3.64 ล้านคน
เป็นตัวเลขของ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ที่อยู่ในไทยตอนนี้ จากรายงานข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและปฎิบัติการให้เกิดการคุ้มครองกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้คุ้มครอง โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2565)
มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป หากเราไปใช้บริการที่ร้านอาหารสักที่ หรือร้านค้าสักแห่ง แล้วคนที่ให้บริการจะเป็นพวกเขาเหล่านี้ที่สื่อสารและให้บริการเราอย่างคล่องแคล่ว
ตามบันทึกความร่วมมือด้านการจ้างงานแรงงานระหว่างประเทศ (MOU – Memorandum of Understanding on employment cooperation) ที่ไทยทำข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา พม่า ลาว ฯลฯ ในการนำเข้าแรงงานจากประเทศเหล่านี้มาที่ไทย จะระบุว่าอาชีพตามกฎหมายที่แรงงานเหล่านี้ทำได้จะมี 25 กิจการ* (ทำข้อมูลล้อมกรอบไว้ที่ข้างล่างสุดของบทความ) แต่ ณ วันนี้การขาดแคลนแรงงานทำให้แรงงานข้ามชาติค่อยๆ ไปทำงานในส่วนอื่นๆ ท่ามกลางของไม่ชัดเจนและช่องว่างกฎหมาย
ในรายงานดังกล่าวหยิบยกช่องว่างที่แรงงานข้ามชาติเผชิญ เช่น การทำงานในกลุ่มลูกจ้างแม่บ้าน ซึ่งตอนนี้มีจำนวน 125,773 คน (ข้อมูล ณ เดือน พฤศจิกายน 2565 โดยสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว) พวกเขาได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่น สิทธิ์ในการได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ หรือชั่วโมงการทำงานที่แน่นอน
บัณฑิต แป้นวิเศษ หัวหน้าฝ่ายนโยบาย มูลนิธิเพื่อนหญิง ที่ศึกษาและผลักดันนโยบายเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานเหล่านี้ดีขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า แม้พวกเขามีส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจและทำให้ธุรกิจ กิจกรรมต่างๆ สามารถดำเนินไปได้ แต่ก็ถูกมองข้าม และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตขณะที่อยู่ที่นี่
“สิ่งที่เราสนใจ คือ ทำยังไงให้คนกลุ่มนี้ได้เข้าถึงบริการและสิทธิ์ที่ควรได้รับ เพราะประเทศเราใช้แรงงานข้ามชาติเยอะมาก แต่แรงงานข้ามชาติก็ยังมีอุปสรรคปัญหา มีช่องว่างในการใช้ชีวิตที่นี่”
ถัดจากนี้คือการบอกเล่าเรื่องราวจากปากของ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ที่เราอาจไม่จำเป็นต้องสนใจหรือรู้เรื่องราวของพวกเขาก็ได้ แต่การรับรู้หรืออ่านเรื่องราวก็มีพลังของมัน คือ ทำให้เราเข้าใจและมองเห็นพวกเขา คนที่อยู่ใกล้เรามากๆ แต่ด้วยความต่างทางเชื้อชาติ เขาจึงเป็นอื่น
จากบ้านเกิดมาไทย
“เราเป็นชาวพม่า เผ่าปะโอ ส่วนใหญ่จะมาจากรัฐฉาน รัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง ส่วนมากอยู่ทางพระราม 2”
