“ลุยไปเลย เจ็บให้เต็มที่ เดี๋ยวอ่อนแอเสร็จเราจะเข้มแข็งเอง” ไม่ใช่นักร้อง แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัย  : แพท วง Klear

หลายคนรู้จัก ‘แพท’ รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย หรือ แพทเคลียร์ (PatKlear) ในฐานะนักร้องนำหญิงที่พูดถึงความรักพังๆ เพื่อปลอบใจคนอกหัก

แต่อีกบทบาทหนึ่งที่ควบรวมกับชีวิตสายดนตรีของแพท คือ การเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’

พื้นที่ปลอดภัยสำหรับตัวเอง และ พื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนอื่น 

ในบทบาทการเป็นนักร้อง หน้าที่ของเธอจึงไม่ใช่แค่คนมอบเสียงเพลงอย่างเดียว แต่เป็นเพื่อนของแฟนเพลงที่จะนั่งลงข้างๆ รับฟัง และเปิดพื้นที่ให้พวกเขายอมรับทุกความรู้สึกและปลดปล่อยทุกอารมณ์ด้วยความจริงใจต่อตัวเอง

จึงทำให้เกิด Cloud of thoughts พื้นที่แบ่งปันแรงบันดาลใจและพลังบวกสำหรับทุกคนที่แพทสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนกล้าอ่อนแอและเผยความเปราะบางในใจออกมา

เพราะไม่ว่าเราจะเจอรู้สึกอะไรก็ตาม แพทบอกว่าเราต้องปล่อยให้เตัวเองผชิญหน้ากับความรู้สึกนั้น  ปล่อยให้ตัวเองโกรธ อิจฉา หรือเสียใจ  แล้วเมื่อถึงวันนั้น เราจะกลับมารักตัวเอง

แต่เราจะยอมรับทุกความรู้สึกได้นั้นมันยาก หากสังคมทุกวันนี้ยังไม่อนุญาตให้เราสัมผัสถึงความเปราะบางในใจของตัวเอง

แพท – รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย

จุดเริ่มต้นของ Cloud of thoughts มาจากอะไร

ช่วง 2-3 ปีก่อน ทุกคนทุกข์และเครียดหมด สังเกตจากเวลาแพทโพสต์ถามว่า เป็นไงบ้าง ในเพจหรืออินสตราแกรมของเรา บางทีคอมเมนต์เป็นพัน หรือ inbox มาปรึกษา แต่พอมานั่งคุยกันทำให้เห็นว่า ถึงเรื่องมันจะเครียด แต่อย่างน้อยกูก็ยังมีมึงอยู่ข้างๆ อย่างน้อยหันมาก็ยังเจอเพื่อน ก็เลยรู้สึกว่าอันนี้อาจจะช่วยในเชิงนั้นได้ ส่วนมากจะเป็นเรื่องที่เขาไม่อยากเล่าให้คนในครอบครัวฟัง หรือแม้แต่เพื่อน เดี๋ยวเพื่อนก็จะรู้สึกว่า มึงเรื่องเดิมอีกละ แล้ว Cloud of thoughts ก็เลยตอบตรงนี้

แล้ว จริงๆ แพทเป็นคนชอบเขียน ชอบอ่านหนังสือ คิดว่าถ้าเรามีช่องทางที่ไม่ใช่แพทเคลียร์ (PatKlear) เพราะ PatKlear มันเป็นบุคคล มี specific section ของมันประมาณหนึ่ง ก็เลยรู้สึกว่า อยากให้เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคล มีความคิดอะไรลอยมาก็โพสต์ลงในอินสตราแกรม เฟสบุ๊กเพจ แล้วก็ไลน์แอด (Line Official Account) ทำกราฟิกเองด้วย ทำทุกอย่างเองหมดเลย (หัวเราะ) 

ตอบเองด้วยไหม

เวลาตอบกลับทุกคนก็รู้นะว่าแพทตอบเอง แต่เราทำไว้เผื่อให้มันเติบโตไปจากเราแค่คนเดียว เราเผื่อว่าถ้ามีใครอยากทำ มาช่วยกัน เพราะบางเรื่องเราก็รู้สึกว่ามันก็เกินความสามารถที่เราจะตอบ เราก็เลยคิดว่าถ้ามีนักจิตวิทยาหรือใครที่สามารถส่งเคสต่อได้ เราก็อยากให้มันไปต่อและกระจายออกไป

