Midlife Crisis

Midlife Crisis วิกฤติวัยกลางคน ที่ร้องไห้ก็ไม่ได้ จะเข้มแข็งก็ไม่ไหว

เดอะแบก คือคำนิยามของคนอายุตั้งแต่ 35-50 ปี หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘ช่วงวัยกลางคน’ ‘คนวัยทำงาน’ เป็นประชากรกลุ่มใหญ่สุดในประเทศ มากถึง 44% จากทั้งหมด ที่มีความสำคัญทั้งกำลัง แรงงาน ที่ส่งผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจระดับมหภาค

คำว่า ‘เดอะแบก’ ที่คนกลุ่มนี้ถูกนิยามไว้ ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเล่นๆ พวกเขาล้วนแบกอะไรๆ ไว้นานัปการ จนเกิดภาวะวิกฤติในสุขภาพใจที่บางครั้งอยากจะหลั่งน้ำตาก็ทำไม่ได้ ต้องฮึบเข้มแข็งเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป แม้ในใจจะไม่ไหวแล้วก็ตาม 

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเก็บรวบรวมสถิติเกี่ยวกับความเครียด พบว่าปัจจุบันคนกลุ่มวัยทำงานเครียดเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 3 เท่า หรือแม้แต่สถิติของโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านจิตเวช Bangkok Mental Health Hospital (BMHH) ที่เพิ่งเปิดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก็มีตัวเลขตรงกันว่าคนที่เข้ามาปรึกษาด้านความเครียดมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 25-40 ปี และเสี่ยงต่อการเป็นปัญหาสุขภาพจิตตามมา

ข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือน ม.ค. 2566 พบวัยแรงงานอายุ 20-59 ปี ขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงเป็นอันดับ 1 กว่า 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย 

กล่าวแค่ตัวเลขสถิติอาจจะมองเห็นภาพไม่ชัดว่าภาวะวิกฤติวัยกลางคน (Midlife Crisis) หรือวัยเดอะแบกทุกข์แค่ไหน ทุกข์ที่เจอเป็นยังไง จากวิจัย “ความสัมพันธ์ของความเครียด ตราบาป เจตคติในการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยาและภาวะวิกฤติวัยกลางคนในคนวัยทำงาน” ของนิศานาถ เรืองเดชสิริพงศ์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการสำรวจภาวะวิกฤติวัยกลางคนของคนไทยวัยทำงานอายุ 26-59 ปี ในกทม. และปริมณฑล พบว่าความเครียดมาจากปมปัญหาหลักๆ สามอย่างคือ

ประการแรก คนวัยเดอะแบกกำลังแบก ‘ความรับผิดชอบในชีวิตของตัวเอง’ ความคิดฝังหัวคือการมีบ้านมีรถสำหรับคนวัยนี้ ซึ่งผลผลิตเหล่านี้ล้วนต้องมาจากเม็ดเงินที่ต้องต่อสู้กับความท้าทายด้านการทำงาน 

35 เงินเก็บยังไม่ถึงแสน 

40 ยังไม่เป็นหัวหน้า 

ใกล้เกษียณไม่รู้จะไปทำอะไร 

สารพัดความท้าทายด้านการงานที่ต้องเผชิญส่งผลสู่การกดดันและความเครียด นอกจากนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่การงานย่อมเกิดความกดดันในการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ หรือบางคนก็ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่มั่นใจ และขาดเป้าหมายการใช้ชีวิตในที่สุด 

ประการที่สอง ต้องแบก ‘ความรับผิดชอบในครอบครัว’ คนวัยทำงานเป็นคนที่มีบทบาทในครอบครัวมากที่สุด ที่อาจจะต้องดูแลลูกไปพร้อมๆ กับการดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ ซึ่งการจะทำทั้งสองบทบาทได้ดีต้องใช้พลังกาย และพลังใจอย่างมหาศาล 

อย่างสุดท้าย ‘สุขภาพ’ ถ้า First Jobber บ่นว่าปวดหลัง แต่สำหรับคนวัยกลางคนที่ทำงานมาแล้วสักระยะหนึ่งจะไม่ได้บ่นแค่ปวดหลัง แต่พ่วงอาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ท้องอืด กรดไหลย้อน นอนไม่หลับ ชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า และเป็นฮ่องกงฟุต มนุษย์นั้นสังขารไม่เที่ยง อายุมากขึ้น แต่ร่างกายอ่อนแอลง ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาและค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงกับชีวิตในอนาคต กังวลสุขภาพ ส่งผลต่อความเครียดที่เกิดขึ้น 

