สัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟฟ้า BTS MRT สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

‘สะพานควายแหล่งรับแลกเงิน ราชเทวีรวมสตรีทอาร์ต พระราม 9 นึกถึงบันนีเกิร์ล’ สำรวจกรุงเทพฯ ผ่านสายตาน.ศ.นิเทศศิลป์ปี 3  จากผลงานออกแบบสัญลักษณ์ BTS-MRT

ทางเลือกการเดินทางของคนเมือง ถ้าต้องการความเร็วแบบไม่ร้อนเหงื่อซึมหลัง ทางออก คือ การโดยสารรถไฟฟ้าที่เรียกสั้นๆ ว่า BTS หรือ MRT โดยต้องแลกกับราคาที่จ่ายมากกว่าการเดินทางในแบบอื่นๆ 

เมื่อราวๆ เดือนธันวาคมของปีที่แล้ว เพจ ShopSom มีการโพสต์ผลงานออกแบบตราสัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

สัญลักษณ์ประจำแต่ละสถานีของรถไฟฟ้า BTS และ MRT ถูกตีโจทย์ออกมาได้หลากหลาย ผลงานหลายชิ้นมีความสนุก และสวยงามต่างกันไป แม้จะเป็นเพียงผลงานเพื่อส่งอาจารย์ประจำวิชาเท่านั้น และยังไม่ถูกเผยแพร่ใช้งานจริง ผลงานแต่ละชิ้นในเพจก็มียอดแชร์หลักร้อยขึ้นไป ชวนให้คนมาร่วมดูผลงานพร้อมวิจารณ์ ผลงานของเขาๆ เหล่านี้น่าสนใจไม่น้อยกว่าศิลปินมืออาชีพ โดยเฉพาะความใหม่ที่ใส่ความสร้างสรรค์แบบฉบับคนรุ่นใหม่ ที่นับเป็นปุ๋ยชั้นดีต่อยอดอะไรใหม่ๆ แก่สังคม 

ไม่ใช่แค่ตัวชิ้นงานเพียงอย่างเดียว เบื้องหลังแนวคิดที่มาของการดีไซน์ต่างหากที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ในวันที่การเสิร์ชหาข้อมูล ‘คาเฟ่อร่อยย่านอารีย์’ ‘ร้านวิวสวยตามรถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ‘ห้างตามรถไฟใต้ดิน’ ล้นกูเกิล (Google)  แต่ แปลน – อาทิมา อินสระ เลือกที่จะใส่สัญลักษณ์ ‘ตั๋วเงิน’ ที่สถานี BTS สะพานควาย เจแปน – ณัชชา กุศลผลิน ใส่รูป ‘ทรงบ้าน’ ที่เธอบอกว่า นี่คือวังสวนผักกาดประจำ BTS สถานีพญาไท และ มายด์ – ชนิกานต์ อำไพธนากร เลือกหยิบเอาสัญลักษณ์ ‘บันนีเกิร์ล’ มาใช้กับ MRT สถานีพระราม 9 

ท่ามกลางอัตลักษณ์เมือง และชุมชนในกรุงเทพที่โดนกลืนไปเรื่อยๆ กลุ่มคน Gen Z คิดเห็นอย่างไร และงานดีไซน์ช่วยสังคมได้ยังไง ชวนคิดไปพร้อมกับบทสัมภาษณ์ของนักศึกษาปี 3 ทั้ง 3 คนนี้กัน 

สำรวจกรุงเทพฯ ผ่านสายตานศ.นิเทศศิลป์ ปี 3 

ผลงานที่ถูกหยิบมาพูด คือ ผลงานออกแบบตราสัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจแปนบอกว่า มันคือโจทย์ที่อาจารย์โยนมาให้ทำ โดยมีระยะเวลา 2 อาทิตย์ เพราะเทอมนี้มีวิชา Corporate Identity (CI) การออกแบบอัตลักษณ์องค์กร หรือแบรนด์ ซึ่งมีโจทย์ให้ออกแบบสัญลักษณ์สำหรับแทนสถานีรถไฟฟ้าแต่ละแห่ง โดยเน้นให้มีระบบ (System) เดียวกันทั้งชั้น เพื่อนหลายๆ คนก็จะดีไซน์ออกมาในลักษณะที่แตกต่างกัน

