Living apart together สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแต่มีความสุข

“ฉันอยากใช้เวลาร่วมกับเขานะ เพราะฉันห่วงใยและรักเขา แต่ไม่ใช่ทุกวันและตลอด 24 ชั่วโมง ฉันไม่มีพลังงานพอที่จะทำสิ่งนี้หรอก” 

Jill Spoon วัย 73 ปี เธอและคนรัก John Backe วัย 74 ปี ตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตคู่แบบ LAT 

Living Apart Together หรือ LAT ความสัมพันธ์ของคู่รักที่ตัดสินใจแยกกันอยู่ มักได้รับความนิยมในกลุ่ม ‘คนสูงวัย’ ที่อาศัยในอังกฤษ เบลเยียม ฝรั่งเศส เป็นต้น เพราะประสบการณ์ที่เคยผ่านความสัมพันธ์มาหลายรูปแบบ ทำให้ในวัยนี้พวกเขาอยากอยู่ในความสัมพันธ์ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกสบาย การแยกกันอยู่ก็ช่วยทำให้แต่ละฝ่ายมีพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น และตอนนี้รูปแบบความสัมพันธ์นี้กำลังไล่ลงมาถึงกลุ่มคนอายุน้อยๆ

“เรากำลังอยู่ในโลกยุคใหม่ที่คู่รักตัดสินใจแยกกันอยู่” ความเห็นจาก Bella DePaolo นักวิชาการและผู้แต่งหนังสือ How We Live Now: Redefining Home and Family in the 21st Century. 

DePaolo บอกว่า เหตุผลที่คนตัดสินใจแยกกันอยู่มีหลากหลาย ต้องการรักษาพื้นที่ชีวิตของตัวเอง หรือบางเหตุผลก็เป็นเพราะไม่มีทางเลือก เพื่องานที่ดีและความก้าวหน้าในชีวิต พวกเขายินดีที่จะแยกกันอยู่ ซึ่งการตัดสินใจนี้เธอเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการตัดสินใจจะมีลูกหรือไม่ เป็นวิถีชีวิตของคู่รักที่ต้องตกลงกันว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตในความสัมพันธ์นี้แบบไหน

“มันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนโสดหลายคนต้องการรักษาไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตของพวกเขาไว้”

‘ใช้เวลาร่วมกันที่มีคุณภาพ’ เป็นสิ่งที่คู่รักแบบแยกกันอยู่จะได้รับ DePaolo ให้เหตุผลว่า การอยู่ด้วยกันตลอดเวลาอาจเกิดปัญหาจุกจิกที่บั่นทอนความสัมพันธ์ เช่น งานบ้านที่เป็นต้นเหตุของการทะเลาะว่าใครต้องทำอะไร หรือเล่นเกมมากเกินไปจนไม่มีเวลาให้กัน เมื่อแยกกันอยู่จะทำให้แต่ละคนมีเวลาของตัวเองที่จะไปจัดสรรสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้น เมื่อพวกเขามาใช้เวลาร่วมกันก็จะได้ทำสิ่งที่อยากทำร่วมกันจริงๆ กลายเป็นเวลาที่มีคุณภาพ 

Sherrie Sims Allen นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ กล่าวว่า บางคู่รักการแยกกันอยู่ก็ช่วยให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาไปรอด “การแยกกันอยู่ทำให้พวกเขารู้สึกที่จะเคารพและเห็นคุณค่าการมีพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคน

“แน่นอนว่าพวกเขารักกัน แต่ก็ไม่คิดว่าจำเป็นต้องอยู่บ้านเดียวกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น”

Susan Brown นักสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Bowling Green ให้ความเห็นว่า คนสูงวัยที่กำลังมองหาความสัมพันธ์เพื่อลบความรู้สึกโดดเดี่ยว พวกเขามักกลัวว่าจะเจอกับความสัมพันธ์ที่ผลักให้เขากลายเป็นผู้ดูแล (full-time caregiver) มากกว่าที่จะเป็นคนรัก เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งนี้บางคนเลือกสร้างความสัมพันธ์ไว้แค่เฉพาะครอบครัวและเพื่อน หรือใช้รูปแบบ LAT แทน

