‘ของมันต้องมี’ ทำอย่างไร เมื่อคน Gen Z รักในเทรนด์แฟชันที่เปลี่ยนทุกวัน แต่ก็รักสิ่งแวดล้อมด้วย

ทุกคนรู้ ‘ของมันต้องมี’

ยิ่งเป็นประชากรชาว Gen Z (คนที่เกิดปี 2540 – 2555) ที่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย คุมโทนภาพในอินสตราแกรม ไถติ๊กตอก และเช็คข่าวในทวิตเตอร์ ทำให้การป้ายยาไอเท็มการแต่งตัว ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ กระเป๋า สร้อยคอ หรือแม้แต่เครื่องสำอางค์ เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกเขา 

ชอบก็กดไลค์ มองหาพิกัด แล้วกดซื้อ ถ้าไม่ชอบก็แค่ปัดทิ้งไป

แต่ถึงอย่างนั้น ชาว Gen Z กลับถูกเรียกว่าเป็น เจเนอเรชันแห่งความยั่งยืน (Sustainability Generation) หมายถึง พวกเขามักจะมองหาแบรนด์สินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน ซึ่งสวนทางกับพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าของพวกเขา

เสื้อผ้าหลายตัวจึงเลือกด้วยความชอบมากกว่าคุ้มค่า บางชุดซื้อเพื่องานแต่งของญาติคนนั้น บางตัวซื้อเพราะไปเที่ยวกับเพื่อนกลุ่มนี้ บางตัวซื้อเพราะเทศกาลนี้เท่านั้น การเสียเงินทุกครั้งมีเหตุผลรองรับเสมอ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชุดเหล่านั้นก็ยังแขวนอยู่ที่เดิม 

เสื้อผ้าบางชุดจึงกลายเป็นขยะ เพราะชุดมันเก่าไปแล้ว มันวิ่งตามยุคสมัยไม่ทัน

คำถามต่อมา คือ ถ้าคนรุ่นใหม่ก็ยังคงเกาะเทรนด์ที่มาใหม่ในทุกวัน แต่ก็ยังให้ความสำคัญเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งสองสิ่งนี้จะเดินไปด้วยกันได้ไหม

ชวนหาคำตอบในบทความนี้

รักพี่เสียดายน้อง เมื่อ Gen Z x Fast Fashion 

การเติบโตมาท่ามกลางปัญหาและสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมทั่วโลก เช่น ภาวะโลกร้อนหรือโรคระบาดอย่างโควิด 19 ที่มีการปิดประเทศและล็อคดาวน์ทำให้คน Gen Z ตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โดยเฉพาะโควิด 19 ที่เป็นตัวกระตุ้นให้พวกเขาเห็นว่าการผลิตและบริโภคน้อยลงนั้นส่งผลต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวของพวกเขา และยังทำให้คน Gen Z บริโภคหรือซื้อสินค้าอย่างมีสติมากขึ้น

ผลสำรวจจาก First Insight และ the Wharton School จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ระบุว่า พฤติกรรมการบริโภคสินค้าของ Gen Z  พวกเขามองว่าความยั่งยืนมีความสำคัญมากกว่าชื่อแบรนด์ แม้จะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 10% จากราคาสินค้าปกติก็ตาม

นอกจากนี้ผลสำรวจยังระบุเพิ่มเติมว่า คนเจเนอเรชันนี้  75% ยังต้องการให้คนงานและผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยระหว่างทำงาน หมายถึง มีความยุติธรรมในการทำงาน รวมถึงใช้วัสดุที่ไม่เป็นพิษและเป็นมิตรกับสุขภาพ

