“ทุกภาพวาดสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้”
ภาพประกอบของ ‘มิมิ’ ศุภาวรรณ เตยะราชกุล หลายๆ ภาพจึงเป็นการบอกเล่าเรื่องความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางเชื้อชาติหรือสีผิว
สำหรับนักวาดภาพประกอบคนนี้ ภาพคือสื่อที่จะส่งเสียงและสะท้อนความหลากหลายของสังคมผ่านความกลมกลืนด้วยกระบวนการสังเกต ใส่ใจ และรับฟัง
“สิ่งก่อสร้าง ธรรมชาติ เเละผู้คน คือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นรูปแบบความสัมพันธ์อีกรูปแบบที่เกิดขึ้นในสังคม”
เพราะเชื่อว่าความหลากหลายคือเรื่องจริงไม่ใช่เรื่องแต่ง การเปิดใจยอมรับความหลากหลายจะทำให้ทุกองค์ประกอบในสังคมมาหาจุดสมดุลระหว่างกันได้
และภาพประกอบก็กำลังทำหน้าที่นั้นเพื่อโอบรับทุกความแตกต่าง ทุกเรื่องราวและทุกชีวิต
ภาพวาดที่กลมกลืน แต่มีชีวิตซ่อนอยู่
“จุดแข็งของงานเรา คือ โทนภาพไม่ฉูดฉาด อ่อนนุ่ม ลายเส้นละเอียด”
มิมิอธิบายเอกลักษณ์ภาพวาดของตัวเองว่า ในภาพวาดที่มีรายละเอียดมากมาย เธอจะสอดแทรกเรื่องราวของผู้คนไว้ในนั้น เพราะเธอสนใจเรื่องธรรมชาติและความเป็นพื้นถิ่นมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอรู้จักกับความงาม ความกลมกลืน และความหลากหลายที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น
“อาจเป็นเพราะเราไม่ชอบงานด้านพาณิชย์ แต่ชอบความเป็นพื้นถิ่นที่มันไม่พยายามจะสวย ความสวยในมุมเรา คือ การมีวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่ที่สอดคล้องไปกับสภาพแวดล้อมโดยไม่ต้องพยายาม”

“เรามองเห็นภูมิปัญญาของการออกแบบและก่อสร้างที่คนออกแบบรู้จักสถานที่นี้ รู้ว่าที่แห่งนี้เหมาะกับภูมิอากาศแบบไหน แล้วการที่เขาออกแบบให้สอดคล้องกับภูมิอากาศ มันจะมีสัดส่วนความสบายของมนุษย์ที่คนที่นั่นจะรู้เองว่า แบบไหนอยู่สบาย ทำให้รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนั้นสวยด้วย”
เมื่อทุกองค์ประกอบที่เข้ากันได้อย่างดี สำหรับมิมิ มันคือจุดสมดุลของสภาพแวดล้อมกับสังคม
“ความกลมกลืนคือการมีความหลากหลาย แต่อยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสุข เรารู้สึกว่าแต่ละคนมีความสามารถไม่เหมือนกัน แต่ความหลากหลายจะซัพพอร์ตกันด้วยการช่วยเหลือ และให้เกียรติกันด้วยความเท่าเทียมที่จะทำให้เกิดความสมดุลในสังคม”
“เหมือนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ต้องมีความหลากหลายมาช่วยเกื้อหนุนกัน เช่น ต้นไทรก็จะมีต่อของต้นไทรเพื่อขยายพันธุ์ ซึ่งถ้าไม่มีต่อตัวนั้น ต้นไทรก็อาจจะหายสาบสูญไปจากโลกเลยก็ได้ เพราะมันไม่มีแมลงชนิดอื่นที่สามารถมาผสมพันธุ์ได้ เพราะว่าเขาอยู่ด้วยกัน มันเลยทำให้ชีวิตมันไปต่อและหมุนต่อไปได้”
การลืมวาดคือการมองข้ามที่จะนำมาสู่เปิดใจ ใส่ใจ และรับฟังมากขึ้น
“การวาดรูปไม่ใช่แค่วาด แต่ต้องเข้าใจเรื่องที่วาดอยู่ด้วย”
คือ แนวคิดหลักของมิมิในการวาดภาพประกอบทุกชิ้น จึงทำให้เธอเลือกที่จะลงไปพูดคุยและหาคำตอบจากโจทย์ที่ได้รับ
“เราชอบรีเสิร์ช สมมติเราจะทำนิทานเด็กหรือทำประเด็นไหน สมมติเป็นโจทย์จากคนที่เขาเป็นนักเขียน เราจะคุยกับนักเขียนเยอะๆ ไปศึกษาเรื่องนั้นก่อนแล้วไปตีความออกมาเป็นภาพ แตเราชอบวาดรูปในประเด็นที่เราสนใจ เพราะเราชอบเรื่องนั้นอยู่แล้ว แล้วการที่ชอบเรื่องนั้นอยู่แล้ว หมายถึงเราพยายามไปค้นหาเรื่องราวเหล่านั้น ซึ่งทำให้เราหยิบมาวาดรูปได้ เป็นเหมือนสต๊อกข้อมูลที่จะรู้ว่าเราจะหยิบอันนี้มาวาด”
ยกตัวอย่าง หนังสือเด็กๆ ก็มีความฝัน หนึ่งในนิทานชุดวาดหวังที่มีประเด็กหลัก คือ เมืองในฝันของเด็กจะเป็นแบบไหน มิมิก็ยังเลือกวาดภาพด้วยคอนเซปต์เดิมที่มีองค์ประกอบที่มีความกลมกลืนซ่อนความหลากหลาย และสะท้อนสภาพแวดล้อม ปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง


ขณะเดียวกันระหว่างวาด คำถามที่มักเกิดขึ้นระหว่างจรดปลายดินสอสี คือ เธอกำลังลืมวาดอะไรไปหรือเปล่า
“สำหรับเราการวาดภาพที่มีความหลากหลายไม่ยาก แต่ตอนวาดต้องกลับมาทบทวนว่า เราลืมวาดอะไรบ้าง เช่น ต้นไม้ดูเป็นเเถวเป็นเเนวเกินไปหรือเปล่า ลืมวาดคนผิวสีเข้มหรือเปล่า บางทีเราก็ลืมวาดสิ่งเหล่านี้ไปจริงๆ”
“อย่างหนังสือเด็กๆ ก็มีความฝัน มีฉากที่เด็กต้องเดินไปโรงเรียน วาดคูหา ตึกแถวที่ติดกัน พี่นักเขียนก็บอกว่ามันดูเป็นเมือง ไม่มีความเป็นไทย เราก็แบบ เออ จริงด้วย เราจะลืมว่าเมืองในแบบของเรา กับเมืองในแบบคนอื่นไม่เหมือนกัน อีกเรื่องหนึ่งที่เราวาดเป็นฉากเมืองที่มีประชาธิปไตย มีความ creative ประชาชนมาอยู่รวมกัน รูปนั้นเราคิดแล้วว่า เราทำคนเดียวไม่ได้ ก็เลยตั้งโพสต์ถามทุกคนในเฟสบุ๊ก ในอินสตราแกรมเพจเราว่า เมืองของทุกคนเป็นยังไง แล้วก็มีคนตอบมา”
“เราก็จากในหัวที่เราร่างเมืองแบบนั้น การเอาเมืองของทุกคนแบบนั้น มันต่างกันอย่างชัดเจน แล้วเราชอบมากๆ รู้สึกว่านี่แหละคือความร่วมมือของทุกคน เป็นเมืองที่ดีสำหรับทุกคน”

มิมิบอกว่า การรู้ว่าหลงลืมอะไรไปนำมาสู่การเปิดใจและรับฟังมากขึ้น
“การที่เราลืมวาดมันสะท้อนว่าเราต้องฝึกเรื่องความใส่ใจมากขึ้น เพราะความสำคัญของการใส่ใจ คือ การเปิดกว้างเเละมองเห็นคนอื่นๆ ในหลายๆ มิติ”
“การไม่ใส่ใจนำมาสู่การมองข้าม ตอนไปเที่ยวดอยที่เชียงใหม่ เราเห็นว่าชาวบ้านที่นั่นเก่งและกลมกลืนไปกับธรรมชาติตรงนั้น เขารู้ว่าพื้นที่ตรงนี้คือที่ไหน ผักผลไม้แบบไหนกินได้หรือไม่ได้ เขามีความสามารถมากจริงๆ แล้วความสามารถของเขานี่แหละที่จะช่วยสังคมได้มาก เหมือนเขาเป็นสีอีกเฉดที่เราไม่เคยมองเห็น”
เบื้องหลังปลายดินสอสี คือ การสังเกตทุกเส้นโค้ง ทุกมุม และทุกความงาม
แม้จะเป็นงานวาด แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างทาง มิมิรับฟัง ใส่ใจ และสังเกตในทุกรายละเอียดจริงๆ
งานดีเทลที่เต็มไปด้วยรายละเอียดในการวาดแรกๆ จึงน้อยลง แล้วให้ความสำคัญกับความสวยงามที่เกิดขึ้นที่เธอเห็นแทน
“หลังๆ เราไม่ได้แคร์ว่า คนอื่นจะมองว่างานเราเป็นแบบไหน และรู้ว่าการสังเกตเป็นทักษะสำคัญที่เราจะไปรู้จักกับสิ่งที่เราวาด เลยอยากปรับการวาดเป็นแบบการปล่อย flow เชื่อมร่างกายเรากับสิ่งที่เราวาดไปเลย สมมติวาดรูปดอกไม้ มันคือการที่เราพยายามเข้าใจ วาดทุกเส้นโค้ง ทุกมุม และความสวยงามที่เราได้เห็น”
มิมิเล่าต่อว่า การสังเกตองค์ประกอบต่างๆ ไม่ใช่แค่การดูเพื่อวาดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการมองชีวิตของสิ่งนั้นอยู่
“เราสังเกตรูปทรง สี เอกลักษณ์ของสิ่งนั้น เพราะเวลาเรามองอะไรบางอย่างจะมุ่งไปที่เอกลักษณ์ เขามีเอกลักษณ์ตรงไหน ตอนที่เรามองเขาเหมือนเห็นชีวิตที่เกิดขึ้นรอบๆ เช่น ตอนเราวาดดอกกุหลาบเราก็จะเห็นแมงมุมชักใยลงไป หรือเห็นหนอนกำลังกินดอกไม้ การที่เรานั่งสังเกตเขา เรากำลังเห็นชีวิตเขาด้วย”