“เรื่องหลักๆ ของวิชานี้ คือ การมอง CI เป็น System เดียวกัน เหมือนมองเข้ามาในงานชิ้นนี้แล้ว ทั้งหมดดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้ดูแตกแยก หรือว่ามีเลย์เอาท์กราฟิกที่ดูแตกต่างสไตล์กัน สามารถดูแล้วรู้ว่า เฮ้ย! สิ่งนี้มันมาจาก branding นี้นะ ต่อให้เราจะไม่เคยเห็นงานชิ้นอื่นๆ มาก่อน”

ขั้นตอนการทำงาน (การบ้าน) สิ่งแรกที่นักศึกษาต้องทำเป็นอย่างแรก คือ ต้องหาคอนเซปต์ก่อน โดยมีจำกัด คือ ต้องห้ามซ้ำกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน หลังจากนั้นก็ต้องรีเสิร์ชว่า แต่ละย่านนั้นมีอะไร แล้วก็ดึงเอกลักษณ์แต่ละที่ออกมา

ภาพจำของแต่ละสถานี มีสิ่งอื่นน่าสนใจมากกว่าห้าง

เจแปน เริ่มต้นชิ้นงานของตัวเองด้วยการเห็นว่า อัตลักษณ์ที่ชัดของรถไฟฟ้า คือ เส้น 2 สีน้ำเงิน – แดงตัดกัน 

“ส่วนตัวชอบงานดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ เลยเลือกอัตลักษณ์เดิมของแบรนด์รถไฟฟ้า ที่มีโลโก้ที่เป็นเหมือนกับรถไฟฟ้า 2 สายซ้อนกันมาใช้ และดึงความเป็นรางคู่เข้ามาด้วย เลยเลือกใช้ลักษณะเส้น 2 สี เราเลือกออกแบบสัญลักษณ์สถานีรถไฟฟ้าสีเขียวอ่อน สายสุขุมวิท

“ไอเดียหลักๆ เลือกดูจากแผนที่ก่อนเลย พอได้คอนเซปต์คร่าวๆ เริ่มเปิด Google Map ดูว่า แต่ละสถานีมีอะไรใกล้ๆ บ้าง คิดว่าถ้าคนดูสัญลักษณ์ของเราแล้ว สามารถแวะไปตามแต่ละจุดได้”

เจแปนบอกว่า ส่วนมากถ้าพูดกันตามตรง รถไฟฟ้ามักจะจอดตามห้าง แต่เธอไม่อยากให้ไอคอนมันอิงตามห้างเป็นหลัก 

“เช่นตรงสถานีห้าแยกลาดพร้าว เราเลือกทำไอคอนที่มันไม่ใช่ห้าง ซึ่งกลายเป็นตัวบอลลูนแทน ที่สื่อถึงตลาดจ๊อดแฟร์ แดนเนรมิตร ซึ่งงานที่แชร์ผ่านเพจไป ก็เห็นคนมาคุยกันว่า สัญลักษณ์ตรงสถานีนี้คืออะไร เพราะคนก็ไม่ค่อยรู้ว่าห้าแยกฯ มันมีบอลลูนด้วย” 

หลังจากการสำรวจพื้นที่ผ่านแผนที่ก็ทำให้ได้ไอเดียหลากหลาย และยึดตามข้อมูลจริง ทำให้ในผลงานมีสถานีเสนาร่วม ทั้งๆ ที่สถานีนี้ยังไม่ได้มีการก่อสร้าง และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการก็ตาม ขณะที่สถานีหมอชิต เจแปนเลือกหยิบรูปนาฬิกามาเป็นสัญลักษณ์ 

“นาฬิกาที่อยู่ตรงทางเข้าสวน เพราะหนูคิดว่าหลายคนไปก็น่าจะเคยเห็นนาฬิกาอันใหญ่ๆ ด้านหน้า ก็เลยดึงมาใช้