แพทมีหลักการ หรือเราต้องไปเรียนวิธีตอบกลับ หรือการสื่อสารกับคนที่เขามาหาเราด้วยไหม  

จริงๆ มีอะไรหลายๆ อย่างที่เราทำอยู่แล้ว มันดันเหมือนเตรียมเราไว้สำหรับการทำสิ่งนี้โดยที่เราก็ไม่รู้ตัว แพทอ่านหนังสือจิตวิทยาค่อนข้างเยอะ แล้วก็ชอบเรื่องการดูแลใจคน เพราะก่อนหน้านี้ที่แฟนเพลงร้องไห้ เครียด เขาส่งข้อความมาหาเราเยอะ บางคนจะฆ่าตัวตาย เศร้าหนักมากๆ จนเราก็ต้องไปหาพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เป็นนักจิตวิทยา ที่ปรึกษาของเราว่าต้องตอบยังไงให้มันโอเค หรือไปปรึกษาจิตแพทย์ตอนทำเพลง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของวง Klear ว่า ถ้าเราจะทำเพลงให้คนที่เป็นซึมเศร้าฟัง แล้วเขารู้สึกโอเคต้องทำยังไง ก็เหมือนเทรนเราประมาณหนึ่ง

ซึ่งหลักการมันง่ายมาก ถ้าเพื่อนเดินลงไปในหลุม อย่าตะโกนบอกเพื่อนว่าแสงอยู่บนนี้ ขึ้นมาดิ ทำไมมึงไม่เห็นวะ แต่เราต้องหย่อนบันไดแล้วเดินลงไปนั่งข้างๆ เขา เขาจะร้องไห้ปล่อยเขาร้อง เขาอยากพูดปล่อยเขาพูด คำพูดของคุณไม่สำคัญเมื่ออยู่ในหลุมนั้น 

วิธีการตอบคนในไลน์แอดก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน ส่วนมากเป็นการให้กำลังใจ เพราะเขาน่าจะสู้มาเยอะแล้ว เขาทำมาดีมากแล้ว เราก็บอกเขาไปว่าไม่เป็นไร อ่อนแอได้ เดี๋ยวอ่อนแอเสร็จมันก็อยากขึ้นไปเอง 

หลักการนี้มันเลยทำให้เกิดคลิปไวรัลโทร.หาแฟนเก่า ลงไปกอด ปลอบใจคนอกหักด้วยไหม

ใช่ๆ จุดเริ่มต้นเลย คือ เพลงคำยินดี โทร.หาแฟนเก่ากัน เรารู้สึกว่าเขาเปิดใจ ต้องการพื้นที่ที่จะอ่อนแอ เหมือนเราก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์บางอย่างว่า it’s ok ที่เขาจะร้องไห้ตรงนี้ ไม่เป็นไร ทุกวันนี้ก็ยังร้องไห้อยู่ ยังมีคนมาหาเรา เวลาไปร้องเพลง ก็มีคนยืนร้องไห้อยู่หน้าเวที

แพทสนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว หรือเพิ่งมาสนใจตอนที่เราทำงานเป็นนักร้อง 

สองอย่างคู่กันเลย พอเป็นนักร้องเรารู้สึกว่า เราต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองพูด ถ้าเราพูดแล้วเขาแย่ลง มันไม่ได้ เพราะเรากำลังไปก้าวก่ายหน้าที่ของ therapist นะ หมายถึง ถ้าเขามาปรึกษาแล้ว เราตอบมั่วๆ เรากำลังไปก้าวก่ายสาขาวิชาที่เราไม่รู้เรื่อง แล้วเราทำผิด เราว่าอันนี้มันก็บาปเหมือนกัน ไปทำชีวิตใครแย่ลง 

