แก้วลาเต้เย็นๆ ในมือที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่น ท่ามกลางอุณหภูมิของประเทศไทยในช่วงเวลาบ่ายโมง แต่ความหวานของกาแฟในมือ ยังไม่เท่ากับรอยยิ้มคนที่อยู่ตรงหน้าเรา เหมือนเธอพกเอาความสดใสติดตัวมาด้วยเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่ง ซึ่งเข้ากับหัวข้อที่เราจะสนทนาในวันนี้
การตามหาความสุขในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เราเจอแต่เรื่องเครียดๆ หดหู่ใจ – หัวข้อพูดคุยที่เราส่งให้เธอ ก่อนจะตัดสินใจตกปากรับคำมาคุยกับเรา
“เรานัดเจอพี่ในช่วงที่ดีนะ (หัวเราะ) เป็นช่วงที่ดีของพี่ตั้งแต่เกิดมาเป็นคน ปีนี้เป็นปีที่มีความสุขที่สุด” คำตอบจาก ‘มะขวัญ’ วิภาดา แหวนเพชร คู่สนทนาของเราในวันนี้
นักเขียน นักเขียนบทภาพยนตร์ วิทยากร เป็นบทบาทที่มะขวัญสวมใส่ แต่บทบาทที่เป็นเหตุผลให้เราชวนมะขวัญมาคุยครั้งนี้ คือ การเป็นอาจารย์ประจำวิชา Happiness Skills ทักษะแห่งความสุข สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

‘ความสุข’ ถือเป็นเรื่องแรกๆ ที่คนมักนึกถึงมะขวัญ จนกลายเป็นเหมือนมารดาแห่งเรื่องความสุขประจำประเทศไทย (ตำแหน่งนี้เราเติมให้เองละ)
ทำไมถึงเป็นปีที่มีความสุข? เราถามกลับไป เพราะอยากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกเช่นนี้
“เป็นปีที่ทุกอย่างก็ยังไม่เข้าที่เข้าทางเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่เป็นเราที่รู้สึกสบายขึ้น ปีนี้เรามีความสุขได้ง่ายมากๆ ระหว่างเดินมาเมื่อกี้แค่มีลมพัด เราสามารถยืนนิ่งๆ เอนจอยกับโมเมนต์นั้นได้เรื่อยๆ เลย”
‘ความแก่’ เป็นหนึ่งเรื่องที่ทำให้ปีนี้ของมะขวัญเป็นปีที่มีความสุข เลข 33 ที่มะขวัญยกนิ้วโชว์ให้เราดู เป็นอายุของเธอในตอนนี้ ชีวิต 33 ปีที่ผ่านมามะขวัญเผชิญเรื่องราวต่างๆ เป็นความทุกข์ซะส่วนใหญ่ แต่มันก็ช่วยประกอบสร้างให้เป็นตัวเธออย่างวันนี้ เป็นมะขวัญที่เข้าใจธรรมชาติตัวเอง โลก และความสุข พร้อมส่งต่อสิ่งนี้ให้คนอื่นๆ ที่ต้องการ ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน แต่กำลังขยายออกไปให้คนที่สนใจด้วย
ก่อนจะเข้าเนื้อหาเต็มๆ เราอยากให้คนอ่านลองปล่อยสมองและจิตใจให้ว่าง หายใจเข้าลึกๆ เพื่อเตรียมรับเนื้อหาบรรทัดถัดไป แม้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมจะทำให้เรารู้สึกใช้ชีวิตยากลำบากในทุกๆ นาที แต่เชื่อเถอะว่าชีวิตยากๆ นี้จะมีความสุขเป็นสิ่งปลอบประโลมพวกเราแน่ๆ อย่างที่มะขวัญย้ำกับเราเสมอว่า ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับในฐานะที่เกิดมา
มะขวัญบอกว่าปีนี้เป็นปีที่ตัวเองมีความสุขที่สุด แล้วอายุที่มากขึ้นก็ทำให้เข้าใจบางเรื่อง พอจะแชร์ได้ไหมว่าเรื่องอะไร?
