ที่อิแทวอน โซล เกาหลีใต้ มีมัสยิดกลางกรุงโซลตั้งอยู่ หลายคนอาจมองว่าเป็นศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่สำหรับคนมุสลิม มัสยิดแห่งนี้คือการบอกว่าพวกเขามีตัวตน
เนื่องจากประชากรเกาหลีใต้ 52 ล้านคน มีคนไม่ถึง 200,000 คนที่นับถือศาสนาอิสลามหรือคิดเป็น 0.4% ของประชากรทั้งหมด และในอดีตพวกเขาเคยถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้าย เป็นคนรุนแรงและอันตราย
แต่สำหรับคนเกาหลีใต้ในปัจจุบันอาจไม่ได้คิดแบบนั้น พวกเขาสนใจแฟชันฮิญาบและชอบอาหารฮาลาล
ถ้าจะเปรียบเทียบ กลุ่มมุสลิมก็เหมือนกับตัวละครลับในซีรีส์ เพราะพวกเขาคือคนกลุ่มน้อยและมีเส้นทางชีวิตที่ไม่ง่ายเพื่อบอกกับดินแดนที่เขาอาศัยอยู่ว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ แต่ต้องการการยอมรับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
เส้นทางสายไหม จุดเชื่อมเกาหลี-มุสลิม
ปัจจุบันกลุ่มมุสลิมในเกาหลีส่วนใหญ่จึงเป็นแรงงานและนักศึกษาจากประเทศที่มีคนนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก เช่น อุซเบกิสถาน อินโดนิเซีย คาซัคสถาน และบังคลาเทศ
แต่หากมองย้อนกลับไปในยุคประวัติศาสตร์ ชาวมุสลิมที่อยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลางเข้ามาในเกาหลีใต้ครั้งแรกผ่านเส้นทางสายไหมเพื่อเข้ามาค้าขายและพัฒนาไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์

คนมุสลิมมีตัวตนมากยิ่งขึ้น เมื่อได้รับคำเชิญให้อ่านอัลกุรอานต่อหน้าศาลในยุคโชซอน แต่บทบาทลดลง หลังจากราชวงศ์ปิดนโยบายด้านวัฒนธรรมและธรรมเนียมกับต่างชาติ จนมาถึงยุคสงครามเกาหลี คนเกาหลีกลับมารู้จักวัฒนธรรมอิสลามอีกครั้ง เพราะกลุ่มตาลีบันเข้าในประเทศเพื่อช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเกาหลีและเกาหลีใต้
หลังจากนั้นมีการเผยแพร่ศาสนาและส่งต่อวัฒนธรรมกันเรื่อยมาจนมีการก่อตั้งสหพันธ์มุสลิมเกาหลีในปี 1965 และสร้างมัสยิดอย่างเป็นทางการแห่งแรกในปี 1976 ซึ่งก็คือ Seoul Central Mosque ในถนน Usadan gil ย่านอิแทวอน ในกรุงโซล เป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลาย รวมถึงมัสยิดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนในประเทศและต่างชาติอีกด้วย
กลุ่มมุสลิมเกาหลี ≠ กลุ่มก่อการร้าย พวกเขาสนใจฮิญาบและชอบกินอาหารฮาลาล
แม้ว่าคนมุสลิมจะได้รับการยอมรับจนมีกลุ่มเป็นของตัวเองได้ แต่สำหรับคนเกาหลี เขายังกลัวและมีอคติต่อคนอิสลาม
เหตุผลหนึ่งมาจากการที่กลุ่มตาลีบันลักพาตัวมิชชันนารีเกาหลีใต้ในอัฟกานิสถานจำนวน 23 คนในปี 2007 โดยขู่ว่าจะมีการสังหารตัวประกันทำให้คนเกาหลีมองว่า คนอิสลามคือสัญลักษณ์ของการก่อการร้าย สงคราม ความขัดแย้ง และอันตราย
สำหรับ ‘คิม’ ชายวัย 30 ปี เขาเลือกจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเมื่อ 2 ปีก่อน ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะคัดค้านก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็เลือกที่จะเปิดช่องยูทูปเพื่อพูดถึงศาสนาที่เขากำลังนับถืออยู่จนทำให้พ่อแม่เข้าใจทีละนิด