ถึงปากจะบอกรักความยั่งยืน แต่หลายๆ ครั้งคน Gen Z ก็ห้ามใจที่จะไม่ซื้อไม่ได้

เพราะว่าชาว Gen Z เชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ตลอดเวลา พวกเขาชอบติดตามเทรนด์ต่างๆ บนโซเชียล ซึ่งรวมถึงเทรนด์แฟชันและการแต่งตัว ทำให้คนเจเนอเรชันนี้เลือกซื้อเสื้อผ้าผ่านอินสตราแกรมหรือ Tiktok ซึ่งสวนทางกับพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าของชาว  BabyBoomers ที่ส่วนใหญ่จะซื้อจากห้างสรรพสินค้า

ผลวิจัย ‘Gen Z Fast Fashion Report’ ของ Thredup อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า 65% ของคนเจเนอเรชันนี้ต้องการซื้อสิ้นค้าที่มีความยั่งยืนและคุณภาพดี และ 1 ใน 3 ยอมรับว่า พวกเขาเสพติด Fast Fashion (แฟชันที่มาไวไปไวจนเกิดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม) มากกว่านั้น 4 ใน 5 ซื้อเสื้อผ้าเพียงครั้งเดียว

Malthe Overgaard และ Nikolas Rønholt นักวิจัยจาก Aarhus University ในเดนมาร์ก เผยแพร่ผลการศึกษาในปี 2020 เกี่ยวกับความขัดแย้งนี้ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “The Fast Fashion Paradox” ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยมากกว่าครึ่งเห็นด้วยหรือเห็นด้วยกับข้อความ “ฉันชอบ ฉันซื้อเลย” แม้สินค้านั้นจะไม่ใช่แบรนด์ที่มีเอกลักษณ์เรื่องความยั่งยืน

“ร้านที่ขายเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion มักจะขายราคาต่ำที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าที่อาจยอมที่จะซื้อแม้สินค้านั้นจะไม่ได้เล่าเรื่องความยั่งยืนหรือให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม”

เสื้อผ้ามือสองและการเช่าชุด ทางเลือกของคน Gen Z ที่ต้องวิ่งตามแฟชัน แต่ยังรักสิ่งแวดล้อม

แนวโน้มอุตสาหกรรมแฟชั่นภายในปี 2050 จะมีการใช้คาร์บอนประมาณ 26% และอาจทำให้เกิดน้ำเสียเพิ่มขึ้นอีก 20% และอาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2573

สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่คน Gen Z  รู้อยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ยังต้องเลือกระหว่างเทรนด์แฟชันที่สนใจและการห่วงใยสิ่งแวดล้อม

เคธี่ โรบินสัน นักเรียนวัย 24 ปีอธิบายวิธีการช็อปสินค้าของเธอไว้กับเว็บไซต์ insider ของสหรัฐอเมริกาไว้ว่า เธอชอบซื้อเสื้อผ้า แต่สถานะทางเศรษฐกิจก็ทำให้เธอต้องคิดก่อนซื้อ

“ด้วยวิกฤติค่าครองชีพ คนหนุ่มสาวมักมีหนี้สินจากการกู้เรียนและไม่มีงานทำ คุณก็ไม่สามารถเลือกสินค้าที่ดูมีความยั่งยืนและราคาแพงได้ แต่คุณสามารถซื้อสินค้ามือสองหรือจำนนอยู่ในกับดักของ Fast Fashion อย่างไม่มีทางเลือก” เคธี่เล่า

ข้อมูลจาก Depop แพลตฟอร์มการซื้อของมือสอง รายงานว่า ผู้ใช้ 90% อายุต่ำกว่า 26 ปี เช่นเดียวกับการใช้งานอินสตาแกรมที่ผู้ใช้สามารถดูแลโปรไฟล์ของตัวเองได้ และมากกว่านั้นมันสะดวกในการซื้อ

“เว็บไซต์ของมือสองอย่าง Depop ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะคน Gen Z ชอบการแต่งตัวแบบสตรีทและชอบสินค้ารุ่น limited มากขึ้น” รีอันนอน มิลส์  นักเขียนที่ The Future Laboratory บริษัทเกี่ยวกับการตลาดวิเคราะห์ไว้

