ว่ากันว่าที่นี่จะมีลิฟต์ตัวหนึ่งที่ตกเย็นเมื่อไร มันจะเปิด-ปิดเอง หรือขึ้น-ลงไปจอดตามชั้นต่างๆ ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเพราะอะไร…
หนึ่งใน ‘เรื่องผี’ สุดคลาสสิกที่เราอาจจะคุ้นชินกัน และเป็นเรื่องที่เรามักจะชอบอ่าน ชอบฟัง หรือดู แม้จะกลัวแสนกลัว แต่ความตื่นเต้นระหว่างรอว่าผีจะมาปรากฎในรูปแบบไหน หรือคนในเรื่องจะเอาตัวรอดยังไง เป็นความตื่นเต้นที่คุ้มค่าทำให้หลายคนติดใจฟังเรื่องผีมาตลอด
ผีผู้หญิงสวมชุดขาวผมยาวที่คอยปรากฎตัว บางครั้งก็ร้องไห้ อาจเป็นคาแรคเตอร์ผียอดนิยมที่เรามักพบเจอ ซึ่งก็มีการวิเคราะห์ว่า ผู้หญิงเป็นกลุ่มคนที่มักได้รับความรุนแรงมากที่สุด ไม่ว่าจะความรุนแรงในครอบครัว หรือจากความสัมพันธ์ บางคนเจอความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต การเป็นผีก็อาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งที่พวกเขาใช้ต่อสู้สังคม ทำให้มีพลังอำนาจจัดการบางอย่าง แล้วทำให้มองเห็นตัวตนพวกเขาที่เคยจางหายได้รับการมองเห็น
ทำให้ ณ วันนี้ผีหรือเรื่องเล่าอาจไม่ใช่แค่ความบันเทิง หรือเป็นเครื่องมือสั่งสอนพฤติกรรมคนอีกต่อไป แต่เป็นภาพสะท้อนของชีวิตคนบางกลุ่มในสังคมไทยที่เมื่อมีชีวิตอยู่กลับไม่มีตัวตน การเป็นผีจึงเป็นวิธีทวงคืนบางอย่าง และย้ำเตือนว่าพวกเขาก็ยังเป็น ‘คน’ ที่อาศัยในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะด้วยรูปลักษณ์แบบใดก็ตาม

จากผีชุดขาว ผีนางรำ สู่ผีแรงงานข้ามชาติ ผีชาวญี่ปุ่น
‘ผี’ ความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน เป็นสิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัวตน แต่อาจปรากฎเป็นสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นได้ อาจมาด้วยจุดประสงค์ดีและร้าย
ฉะนั้น ‘เรื่องผี’ ก็เป็นเรื่องเล่าสยองขวัญที่พูดถึงสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ผสมกับความเชื่อวัฒนธรรมในแต่ละสังคม เช่น ‘ผีปอบ’ ที่มักปรากฎตัวในเรื่องเล่าสยองขวัญแถบภาคอีสาน
แจ็ค – วัชรพล ฝึกใจดี ผู้ก่อตั้งและพิธีกรรายการ The Ghost Radio รายการยอดฮิตของคนที่ชอบฟังเรื่องผีๆ เล่าในรายการพอดแคสต์ Untitled Case ถึงลักษณะของผีในยุคก่อนที่มักจะเป็นแพนเทิร์นเดียวกัน เช่น เป็นผีผู้หญิงที่ผมยาว สวมใส่ชุดขาว หรือเป็นผีนางรำ ที่ปรากฎตัวร่ายรำให้คนดูสร้างความกลัว ด้วยแพนเทิร์นเหล่านี้ก็ทำให้คนรุ่นนี้ที่มีสกิลตั้งคำถามติดตัวมาตั้งแต่เกิดว่า ทำไมผีๆ เหล่านี้ถึงต้องมีลักษณะเช่นนี้
มีผู้ใช้งานคนหนึ่งในทวิตเตอร์ ให้ความเห็นถึงลักษณะของผีในภาพยนตร์ที่มักจะเป็นผู้หญิงที่ถูกกระทำบางอย่างจนถึงขั้นเสียชีวิต และเมื่อกลายเป็นผี พวกเธอจึงมาแก้แค้นด้วยการจัดการกับคนที่กระทำ หรือคนที่ไม่เกี่ยวข้องแต่พบเจอพวกเธอ ซึ่งถือเป็นวิธี ‘เอาคืน’ รูปแบบหนึ่งของผู้หญิงที่มีอำนาจน้อยในสังคม การเป็น ‘ผี’ ทำให้พวกเธอได้รับอำนาจบางอย่างที่ตอนมีชีวิตไม่ได้รับ
แจ๊ค เล่าถึง วิธีการเล่าเรื่องผีที่เปลี่ยนไป เรื่องผีแบบดั้งเดิมมักจะมีรูปแบบการเล่า 1 – 10 คือเริ่มจากว่าคนเล่าเป็นใคร ทำอะไร เกิดอะไรขึ้นกับเขา ก่อนจะค่อยๆ หาคำตอบ พบความจริง และปิดท้ายด้วยการแก้ไขปัญหา แต่เรื่องเล่าผียุคนี้ แจ็คให้ความเห็นว่า มีความเป็นภาพยนตร์ ใส่ลูกเล่นในการเล่าเรื่อง เช่น อาจจะเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์เจอผีหลอกเลย ก่อนจะค่อยๆ เล่าถอยหลังเพื่อหาคำตอบ