และอีกส่วนหนึ่ง แพทเป็นคนชอบขุดคุ้ยปมชีวิตตัวเองอยู่แล้ว ไม่ชอบติดค้าง คือ ถ้าดำเนินชีวิตไปแล้วเจอเรื่องที่ติดใจงัดไม่ออกสักทีก็ต้องไปขุด ไม่ว่าด้วยวิธีอะไรก็ตาม ไปพบ therapist จะเป็นแนวให้เราพูดถึงอดีตที่กระทบมาถึงเราในปัจจุบัน อ่านหนังสือ หรือนั่งสมาธิ เรานั่งสมาธิเพื่อเข้าใจว่าจริงๆ อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเราคืออะไร จะเป็นคนไม่ค่อยหนีอารมณ์ โกรธก็รู้สึกว่าตัวเองโกรธ เราไม่ได้แสดงออกไป แต่ยอมรับ ไม่กดไว้ 

พอกลับไปขุดชีวิตตัวเอง จะทำให้เห็นว่าอะไรที่ทำให้สิ่งนี้มัน trigger เรา หรือถ้าสมมติเรามี reaction เป็นพิเศษกับประเด็นประมาณนี้ แสดงว่า เราเคยมีอะไรในชีวิตที่มันมา trigger เรา พอกลับไปแก้มันก็หาย พอเป็นคนชอบขุดก็เรียนกับ อ่านหนังสือเกี่ยวกับ self improvement จิตวิทยาของตัวเองเยอะ

ความสามารถที่จะขุดไปหาปมของเราแบบมีขั้นตอนนี้ มันมาตั้งแต่ตอนไหน ตอนเด็กหรือว่าเพิ่งมาเรียนรู้ตอนโต

จริงๆ แพทรู้ว่าตัวเองเป็นคนค่อนข้าง deep ในอารมณ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่สมัยก่อนมันมีวิธีปล่อย คือ การเขียนเพลงนี่แหละ มันเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ที่ intense มากๆ ในทางที่ healthy แต่พออายุเกิน 30 ก็เริ่มรู้สึกว่า อารมณ์เหล่านั้นมันไม่ได้ healthy กับเราเสมอไป ต่อให้มีที่ปล่อย แต่เราก็ยังรู้สึกว่ามันเหนื่อยจัง พอรู้สึกและไม่เข้าใจก็เลยเริ่มศึกษาเรื่อง consult เพื่อหาทางให้ตัวเองเข้าใจและอยู่กับมันได้อย่างดี

แล้วได้ผลสรุปว่า มันคือการที่เราไม่กด ไม่บีบ อารมณ์ตัวเองไว้ เพราะมุมหนึ่งมันคือ ความทุกข์ (grief)  ที่เราได้รับมา การที่เรามีกราฟอารมณ์แบบนี้หรือรู้สึกถึงอารมณ์ลึกๆ มันก็เป็น grief ที่ทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้ว่า ฉันรู้ว่าเธอรู้สึกยังไง ทำให้แพทเขียนเพลงแล้วก็ถ่ายทอดมันออกมาได้ก็เลยมองว่า มุมหนึ่งมันคือทุกข์ แต่ก็ต้องหาวิธีที่จะดูแลตัวเอง เพราะเราอยากจะอยู่แบบมีความสุข

ความยากของการกลับไปเจอปมของเราคืออะไร และรับมืออย่างไร

มันก็มีช่วงที่ยากเหมือนกัน ช่วงที่เราไม่อยากโดดลงไปจมกับอารมณ์อะไรเลย ดึงตัวเองออกมา แล้วดึงได้ ก็จะเป็นช่วงที่เขียนเพลงแล้วไม่ค่อยอิน หมายถึงเขียนเพลงแล้วไม่ค่อยดัง (หัวเราะ) เขียนเพลงเหมือนคิดได้เกินไปว่า เราควรรู้สึกยังไง เพราะเรารู้สึกว่าไม่อยากไปแตะ เหนื่อย แต่พอพ้นจุดนั้นมาได้ แพทก็ไปหาพระ ท่านรู้ว่าเราต้องทำงานทางนี้ก็บอกว่าดีแล้ว เรากำลังช่วยคนในแบบของเราเหมือนกัน แต่ให้แพทไปต่อ ไปต่อให้ถึงจุดที่เรารู้ว่ามันสกปรก รู้ว่ามันเลอะ ไปให้ถึงจุดที่มันเลอะ ขึ้นมาแล้วเราจะหาย