อย่างเช่น Linda Randall นักจิตบำบัดวัย 78 ปี พบความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับชายที่อายุมากกว่าเธอ 6 ปี ซึ่งสุขภาพเขาไม่แข็งแรง เคยมีอาการหัวใจวาย 2 ครั้ง หลังจากการใช้เวลาด้วยกันเกือบหนึ่งปี อีกฝ่ายเอ่ยปากขอให้ Randall ไปอยู่ด้วย แต่เธอปฎิเสธ พร้อมกับให้เหตุผลว่าอยากมีพื้นที่ส่วนตัว และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของพวกเขาก็แตกต่างกันเกินไป

เมื่อคนรักของ Randall มีเหตุให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดและใช้เวลาพักฟื้นครั้งใหญ่ เธอแนะนำให้เขาจ้างผู้เชี่ยวชาญสำหรับดูแลเขาโดยเฉพาะ หลังจากที่อาการเขาเริ่มดีขึ้น เธอก็ค่อยๆ รับไม้ต่อจากคนดูแลของเขา

“ฉันเห็นเพื่อนที่ต้องดูแลสามีที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แล้วบทสนทนาระหว่างพวกเขามีแต่สิ่งที่หมอให้ทำได้หรือห้ามทำ” Margaret Widuckel พยาบาลวัย 75 ปี ที่อยากมองหาคนรัก แต่กลัวว่าจะลงเอยแบบเดียวกับเพื่อนเธอ

นักวิจัยที่ทำการศึกษาความสัมพันธ์แบบ LAT พบว่า คนเลือกทางนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันกลายเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวที่ไม่ต้องอยู่กินด้วยกัน รวมถึงแนวโน้มของคนที่เลือกรูปแบบความสัมพันธ์นี้ส่วนใหญ่จะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่สูงพอที่จะใช้ชีวิตแบบแยกกันอยู่ได้ หรือคนโสดที่ร่ำรวยแล้วอยากกลับมาอยู่ในความสัมพันธ์อีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังพบว่าความคาดหวังที่ว่าอีกฝ่ายจะดูแลตัวเองลดลงในคู่รักที่ไม่ได้แต่งงาน หรืออยู่กินด้วยกัน ก็เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อว่า ความคาดหวังในฐานะที่เป็นคู่สมรสนั้นมีเหตุผลหรือไม่ 

“LAT ช่วยให้ผู้หญิงสามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องรับบทเป็นคนดูแลตามบทบาทเพศ (gender roles) แบบดังเดิมที่สังคมกำหนดว่า พวกเขาต้องเป็นคนที่ดูแลลูก เป็นพ่อแม่ หรือคู่สมรส” Ingrid Arnet Connidis ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Western แสดงความเห็น

เช่นเดียวกับ Allison Forti ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัย Wake Forest มองว่า การที่คู่รักต้องรับบทเป็นคนดูแล สร้างผลกระทบต่อเจ้าตัว โดยเฉพาะถ้าฝ่ายนั้นเป็นผู้หญิง “มันสำคัญมากสำหรับผู้หญิงที่จะได้รู้ว่า ไม่เป็นไรเลย ถ้าพวกเขาไม่ต้องการอยู่ในฐานะคนที่ต้องดูแลคนรัก และยังคงมีคุณค่าเป็นผู้หญิงคนหนึ่งในสังคม” 

Forti ยกผลสำรวจจาก The National Alliance for Caregiving เมื่อปี 2020 ที่รายงานว่า มีประชาชนอเมริกัน 23% ที่ทำหน้าที่เป็นคนดูแล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพพวกเขา 

การวางแผนชีวิตคู่อาจต้องคุยยาวไปถึงวัยบั้นปลาย (ถ้ายังอยู่ด้วยกันถึงตอนนั้นนะ) การเตรียมพร้อมดูแลตัวเอง เพราะการจะคาดหวังให้อีกคนทำหน้าที่นี้ บางทีก็อาจเป็นการโยนงานยากให้เขา และการที่อีกฝ่ายไม่อยากทำก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาป เพราะมันก็เป็นงานที่ต้องการความรู้ความสามารถโดยเฉพาะ 

“แต่งงานเพื่อมีคนดูแล” อาจเป็นประโยคที่ไม่จริงแล้ว เพราะไม่ว่าเราจะเลือกอยู่คนเดียวหรือมีคนข้างๆ สุดท้ายคนที่ต้องดูแลตัวเองก็คือตัวเรา 

อ้างอิง
https://www.brides.com/living-apart-together-5189895
https://www.nytimes.com/2021/07/16/well/family/older-singles-living-apart-LAT.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Living_apart_together