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้คนช่วงวัยกลางคนเกิดภาวะวิกฤติที่เหมือนพกระเบิดลูกเล็กๆ ติดตัวตลอดเวลา ซึ่งเต็มไปด้วยความเครียด ความกดดัน ความเบื่อหน่ายในชีวิต รู้สึกท้อแท้ และสับสนจากการอยู่ในสังคม ขาดความพึงพอใจในการใช้ชีวิต ความสุขลดลง เช่น ไม่มีความสุขในเวลาพักผ่อน ไม่สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ กังวลต่อชีวิตในอนาคต  

ซึ่งเดอะแบกจำนวนไม่น้อยมักจะไม่กล้าที่จะเข้าหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยา ด้วยกำแพงที่เรียกว่า ‘ตราบาปหรือการตีตรา’ เพราะกลัวสังคมจะมองว่าเป็นคนไม่เข้มแข็ง ไม่มีคุณค่า ไม่เป็นที่ต้องการ ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม นับเป็นการตีตราจากตัวเอง จากคนใกล้ชิด และจากสังคม 

หลายๆ คนอาจจะไม่ได้รับรู้ว่าตัวเองกำลังเกิดวิกฤติวัยกลางคน เพราะปัญหาค่อยๆ เข้ามากระทบจิตใจทีละนิดจนถึงวันที่ความรู้สึกท่วมล้นและระเบิดออกมาในที่สุด ดังนั้นถ้าใครกำลังโทษว่าตนเองเป็นสาเหตุของความเครียดทั้งหลายเหล่านี้ จนอยาก ‘ลาออกจากการเป็นตัวเอง’ อาจจะย้อนกลับมาคิดใหม่ เพราะปัญหาต่างๆ ที่ประสบพบเจอล้วนมีที่มาที่ไป 

ข้อมูลจากสถาบันให้คำปรึกษาในสหรัฐฯ (Simply Being Wellness Counseling) เผยว่าวิกฤติวัยกลางคนเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกวัย  แต่ช่วงวัยกลางคนเป็นวัยที่ต้องรับการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีความเครียดเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดสภาวะเช่นนี้ก็เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคม ที่ทำให้คนในสังคมเชื่อว่าคุณควรจะประสบความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน มีบ้าน มีรถ ครอบครัว ซึ่งพอไม่เป็นไปตามความคาดหวังในสังคมก็ทำให้รู้สึกล้มเหลว 

นิตยสารด้านจิตวิทยาของสหรัฐฯ (Journal of Counseling Psychology) เผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการตีตราพบว่าคนทั่วไปไม่กล้าเข้าไปพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา มีสาเหตุมาจากการที่คนคนนั้นหลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์ความกังวลใจของตัวเอง หรือการไม่สะดวกบอกข้อมูลส่วนตัว รวมถึงการหลีกเลี่ยงความรู้สึกเจ็บปวดของประสบการณ์ที่เคยเจอมา ในบริบทของประเทศไทยก็มีมายาคติ หรือภาพจำถึงความรุนแรงต่อการรักษาอาการทางจิตเวช 

งานวิจัยสรุปชัดว่าการแสวงหาการช่วยเหลือทางจิตวิทยา เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชาวเดอะแบกเกิดวิกฤติวัยกลางคนต่ำ แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ เปรียบเสมือนการซ่อมรถพังๆ หนึ่งคันที่ต้องใช้ช่างหลายส่วนไม่ใช่แค่ซ่อมล้อ เติมน้ำมันแล้วจะวิ่งบนถนนได้ 

  • สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือ https://1323alltime.camri.go.th 
  • สายด่วนคลายทุกข์ Samaritans.Thailand : ของสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย โทร. 02-113-6789 เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น.
  • สายด่วน Depresswecare ของหน่วยงานจิตเวช โรงพยาบาลตํารวจ โทร. 081-932-0000
  • แอพลิเคชัน SATI พูดคุยกับอาสาสมัครรับฟัง

อ้างอิง