ตอนแรกแพทก็ไม่เข้าใจ ลงไปมันก็เหม็น มันเครียด มันเศร้า มันจะขึ้นมาได้ยังไง ท่านก็บอกว่า ให้ลองดูว่าเราจะทำแบบนั้นได้ไหม ลงไปอยู่กับความรู้สึกให้เต็มที่ แต่ว่ามีเพื่อนเป็นสติอยู่ข้างๆ ว่า ฉันกำลังเศร้า เหมือนหลุมของเพื่อนที่เล่าเมื่อกี้แต่คนที่เดินลงไปในหลุมคือเราเอง และอีกคนหนึ่งที่อยู่ข้างๆ บอกว่า โอเค เศร้าอยู่นะ ไม่เป็นไร เครียดอยู่นะ ไม่เป็นไร เครียดไปเลย เกลียดอยู่นะ เกลียด แล้วยังไงต่อ 

เราเล่าอย่างจริงใจมากๆ เราเคยเมา เอาขวดไวน์ไปนั่งหน้าบ้านผู้ชายเราก็ทำมาแล้ว ร้องไห้ตีสามตีสี่ก็ทำมาแล้ว ยุงแม่งกัด สุดท้ายนั่นแหละทำให้เราคิดได้ เออ แบบแม่งยุ่งกัด แล้วมันก็ไม่สนใจ ก็คิดได้ ขับรถกลับบ้าน

แล้วแนวคิดนี้ถูกนำไปใช้ในการทำงานของแพทไหม ทั้งการเป็นพื้นที่ปลอดภัยใน Cloud of thoughts หรือการเป็นนักร้องบนเวที 

มีคนเคยสอนแพทว่า ให้เราทำตัวเหมือนฟองน้ำ ลงไปซับน้ำเขาแล้วบีบออกให้เป็น แรกๆ ก็ทำไม่ได้ กลับมาร้องไห้เรื่องคนอื่น กลายเป็นว่า เรารับได้แค่นี้ รับเรื่องที่หนึ่ง สอง สาม ก็ไม่ไหวแล้ว คนนี้จะฆ่าตัวตาย คนนั้นพ่อแม่ทะเลาะกัน แล้วก็เครียดว่าเราทำอะไรให้เขาไม่ได้ 

แต่สุดท้ายก็มาคิดได้ว่า การบีบน้ำออก หมายถึง เวลาเราช่วยหรือไปเสือกเรื่องคนอื่นมันจบตรงที่เราช่วยแล้ว เพราะจริงๆ หลังจากช่วยเสร็จมันเป็นความเอาแต่ใจและอยากได้ดั่งใจของเรา  เหมือนเวลาเพื่อนมาปรึกษาแล้วเราหงุดหงิดบอกว่า ทำไมมึงทำไม่ได้สักที สุดท้ายก็ต้องค่อยๆ กลับมาคิดว่าที่เรารู้สึกแบบนั้น จริงๆ เราอยากช่วยเพื่อนหรืออยากได้ดั่งใจกันแน่ พอคิดได้หลังๆ เราก็โอเคจบตรงที่ช่วยเสร็จ จบแค่นั้น

ตอนนี้แพทอายุ 39 รู้สึกว่าบางอย่าง เราเล่าในฐานะคนที่ผ่านมาแล้ว เพราะพูดไปก็ไม่ฟัง เพราะตอนนั้นเราก็ไม่ฟัง แต่จะบอกไปเลยว่า ลุยไปเลย ไปเจ็บเลย เอาเลย เต็มที่ อยากจะเป็นยังไงก็เป็น

แสดงว่าบทบาทนักร้องที่ทำอยู่ก็สัมพันธ์กับการเป็นนักบำบัดหรือนักจิตวิทยาด้วยไหม 

ตอนนี้มันรวมกันแล้ว ถ้าใครไปดูคอนเสิร์ตวง Klear จะเข้าใจว่า มันจะกึ่งๆ รวมๆ กัน แต่บนเวทีก็ไม่ได้พูดในเชิงนักจิตบำบัดเยอะขนาดนั้น เพราะล่าสุดคุยพี่ที่ทำงานกระทรวงสาธารณสุข เขาบอกว่าจริงๆ แพทใช้วิธีของนักจิตวิทยาแล้ว