“สถานีพญาไท ตอนดูแผนที่สถานีรถไฟมันใกล้กันมากๆ แล้วก็เลยเลือกไม่ถูก แต่เคยเดินไปแถวนั้นแล้วเจอสวนวังผักกาดที่วัยรุ่นชอบไปถ่ายรูป ถัดไปเป็นสถานีราชเทวี ก็ด้วยความที่เคยไปติวแถวนั้น จะเจอว่าศิลปินไปเพนต์สตรีทอาร์ทกันเยอะ ก็เลยกลายเป็นรูปทรงสเปรย์”

สัญลักษณ์ของแต่ละสถานี กำลังบอกถึงกิจกรรมที่คนทำในย่านนั้น 

ส่วนผลงานของแปลนเน้นการดึงกิจกรรมที่คนทำในย่านนั้น

“เลือกใช้คอนเซปต์ประมาณว่า You Are What You At เน้นตรงแอคชันของคน มารวมกับกิจกรรมที่จะทําได้ในย่านนั้น ของแปลนจะเน้นไปที่ความสนุกสนาน เพราะว่ารถไฟฟ้าสายสุขุมวิท มันเป็นสายที่ค่อนข้างยาวที่สุด เราคิดว่าพอคนขึ้นไปบนสถานีอาจจะเบื่อได้ ก็เลยคิดว่า ถ้าคนนั่งได้ดูไอคอนที่ให้ความรู้สึกสนุกสนานระหว่างนั่งรถไฟ ก็น่าจะดี แล้วก็เหมือนได้สังเกตว่า แต่ละย่านสามารถทํากิจกรรมอะไรได้บ้าง ก็เลยจับมารวมกันกลายเป็นผลงานชิ้นนี้” 

แปลนเริ่มต้นจากการถามคนรอบตัว และใช้ประสบการณ์ร่วมของตัวเอง หากใครมองว่า ย่านสะพานควายมีแต่ก๋วยเตี๋ยวเนื้ออร่อยๆ แต่แปลนกลับคุ้นชินกับการแลกเงินที่ย่านนี้ 

“อย่างของสะพานควาย มันเป็นความคุ้นชินจากการได้ยินคนที่บ้านพูดมา สมมติว่าเขาจะไปต่างประเทศ เขาก็บอกว่า เดี๋ยวไปแลกเงินที่สะพานควาย ซึ่งบริเวณนี้มีหลายร้าน จริงๆ ไม่ค่อยได้มาแถวสะพานควาย แต่ก็ได้ยินที่บ้านพูดกัน อีกอย่างพอได้รับโจทย์จากอาจารย์ ช่วงหาข้อมูลสถานที่ นอกจากการถามแม่ ก็ยังมีการหาบทความที่พูดถึงย่านนั้นๆ อ่าน เพราะการดูทีวี หรือดูในเฟซบุ๊กก็อาจจะมีข้อมูลที่มันไม่ชัดเจนพอ”

การอ่านข้อมูลเชิงท่องเที่ยวท้องถิ่น หรือนิตยสารทำให้ได้ไอเดียพื้นที่เยอะขึ้น เป็นข้อมูลที่ไม่ได้บอกแค่ว่า ในสถานีนั้นๆ มีคาเฟ่ใกล้เคียงอะไรบ้าง

“สถานีสนามเป้า พอดีไปอ่านเจอมาว่า นอกจากที่มันจะเป็นสถานที่เชิงสถาปัตยกรรมแล้ว คนยังไปชอบจัดงานวันเด็กด้วย หรืออย่างสถานีราชเทวี ถ้าค้นหาข้อมูลจะเจอแต่ร้านอาหาร แต่ว่าพอไปย้อนดูตามบทความก็เจอว่า ตรงนั้นเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านครัว ของคนมุสลิมที่มีการทอผ้า แล้วองค์กรต่างๆ ชอบจัดเวิร์กช็อปไปดูการทอผ้า ซึ่งตัวแปลนเองก็ไม่รู้ แล้วคิดว่าคนอื่นก็อาจจะไม่รู้อีกเยอะ” 