งานวิจัยเรื่องผีในสังคมไทยร่วมสมัย : บทบาทและการผสมผสานทางวัฒนธรรม โดย นลิน สินธุประมา ศึกษาการนำเสนอภาพลักษณ์ผีในยุคปัจจุบัน บอกว่า เรื่องเล่าผีในตอนนี้มีการผสมผสานตํานานร่วมสมัย (Contemporary Legend) เข้าไปด้วย
กล่าวคือ เรื่องเล่าจะไม่ใช่บริบทที่ห่างไกล เช่น ในท้องนา ในป่าลึก หรือสถานที่เฉพาะเจาะจง แต่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตคนปัจจุบัน เช่น โรงพยาบาล หอพัก บ้าน มหาวิทยาลัย เป็นต้น แล้วมักเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนที่มีวิถีชีวิตแบบคนเมือง อยู่ในเมือง มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนประกอบ เช่น เรื่องสยองขวัญในลิฟต์
และที่สำคัญ คนที่พบเจอมักเป็นคนทั่วๆ ไป ทำให้ยิ่งสร้างความใกล้ชิดกับคนฟังที่หลากหลาย ว่าเรื่องนี้ก็สามารถเกิดขึ้นกับพวกเขาได้ เพิ่ม ‘ความน่ากลัว’ และความตื่นเต้นตอนฟัง
นอกจากนี้ ผีในยุคนี้มักจะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เช่น เป็นผีชาวเมียนมาที่เป็นแรงงานข้ามชาติมาทำงานในไทย หรือเป็นผีชาวญี่ปุ่นที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในไทย เป็นต้น
ความน่าสนใจอีกอย่างที่งานวิจัยชิ้นนี้นำเสนอ คือ วิธีจัดการกับผี หากเป็นเรื่องเล่าเดิมมักจะใช้วิธีเด็ดขาด เช่น พระหรือหมอผีเป็นคนปราบผี วิธีปราบอาจจะใช้อุปกรณ์วิเศษ เช่น ข้าวสารเสก หรือถึงขั้นทำลายวิญญาณ ที่เป็นความเชื่อว่า จะทำให้คนคนนั้นไม่สามารถเข้าวงจรเวียนว่ายตายเกิดได้อีกต่อไป
แต่เรื่องเล่าผียุคนี้มักจะแก้ปัญหาด้วยการสื่อสารและการประนีประนอมกับผี เช่น พูดคุยกับผีเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้พวกเขายังคงติดอยู่ในภพภูมินี้ หรือที่เรียกว่า ‘มีบ่วง’ และช่วยแก้ไขจนพวกเขาสามารถหลุดพ้นได้
แต่ทั้งนี้ หน้าที่ของ ‘ผี’ หรือเรื่องเล่าเหล่านี้ ยังคงมีเครื่องมือหนึ่งในการเตือน หรือทำให้คนฟังปฎิบัติตัวอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีแบบที่สังคมกำหนดไว้ เช่น ถ้าฆ่าคนจะได้รับผลอะไรกลับมา หรือการไปสถานที่เปลี่ยนลำพังอาจเสี่ยงเจอกับเรื่องอันตราย
การฟังหรือดูหนังผี ไม่ได้เพื่อเพิ่มความตื่นเต้นให้ชีวิตเท่านั้น แต่ทำให้ผ่อนคลายนอนหลับได้ด้วย
การฟังเรื่องผีตอนนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แล้วมันก็เหมือนกับการฟังเพลง เพียงแค่ค้นหาเรื่องผีในแอปพลิเคชันต่างๆ ก็จะเจอช่องทางเล่าเรื่องผีให้เลือกฟังไม่รู้จบ ไม่ว่าจะรายการดั้งเดิมหรือที่เรียกว่าเป็นตำนานของรายการเล่าเรื่องผีอย่าง The Shock หรือรายการผีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตอนนี้ The Ghost Radio ก็ยังมีรายการเล่าเรื่องผีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น อังคารคลุมโปง คืนพุธมุดผ้าห่ม เป็นต้น

มีผู้ใช้โซเชียลหลายคนที่แชร์ในโลกออนไลน์ว่า พวกเขาชอบฟังเรื่องผี นอกจากจะติดใจการเสพเรื่องน่าขนลุกแล้ว พวกเขารู้สึกว่าการฟังเรื่องเหล่านี้ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย บางคนเปิดฟังก่อนนอนเพื่อให้หลับสบาย หรือที่เรียกว่า ASMR (Autonomous sensory meridian response การตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ เช่น ด้วยการฟัง ดู หรือสัมผัส แล้วทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี จิตใจสงบ)
มีบทความหนึ่งที่ชื่อว่า On the Psychology of Horror Movies โดย Mathias Clasen ไขความลับที่ว่าทำไมคนชอบฟังเรื่องผี ส่วนหนึ่งเพราะความตื่นเต้นที่ได้รับขณะติดตามเรื่องราว และการได้จำลองอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับที่ตัวละครเผชิญ เป็นการฝึกรับมือกับเหตุการณ์อันตรายแบบหนึ่ง ระหว่างที่ดูพวกเขาอาจจินตนาการต่อว่า ถ้าเป็นตัวเราเจอเรื่องนี้จะทำยังไงต่อ ถือเป็นการเตรียมพร้อมเนิ่นๆ ก็ว่าได้
แล้วเรื่องเล่าผีก็ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมบ้านเรา แต่เป็นวัฒนธรรมสากลที่ทั้งโลกต่างรักเรื่องผี ทำให้มันยังคงอยู่มาเรื่อยๆ ไม่มีวันตาย ไม่แน่ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าเรื่องเล่าผีอาจเปลี่ยนไป เพื่อสะท้อนภาพสังคมนั้นๆ ก็เป็นได้