

‘เจน Z’ หรือ Generation Z กลายเป็นภาพแทนของคนรุ่นใหม่ แต่บทความจากเว็บไซต์ไฟแนนเชียลไทม์ส (Financial Times) สำนักข่าวเศรษฐกิจและการเงิน กำลังบอกกับเราว่า คนรุ่นใหม่อาจจะเป็น ‘อนุรักษ์นิยม’ มากกว่าที่เราคิด

ศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ศูนย์ทำโพลสำรวจชื่อดังของอเมริกา ระบุว่า คนเจน Z เป็นคนที่เกิดปี 1997-2012 มีเอกลักษณ์เฉพาะเจน คือ เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี เป็นส่วนของชีวิตพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน (iPhone) เปิดตัวเครื่องแรกเมื่อปี 2007 หรือมีไวไฟ (WiFi) ให้บริการ ทำให้การสื่อสารเป็นเรื่องง่ายดาย เป็นต้น 

อลิซ อีแวนส์ (Alice Evans) นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ทำการสำรวจทัศนคติและอุดมการณ์ของชาวเจน Z พบว่า เจน Z บางส่วนเลือกที่จะมีแนวคิดอย่างอนุรักษ์นิยม ซึ่ง ‘เพศ’ กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกแนวคิด  

อีแวนส์สำรวจความคิดและมุมมองของคนเจน Z ในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ค่อนข้างมีช่องว่างทางอุดมการณ์ระหว่างเพศชายและหญิง อย่างในสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงอายุระหว่าง 18 ถึง 30 ปี มีแนวคิดเป็นเสรีนิยมมากกว่าผู้ชายช่วงวัยเดียวกัน 30%

ขณะที่ผู้ชายในโปแลนด์เกือบครึ่งหนึ่งที่อายุระหว่าง 18-21 ปี สนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายขวา มากกว่าผู้หญิงในวัยเดียวกัน

เมเรดิธโพล (The Meredith Poll) สำรวจความคิดเห็นต่อการเลือกตั้งของชาวเจน Z ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐนอร์ทแคโรไลนาเมื่อปี 2022 พบว่า พวกเขามีแนวคิดเสรีนิยมในบางประเด็น เช่น สิทธิการทำแท้ง การคุ้มครอง LGBTQ+ การทำให้กัญชาถูกกฎหมาย เป็นต้น เมื่อถามถึงผู้นำประเทศที่พวกเขาต้องการ ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่งหนึ่ง บอกว่า อยากได้ผู้นำที่ ‘เข้มแข็ง’ มากกว่าเป็นผู้นำที่พยายามรักษาปกป้องประชาธิปไตย

ข้ามมาที่ฝั่งเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ค่อนข้างแบ่งชัดเจนเลยว่าหญิงเจน Z และชายเจน Z มีแนวคิดต่างกัน ซึ่งช่องว่างนี้ก็เกิดขึ้นที่จีน แอฟริกา และตูนิเซีย งานวิจัยบอกว่า การเคลื่อนไหว #MeToo (มีทู) เป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ทำให้แนวคิดสตรีนิยม (Feminism) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้หญิง พวกเขามีความกล้าที่จะพูดเรื่องความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดมายาวนานจนดูกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมนั้นๆ หรือแม้แต่ความเกลียดชังต่อผู้หญิง (Misogyny) ก็กลายเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป

#MeToo เป็นแฮชแท็กที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่ในโลกออนไลน์ ให้คนมาแชร์ประสบการณ์ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แฮชแท็กนี้เกิดขึ้นหลังจากที่โปรดิวเซอร์ชื่อดังของฮอลลีวูดอย่างฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ถูกเปิดโปงว่าเขาล่วงละเมิดนักแสดง นางแบบ และลูกจ้างหญิงจำนวนมาก แฮชแท็กนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแสดงจุดยืนเคียงข้างคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2022 ในเกาหลีใต้ ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนถึงช่องว่างที่เกิดขึ้น ผู้เลือกตั้งชายจำนวนมากลงเสียงให้พรรคฝ่ายขวา ขณะที่ผู้หญิงก็สนับสนุนพรรคฝ่ายซ้ายอย่างมาก จนดูเป็นการขีดเส้นแบ่งพวกเขาอย่างชัดเจน

ช่องว่างทางความคิดระหว่างชายหญิงที่เกิดขึ้น อีแวนส์มองว่าอาจมีผลกระทบตามมาหลายอย่าง ที่แน่ๆ สังคมกำลังแบ่งเป็น 2 ส่วนชัดเจน รวมถึงอาจทำให้อัตราการแต่งงานลดลง อัตราการเกิดก็ลดลงตามด้วย เพราะคนมีแนวคิดขัดแย้งกัน อย่างที่เกาหลีใต้อัตราเฉลี่ยที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีลูกเหลืออยู่ประมาณ 0.78% ในปี 2022 ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก

ประเด็นผู้อพยพเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนมักถกเถียงกัน ตอนนี้มีหลายประเทศเกิดสงครามประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ จึงต้องอพยพลี้ภัยไปประเทศอื่น คนในประเทศที่พวกเขาเลือกอพยพมาต่างมีความคิดและมุมมองพวกเขาแตกต่างกันไป บางคนก็กลัวว่าผู้อพยพจะมาแย่งงาน หรือก่ออาชญากรรม ขณะที่บางส่วนก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือผู้อพยพ เพราะพวกเขาเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากรัฐตัวเอง 

อเมริกา อังกฤษ และเยอรมัน เป็นประเทศต้นๆ ที่คนเลือกอพยพมา พลเมืองผู้หญิงของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะยอมรับผู้อพยพ มากกว่าผู้ชายที่มักจะมีแนวคิดอย่างอนุรักษ์นิยม ทำให้เกิดการต่อต้าน ไม่ยอมรับผู้อพยพ

แต่อีแวนส์ก็ทิ้งท้ายในงานวิจัยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจไม่ได้อยู่คงทนตลอดกาล เวลาผ่านไปแนวคิดของพวกเขาอาจเปลี่ยน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลกระทบ หรือทิ้งอะไรบางอย่างให้กับเรา นั้นคงเป็นเรื่องที่เราต้องหาคำตอบต่อไป

อ้างอิง