‘ใจดี แก่ทุต’ แนะนำตัวให้เรารู้จักกันก่อนด้วยชนเผ่าของเขา ‘ปะโอ’
ภาพถ่ายหลายสิบใบที่ติดอยู่บนกำแพงในห้องซึ่งเป็นสถานที่นัดเจอของเรากับพวกเขาครั้งนี้ ใจดีเล่าว่า เป็นภาพชาวปะโอของกลุ่มใจดี บอกเล่ากิจกรรมที่พวกเขาทำตอนอยู่ที่ไทย ไม่ว่าจะงานเลี้ยงที่ทุกคนต่างสวมใส่ชุดประจำชนเผ่าปะโอ งานกีฬาสีจังหวัดทางอีสานที่ไปเข้าร่วม งานทำบุญ เป็นต้น

ใจดีและชาวปะโอที่นี่ต่างเรียกตัวเองว่าเป็นแรงงานข้ามชาติ เพราะเหตุผลที่พวกเขามาก็คือทำงาน หาเลี้ยงตัวเองและคนอื่นๆ
ช่างทาสี แม่บ้าน
เป็น 2 อาชีพยอดฮิตของชาวปะโอในไทย ใจดีเล่าว่า อาชีพเริ่มต้นของผู้หญิงปะโอเมื่อเข้ามาที่ไทยได้ คือ การเป็นแม่บ้าน ส่วนผู้ชายจะเลือกเป็นช่างทาสี
“ทำงานบ้านมันสะดวกมากกว่า ได้อยู่บ้านนานๆ ไม่ต้องออกอะไร เขาออกให้หมดเลย ได้พูดไทยด้วย เพราะเขาพูดทุกวัน จะได้พูดได้เร็วๆ” ‘นาอิน น่อย’ ที่ตอนนี้เปลี่ยนอาชีพมาอยู่ในโลกก่อสร้าง เล่าย้อนถึงช่วงแรกของการอยู่ไทยที่เธอทำงานเป็นแม่บ้าน
เงินเดือนที่นาอินได้รับตอนนั้นอยู่ที่เดือนละ 8,000 บาท พอครบ 1 ปีเงินเดือนก็เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งงานของนาอินจะเริ่มต้นตั้งแต่ 6 โมงเช้า หรือก่อนเจ้านายตื่น กวาด – ถูบ้าน ล้างห้องน้ำอาทิตย์ละครั้ง รีดเสื้อผ้าวันเว้นวัน เลิกงานก็เมื่อเจ้านายเข้านอน

ส่วนงานช่างทาสีที่เคยเป็นอาชีพแรกของ ‘สิงห์ อภิชาติ’ เพราะญาติๆ คนรู้จักของเขาทำงานในไซต์ก่อสร้างเยอะ ซึ่งรายได้อยู่ที่วันละ 325 บาท และจ่ายทุกๆ 15 วัน
อายุการทำงานของแรงงานข้ามชาติในไทยตามกฎหมายจะเริ่มต้นที่ 18 – 55 ปี ซึ่งส่วนใหญ่อาชีพจะวนเวียนที่แม่บ้าน งานในไซต์ก่อสร้าง ร้านอาหาร หรือร้านขายของ ฯลฯ พวกเขาตั้งเป้าหมายไว้ที่การเก็บเงินกลับบ้านให้ได้มากที่สุด ส่วนจะทำอาชีพอะไร เป็นเรื่องรอง การเข้ามาเป็นแรงงานในไทยจะมี 2 แบบ คือ เข้าตามกฎหมายที่ประเทศไทยทำข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือการทำ MOU กับการเข้ามาอีกแบบ คือ ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามาตามตะเข็บชายแดน เช่น อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
หาเข้ามาไทยด้วย MOU แปลว่าพวกเขามีงานทำแน่นอน แต่งานที่เปิดรับในแต่ละปีมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนคนรอต่อคิว ทำให้หลายคนเลือกเข้ามาด้วยการลักลอบ
“ถ้ามาด้วย MOU มีงานทำแน่ๆ แต่ต้องรอนาน รอโควต้าให้ตกถึงเรา คนรอก็เยอะนะ” สิงห์ กล่าว
“ก่อนออกจากบ้านเตรียมเงินไว้เลย 25,000 บาทถึงจะพอ” ใจดีบอกตัวเลขค่าใช้จ่ายที่คนต้องเตรียมไว้หากเลือกวิธีนี้ โดยจะมี ‘นายหน้า’ คอยอำนวยความสะดวกจากบ้านเกิดมาส่งถึงจุดหมายที่ต้องการในประเทศไทย จากนั้นก็จะเป็นภารกิจของญาติๆ หรือคนรู้จักที่ติดต่อไว้ ซึ่งจะช่วยหางานให้ต่อเพื่อให้พวกเขามีรายได้ และตั้งต้นในไทยได้