พะราม9 คือ แหล่งราตรีตั้งแต่รุ่นแม่ 

มายด์เลือกทำผลงานรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน 

“ประมาณว่าถ้าเราพูดถึงสถานีนี้ จะนึกถึงอะไรเป็นหลัก ซึ่งอย่างแรกที่คิดในหัว คือ วางเป็นตัวสัตว์ เพราะว่าด้วยความที่มันเป็นเหมือนไอคอนเล็กๆ ก็เลยอยากให้มันเป็นรูปที่แบบว่า เออ เห็นเล็กๆ ก็รู้ว่าอะไร ไม่ซับซ้อน คนเข้าใจได้ง่าย”

การใช้รูปสัตว์สะท้อนแต่ละพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับมายด์ที่ออกตัวว่า ไม่ค่อยได้ไปเที่ยวที่ไหนเยอะด้วย 

“อย่างสถานที่ที่เลือกมาก็มีหลายที่ๆ ไม่เคยไป เราเลยเน้นถามพ่อแม่ หรือคนที่บ้านมากกว่า อย่างเช่นสถานีพระราม 9 ไปถามคุณแม่มาเขาบอกว่า สมัยแม่สาวๆ ที่นี่เป็นย่านแหล่งบันเทิง ก็เลยทำเป็นไอคอนกระต่าย เพราะเมื่อนึกถึงสถานบันเทิงก็นึกถึงบันนีเกิร์ล” 

“สถานีอื่นๆ ก็ออกแบบตามที่เราเข้าใจ ส่วนสถานีเพชรบุรีมีที่มา คือ ตอนไปค้นข้อมูลพบว่า ที่นี่มีพวกโรงเรียนเยอะมาก ทั้งมศว (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) โรงเรียนมัธยมต่างๆ ก็เลยทําเป็นไอคอนเกี่ยวกับการศึกษา นึกถึงนกฮูกที่มันชอบถูกใช้เป็นตัวแทนของการเรียน”

“สถานีสุขุมวิททำสัญลักษณ์เป็นแมวกวัก เพราะว่าย่านนี้มีชาวต่างชาติอยู่เยอะโดยเฉพาะคนญี่ปุ่น สถานีศูนย์สิริกิติ์ก็ทำเป็นหนอนหนังสือ สถานีคลองเตยทำเป็นหมา 3 ตัวอยู่ในบ้าน ด้วยความที่หมาเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของหลายๆ บ้าน ทุกชุมชนก็จะมีน้องหมา ก็เลยทําเป็นเหมือนตัวแทนของการอยู่ด้วยกัน”

ย่านไหนที่ครองใจ

ผลงานที่หยิบมาเล่าล้วนแต่เป็นผลงานที่เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนเท่านั้น แต่การค้นหาข้อมูลก็ต้องมาพร้อมกับงานออกแบบ เมื่อโยนโจทย์ให้ทั้ง 3 คนตอบว่า อัตลักษณ์พื้นที่ไหนที่ชอบที่สุด ทั้ง 3 คนไม่ได้มีคำตอบว่าสยาม สามย่าน หรือที่อื่นๆ ในลิสต์ยอดฮิต 

สำหรับแปลนย่านที่เคยไปแล้วติดใจ คือ ย่านตลาดน้อย “มันมีความวาไรตี้เยอะ ทั้งความโมเดิร์น มีแกลเลอรีศิลปะ เป็นที่ตั้งของชุมชนคนจีน ในขณะเดียวกันก็มีโบสถ์ของชาวคาทอลิก รู้สึกว่าย่านนั้นมีหลายอย่าง แต่มันกลมกลืนดี” 

ในมุมของเจแปน คือ ย่านหัวตะเข้ “เพราะเป็นที่ที่พวกหนูเที่ยวบ่อยสุดแล้ว ส่วนตัวชอบหัวตะเข้ เพราะมีตลาดน้ำ มีกิจกรรมให้ทำหลากหลาย อย่างวาดรูป พายเรือ มีคาเฟ่ ร้านอาหาร ค่อนข้างหลากหลายในสถานที่เล็กๆ มันสามารถบ่งบอกถึงความเป็นอยู่ของชุมชนแถวนี้ได้ด้วย” 