(นิ่งคิด) ปล่อยทุกอย่างให้ผ่านตัวเราไปง่ายๆ มั้ง เราชอบทำตัวเองให้เป็นท้องฟ้า ทุกๆ วันจะมีก้อนเมฆ ฝน แสงแดดเกิดขึ้นมา เราก็ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ผ่านตัวเราไป เพราะเราเรียนรู้ที่จะเป็นท้องฝนที่สงบนิ่งได้มากขึ้น เมื่อก่อนเราจะกระโดดไปเป็นพายุ กระโดดเป็นเมฆ ดีใจสุดเสียใจสุด แต่ทุกวันนี้เราเรียนรู้ที่จะมั่นคง ปล่อยให้ทุกอย่างมันไหลผ่านไป
เรารู้สึกว่าความแก่มันทำให้เราเจอเรื่องซ้ำๆ อาจทำให้รับมือเป็นในบางเรื่อง สมมติแกอกหักตอนแก่ อาจเป็นการอกหักครั้งที่ 10 ซึ่งมันจะเจ็บนั่นแหละ แต่เราจะชิลๆ ละ


คล้ายๆ เข้าใจชีวิตมากขึ้น
เรียกว่าอย่างนั้นก็ได้ ความแก่จะมีความหมายต่อเมื่อเราเรียนรู้มัน เรียนรู้ชีวิตมาเรื่อยๆ แต่ถ้าเราต้องจมกับหน้างานของชีวิต เช่น ต้องหาเงินให้รอดไปวันๆ ไม่มีช่วงให้นั่งตกตะกอนชีวิต ก็จะไม่เจออะไร แก่ก็คือแก่
ต้องมีช่วงเวลาให้เราได้มานั่งสะท้อนตัวเองจริงๆ บางอย่างมันมาเข้าใจตอนแก่ อย่างเราได้เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงมีบางช่วงที่เขาโกรธโมโห วันเวลาที่เหลือน้อยของเขาคงบีบคั้นมาก และเราเริ่มเข้าใจว่าไอ้ความแก่เท่นะ (ยิ้ม) ถ้าทำได้ก็อยากอยู่แก่ไปอีกสักนิดละกัน (มองท้องฟ้า) อย่าเพิ่งให้หนูรีบตายนะคะ (หัวเราะ)

การทำความเข้าใจความแก่ หรือมานั่งตกตะกอนชีวิตตัวเอง มะขวัญเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร
ตั้งแต่ 10 ขวบ เราเจอความทุกข์ที่หนักมากๆ มาตลอด หนักผิดมนุษย์มนาเลย หลายๆ เรื่องกลายเป็นปมที่ส่งผลกับชีวิตเรา ทำให้เราต้องหาทางเอาตัวรอด เยียวยาตัวเองมาเรื่อยๆ เพราะเราอยากเป็นผู้เป็นคน เราไม่ได้อยากทำตัวเป็นพิษให้คนอื่นหรือแม้กับตัวเอง
โชคดีที่ตอน 10 ขวบ มีคุณครูคนหนึ่งชื่อครูกร ศิริวัฒโณ เป็นครูที่เพิ่งย้ายมาใหม่และเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ด้วย เขาเห็นว่าเราเป็นเด็กที่หม่นเศร้าผิดปกติ เลยพาไปอยู่ห้องสมุดให้อ่านหนังสือ เขียนไดอารี่ เราเข้าใจวิธีการพวกนี้จากเขาเลย เราเห็นสิ่งที่ตัวเองเขียนมีแต่ประโยคว่า ‘ทำไมท้องฟ้ามืดจัง’ แล้วได้เริ่มเยียวยาตัวเองจากหนังสือที่ครูให้อ่าน หาทางไปทำอย่างอื่นต่อ
มีเรื่องหนึ่งที่เราคิดบ่อยมากช่วงนี้ คือ เราอยากทำวิชาความสุขแบบออนไลน์ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้และฟรี เอาองค์ความรู้ในห้องเรียนเรามาเผยแพร่ แต่จะมีคำถามหนึ่งที่เราติดมาตลอด คือ ทำไมเราถึงสอนวิชานี้ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้จบจิตวิทยาหรือสายที่เกี่ยวข้อง เราจบนิเทศเอกการแสดง โทด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ มันก็ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นใจในสิ่งที่ทำมากๆ