ขณะเดียวกัน การเช่าชุดก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน Rent the Runway บริษัทสตาร์ทอัพของสหรัฐอเมริกาที่เปิดโอกาสให้สมาชิกเช่าชุดระดับ high-end ที่มีมูลค่ามากกว่าพันล้านดอลลาร์ 

“ฉันไม่ได้ปฏิเสธการเช่าชุด เพราะคิดว่าชุดที่ใช้ตามโอกาสหรือตลาดของการเช่าชุดหรูหรามีพื้นที่ของมันเอง”

แม่รี่คน Gen Z ที่เลือกชุดราคา 55 ดอลลาร์สำหรับงานพรอมที่จะใส่แค่งานนี้งานเดียวและคิดว่าคงไม่ได้ใส่มันอีก นั่นทำให้เธอรู้ว่าครั้งหน้าเธอจะเช่าชุด 100%

ในประเทศไทยที่ย่านใจกลางเมือง แหล่งรวมวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่อย่างสยามก็มีร้านขายเสื้อผ้ามือสองซ่อนตัวอยู่ ไม่ว่าจะเป็นร้าน Hangles และร้าน Frank Garcon ที่สยามสแควร์ ซอย 2 หรือร้าน SOS ที่เปิดโซน Cycle of SOS ในชั้น 4 ของร้าน หรือแม้แต่ตลาดมือสองชื่อดังอย่างตลาดปัฐวิกรณ์

นอกจากนี้ยังมีร้านเช่าชุดสำหรับงานพรอม งานแต่งงาน หรือชุดสำหรับโอกาสต่างๆ มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ร้าน Rentsheep ที่เริ่มเช่าชุดได้ในราคาหลักร้อย และเช่าเครื่องประดับในราคาหลักสิบ หรือร้าน Bchurunway ที่เปิดพื้นที่ให้เช่าและขายในราคาหลักร้อยถึงหลักพัน เป็นต้น

ถึงแม้ว่าชาว Gen Z จะต้องเลือก แต่การมีร้านเสื้อผ้ามือสองและร้านเช่าชุดสำหรับไปงาน มันคือการลดภาระค่าใช้จ่าย ไม่ตกเทรนด์ และรักษ์โลกไปพร้อมกันได้

ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง Fast Fashion

Fast Fashion คือ สินค้าแฟชันที่ผลิตออกมาด้วยความรวดเร็ว ราคาถูก และตอบโจทย์ผู้ซื้อ แต่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

ข้อมูลจากกรีนพีซ ประเทศไทยบอกว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอปล่อยก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์สูงสุดประมาณ 1.2 พันล้านตันในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่ารอยเท้าคาร์บอนของเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งรวมกัน

ขณะเดียวกัน ผ้าฝ้าย ชนิดผ้าที่ถูกใช้เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมนั้นกลับทำให้เกิดการใช้น้ำปริมาณ93 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เนื่องจากมีการใช้น้ำ 10,000 – 20,000 ลิตร ต่อการผลิตเสื้อผ้าเพียง 1 กิโลกรัม ซึ่งทำให้แหล่งน้ำในเอเชียกลาง จีน และอินเดีย เป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบสูง เพราะเป็นประเทศที่กำลังต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนน้ำซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้แฟชันที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วก็ทำให้ในประเทศอังกฤษ คณะกรรมการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (the Environmental Audit Committee) ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีเสื้อผ้าแฟชั่นร้อยละ 15 กลายเป็นขยะในขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต ก่อนที่จะนำไปวางจำหน่าย

จึงทำให้องค์กรด้านจัดการสิ่งทอชวรแบรนด์เสื้อผ้าหลายรายให้ปรับตัวในเรื่องกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการใช้น้ำ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการจัดการขยะ
แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องใช้เวลา และเราก็คงต้องรอดูกันต่อไป…

อ้างอิง