แต่ก็มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้หัวตะเข้ไม่แมส ในมุมของเจแปน 

“การเดินทางด้วยรถไฟโดยสาร เพราะมันสะดวกสบายที่สุด ปัจจุบันเราเองก็ใช้ชีวิตอยู่ที่หอใกล้มหา’ลัย บรรยากาศแถวนี้อาจจะไม่ได้ชวนให้ออกไปเที่ยวมากเท่าไหร่ เพราะว่าเคยไปออกไปเที่ยวในเมืองดึกๆ แล้วต้องพึ่งแท็กซี่ที่ค่อนข้างจะหายาก แถมแพง  รอบรถไฟก็หมดเร็วประมาณ 6 โมงเย็น เลยคิดว่าถ้าเขาพัฒนาเหมือนแบบอาจจะมีพวกแบบ Shutter Bus แบบจุฬาฯ ให้เด็กนักศึกษาอาจจะสะดวกมากขึ้น” 

การพัฒนาพื้นที่ ซึ่งคงอยู่ของอัตลักษณ์พื้นที่ต่างๆ ในมุมของคน Gen Z 

บางย่านกำลังหายไป บางพื้นที่กำลังถูกกลืน มีนักวิชาการ และการตั้งคำถามในสื่อโซเชียลหลายครั้ง ถึงการรักษาอัตลักษณ์พื้นที่สำคัญเอาไว้ โดยไม่ถูกแผนพัฒนาต่างๆ กดทับ หากถามว่า ทุกวันนี้ย่านห้วยขวางมีอะไรนอกจากร้านขายอาหารจีน น้อยคนที่จะตอบได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับภาพจำใหม่ไปแล้ว 

เจแปนมองว่า การที่ย่านถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือว่าการเปลี่ยนแปลงบางจุด มันก็อาจเป็นการพัฒนาในด้านที่ดี แต่ก็คิดเหมือนกันว่า ถ้าจะปรับอะไรสักอย่าง ควรที่จะจัดการอย่างถูกต้อง เจแปนยกตัวอย่างรถเข็นขายอาหาร ถ้าพูดกันตามตรงประเทศไทยค่อนข้างโดดเด่นเรื่องสตรีทฟู้ด แต่ว่าคนในประเทศเองส่วนมากก็จะขายบนรถเข็นข้างทาง มันอาจสร้างความลำบากให้คนสัญจร หรือส่วนมากก็มักจะโดนไล่ที่ 

“ถ้าเกิดอยากจัดการให้ถูกต้อง ก็ควรมีสถานที่ที่ย้ายเขาไปอยู่ด้วย ไม่ใช่ไล่ออกไปเฉยๆ แล้วคนเราจะทํามาหากินยังไงต่อค เราคิดว่าภาครัฐควรดูแลเรื่องการอยู่อาศัยของคนในพื้นที่ ก่อนที่จะพัฒนาอะไร อย่างเช่นถ้าอยากสวนสาธารณะ ก็อาจจะ เออ มีพื้นที่ตรงนี้สําหรับให้คนในชุมชนทํามาหากินด้วย วางไปเลยตั้งแต่ออกแบบพื้นที่แรกๆ” 

เหมือนกันกับแปลนที่มองว่า การพัฒนาพื้นที่เป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องรอบคอบ  “การพัฒนาพื้นที่ให้อารมณ์คล้ายๆ การรีแบรนด์ดิ้งเหมือนนะ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ ถ้าจะไม่ให้มีปัญหา รัฐอาจต้องวางแพลนให้กับคนในพื้นที่ด้วยว่า เขาควรจะย้ายไปอยู่ตรงไหน หรือสร้างอาชีพให้เขาด้วย มันก็จะได้แบบแฟร์ทั้งสองฝ่าย เพราะอย่าลืมว่าเขาก็อยู่ตรงนั้นมาก่อนที่เราจะต้องไปพัฒนาอะไร ก็คงต้องหาทางออกร่วมกันในอะไรในแนวนี้”