แม้จะเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แต่แรงงานหลายคนก็อยากทำให้ตัวเองได้อยู่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็คือการทำเอกสารตามกฎหมายที่รับรองการอยู่อาศัยและทำงานของพวกเขา ใจดีเล่าว่า เอกสารที่แรงงานข้ามชาติแบบถูกกฎหมายต้องทำมี 3 อย่างด้วยกัน เอกสารแรก คือ CI (Certificate of Identity) หรือที่พวกเขาเรียกกันว่าพาสปอร์ตสีเขียว เป็นเอกสารรับรองบุคคลต่างชาติมีสิทธิอยู่และทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย
เอกสารที่ 2 คือ ใบขออนุญาตทำงาน (Work Permit) และสุดท้ายเป็นวีซ่า รวมค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารทั้งสามอย่างอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท ซึ่งเอกสารต้องมีการต่ออายุทุกๆ 2 ปี แต่ความยากของสิ่งนี้ที่ใจดีและคนอื่นๆ เจอ คือ ระยะเวลาดำเนินการนาน ทำให้มีผลตอนเจอเจ้าหน้าที่ขอตรวจเอกสารเพื่อยืนยันว่าอยู่อย่างถูกกฎหมาย แต่พวกเขาไม่มีเอกสารให้ดู
“ถ้าเจอเจ้าหน้าที่หรือตำรวจแล้วเขาบอกว่าเอกสารมีปัญหา เช่น เอกสารใช้ไม่ได้ หรือเราออกนอกเขต ตำรวจจะให้จ่าย 2,000 บาท หรือถ้าบอกว่ากำลังอยู่ในช่วงต่ออายุเอกสาร ตำรวจจะให้จ่ายประมาณ 12,000 บาทก็มี มีบางคนที่โดนข้อหาว่าไม่ได้พกเอกสารติดตัว เขาก็จะโทรให้ญาติเอามาให้ แต่บางคนไม่สู้ก็ยอมจ่ายตามที่เจ้าหน้าที่บอก
“เราไม่ได้ใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ประเทศไทยนะ แต่อันนี้เป็นสิ่งที่เราเจอจริงๆ คนปะโอไม่ชอบสู้คน” ใจดี เล่าถึงตัวเลขที่ชาวปะโอของเขาเคยต้องจ่ายค่าปรับ มักจะเริ่มต้นที่หลักพันจนถึงหลักหมื่น ส่วนใหญ่จะเป็นการจ้างด้วยเงินสดเท่านั้น แล้วไม่ได้ใบอะไรกลับมา นอกจากการปล่อยตัวจากเจ้าหน้าที่

ความยากอีกอย่างหนึ่งสำหรับแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แต่ต้องการทำเอกสารให้อยู่อย่างถูกต้อง คือ ช่วงเวลาที่ภาครัฐจะเปิดให้พวกเขาเข้าไปดำเนินการมีความไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะเปิดปีละหนึ่งครั้ง เช่น ช่วงเวลาที่เปิดให้ทำเอกสาร CI วันที่ 10 มกราคม – 27 กรกฎาคม 2565 แต่การะบาดของโควิดที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงแรงงานออกมาตรการขยายเวลาดำเนินเอกสารนี้เพิ่มถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ถ้ามีคนที่เข้าไปทำไม่ทัน อาจต้องรอว่าปีหน้าจะเปิดหรือไม่ แล้วเมื่อไร
“เขาบอกว่าเปิดเดือนมกราคมทุกปี ก็ไม่จริงนะ แล้วแต่เขาจะเปิดเลย 2 ปีเปิด 1 ครั้งก็มี” ใจดี กล่าว วิธีที่พวกเขาตามข่าวการเปิดของภาครัฐจะเป็นกลุ่มไลน์หรือในเฟสบุ๊คที่แรงงานข้ามชาติหาข่าวมาแชร์กัน
