“ไม่ว่าใครก็มีความปรารถนาที่แตกต่างในใจ แต่เปิดเผยไม่ได้” LGBTQ ในโชซอนคือคนนอกขนบที่เล่นเกมผู้หญิงและเตะถุงไหม

“ไม่ว่าใครก็ต่างมีความปรารถนาที่แตกต่างจากคนอื่นอยู่ในใจ แต่ว่าเราไม่สามารถเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจได้”

ในซีรีส์ Under the Queen’s Umbrella ราชินีบอกกับ ‘องค์ชายคเยซอง’ ลูกชายคนที่สาม หลังรู้ว่าลูกไม่อยากใช้ชีวิตตามเพศที่ถูกสังคมกำหนด เพราะที่ผ่านมาเขาแค่ปกปิดตัวตนและความต้องการของตัวเองไว้ในห้องลับหลังวัง

แต่ข้อเท็จจริง คือ ซีรีส์เรื่องนี้ถูกแต่งขึ้นโดยไม่อิงประวัติศาสตร์เพียงแต่อาศัยบริบทสังคมเท่านั้น อาจเป็นเหตุผลให้องค์ชายคเยซองสวมชุดฮันบกเพื่อให้ศิลปินบันทึกความงามของเขาไว้ดูต่างหน้าและแม่ก็ยอมรับสิ่งที่เขาเป็นได้

ซึ่งอาจเป็นความจริงส่วนหนึ่ง เพราะในสมัยชิลลา (54 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ.935) ‘กษัตริย์ฮเยกง’ ชอบเล่นเกมของผู้หญิงและเตะถุงไหม แต่ก็ยังรับตำแหน่งกษัตริย์โดยไม่ได้ซ่อนสิ่งนี้เลยแม้แต่น้อย  

ไม่เพียงแต่คนในวังที่มองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันก็ถูกบันทึกไว้ใน ‘ซัมกุก ยูซา ‘ เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในเกาหลีไว้ว่า นอกจากความสามารถทางทหารแล้ว กลุ่มนักรบชั้นยอดชื่อ ‘ฮวารัง’ ที่แปลว่า หนุ่มดอกไม้ ก็ยังเลื่องลือในเรื่องอีโรติก รวมถึงมีบทกวีที่พรรณาถึงคนเพศเดียวกันและความโรแมนติกของกลุ่มนักรบชั้นยอดนี้

ส่วนยุคโครยอ (ค.ศ. 918-1392) ชายรักชายยังดูเป็นเรื่องปกติและถูกมองเป็นความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ความสัมพันธ์ของ ‘กษัตริย์กงมิน’ ผู้ปลดแอกอาณาจักรโครยอจากการครอบงำของราชวงศ์หยวนในมองโกล โดยบันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า เขาและเจ้าหน้าที่ในศาลมีความสัมพันธ์กันในเชิงโรแมนติก แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเป็นกษัตริย์ได้ 

กลุ่มทหารฮวารัง

จนกระทั่งการเข้ามาของแนวคิดของลัทธิขงจื๊อในช่วงโชซอน (ค.ศ.1392–1897)  ลัทธิสำคัญที่ปลูกฝังความคิดให้กับคนเกาหลีและถูกส่งต่อมาถึงปัจจุบัน ซึ่งขงจื๊อได้ฝังแนวคิดของตัวเองไว้ในสังคมเกาหลีด้วยหลักปฏิบัติ 5 ประการ คือ จารีตมนุษยธรรม ความถูกต้อง การศึกษาและปรัชญาการเมือง 

โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้องที่ส่งผลต่อแนวคิดเรื่องเพศ เนื่องจากขงจื๊อบอกว่า ต้องแสดงออกตามสถานภาพและความสัมพันธ์ของมนุษย์ หมายถึง หากเกิดเป็นเพศชายก็ต้องแสดงออกถึงความเป็นชาย เป็นหัวหน้าครอบครัว ถ้าเป็นหญิงก็ต้องแสดงออกถึงความเป็นหญิง ดูแลงานในบ้าน รับฟังพ่อและปรนนิบัติสามี รวมถึงเมื่อเป็นสามีภรรยากันแล้ว ทั้งสองเพศมีหน้าที่มีลูกหลานเพื่อสืบวงศ์ตระกูลต่อไป

ซึ่งไม่มีพื้นที่ให้กับคนที่แสดงออกต่างออกไปและไม่สามารถทำตามขนบได้… 

ขงจื๊อยังเขียนไว้อีกว่า ลูกต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ ดังนั้นการเป็น LGBTQ+ ถือเป็นการอกตัญญูและสร้างความอับอายให้ครอบครัว หลายคนจึงเก็บตัวตนของตัวเองไว้ข้างใน ใช้ชีวิตตามที่พ่อแม่ต้องการ บางคนทนแรงกดดันไม่ไหวก็ยอมที่จะปลิดชีวิตตัวเอง

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้องค์ชายคเยซองเข้าห้องลับหลังวังไปแต่งชุดฮันบกและแต่งหน้า พื้นที่ที่จะได้เป็นตัวเองมากที่สุดและไม่มีใครมาตัดสิน 

เพราะจริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นมเหสี พระพันปี นางสนม องค์รัชทายาทหรือเหล่าองค์ชายต่างรู้กันดีว่า การใช้ชีวิตที่ต่างจากขนบนั้นคือความผิดที่ไม่สามารถให้อภัยได้

‘อีอก’ นักวิชาการขงจื๊อใหม่อธิบายเรื่องนี้ไว้โดยอ้างอิงจากเรื่องราวของราชวงศ์หมิงไว้ว่า ผู้ชายที่โกนคิ้ว แต่งหน้า และแต่งตัวเป็นผู้หญิง จะถูกประหารชีวิตด้วยการตัดอวัยวะ 

นั่นจึงทำให้ Under the Queen’s Umbrella  ราชินีต้องโอบกอดลูกและกางร่มให้คเยซองเป็นคนแรกของเรื่อง

“ไม่ว่าเจ้าจะเป็นอย่างไร เจ้าก็เป็นลูกของข้า” 

ราชินีบอกกับองค์ชายคเยซองเพื่อให้ลูกรู้ว่า เขาจะโดดเดี่ยวอีกต่อไป แต่เขาจะมีร่มและความรักของแม่ที่จะปกป้องและช่วยรักษาตัวตนของคเยซองเอาไว้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้สังคมจะไม่อนุญาตให้ทำแบบนั้นก็ตาม

ที่มา