เพราะกราฟของโชว์มันจะเปิดโชว์มาสดใส ต้อนรับ พาทุกคนสนุก แล้วจะมีกราฟเข้าสู่ช่วงเพลงเศร้า เสร็จแล้วสนุกปิดท้าย ตอนเพลงเศร้าจะมีเพลงสิ่งของซึ่งเป็นจุดพีคของโชว์ ก่อนเริ่มเพลงแพทจะพูดเรื่องดีๆ เรื่องการรักตัวเอง ให้อภัยตัวเอง ลองไปยืนหน้ากระจก บอกตัวเองในกระจก เพราะแพทคิดว่า ต่อให้คนนี้เมาหรือไม่เมา สภาพไหน หรือสติไม่อยู่ก็ตาม จิตใต้สำนึก (subconscious) เราทำงาน 95% และรับ เหมือนโดนสะกดจิต (hypnotize) จะเบลอๆ เริ่มอิน ซึ่งพี่คนนั้นก็บอกว่า นี่เป็นวิธีของนักจิตวิทยาเลย คือ สะกดจิต แล้วก็ seed เข้าไป แล้วมันก็ได้ผล 

อะไรคือจุดร่วมที่ทำให้เพลง ‘สิ่งของ’ สามารถทำให้คนรู้สึกอินมากกว่าเพลงอื่นๆ  

มันเป็นโชว์ เราก็ลองพูด สมัยก่อนเราคิดว่าการอกหักมันเป็นจุดร่วม แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เรื่องการรักตัวเองเป็นจุดร่วมของทุกคน เพราะเดี๋ยวนี้คนอกหักแล้วอยากจะ move on ได้เร็ว กลายเป็นว่าคนมาโฟกัสตัวเองเยอะขึ้น โฟกัสเรื่องสุขภาพจิต เรื่องการดูแลใจตัวเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน 

แล้วเพลงสิ่งของมันก็ค่อนข้างเหมาะสมว่า การโดนทิ้งขว้างและหยิบขึ้นมาจากพื้น จริงๆ มันไม่ต้องเป็นใคร ต่อให้เขาทิ้งขว้างเรา มันก็เป็นมือเราเองที่ต้องพาตัวเราลุกขึ้นมา ก็เลยอาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างรีเลทกับคนอกหักและคนทั่วไปที่สู้ชีวิตในแบบตัวเองอยู่ 

เราเคยอ่านข้อความที่เขียนประมาณว่า everyone’s fighting their own battles no one knows about ที่ที่ไม่มีใครรู้ ทุกคนกำลังต่อสู้กับ battle ของตัวเองที่ไม่มีใครรู้ ก็รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นจุดนี้ที่โดน

การเล่นคอนเสิร์ตเหมือนเป็นศิลปะเลย ทั้งการจัดวาง ไม่ใช่แค่เนื้อหา แต่การ transition เพลง เพื่อให้คนมีประสบการณ์ร่วม แสดงว่าเพลงก็เหมือนเป็นเครื่องมือบำบัดของเราไหม

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่จริงๆ เมื่อก่อน ไม่กล้าพูดเรื่องการรักตัวเอง เพราะเข้าใจว่าคนมาดูเพราะเขาอกหัก อยากมาฟังเรื่องอกหัก เรื่องการ move on เรารู้สึกว่าการพูดเรื่องรักตัวเองมันหนักไปมั้ยวะ เขาจะรู้สึกเหมือนเราเป็นไลฟ์โค้ชมั้ยวะ (หัวเราะ) 

แต่หลังๆ พอลองพูด แล้วกลายเป็นว่า เหมือนไม่มีใครพูด ไม่ค่อยมีใครมาบอก หรือบอกตัวเองว่า มึงเก่งมาก มึงอ่อนแอได้นะเว้ย กลายเป็นว่าคนสมัยนี้ เขาต้องการสิ่งนี้แหละ ทำให้บางทีพูดเรื่องอกหักไม่อิน ไม่ deep ไม่เฮ เท่าการรักตัวเอง หรือเคยกอดเพื่อนข้างๆ บ้างหรือเปล่าว่า มึงอยู่กับกูตลอด กูเป็นยังไง ทำดีทำร้าย มึงอยู่กับกู เราเห็นคนกอด แล้วก็ร้องไห้กัน มันเป็นมิติใหม่สำหรับเราเหมือนกันว่า ตอนนี้คนก็ move beyond มากกว่าเรื่องเพลงอกหักไปแล้ว