‘ยียี เวน’ ที่จะได้เวลาต้องต่ออายุเอกสาร แต่เอกสารที่เธอดำเนินการไปเกือบปียังไม่ได้ ซึ่งถามจากนายหน้าที่เป็นคนดูแลเรื่องนี้แทนเธอบอกแต่เพียงว่า มันต้องใช้เวลา แต่เกือบปีแล้วที่เธอยังไม่ได้เห็นหรือจับเอกสารสักแผ่น
‘นายหน้า’ ผู้ช่วยอำนวยความสะดวกขอชาวปะโอ
‘นายหน้า’ เป็นคนที่อยู่แทบจะทุกจังหวะชีวิตของแรงงานข้ามชาติในไทย ตั้งแต่พาเข้ามา เดินเรื่องเอกสารต่างๆ ไปจนถึงส่งข้าวของหรือเงินกลับไปให้ครอบครัวที่บ้านเกิด หรือแม้กระทั่งส่งสมาชิกครอบครัวอย่าง ‘ลูก’ กลับบ้านเกิดพวกเขา
“ถ้าพ่อแม่ไม่ได้พาไป จะให้คนที่ไว้ใจพาไป ถ้าเสียให้นายหน้าประมาณ 7,500 บาทถึงแม่สอด ถ้า 9,000 บาท ถึงจังหวัดตองยีเลย ชาวปะโอจะอยู่ที่นั่นเยอะ”

ใจดี เล่าว่า นายหน้าที่พวกเขาใช้บริการก็เป็นคนปะโอเช่นเดียวกัน แต่อาศัยที่ประเทศไทยมานานแล้วจนมีเครือข่ายที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แรงงานคนอื่นๆ ตามต้องการ ทำให้บางคนเลือกจะใช้นายหน้าเป็นตัวช่วยลดความยุ่งยาก
“บางคนส่งเงินกลับไปหมดเลย ให้สร้างบ้าน ดูแลครอบครัว มีนายหน้าส่งให้ สมมติเอาเงินไปให้นายหน้า เขาก็โทรบอกคนที่นู่นว่าให้เอาเงินเท่านี้ไปให้บ้านนี้นะ สมมติ 12,000 บาท ก็ประมาณ 1 ล้านจ๊าด (สกุลเงินที่ประเทศพม่าใช้) คนของนายหน้าก็จะเอาเงินจำนวนเท่านี้ไปให้ที่บ้านเขา ส่วนนายหน้าเอา 600 บาท เพราะบางคนไปธนาคารไม่ได้ แต่นายหน้าสามารถส่งไปถึงที่บ้าน ถ่ายรูปส่งให้ดูได้เลยด้วย”
“ถ้าให้นายหน้าทำเอกสารให้ทุกอย่าง อาจจะจ่ายค่าเอกสาร 12,000 อีก 2,000 ให้เขา ถึงเวลาก็แค่เรียกไปถ่ายรูปทำบัตร”
การเป็นชาวปะโอเหมือนกัน เป็นส่วนที่ทำให้ทุกคนเชื่อใจและช่วยเหลือกันและกัน ขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่
“บางคนมาคนเดียวไม่มีญาติ แต่ถ้าพูดภาษาปะโอได้ ที่ไม่ใช่ภาษาพม่านะ ก็ถือว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันแล้ว” ใจดี บอก
เป็นฟันเฟืองหนึ่งในสังคม แต่ถูกมองข้าม
“สิ่งที่เราสนใจ คือ ทำยังไงให้คนกลุ่มนี้ได้เข้าถึงบริการและสิทธิ์ที่ควรได้รับ เพราะประเทศเราใช้แรงงานข้ามชาติเยอะมาก แต่แรงงานข้ามชาติก็ยังมีอุปสรรคปัญหา มีช่องว่างในการใช้ชีวิตที่นี่”
อุปสรรคใหญ่ๆ ของแรงงานข้ามชาติที่บัณฑิตในฐานะคนที่ทำงานศึกษาพวกเขามองเห็น คือ การเข้าถึงบริการสุขภาพ หากเป็นแรงงานที่อยู่อย่างถูกกฎหมายนายจ้างสามารถนำพวกเขาเข้าระบบประกันสังคม ได้รับสิทธิ์เท่าคนอื่นๆ เช่น การคลอดบุตร การรักษาพยาบาล
“ถ้าเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไปซื้อบัตรประกันสุขภาพ หรือไปคลินิกจ่ายเงินเอง ซึ่งต้องมีงบ บางคนมีเงินก็อาจจะจ่ายได้ หรือบางคนก็ต้องไปหายืมมา ส่วนใหญ่จะเลือกไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เพราะบางที่ถ้าเขาเคร่งอาจไปแจ้งตำรวจได้ ถ้าไม่มีเอกสารอยู่อย่างถูกต้อง”

