บันทึกเจ้าตูบที่คลิตี้ล่าง : หมาประจำตัวนร.พื้นที่ห่างไกล ที่ขอเดินมาส่ง กินข้าวเที่ยงที่โรงเรียน และเดินกลับบ้านพร้อมเด็กๆ

“โรงเรียนไม่ได้เลี้ยงนะคะ เขาตามมากับเด็ก พอถึงเวลาเลิกเรียนเขาก็เดินตามกลับด้วย โรงเรียนก็จะโล่ง เพราะไม่มีหมาแล้ว” 

นุช ปรียานุช ปกรณ์ชุติวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังเป็นครูฝึกสอนประจำ ‘โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน’ บอก ท่ามกลางแดดจ้า แต่กลับมีลมเย็นพัดมาเป็นพักๆ พื้นที่นี้ถูกเรียกว่า ‘คลิตี้ล่าง’ หมู่บ้านกลางหุบเขาเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี  ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

โรงเรียนทุ่งเสือโทน ถ้าเปิดแผนที่จากแอปพลิเคชัน (ที่จะมีสัญญาณถึงแค่ครึ่งทาง อีกครึ่งทางต้องใช้การถามชาวบ้าน หรือโหลดแผนที่เก็บไว้แบบไร้อินเทอร์เน็ต) โดยเริ่มต้นที่อำเภอทองผาภูมิ จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงเต็ม แต่หน้างานจริงรถยนต์สี่ล้อต้องทำงานหนักกว่านั้น ด้วยทางคดเคี้ยว ขึ้นเขา ลงห้วย ถนนดินลูกรังที่ไม่เป็นมิตรกับบุคคลที่มีอาการเมารถ

 “ที่นี่มีเด็กกว่า 200 คน ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง พม่า มอญ” เด็กชาติพันธ์ุคือกลุ่มก้อนใหญ่ของโรงเรียนทุ่งเสือโทนแห่งนี้ ที่นี่มีการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมต้น และนับเป็นโรงเรียนขนาดกลางในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้า มีสัญญาณโทรศัพท์แค่ค่ายเดียว และสัญญาณอินเทอร์เน็ตในระดับ 1G 

“ถ้าอยากเล่นเน็ตแรงๆ ต้องตื่นมาตั้งแต่ตี 3 หรือส่งงานที่มหา’ลัยบางทีต้องโหลดข้ามวัน”

“หนูชื่อสายฝน กำลังเดินไปซื้อลูกชิ้นข้างโรงเรียน” เด็กหญิงป.สอง และเพื่อนกลุ่มใหญ่ใช้เวลาหลังพักเที่ยงเดินกำเหรียญห้าบาท มุ่งไปซุ้มโต๊ะไม้ที่มีถาดลูกชิ้นเรียงราย ถัดมาเป็นชุดเก้าอี้ม้าหินอ่อนที่เด็กชายสองคนกำลังวางหินไว้กลางโต๊ะ เป่ายิ้งฉุบ แล้วเริ่มเล่นหมากฮอสที่มีเพื่อนรอบข้างยืนลุ้น 

นุชฝึกสอนที่โรงเรียนนี้จะครบ 5 เดือนแล้ว แล้วจะกลายเป็นคุณครูของเด็กๆ ทุ่งเสือโทนแบบเต็มตัวในการเปิดภาคเรียนใหม่ของปีนี้ นุชตอบแบบตรงไปตรงมาว่า โรงเรียนนี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่เรื่องความรู้อย่างเดียว แต่มีฟังก์ชันของการเป็นจุดรับฝากคอยระหว่างที่พ่อแม่ของเด็กๆ ไปทำงานเสริมเข้ามา 

“บางคนพ่อแม่ก็ไม่มีความรู้ เขาก็ไม่ได้หวังว่าลูกจะต้องมีเหมือนกัน แต่ทำไร่ ไถนาก็พอ แต่ที่ส่งมาโรงเรียนเพราะคิดว่ามีข้าวฟรี ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็ดีกับเด็ก เพราะพวกเขาได้ความรู้จากที่โรงเรียนไปด้วย”

“บางคนก็มอมแมมมาเลยใส่เสื้อทับไว้ข้างในชุดนักเรียน เพราะตอนเลิกเรียนเด็กบางคนก็เข้าไร่ไปกับพ่อบ้าง แวะเล่นระหว่างทางบ้าง” 


เสื้อนักเรียนของเด็กที่นี่ไม่ได้สีขาวสว่างแบบที่โฆษณาผงซักฟอกบอกไว้ แต่เป็นสีขาวหม่น ที่เคลือบด้วยฝุ่นลูกรัง ดินกลางสนาม และความเลอะเทอะที่มากับความซนระหว่างทางมาโรงเรียน 

“ เด็กส่วนใหญ่เดินมาค่ะ เดินไปเดินกลับ” นุชบอกระหว่างไล่ต้อนเด็กๆ วัยฟันน้ำนมเข้าห้อง ด้วยความเป็นพื้นที่ห่างไกล พ่อแม่เป็นชาติพันธุ์ เช้าเข้าไร่ ทำสวน เย็นกลับบ้าน เด็กๆ ที่มีหน้าที่มาโรงเรียนจึงต้องเดินกันมา โดยระยะเด็กบ้านที่ใกล้โรงเรียนที่สุดคือ 1 กิโลเมตร ไม่มีรถรับส่ง หรือผู้ปกครองที่มาส่งก็มีส่วนน้อย

“เข้าเรียนตอน 7 โมง เด็กบ้านไกลที่สุดจะเริ่มเดินออกจากบ้านประมาณตี5 , 6 โมง เดินมาเจอเพื่อนบ้านถัดมาเรื่อยๆ เป็นกลุ่มสมทบกันมา ขากลับก็ทำเหมือนกัน” 


เห็นหมาตรงนั้นไหม? นุชชี้ไปที่ลานกว้างใต้อาคารเรียนของพี่มัธยมที่มีหมา หรือเจ้าตูบสี่ขานอนเรียงกัน 5 – 6 ตัว 

“หมาพวกนี้มากับเด็กนักเรียน คือพอเด็กเดินกันมา หมาก็ตามมาด้วย บางคนเล่าว่าไล่ยังไงก็ไม่กลับ สุดท้ายเลยได้ตามมาที่โรงเรียน แล้วพอเลิกเรียนหมาก็เดินกลับบ้านไปพร้อมกับเด็กพอดี ตอนกลางวันพวกครูนี่แหละก็เอาเศษข้าวเหลือให้กินด้วย”

นุชเล่าต่อว่าโรงเรียนก็ปล่อยหมาพวกนี้รอเด็กๆ ไป ให้นอน หรืออยู่ในพื้นที่โรงเรียน เพราะที่ผ่านมาเจ้าสี่ขาก็ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ถึงเวลาเลิกเรียนเมื่อไหร่เด็กๆ ก็กลับบ้าน แล้วหมาๆ ก็จะส่ายหางเดินกลับด้วย 

“พอสามโมงเย็น โรงเรียนก็โล่งแล้ว ไปทั้งหมาทั้งคน (หัวเราะ) โรงเรียนไม่ได้ตั้งใจเลี้ยงนะ หมาเขามาของเขาเอง”