หลายคนไม่กล้ากลับไปขุดอดีต อยาก move on เร็ว ในสังคมตอนนี้เราจำเป็นต้องทำแบบนั้นไหม 

อันนี้เป็นเรื่องที่เราไม่ได้พูดออกไป เราไม่เห็นด้วยกับการที่รีบ move on แต่เราคิดว่ามันเป็น emotional evolution ที่ดีมากแล้ว เหมือนวิวัฒนาการขั้นที่หนึ่งจากลิงเป็นมนุษย์ สำหรับสังคมไทยสมัยก่อนจะดราม่าหนักมาก ร้องไห้แล้วก็จมกับความรู้สึกนั้น จนวันหนึ่งเขาขยับไปอีกด้านหนึ่ง ชั้นจะไม่ดราม่า จะ move on เลย มีคนใหม่ทันที

เราว่ามันต้องค่อยๆ แล้วสเต็ปต่อไป ไม่รู้อีกกี่ปีที่สังคมไทยจะย่อยอารมณ์ตัวเองก่อน จะร้องไห้ก็ร้อง อย่าเพิ่งรีบ แพทว่ามันอาจจะซับซ้อนไปนิดหนึ่ง สำหรับการพูดหรือถ่ายทอดออกไป แต่คิดว่าสักวันในอนาคตจะพูดเรื่องนี้

เราจำเป็นต้องเรียนรู้อารมณ์ตัวเองก่อน แพทมองว่าการรักตัวเอง พัฒนาตัวเอง ก่อนจะ move on ต่อสำคัญอย่างไรในปัจจุบัน 

มันจะลดรอยร้าวทุกจุดเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัวหรือเพื่อน เพราะมันเป็นเรื่องตัวตน ความที่เราไม่อยากจะเป็นคนไม่ดี  เพราะสังคมที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ มักมีสิ่งที่ทำให้เรามาถมแผลตัวเองได้เยอะมาก เปิดมือถือก็มีแล้ว เปิดติ๊กตอก ดูคลิป ดูหนัง ดูซีรีส์ ฟังเพลง ออกไปเที่ยว ออกไปกินเหล้ากับเพื่อน มันคือการลบแผลไปก่อนไม่ให้เศร้า แล้วมันจะไม่รู้สึกอะไร 

แต่สุดท้าย แพทก็ไม่กล้าพูดว่าการขุดเป็นทางที่ดีที่สุด เพราะมันเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับแพท เพราะแพทรู้สึกว่าชีวิตมันเบา และไม่มีอะไรทำร้ายเราได้ แต่ก็ไม่กล้าบอกว่าทุกคนต้องเดินตามทางนี้ เพราะรูปแบบในการดีลกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตของแต่ละคน เขาต้องตัดสินใจเอง

การที่เรากลับมาทบทวนความรู้สึกตัวเอง มันส่งผลกับแพทในวันนี้อย่างไร

ก็คงทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น กับสิ่งที่คนอื่นทำ บางทีเราเข้าใจ motive เข้าใจว่า เขาทำแบบนี้ เขาโกรธ เขาก้าวร้าว แต่เบื้องหลังความก้าวร้าว คือ ความกลัวและความต้องการความรัก เลยทำให้เราเข้าใจว่า ทุกการกระทำของทุกคนมันขึ้นอยู่กับสองอย่าง  คือ ความอยากที่จะส่งต่อความรัก (extension of love) และ การขาดความรัก (lack of love)  แปลว่า การทำทุกอย่างของทุกคน based จากความรักหมดเลย 