แต่เราก็อยู่กับหน้างานนี้มา 7 ปี แล้วก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเราอยู่กับคอนเทนต์ที่เรียกว่า ‘ความสุข’ มาเยอะมากๆ ถ้าพูดแบบหยาบเลยคือเยอะฉิบหาย (หัวเราะ) หนังสือที่พูดเรื่องความสุขเราก็อ่านจนจะครบทุกเล่มบนโลกแล้วมั้ง คอร์สสอนเรื่องความสุขทั้งต่างประเทศและไทยเราก็ไปลงเรียนเยอะมาก เราเปิดกว้างมากๆ ด้วย ไปเรียนรู้ทุกๆ อย่าง เข้าโบสถ์คริสต์ นั่งโต๊ะคุยกับอิหม่ามก็ทำมาแล้ว
และหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามั่นใจที่จะสอนเรื่องนี้ คือ เรารู้จักสิ่งนี้เร็วตั้งแต่ 10 ขวบ สรุปมันคงต้องเป็นเราแหละที่ทำเรื่องนี้ (ยิ้ม)

วิชาความสุขที่มะขวัญสอนมีหน้าตาแบบไหน?
เราพยายามทำให้มันหลากหลายที่สุด ไม่อยากให้พูดแค่มุมจิตวิทยา เพราะความสุขเป็นเรื่องนามธรรม วิชาของเราเลยพูดตั้งแต่เศรษฐศาสตร์ความสุข จิตวิทยาความสุข วิทยาศาสตร์ความสุข ปรัชญาศาสนา ไปจนถึงองค์ความรู้ที่เด็กสามารถได้เข้าใจด้วยตัวเอง เป็นเครื่องมือที่เขาจะใช้กับตัวเองได้
วิชาเรียนของเราเกิดจากความเรียบง่ายบนคำถามว่า ถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้ตอนเด็กๆ มีอะไรบ้างที่ควรรู้ เพื่อเตรียมตัวดูแลจิตใจของเรา แก่นของวิชานี้ คือ ทำยังไงเด็กถึงจะมีพื้นที่มั่นคงในใจ ไม่ใช่ออกไปควบคุมสถานการณ์ภายนอกนะ แต่ทำยังไงให้เด็กทุกคนเรียนรู้ที่จะสร้างพื้นที่สงบมั่นคงในใจได้ รู้ว่าเขาคือใคร แก่นตัวตนของตัวเอง เพื่อให้เขายืนอย่างมั่นคงในทุกช่วงเวลาของชีวิต
คอร์สหรือหนังสือที่พูดเรื่องความสุขเท่าที่เราศึกษามา สิ่งที่มีตรงกันคือเขาจะพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ความสุข กับงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เอาสิ่งเหล่านี้มาแชร์กัน เช่น มีงานวิจัยที่เจอว่าความสุขมี 3 ระดับนะ หรือปัจจัยที่จะทำให้เกิดความสุขมีอะไรบ้าง เป็นต้น
ส่วนสิ่งที่ต่างกัน คือ กิจกรรมที่ให้คนทำ อย่างคุณชอว์น เอเคอร์ (Shawn Achor) นักเขียนชาวอเมริกันที่โด่งดังเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก เขาทดลองทำ 5 สิ่งนี้ใน 1 วัน คือ นั่งสมาธิวันละ 2 นาที ออกกำลังกายวันละ 21 นาที ขอบคุณคนอื่น ขอบคุณตัวเอง และเขียนสิ่งที่ทำให้มีความสุข 5 อย่าง เขาทดลองทำกับคนทั่วไปและที่เป็นซึมเศร้า พบว่าใช้เวลา 21 วัน สภาพจิตใจของแต่ละคนดีขึ้น
วิชาของเราก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาแชร์เหมือนกัน เพียงแต่เป้าหมายใหญ่ของเรา คือ ทำให้เขามีพื้นที่มั่นคงในใจ เราไม่ใช่คำว่า ‘สงบ’ นะ เพราะมันคือคำว่า Emotional Security หรือความมั่นทางอารมณ์
มีสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจอีกอย่าง คือ นิยามของความสุข พอเราอ่านนิยามความสุขที่มีทั่วโลก สุดท้ายมันคือคำว่าพึงพอใจ ซึ่งเราชอบมากเลย จริงๆ เคยมีนักวิทยาศาสตร์พยายามหาว่าความสุขคืออะไร แต่สุดท้ายพบว่าเราให้นิยามสิ่งนี้ไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน สมมติตอนนี้แกพึงพอใจชีวิตตัวเองในระดับ 10 ความสุขจะอยู่ในนั้น แต่ก็มีนิยามความสุขอื่นๆ นะ เช่น ความสุขคือการที่เรารู้สึกสบาย รู้สึกมีเป้าหมาย หรืออีกนิยามที่คนไม่ค่อยรู้ คือ การก้าวข้ามความทุกข์ได้ก็ถือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง
สนใจเรื่องความสุข 3 ระดับ มีอะไรบ้าง
มาจากมาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ได้ชื่อว่าเป็นพระบิดาของจิตวิทยาเชิงบวก ถ้าไม่มีเขาก็คงจะไม่มีฉันในวันนี้ (หัวเราะ) เขาค้นพบว่าความสุขมี 3 ระดับ
ระดับแรกเรียกว่า The Pleasant Life เป็นความสุขที่เกิดการอยากได้อะไรก็ได้ อยากซื้ออะไรก็ซื้อ เรียกอีกอย่างว่าความสุขโฆษณา มันจะทำให้เรารู้สึกดีช่วงแรกๆ แต่นานไปก็จะรู้สึกเฉยๆ
ระดับที่สอง คือ The Good Life เป็นภาวะลื่นไหลที่เกิดจากเราได้ทำสิ่งที่ชอบ รู้สึกเป็นตัวเอง เช่น งานอดิเรก อาชีพ หรืออะไรก็ได้ ซึ่งวิธีดูว่าสิ่งที่เราทำเข้าข่ายไหม ให้ดูว่าเรารู้สึก no time no space ไหม? เราจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปแล้วเหรอขณะที่ทำสิ่งเหล่านี้ แกรู้สึกเป็นตัวเอง มีพลังจัง
ความสุขระดับสุดท้าย คือ The Meaningful Life เรารู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย รู้ว่าการมีอยู่ของตัวเรามีความหมายยังไง ได้ใช้จุดแข็งหรือสิ่งที่ตัวเองมีเพื่ออะไรสักอย่าง


แต่การแบ่งความสุข 3 ระดับ อีกด้านหนึ่งจะกลายเป็นกับดักไหม? ความรู้สึกก็เป็นเรื่องนามธรรมด้วย มะขวัญที่ทำงานกับสิ่งนี้มาค่อนข้างนาน คิดว่าการแบ่งระดับแบบนี้มีข้อดี-ข้อเสียไหม
เรารู้สึกว่ามันมีข้อดีมากๆ อย่างเช่นตัวเราที่อยากหาต่อว่า จะมีอะไรอีกนอกจาก 3 ขั้นนี้ คือหาขั้นที่ 4 ชีวิตมันคืออะไรวะ ทุกวันนี้เราอยู่ระดับที่ 3 ได้ทำงานที่เรารักมากๆ แต่มันก็เจอโมเมนต์ที่เรารู้สึกว่างเปล่า หรืองงๆ จำได้ว่าวันที่หนังของเราประสบความสำเร็จมากๆ 2 วันให้หลังเรารู้สึกลอยอยู่กลางอากาศ งงว่าต้องทำอะไรต่อ มีเพื่อนในวงการหรือดาราที่ดังๆ จะเป็นซึมเศร้าช่วงที่ประสบความสำเร็จ เพราะเขาไม่รู้ว่าต้องไปไหนต่อ
ตอนนี้เราเลยอยากทำความเข้าใจเรื่องนี้ หลังจากรู้ว่าเรามีความหมายยังไง แล้วอะไรต่อ ชีวิตนี้คืออะไร มันเป็นถึงกระทั่งว่าตายแล้วไปไหน หรือจักรวาลนี้คืออะไร เราว่าข้อดีของมันก็อาจเป็นแนวทางหนึ่งให้เราได้ใช้ชีวิตลึกจริงๆ หาความสุขนอกจากระดับแรก
แล้วเราก็รู้สึกว่าชีวิตมันคือการไหลไป เรื่องราวผู้คนจะเข้ามา เหมือนเราอยู่ในแม่น้ำสายหนึ่ง จะทำให้การอยู่ของเราสงบมั่นคงสุขใจได้ เพราะตัวเราไม่เชื่อในการวิ่งไปหาอะไรสักอย่าง และก็ไม่เชื่อเรื่องการตั้งรับด้วย
วิชาความสุขของเราจะเปิดมาด้วยการพูดเรื่องความสุขจากการทำอะไรสักอย่าง สักพักเป็นความสุขจากความสัมพันธ์ และ 4 คาบสุดท้ายเป็นความสุขจากตัวเอง ต่อให้มีเรื่องเข้ามาหาเราเยอะมาก เราจะอยู่ได้ไหม อยู่อย่างสงบมั่นคง
เรารู้สึกว่าชีวิตมันจะมีทั้งทุกข์และสุข ขึ้นและลง เพราะเราต่างอยู่ในแม่น้ำสายนี้กันเรียบร้อยแล้ว แต่ว่านั้นแหละ เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้เข้ามา เราจะอยู่กันยังไงต่างหาก
‘อยู่กับความทุกข์ได้’ กับ ‘การอยู่อย่างมีความสุข’ สำหรับมะขวัญสองอย่างนี้เหมือน หรือแตกต่างกัน
เป็นคำที่ดีทั้งสองคำเลย (นิ่งคิด) ทำไมเรารู้สึกว่าเหมือนกันก็ไม่รู้ เพราะวิชาของเราก็คือการอยู่โดยมั่นคง และหาความสบายใจได้สักนิดหนึ่ง แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะที่ทุกข์ที่สุดก็ตาม
หรือถ้าอยู่ในสภาวะที่สุขก็เอนจอยช่วงเวลานั้นได้เลย มันก็คือการอยู่ให้ได้กับการขึ้น-ลงของชีวิต


ย้อนกลับไปที่มะขวัญบอกว่าอยากเอาวิชาความสุขไปสอนข้างนอก คนที่มะขวัญเคยสอนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักศึกษา การเอาไปให้คนวัยอื่นๆ ได้เรียน น่าจะเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้น
ใช่ๆ เพราะนักศึกษากับผู้ใหญ่จะมีเรื่องที่สอนไม่เหมือนกัน เพราะผู้ใหญ่จะเป็นวัยที่เข้าใจทุกอย่างในชีวิตมากกว่า แต่เขาแค่ไม่มีเวลามานั่งตกตะกอนทำความเข้าใจชีวิตตัวเอง หรือผู้ใหญ่เองอาจจะมีเครื่องมือ หรือวิธีการในการรับมือกับบางเหตุการณ์มากกว่าเด็ก ฉะนั้น เกมหรือกิจกรรมที่เราออกแบบให้นักศึกษาทำ กับผู้ใหญ่อาจจะไม่จำเป็น แต่เน้นมานั่งคุยกันแทน
เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า ทุกคนมีครูภายในตัวเอง มีองค์ความรู้ วิธีการเอาตัวรอดของตัวเอง งานของเราคือการทำให้เขาเห็นสิ่งนั้นในตัวเองมากกว่า ให้เขากลับไปจับจุดของตัวเองได้ จริงๆ เราเคยเอาไปทดลองทำแล้วนะ
เป็นไงบ้าง
เราไปทำกับเพจมนุษย์ต่างวัยมา จริงๆ ปัจจัยที่จะทำให้เรามีความสุขมีไม่กี่อย่างเลย ความสัมพันธ์ที่ดี การอยู่กับปัจจุบัน การตระหนักรู้ตัวเอง (Self – awareness) การมีสติ (Mindfulness) การให้ ความสามารถในการเข้าใจคนอื่น (Empathy) เป็นต้น มันจะวน 4 – 5 อย่างนี้ ตอนที่เราไปทำคอร์สกับมนุษย์ต่างวัย เราเอาแค่เรื่องความสัมพันธ์กับ Mindfulness ไป
คนที่เข้ามาทำกิจกรรมกับเราเพราะว่าชีวิตผู้ใหญ่มันเหี้ยจริงๆ (หัวเราะ) มันเป็นชีวิตที่ร่างกายเราเปราะบางและอ่อนแอลง แต่เรื่องกลับหนักขึ้น ทุกคนแค่ต้องการเวลานั้น ไม่ใช่เวลาที่กลับไปเป็นเด็กด้วยนะ แต่ต้องการหยุดเวลาที่ฉันเป็นผู้ใหญ่ หยุดสักพักหนึ่งที่ฉันจะได้กลับมาเป็นฉัน หรือฉันจะไม่เป็นอะไรเลย

คนที่มะขวัญเลือกที่จะสอนเรื่องความสุขกลุ่มแรกๆ คือนักศึกษา เป็นวัยที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปอีกวัยหนึ่งที่เขาต้องยืนด้วยตัวเอง ถ้าช่วงวัยนี้เราได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ หรือรู้เร็วๆ ว่าควรรับมือกับอารมณ์ความรู้สึก ดูแลจิตใจตัวเองยังไง มันส่งผลอะไรกับคนที่รู้
เราก็เห็นชีวิตผู้ใหญ่กันแล้วนิคะ (หัวเราะ) มันเป็นชีวิตที่มาพร้อมกับความท้าทาย พวกเราเรียนทักษะที่ต้องใช้ทำงานเยอะละ เราน่าจะเรียนทักษะดูแลใจกันบ้าง เป็นสิ่งที่ควรรู้ให้เร็วๆ เลย และเราเชื่อว่าแต่ละคนมีวิธีไม่เหมือนกัน เป็นวิธีที่เหมาะกับตัวเอง บางคนชอบนั่งสมาธิ บางคนเดินจงกรม หรือบางคนชอบเดินป่า
และเราว่าชีวิตมันต้องเจอจุดนั้นแน่ๆ พ่อแม่ตาย สอบตก อกหัก เราจะเจอจุดที่เหมือนเดินผ่านอุโมงค์มืดๆ ที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร เพราะเคยมีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่าอยู่ในความมืดตลอดเวลา เราจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะมีวันที่เรากลับมามีความสุขได้อีกครั้ง
เพราะจะเกิดวันเช่นนั้น เราถึงต้องเรียนรู้เครื่องมือพวกนี้ไว้เพื่อรับมือ เราเชื่อว่าการเกิดเป็นคนครั้งหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความสุข เราไม่ได้เกิดมาต้องเป็นทาสของแม่คนนี้ให้ด่าเราไปจนตาย เราไม่ต้องทุกข์ให้ใครไปจนวันตายหรอก สัก 4 – 5 ปีก็พอแล้ว ไม่ต้องเจ็บปวดรักเธอไปตลอดชีวิต เสียดายเวลา
ถ้ามีคนที่ไม่มีโอกาสเข้าเรียนกับมะขวัญ แต่อยากดูแลจิตใจตัวเอง หาความสุขใส่ตัว อยากได้คำแนะนำจากมะขวัญในการเริ่มต้นทำสิ่งนี้
มันจะเริ่มด้วยคำถามนี้ ‘ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง โอเคไหม?’ พาตัวเรามาอยู่ ณ ตอนนี้ก่อน หายใจเข้าลึกๆ เอามือถือไปตั้งไว้ไกลๆ เริ่มตั้งเวลาสัก 10 นาที แล้วหากระดาษสักแผ่น หรือตุ๊กตาอะไรก็ได้ แล้วใช้คำถามนี้ ‘ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง’ ‘ชีวิตช่วงนี้เป็นยังไง’ ลองรีวิวสภาพชีวิตรวมๆ ของเราหน่อย พอเราเห็นภาพว่ามันประมาณไหน ก็ลองดูต่อหน่อยสิว่าชีวิตตอนนี้มีอะไรที่ทำแล้วมีความสุขได้บ้าง ที่มันรักษาเยียวยาจิตใจเรา หรือสิ่งที่ทำๆ อยู่มันเยียวยาได้ไหม
ถ้าไม่มีก็ลองหากิจกรรมใหม่ๆ ดู ขอแค่ 15 นาทีต่อวัน หรือถ้าไม่มีจริงๆ ลองนั่งตกตะกอนตัวเอง อยู่นิ่งๆ หายใจเข้าและออก เราจะพบว่าพื้นที่สงบนิ่งมันถูกสร้างขึ้นในใจเราแล้ว หรือถ้าคิดว่าไม่ไหว เราพอจะไปพบผู้เชี่ยวชาญได้ไหม ขออย่าปล่อยให้ปัญหาเรื้อรัง

แล้วกับความผิดหวังละ มีคำแนะนำไหมว่าเราควรอยู่กับมันอย่างไร โดยเฉพาะความผิดหวังที่เกิดจากความคาดหวัง
ในความคาดหวังไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเอง เรื่องคนอื่น หรือสภาพประเทศเอง จะมีส่วนของจินตนาการ หรือความไม่จริงอยู่เยอะมาก อย่างเช่นเราเชื่อว่าการเมืองไม่มีทางเปลี่ยนได้หรอก มันจะต้องเป็นแบบนี้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงอย่างเดียวที่เราเห็นในตอนนี้
หนึ่งสิ่งที่เราต้องเปิด คือ เปิดพื้นที่ของความเป็นไปได้ของทุกสิ่ง ถ้าเรารู้สึกผิดหวังในตัวเอง ผิดหวังเสียใจได้เลย อย่ามองข้ามความรู้สึก พอดีขึ้นแล้วลองทำอะไรที่รู้สึกดีกับตัวเอง สุดท้ายกลับมาจัดการตัวเองให้ดีก่อน ถามตัวเองให้ดีว่าเราอยากไปต่อกับ…สมมติเรื่องการเมืองไหม หรือไม่ไหวพอแล้ว ก็หยุดก่อน
คุณชอว์น เอเคอร์บอกว่าความสุขเป็นเรื่องงานกลุ่ม เป็นสิ่งที่ต้องทำร่วมกัน มันไม่จริงเลยที่เรามีความสุขคนเดียวแล้วจะจบ สุดท้ายคือการจับมือไปด้วยกันทั้งหมด
ความสุขเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่อยากให้ตัวเองมี แต่บางครั้งมันก็เกิดยากจริงๆ หรือไม่มีเลย บางคนก็จะรู้สึกผิดกับตัวเอง รู้สึกแย่ที่เขาไม่สามารถสร้างสิ่งนี้ได้
ความยากตอนนี้ คือ มีโซเชียลมีเดียที่ทำให้เราเห็นชีวิตคนอื่น แล้วก็ความรู้สึกผิดกับตัวเอง ที่เราดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ เราอยากตอบคำถามนี้ด้วยคำว่าฤดูกาลชีวิต ชีวิตมีฤดูกาลของมัน และทุกๆ ฤดูกาลมีความหมายเสมอ แกคงไม่ได้มีแต่ช่วงที่มีแพสชัน มีไฟตลอดเวลา มันคงเหนื่อยตาย มีช่วงที่แกหมดแรง จม เศร้า แต่สิ่งนี้ก็มีความดีงามของมัน เพราะถ้าเราตั้งสติตั้งหลักได้ทัน มันจะพาเราไปหาจุดแข็งแกร่งจริงๆ ที่อยู่ในตัวเองเจอ
ถ้าตอนนี้เรายังมีความสุขไม่ได้และรู้สึกเศร้าอยู่ น่าจะได้เวลาเยียวยาตัวเองแล้วล่ะ เพราะแปลว่าเรากำลังอยู่ในฤดูกาลที่ต้องทำความเข้าใจบางอย่างของชีวิต พอเราเข้าใจก็จะก้าวเข้าสู่ฤดูกาลต่อไปได้ ที่สำคัญคืออย่ากดดันตัว เช่น อาทิตย์นี้ฉันต้องหาความสุขให้ได้ ค่อยๆ ทำ อยู่ไปในแต่ละวัน

เจอประโยคหนึ่งในเฟซบุ๊กมะขวัญ ‘ใช้ชีวิตอย่างมีหัวใจ’ จริงๆ หัวใจกับความสุขเป็นสิ่งที่ถูกจับคู่กันบ่อยนะ ไม่รู้ทำไม แล้วประโยคนี้ในความรู้สึกของมะขวัญเป็นยังไง
มันเป็นความรู้สึกรู้สาในฐานะมนุษย์ เราเคยดูสารคดีที่ชื่อว่า Where to invade next เจอคนพูดประโยคหนึ่งประมาณว่า ถ้าคุณรวย แต่ยังมีคนในประเทศต้องนอนข้างถนน คุณจะมีความสุขได้จริงๆ เหรอ เราชอบประโยคนี้มาก มันคือความรู้สึกรู้สาในฐานะมนุษย์ เพราะพอเราอยู่ในบางบทบาท เราจะรู้สึกว่าหน้าที่หรือข้อบังคับต่างๆ ต้องมาก่อน มองข้ามหัวใจคนอื่นๆ ไป
การใช้ชีวิตอย่างมีหัวใจ คือ เข้าใจความรู้สึกความต้องของตัวเองและคนอื่น คำว่า ‘หัวใจ’ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกความต้องการนะ แต่มันคือตัวตน ความเป็นเราและเขา ความเป็นมนุษย์ ถ้าเราต่างใช้ชีวิตอย่างเข้าใจความเป็นมนุษย์ของเรา และของคนอื่นด้วยสักหน่อย อะไรๆ มันน่าจะดี
แต่การมีสิ่งนี้ก็ค่อนข้างยากสำหรับบางคน
เราก็จะโทษระบบ (หัวเราะ) เป็นเพราะระบบที่รันประเทศนี้เห็นคนเป็นฝุ่น เห็นคนไม่เท่ากัน ถ้าให้พูดแบบหยาบๆ เลยนะ มันเห็นคนเป็นระดับเพื่อทำให้รู้สึกดีว่า ฉันอยู่สูงกว่าเธอ เธอก็แค่ลูกน้องฉัน เป็นสังคมที่ไม่มีหัวใจ เป็นสังคมที่เราอยู่ด้วยบทบาทหน้าที่ มันเลยไม่มี empathy เหลืออยู่แล้ว
มีคาบหนึ่งที่เราให้เด็กไปคุยกับลุงยาม ป้าแม่บ้านในมหา’ลัย เด็กบางคนกลับมาร้องไห้น้ำตานองเลย เอาจริงๆ ถ้าเรามองทุกๆ คนเป็นมนุษย์ มันจะมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มันจะน่ารักและน่าอยู่กว่านี้
การที่ปีนี้เป็นปีที่มะขวัญมีความสุขมากๆ และตัวมะขวัญเองก็เข้าใจชีวิตด้วยส่วนหนึ่ง แต่มีโอกาสไหมที่จะเกิดความกลัวเล็กๆ ในใจว่า ปีต่อไปอาจสลับกัน เราอาจเผชิญความทุกข์ทั้งปี หรือไม่ดีเท่าปีนี้
ไม่เลย เพราะเราเข้าใจเรื่องฤดูกาลชีวิต เราเลยไม่กลัวถ้าปีหน้าจะซึมเศร้าอย่างหนัก หรือบรรลุเป็นพระอรหัต เราเลิกกลัวชีวิตไปแล้ว เพราะเราเคยเป็นมะขวัญที่กลัวตลอดเวลามาเกือบ 30 ปี กลัวว่าปีหน้าเราจะอยู่ถึงไหม จะโดนไล่ออกจากงานเมื่อไร แต่มะขวัญตอนนี้จะเป็นคนที่…กูรู้ว่ามันคงจะเกิดเรื่องพวกนี้ กูจะโวยวาย ร้องไห้ เสียใจ แต่ก็เชื่อว่าอีมะขวัญจะหาทางผ่านมันไปให้ได้ เพราะเราเชื่อมั่นในตัวเองมากๆ มั้ง มันเลยทำให้เราไม่ค่อยกลัวละ