ตรงกับที่ใจดี เล่าว่า เมื่อมีใครเจ็บป่วย ถ้าไม่มีเอกสารที่ถูกต้อง พวกเขาจะไม่ยอมไปโรงพยาบาล แต่จะอาศัยให้คนรู้จักไปซื้อยาให้แทน หรือถ้าเจ็บหนักจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ก็จะเลือกโรงพยาบาลที่ใกล้ๆ ที่พัก เพราะพวกเขาจะรู้และเข้าใจ ยอมให้รักษาได้ แม้จะไม่มีเอกสารกฎหมาย
ทัศนคติของคนที่มีต่อแรงงานข้ามชาติก็ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ในการผลักดันให้คุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้น
“สิ่งหนึ่งเขาถูกมองแบบนี้ เพราะยังมีมายาคติเรื่องการใช้แรงงานข้ามชาติราคาถูก แรงงานข้ามชาติจะมาแย่งงานคนไทย สื่อเองก็ไปตอกย้ำเรื่องเหล่านี้
“การเข้ามาแย่งงานคนไทย เนื่องจากคนไทยมีทางเลือกมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น งานที่เสี่ยง หรือทำงานชั่วโมงยาวนาน ได้ค่าจ้างน้อย พวกเขาจะไม่ทำ นายจ้างก็ต้องเอาแรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทน อย่างไม่มีทางเลือก หรือเลือกเพราะไม่ต้องดูแลเยอะ กดขี่ได้ บีบค่าแรงได้
“ก็เหมือนเวลาคนไทยไปทำงานต่างประเทศ เราบอกว่าต้องอดทน แต่จริงๆ มันเป็นมายาคติ เพราะงานพวกนี้จำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาติ แล้วคุ้มครองแบบไหนและความมั่นคงที่พวกเขาควรได้รับ”
บัณฑิต มองว่า ถ้ากฎหมายถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมจะช่วยลดปัญหาต่างๆ และดึงแรงงานเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย
‘ความหวัง’ และ ‘เงิน’ ยังคงเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงทุกคน
แม้ว่าชีวิตในไทยจะไม่ง่าย แต่คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะอยู่ หรือยังคงมีแรงงานข้ามชาติคนใหม่ๆ เข้ามาอีกเรื่อยๆ

“เราอยู่บ้านทำไร่ทำนา พอทำจบค่อยไปทำไร่อ้อย เราปลูกอะไรต้องรอ 3 – 4 เดือนกว่าจะได้เงิน แต่พอเรามาอยู่เมืองไทย มีงานให้ทำทุกวัน บางที่ได้ทุกวัน บางที่ได้เงิน 15 วัน มีรายได้กำไร อยู่บ้านทำไร่ กว่าจะเก็บข้าวได้ ได้เงินก็ 2 ครั้งต่อปี จะกินอะไรล่ะ? จะหารายได้อะไรก็ยาก นายจ้างมันน้อย แต่กรุงเทพฯ มีงานให้ทำทุกวัน เงินได้ทุกวัน” สิงห์ เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขาต้องมาที่ไทยให้ได้ เพราะที่นี่มีความหวังและมีทางให้เขาหาเงินเพื่อเลี้ยงตัวเองและคนอื่นๆ ได้
ใจดีที่อยู่ที่นี่มานานกว่าคนอื่นๆ บอกว่า การอยู่ในประเทศไทยจะไม่ยากมาก หากอยู่ตามกฎหมาย แต่ข้อสำคัญคือภาครัฐควรเปิดโอกาสให้พวกเขาที่มาอยากลักลอบได้กลับมาอยู่ถูกกฎหมาย โดยเฉพาะการเปิดรอบทำเอกสารที่ชัดเจน
“อยากให้เปิดให้ทำทุกปี มีรอบที่แน่นอน เดือนมกราคมก็ได้ ค่าใช้จ่ายลดหน่อย แต่เราก็ทำอะไรไม่ค่อยได้ แต่ถ้าจ่าย 15,000 แล้วได้เอกสารเลยเราก็ยอม”
“ในชีวิตของผมอยู่ในไทยมากกว่าอยู่ในพม่า 50 – 60 ปีผมก็น่าจะยังอยู่ที่นี่นะ” ใจดี ทิ้งท้าย