“ตอนแรกที่พ่อกับแม่รู้ เขาก็ค่อนข้างกังวล เขาถามว่านี่ผมกำลังจะเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายหรือเปล่า ส่วนเพื่อนก็เหมือนจะมองว่าการมานับถืออิสลามเป็นเรื่องแปลก พวกเขาไม่ได้เกลียดผม แล้วเวลาผมบอกว่าเป็นคนมุสลิม เขาก็ไม่ได้มองผมไม่ดี”
สวนทางกับความเห็นมากมายบนโลกออนไลน์ กลุ่มมุสลิมมักจะเป็นกลุ่มที่ชาวเน็ตนึกถึงเป็นกลุ่มแรกๆ เมื่อเกิดความรุนแรงหรือความขัดแย้งในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้านการสร้างมัสยิดในเมืองแดกูหรือปฏิเสธการลี้ภัยของผู้อพยพชาวเยเมนในเกาะเจจูเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของพลเมืองในเกาะ
“ในอินเทอร์เน็ต ผมเห็นคำสบถมากมายบอกว่าอิสลามเป็นสิ่งชั่วร้ายและเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย พูดตามตรง ผมไม่รู้ว่าทำไมความเห็นในออนไลน์กับสิ่งที่ผมเจอมันถึงต่างกันมาก” คิมบอก

อีกด้านหนึ่ง ‘ซาฟิยา คังนายอน’ ผู้จัดการมัสยิดกลางกรุงโซลที่มีผู้ติดตามในอินสตราแกรมประมาณ 50,000 คนบอกว่า เธอมักจะโพสต์ภาพและวิดิโอที่เกี่ยวกับอาหาร แฟชัน และพิธีกรรมทางศาสนาลงบนโซเชียลมีเดียของตัวเอง เพราะเชื่อว่า สื่อเหล่านี้จะช่วยอุดช่องว่างทางวัฒนธรรมของคนเกาหลีและชาวมุสลิมให้ดีขึ้นได้
“คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้สนใจแฟชันฮิญาบและอาหารฮาลาล” เธอบอกไว้แบบนั้น
สังคมที่ยอมรับความแตกต่าง คือ สังคมที่ไม่ช่วยเหลือ แต่เข้าใจความเป็นมนุษย์
ในมุมนักวิชาการ ‘ลีฮีซู’ อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยฮันยาง บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้คนเกาหลียังใช้คำนิยามคนมุสลิมในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 คือ กลุ่มก่อการร้าย เพราะพวกเขาขาดพื้นที่ในการทำความเข้าใจกันและกัน
“เพราะคนเกาหลีขาดช่องทางในการที่จะทำความเข้าใจวัฒนธรรมของพวกเขา ซึ่งทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของคนมุสลิม”

ขณะที่ ‘โอจองอิล’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติคยองพุกบอกว่า คนเกาหลียังไม่พร้อมที่จะยอมรับคนมุสลิมเป็นสมาชิกในสังคมได้ เนื่องจากคนเกาหลียังมองว่า คนจากกลุ่มที่มีความหลากหลายทั้งวัฒนธรรมยังต้องการความช่วยเหลือมากกว่าการมองคนเท่ากัน
“หากเรายอมรับทุกคนได้โดยไม่คำนึงถึงศาสนา เพศ หรือเชื้อชาติ นั่นคือเวลาที่เราจะบอกได้ว่า สังคมนี้กำลังยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้อย่างแท้จริง”
ไม่เพียงแต่เรื่องศาสนา แต่คนทุกคนก็ต้องการการยอมรับว่า เขามีตัวตนและเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในสังคม