72,250 คือ จำนวนแพทย์ทั้งหมดในประเทศไทยตามข้อมูลของแพทยสภาปี 2566
10,595 คือ จำนวนแพทย์ที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานครจากข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2566
และ 1,509-2,473 คน คือ จำนวนแพทย์ที่ทำงานอยู่ในภาคอีสานจากข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2566
ซึ่งเราเชื่อว่าในจำนวนแพทย์กว่า 2,000 คนต้องมีคุณหมอที่เป็นคนจังหวัดอื่นๆ แต่ต้องย้ายเข้ามาทำงานในภาคอีสาน ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่ต้องเจอ คือ การตั้งใจฟังคนไข้เล่าอาการของตัวเองเป็นภาษาอีสาน
แล้ว ป็อปปี้ – ณิชาภา เจษฎาวาณิช นักศึกษาภาควิชานิเทศศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็มองเห็นปัญหานี้จึงออกแบบ MedWhoCome เว็บไซต์ที่เป็นเหมือนคลังคำศัพท์แปลภาษาอีสานสำหรับคุณหมอต่างถิ่นผ่านโมชันกราฟิก
“MedWhoCome ประกอบด้วย Med (เหม็ด) มาจาก Medical Student เป็นคำเรียกหมอหรือนักศึกษาแพทย์ฝึกหัด และ Whocome คือ หมอผู้มาเยือน คล้องกับคำว่า ฮู้คำ แปลว่ารู้คำ” เธออธิบาย
ปัจจุบัน MedWhoCome มีคำศัพท์เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยทั้งหมด 40 คำ โดยเลือกเป็นภาษาอีสานสำเนียงลาวตะวันตก ที่ใช้ในจังหวัดร้อยเอ็ด อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม หนองคาย (บางหมู่บ้าน)
จุดประสงค์ของเว็บไซต์นี้ คือ การทำให้การพูดภาษาถิ่นจะกลายเป็นเรื่องปกติและไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานของบุคลากรแพทย์ เธอจึงอยากให้ MedWhoCome เป็นตัวช่วยและแบ่งเบาภาระให้กับคุณหมอได้

เพราะการใช้ชีวิตการย้ายถิ่น ป็อปปี้รู้ดีกว่าใคร เพราะเธอคือเด็กร้อยเอ็ดที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพมหานครเหมือนกัน ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังรักในภาษาบ้านเกิดของตัวเอง
“รู้สึกว่าตัวเองอินภาษาอีสานหรือภาษาถิ่น เพราะมันมีเสน่ห์และบอกถึงอัตลักษณ์หรือวิถีชีวิตของคนพื้นที่นั้นๆ ด้วย เช่น ขึ้นแท็กซี่ พอรู้สึกว่าแท็กซี่มีสำเนียงอีสานนิดหนึ่ง ก็จะถามว่าคนที่ไหนคะ หรือบางทีแท็กซี่ก็ถามเรา มันเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจบางอย่าง ทำให้พูดคุย สนุก เหมือนเรามาจากพื้นที่เดียวกัน การมาอยู่กรุงเทพฯ อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่ทำให้รู้สึกใกล้บ้านมากขึ้น”
เว็บไซต์นี้ คือ จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของนักศึกษาคนหนึ่งที่จะนำลายเส้น องค์ประกอบทางศิลปะ เรื่องราวภาษาถิ่นและปัญหาของคุณหมอต่างถิ่นมาผสานรวมกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ให้กับสังคม
เด็กกราฟิกที่อยากช่วยแก้ปัญหาสังคม
สิ่งที่ป็อปได้เรียนรู้ระหว่างการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย 4 ปี คือ ทักษะโปรแกรมต่างๆ การทำงานตอบโจทย์ลูกค้า และการแก้ปัญหาด้วยการออกแบบ
ป็อปปี้อธิบายเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาด้วยการออกแบบเป็นการแก้ปัญหา เพื่อประสิทธิภาพในการสื่อสาร ยกตัวอย่างเช่น สร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้ชัดเจนขึ้นผ่านลายเส้น องค์ประกอบ และเรื่องราว
“เช่น แบรนด์มีอัตลักษณ์ยังไง อยากให้เราแก้ปัญหาอะไร อยากให้คนมองแบรนด์ยังไง หรือรู้สึกกับแบรนด์ยังไง แล้วเรามีหน้าที่สื่อสารตัวตนของแบรนด์ให้ชัดเจนขึ้นผ่าน visual ผ่านกราฟิก ตอนเรียนก็เคยได้รับโจทย์รีแบรนด์ผ่าน Packaging เราเลือกชาจากไร่ฉุยฟง”
“เพราะไร่ฉุยฟงมีสถาปัตยกรรมที่สวย มีวิวสวยมากๆ แต่ปัญหาคือลูกค้าที่กลับบ้านไปแล้วเขาคิดถึง อยากหอบวิวจากไร่ฉุยฝงกลับบ้านเลยเอามาตั้งเป็นคอนเซปต์ที่นำไปสู่ Art Direction ในการออกแบบต่อไป นำวิธีไล่เฉดสี ฟุ้งๆ หรืออะไรที่ทำให้ชวนนึกถึงบรรยากาศการมาเที่ยวที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นหมอก วิว หรือภูเขาของไร่ฉุยฟงมาวางบนผลิตภัณฑ์”


เมื่อถึงเวลาของธีสิสมาถึง เธอจึงเลือกหาประเด็นที่สนใจผ่านเรื่องราวของคนใกล้ตัว นั่นคือเพื่อนๆ สมัยมัธยมของเธอที่เลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ บางคนเป็นหมอ บางคนเลือกเรียนเภสัชศาสตร์ จึงทำให้เธอมองเห็นปัญหาของการเป็นหมอต่างถิ่นที่ต้องเรียนรู้ภาษาถิ่นเพิ่มเติมจากทักษะการแพทย์
จึงเป็นที่มาของ ‘MedWhoCome’ เว็บไซต์เพื่อรวบรวมคำศัพท์อาการเจ็บป่วยที่พบบ่อยสำหรับแพทย์จบใหม่หรือแพทย์ท้องถิ่นสำหรับการ
เรียนรู้คำศัพท์ภาษาอีสานใหม่ๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจการอธิบายอาการคนไข้ที่พูดภาษาพื้นถิ่นและวินิจฉัยโรคได้ตรงจุด
“โปรเจกต์นี้มาจากที่ป็อปมีเพื่อนๆ หรือรุ่นพี่ที่สนใจวงการแพทย์ อยากเรียนหมอ อยากเรียนเภสัช เพราะคิดว่าการเป็นหมอก็ยากแล้ว แต่การเป็นหมอ แล้วไม่ใช่คนอีสานมันยากยิ่งกว่า แล้วเราก็อยากใช้ประโยชน์จากการเรียนกราฟิกมาแสดงให้เห็นว่า เราสามารถทำประโยชน์ให้วงการอื่นๆ ได้เหมือนกัน” ป็อปปี้เล่า
MedWhoCome เว็บไซต์คำศัพท์สำหรับคุณหมอต่างถิ่นในภาคอีสาน
ป็อปปี้เล่าว่า อุปสรรคของการเป็นหมอต่างถิ่น คือ ภาษาสำหรับการสื่อสาร
คุณหมอบางคนย้ายมาจากจังหวัดอื่นแล้วไม่เข้าใจคำอธิบายอาการต่างๆ ของคนไข้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิด ส่งผลต่อการตรวจวินิจฉัยโรค
“อุปสรรคสำคัญของคุณหมอที่เป็นคนจังหวัดอื่น คือ ภาษา เพราะขนาดภาษาอีสานในชีวิตประจำวัน คนอีสานยังไม่ค่อยเข้าใจ ยิ่งเป็นความไม่เข้าใจที่เกิดในโรงพยาบาลอาจนำไปสู่การวินิจฉัยไม่ครบหรือเข้าใจผิดได้”
“เช่น คุณยายมาบอกว่า ‘ยายเหมื่อย’ แต่เหมื่อย ถ้าเรามองเผินๆ หรือให้เราเดา เราจะนึกว่าเมื่อยหรือเปล่า ปวดเมื่อยหรือเปล่า แต่คำว่าเหมื่อย (เมือย) มันไม่ใช่เมื่อย มันอาจหมายถึงการหายใจไม่อิ่ม อาจจะนำไปสู่โรคหัวใจได้”

สิ่งนี้ไม่มีอยู่ในหลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ในพื้นที่ หากหมอไม่เข้าใจ สิ่งที่ทำ คือ ถามพยาบาล ถามญาติคนไข้ ถามเพื่อนๆ ในคณะ และใช้การตรวจตามร่างกาย
“มันไม่มีคลาสสอนภาษาถิ่น ตอนที่เรามาเป็น extern ที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ถ้าไม่เข้าใจก็จะถามพยาบาลทันที ถ้าไม่เข้าใจอีกก็จะถามญาติคนไข้ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ก็ต้องตรวจร่างกาย กดท้อง ฟังปอด” ป็อปปี้เล่าความเห็นของคุณหมอที่เคยมีประสบการณ์เป็นหมอต่างถิ่นระหว่างเก็บข้อมูลให้ฟัง
เธอจึงหวังว่า เว็บไซต์ MedWhoCome จะเป็นตัวช่วยสำหรับคุณหมอต่างถิ่นสำหรับการรักษา ขณะเดียวกัน เมื่อคุณหมอเข้าใจแล้วคนไข้ก็จะรู้สึกวางใจแล้วกล้าเล่าอาการของตัวเองโดยไม่ต้องกังวล
“เราเป็นคนอีสานเอง บางคำเราก็ไม่เข้าใจ แล้วคุณหมอจะเข้าใจได้ยังไง เพราะแค่วินิจฉัยโรคก็ยากแล้ว ต้องมาวินิจฉัยคำอีกว่า คำนี้แปลว่าอะไร”
“การที่คุณหมอรู้หรือพูดอีสานได้บางคำมันจะสร้างความไว้ใจให้กับคนไข้ในการบอกว่าเป็นอะไรมา แล้วมันก็เป็นประโยชน์ต่อการซักประวัติ คนไข้ก็จะกล้าให้ความร่วมมือมากขึ้น”
ทุกฟังก์ชัน ทุกรายละเอียด มีเรื่องราวของคนอีสานและชีวิตของหมอซ่อนอยู่
จริงๆ แล้ว ในหน้าแรกของเว็บไซต์ MedWhoCome ป็อปปี้ออกแบบมาจากหน้าการซักประวัติคนไข้ที่ประกอบไปด้วย การทวนอาการตามระบบร่างกาย 10 ระบบ และเวลาการเจ็บป่วย
“หน้าโฮมเพจ ป็อปอ้างอิงมาจากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2534 แล้วก็มีดูของต่างประเทศด้วย เทียบกับปัจจุบันแล้วเช็คกับพี่ๆ หมอที่รู้จักด้วย ก็ไม่ต่างจากงานวิจัยเมื่อก่อนมากเท่าไหร่ เขายังแบ่งหมวดคล้าย ๆ กัน ก็เลยได้แรงบันดาลใจที่จะออกแบบหน้าเว็บเป็นเส้นตารางให้คล้ายๆ กับใบซักประวัติ”
“แล้วเวลาซักประวัติ นอกจากอาการ หมอจะต้องถามด้วยว่าเป็นตั้งแต่เมื่อไหร่ ระยะเวลา เป็นบ่อย หรือนานๆ เป็นที มันจะนำไปวินิจฉัยต่อได้ เช่น ถ้าไข้หายแล้ว เป็นไข้ตอนเย็นอีกรอบ เป็นไข้ตลอด มันมีผลต่อการวินิจฉัย”

ตอนนี้ MedWhoCome มีคำภาษาอีสานสำหรับคุณหมออยู่ทั้งหมด 72 คำ โดยป็อปปี้รวบรวมมาจากงานวิจัย คนไข้คนอีสาน และความเห็นของคุณหมอ เภสัชกรในภาคอีสานจริงๆ
เธอเล่าถึงกระบวนการรวบรวมคำศัพท์ว่า เธอเปิดพื้นที่ให้คุณหมอและบุคคลทั่วไปเข้ามาตอบและแชร์คำศัพท์ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน
“ตอนที่กำหนดขอบเขตการศึกษา ต้องกำหนดก่อนว่า จะค้นคว้าจากไหนบ้าง หนึ่งก็คือเป็นแบบออนไลน์ สองก็คือออฟไลน์ไปห้องสมุด ขั้นตอนแรกก่อนที่จะได้ลงพื้นที่ ก่อนจะปิดเทอม ใช้แบบสอบถามชื่อว่า padlet.com”
“ป็อปใช้วิธีทำแบบสอบถามผ่าน padlet.com เป็นแบบสอบถามโดยไม่ต้อง login email แล้วก็มีคนช่วยๆ กันแชร์ ทั้งคุณหมอและนักศึกษาแพทย์ และนอกจากสอบถามบุคลากรทางการแพทย์ ก็ต้องสอบถามคนเฒ่าคนแก่ โดยเฉพาะคนต่างอำเภอ เวลาเขาไปโรงพยาบาล บางทีเขาอธิบายเป็นภาษากลางไม่ออก เขาก็ต้องใช้ภาษาที่ตัวเองเข้าใจ แต่ปัญหาคือคุณหมอไม่เข้าใจ”
ถึงแม้ว่าป็อปปี้จะเป็นคนอีสาน แต่บางคำศัพท์เธอก็ได้เรียนรู้ไปด้วยระหว่างการเก็บข้อมูล
“ด้วยความที่เป็นคนอีสานก็จะคุ้นเคยอยู่แล้วก็หาข้อมูลง่ายขึ้น หรือบางคำก็เพิ่งรู้จักตอนรีเสิร์ชเหมือนกัน เช่น แสบบักหูก ก็แบบแสบหูเหรอหรือแสบรูอะไรหรือเปล่า จริงๆ มันคือกรดไหลย้อน ไม่รู้ก็คือไม่รู้เลย”
ส่วนเหตุผลที่เลือกโมชันกราฟิกประกอบการแปลภาษา เพราะป็อปปี้เชื่อว่า การแปลภาษาอีสานไม่สามารถแปลได้ด้วยเพียงตัวอักษรแต่ต้องมีสิ่งที่สื่อถึงท่าทางหรือความรู้สึกของคนพูดประกอบ
“จริงๆ มันมีเว็บรวบรวมคำศัพท์อีสานอยู่แล้ว แต่มีแค่คำอ่านกับคำแปลที่สั้นมากๆ แต่จริงๆ แล้วแปลภาษาอีสานบางคำ มันต้องใช้อารมณ์และท่าทางประกอบก็เลยทำเป็นโมชันกราฟิกอธิบายให้คุณหมอเข้าใจมากขึ้นว่า ถ้ามวนท้อง มวนท้องแบบไหน”
“ถ้าเอา typography มาเล่นมันจะช่วยจดจำ เช่น แสบบักหูก ป็อปก็เล่นกับสระแอ ให้สระแอเลื่อนจากกลางหน้าอกขึ้นไปที่คอ พอมีการขยับ ป็อปคาดหวังว่าคุณหมอจะจำคำว่าแสบ แบบแสบ สระแอที่เพิ่งดูเว็บนี้เมื่อคืนได้ว่า มันคือกรดไหลย้อน ก็เลยเอามาเล่น”


นอกจากกราฟิกแล้ว ป็อปปี้ยังใส่ปุ่มฟังเสียง เพื่อให้คุณหมอได้ฟังเสียงอีสานจากคนอีสานจริงๆ เพราะคนที่เธอเลือกมา คือ คุณครูคนร้อยเอ็ดที่การันตีด้วยงานพิธีกรมากมาย ทุกสำเนียง ทุกพยางค์ จึงชัดเจนไม่ต่างจากคนพื้นถิ่นมากนัก
“คนพากย์เป็นคนร้อยเอ็ดและเป็นอาจารย์ในจังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน ด้วยความที่เป็นพิธีกร เวลาลงเสียง เช่น โปล๊กปก แปลว่าหัวโน หัวปูด เขาก็จะ โป ล๊ก ป๊ก ออกเสียงให้แข็ง มันจะได้อารมณ์บางอย่าง ป็อปรู้สึกว่าภาษาอีสานมันมีการอธิบายบางอย่างช่วยส่งเสริมความหมายนั้น”
และสุดท้าย คือ ความต้องการที่จะให้โปรเจกต์นี้สะท้อนถึงจุดเด่นของภาคอีสาน ป็อปปี้เลยเลือกภาพแต้มสีบนผนังศาสนสถานมาเป็นแรงบันดาลใจและประยุกต์ในการทำ Art Direction ของ MedWhoCome
“ตัวภาพประกอบหรือสไตล์ Art Direction ของเว็บเรามาจากฮูปแต้มอีสาน คือ ภาพที่แต่งแต้มสีสะท้อนวิถีชีวิตผ่านรูปภาพชาดกข้างผนังหรือโบสถ์ของอีสานแล้วก็จะมีตัวธรรม อักษรไทน้อยคอยบรรยายสถานการณ์ต่างๆ ป็อปเลยเอามาใช้ทำเป็นโลโก้”
“ส่วนฟอนต์ในเว็บไซต์ พยายามเลือกฟอนต์กึ่งทางการ บางอย่างมันจะมีโค้งหรือลูกเล่นบางอย่าง ที่ไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น ส่วนภาษาไทยจะเห็นได้ว่า มันจะค่อนข้างเป็นตัวกึ่งเหลี่ยม กึ่งมน มันจะอ้วนๆ นิดนึง คล้ายๆ ตัวอักษรไทน้อย”
การอยู่ต่างถิ่นมันยาก และเราเข้าใจว่าคุณหมออาจไม่เข้าใจคำอีสาน
“ถ้าเรามีเวลาและทุน เราก็อยากให้ MedWhoCome มีคำศัพท์มากขึ้น” คือ สิ่งที่ป็อปปี้หวังกับโปรเจต์ที่เธอสร้างขึ้นมา หลังจากชีวิตวัยเรียนจบลง
ย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ในงาน ‘ทีเผลอ’ งานแสดงผลงานธีสิสของนักศึกษาภาควิชานิเทศศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่ MedWhoCome ได้วางอยู่หน้าผู้คนหลากหลายที่แวะเวียนมาชม และชมว่า “เจ๋งดีว่ะ ชอบ”
ในฐานะคนทำงาน ป็อปปี้บอกว่า เธอรู้สึกหายเหนื่อยและรู้สึกว่างานเล็กๆ ที่นักศึกษาคนหนึ่งทำจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้
“ไม่คิดว่าจะมาไกลสุดๆ ทั้งหมอหรือคนที่ได้ชมงานเรา เขียนโน้ตว่าเป็นประโยชน์มากเลย ขอให้คนชอบงานเยอะๆ นะก็ทำให้หายเหนื่อย แล้วก็รู้สึกว่ากราฟิกมันสามารถแก้ปัญหาหรือสร้างประโยชน์ให้คนได้เยอะมาก อาจจะเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ก็ได้”
หลังจากเรียนมา 4 ปี รวมถึงการทำงานกราฟิกจึงทำให้เธอเห็นว่า กราฟิกก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่สามารถช่วยเหลือวงการอื่นๆ ได้
“กราฟิกสามารถช่วยสะท้อนปัญหาได้ โฆษณา โปสเตอร์ หรือ คำคมก็สามารถเป็นกระบอกเสียงได้”
อย่างเช่น MedWhoCome ป็อปปี้ก็เลือกที่จะสื่อสารผ่านข้อความสั้นๆ เพียงประโยคเดียว คือ “เราเข้าใจว่าคุณหมออาจไม่เข้าใจ”
เพราะตลอดระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่คิด เก็บข้อมูล ลงมือทำจนเป็นผลงาน เธอได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งการกลับไปดูรากเหง้าภาษาบ้านเกิดและสิ่งที่คุณหมอต่างจังหวัดต้องแบกรับ
ณ วันนี้ เธอรู้ดีกว่าใคร
ป็อปปี้จึงหวังว่า MedWhoCome จะเป็นเครื่องมือที่แบ่งเบาภาระของคุณหมอ สร้างรอยยิ้ม และเรียนรู้ศัพท์ภาษาอีสานด้วยความสนุกไปพร้อมกันได้
“เป็นกำลังใจให้คุณหมอทุกคน เรารู้ว่าการอยู่ต่างถิ่นมันยากมาก ป็อปย้ายมาทำงานกรุงเทพฯ ก็รู้สึกใจหาย ต้องอยู่ไกลบ้าน แล้วบางคนไปคนเดียว ไปอยู่ชุมชนไกลๆ หวังว่าเว็บเราจะเป็นเพื่อน สร้างเสียงหัวเราะ สร้างรอยยิ้มให้คุณหมอได้รู้จักและสนุกกับการอยู่ที่อีสานมากขึ้น”
แล้วในฐานะคนอีสาน ป็อปปี้ทิ้งท้ายไว้ว่า “คนอีสานก่าแบบว่าจริงใจหลายเด้อ แล้วกะน่าฮัก เป็นกันเอง อยากสิฮู้อิหยังกะถามได้ ใจดี”