ต่อให้เขาดูโกรธ เอาเปรียบเรา แต่เบื้องหลัง เขาขาดความรักอยู่ แล้วมันทำให้เราโกรธคนน้อยลงมากๆ เพื่อนที่ไม่น่ารักก็กลายเป็นว่าไม่ใช่ไม่อยากคุย แต่เราอยากให้ความรักเขามากขึ้นอีก และต่อให้มีอารมณ์ที่ตัวเองไม่ชอบ เช่น โกรธ เกลียด อิจฉา โมโห เราก็จะไม่โกรธตัวเองที่เราเป็นคนไม่ดี เหมือนทุกอย่างมันทำให้เราสบายใจมากขึ้น

จริงๆ ความรักมันก็ซ่อนอยู่ในชีวิตของเราอยู่ ความรักในมุมของแพทคืออะไร 

อย่างที่บอกว่า มนุษย์เป็นสิ่งทีชีวิต มีลมหายใจได้ด้วยความรักและความหวัง แพทเคยเห็นมากับตาแล้ว คนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความรักแล้วตรอมใจตาย เสียชีวิต เสียชีวิตแบบไม่กินข้าว ให้สารอาหารทางสายยาง สุดท้ายก็ไปอยู่ดี เพราะเขารู้สึกว่า สุดท้ายไม่มีอะไรให้เขา go on แล้ว

สำหรับเรา ความรัก คือ …  (นิ่งคิด) ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอบง่ายกว่านี้เยอะเลย 

ตอนนี้สำหรับเราความรัก มันเปลี่ยนจาก love เป็น compassionate มันเปลี่ยนเป็น เราอยากให้เขาได้ดี มีความรู้สึกที่ดี เหมือนกับที่เราต้องการกับตัว้เอง

รู้สึกว่าแพทเป็นคนที่จิตใจแข็งแรง เหตุผลอะไรที่ทำให้แพทก้าวข้ามผ่านความยากในชีวิตมาเรื่อยๆ 

น่าจะเป็นคนรอบข้างที่ดี และเขาเชื่อในตัวเราในวันที่เราไม่เชื่อตัวเอง ในวันที่เราบอกตัวเองว่าไม่ไหว ไม่ได้ แต่เขายังเชื่อในเราอยู่ หรือบางครั้งมีคนที่เรา looked up to หรือผู้ใหญ่ที่เคารพ

ยกตัวอย่าง พี่นิค (วิเชียร ฤกษ์ไพศาล) พี่ที่ค่าย ในวันที่เราคิดว่าไม่ได้ แต่เขายังเชื่อในเราอยู่ หรือวันที่เราจะไม่เดิน เลือกที่จะไปเรียนต่อ เลิกทำวง ก็ไม่รู้ว่าทำไมวันนั้นบังเอิญเจอพี่ตูนบอดี้สแลมหน้าค่าย เรากอดพี่ตูนแล้วก็บอกว่า หนูไปแล้วนะ แล้วหนูก็ไม่รู้ว่าหนูจะกลับมาหรือเปล่า จำคำพูดไม่ได้ แต่เขาพูดประมาณว่า แพทเป็นนักร้องหญิงเสียงดีที่สุดสำหรับพี่ แต่จำได้ว่าช็อตนั้นมันสตั๊นเราเหมือนกันว่า เหรอวะ พี่เขาก็เป็นคนที่สำเร็จมากๆ คนหนึ่ง แล้วพูดกับเราแบบนั้น 

แล้วก็สิ่งแวดล้อม คุณแม่หรือแฟนปัจจุบันก็ค่อนข้างซัพพอร์ตมากๆ หรือกลุ่มเพื่อนในวันที่เราไม่ไหว เขายังเชื่อในเราอยู่ แพทรู้สึกว่าคนที่อยู่รอบๆ เราสำคัญที่จะเป็นแรงผลักดันว่าจะทำให้เราเดินไปทางไหน ถ้าแพทเหนื่อย ไม่ไหว แล้วแฟนบอกว่า พอเหอะ เห็นเหนื่อยมาก เลิก เราก็อาจจะเลิกไปแล้ว 

หน้างานที่แพททำอยู่ ทั้งการเป็นนักร้อง หรือการทำ cloud of thoughs มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทั้งสองงานมันเชื่อมเข้าหากันอย่างไรบ้าง 

ไม่ค่อยอยากแยก เพราะรู้สึกว่ามันทำงานยาก แล้วมันจะคิดเยอะ ส่วนมากจะรวมเป็นก้อนเดียว ถ้าแยกได้ คิดว่าเรื่องนี้น่าแชร์ก็แชร์เลยว่า เป็น cloud of thoughs เป็นเพลง หรือพูดในโชว์

ล่าสุด แพทก็ยังพูดในโชว์ พอดีแพทมีลุงที่เข้าโรงพยาบาลกระทันหัน แล้วเราก็กำลังย่อยอารมณ์ของเราอยู่ แล้วเราก็แชร์ให้เขาฟังเพื่อพูดเข้าเพลง แด่เธอที่รัก บางทีเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่เรารัก หรือแม้แต่ที่เราคิดว่าไม่รัก แต่มีเรื่องค้างคา พอคิดอะไรได้ในหัวเราก็แชร์ หรือเรามาคิดเรื่องนี้ทำเป็น  cloud of thoughs แล้วแชร์ออกไป เราก็เติบโตไปด้วยกัน เพราะทุกคนก็เจอเรื่องราวไม่ต่างกัน

นึกถึงคำว่า sense of belonging (ความรู้สึกเป็นเจ้าของ) มันสำคัญแค่ไหน เพราะงานที่แพททำอยู่ตรงนี้ คือ การสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องราวและความรู้สึกไปด้วยกันได้

แพทเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาพูดเรื่องการที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่ได้ด้วยความรักกับความหวัง ถ้าคนเราไม่มีความรักกับความหวัง เราก็ตายไปได้เลย เราเป็นแบบนั้น เขาเล่าประมาณว่าสมัยโบราณ เด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านในการเลี้ยง มันแปลว่า เราเกิดมาได้ เพราะมีคนรอบข้างเรา เราก็เลยรู้สึกว่า sense of belonging มันเป็นฟีลประมาณนั้นแหละ ที่ทำให้เขารู้สึกว่ามีที่หนึ่ง ที่เป็นของเขาและรู้สึกปลอดภัย

แล้วในคอนเสิร์ต เหตุผลอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราแชร์เรื่องราวของตัวเองให้คนหน้าเวทีได้แบบไม่ PC เลย 

จริงๆ เรื่องที่บอกว่าถือขวดไวน์ไปนั่งหน้าบ้านผู้ชาย ก็เล่าไปแล้วด้วยนะ (หัวเราะ)

เรารู้สึกว่าก็ช่วงที่เราแชร์ได้ คือ ช่วงที่ฝึกการไม่กดอารมณ์ตัวเอง พอฝึกเรื่องนี้เยอะๆ เราก็จะไม่อายอดีตที่เราเคยทำ ซึ่งเป็นความจริง แล้วถ้าเราไม่ผ่านสิ่งนั้น เราก็จะไม่คิดได้ แล้วเราก็จะไม่เป็นเราในวันนี้ 

อีกเรื่องหนึ่ง คือ empathy กับ sympathy มันสำคัญ ถ้าคนที่เราพูดอยู่ด้วย เขาไม่ได้คิดว่าเรามาสอน แต่แพทเข้าใจเขา เพราะเราผ่านมาแล้ว มันเป็น sympathy ที่เชื่อมถึงเขา และมันสำคัญที่เราจะต้องกล้าที่จะเล่าเรื่องในอดีต

แล้วเพลงเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับแพทไหม

ไม่ค่อยปลอดภัย เป็นพื้นที่เปราะบาง (หัวเราะ) 

แพทบอกแฟนตลอดว่า ทุกครั้งที่ร้องเพลงเหมือนเรายืนแก้ผ้าเลย เพราะมันคือการเอาความเปราะบางออกมาให้ทุกคนเห็น ถอดหมดเลย แต่นั่นน่ะ แพทมองว่าเป็นหนึ่งใน success factor ของศิลปิน เพราะใครก็ตามที่ถอดเปลือกทั้งหมด แล้วเอาความเปราะบางมาแชร์ให้กับผู้คนได้มากเท่าไหร่ มันก็รีเลทกับคนได้มากเท่านั้น

แพทเลยบอกว่าเพลงไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย เพราะว่ามันไม่ได้ปลอดภัยสำหรับเรา มันต้องกล้าหาญที่จะต้องเอาความเปราะบางออกมา