“เราไม่รู้ว่าการวาดมันส่งผลให้เราเป็นแบบนี้ไหม แต่ว่าเราสังเกตคนแล้วยอมรับ เข้าใจ เปิดใจมากขึ้น เห็นว่าชีวิตเขาเป็นยังไง การสังเกตว่าเขาเป็นคนแบบไหน เพราะอะไรเขาถึงเป็นแบบนี้ เรารู้สึกว่าเข้าใจเขามากขึ้น เห็นความงามของเขา”
“ก่อนหน้านี้ เราก็มีความถูกต้องในใจของเราว่า ต้องเป็นแบบนี้ๆ แต่หลังๆ เราได้ฟังความคิดเห็นและทำงานร่วมกับคนอื่น เรารู้สึกว่าเราเปิดใจรับความหลากหลายมากขึ้น ในแง่ที่สมมติว่า เราไม่ชอบแบบนี้เลย เช่น ไม่ชอบนายทุนมากๆ เราก็โอเคว่าเราเปิดใจรับได้มากขึ้น เพราะว่าก็นี่เป็นความหลากหลาย ไม่ชอบก็ส่วนไม่ชอบ แต่ไม่ได้อี๋ เรารู้สึกว่าเราเปิดใจมากขึ้น พอรู้ว่าเขามีความหลากหลาย เราก็ได้เห็นข้อดีในตัวเขามากขึ้น ถึงเขาจะเป็นแบบนี้ที่เราไม่ชอบ แต่เขาก็มีบางมุมที่เราก็โอเคกับสิ่งที่เขาทำเหมือนกัน”
ในฐานะนักวาดภาพประกอบที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ผู้คน และสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย มิมิยังเชื่อว่า ความหลากหลายจะสนับสนุนกันและกัน แล้วเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและมีตัวตน
“ความหลากหลายมันช่วยซัพพอร์ตกันอยู่แล้วในด้านต่างๆ แต่ละคนมีสิ่งที่เชี่ยวชาญหรือทำได้ไม่เหมือนกัน การที่เรายอมรับให้คนคนหนึ่งได้เฉิดฉายในแบบตัวเอง ยอมรับทักษะ ช่วยเหลือกันด้วยการให้เกียรติ เกื้อหนุนกันด้วยความเท่าเทียม จะช่วยยกระดับให้สังคมดีขึ้น บางทีการไม่ยอมรับมันคือการตัดไปเลยว่า ไม่ต้องทำ ไม่ต้องร่วมด้วย มันทำให้บางอย่างขาดหายไป ทั้งๆ ที่สังคมอาจจะต้องการทักษะนี้มากๆ เลยก็ได้”
“เช่นการรับฟัง (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าสังคมไทยไม่ค่อยรับฟังกันเท่าไร การฟังมันเหมือนการยอมรับคนพูดด้วย บางอย่างคนที่พูดให้เราฟังอาจจะมีทั้งดีและไม่ดี การฟังเหมือนเป็นการยอมรับคนตรงข้ามว่าเขาเป็นยังไง ยากจัง (หัวเราะ) แต่มันสำคัญนะ”

“มันคือการซัพพอร์ต การต้องมีขั้วสักขั้วที่อยู่ตรงข้ามกัน ช่วย reflect กัน ช่วยดึงกัน สนับสนุน อย่างมีคนพูดก็ต้องมีคนฟังอย่างเท่าๆ กันไหม หรือว่ามีคนที่ลงมือทำเก่ง แล้วก็ต้องมีคนที่คิดเก่ง มันต้องบาลานซ์กัน เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลและพัฒนาต่อได้”
ถึงจะไม่ชอบ แต่ความหลากหลายก็ยังคงอยู่และสนับสนุนกัน
ถึงสังคมจะเต็มไปด้วยความหลากหลาย สำหรับมิมิ จุดเริ่มต้นของการเปิดใจยอมรับความหลากหลายคือการมีพื้นที่ให้คนทุกคนได้มาเรียนรู้ชีวิตและตัวตนระหว่างกัน
“มันต้องมีความเข้าใจกัน เราต้องเข้าใจและคุยกันได้ ถ้าเป็นสิ่งภายนอกที่พอจะยึดได้ คือ พื้นที่ที่สนับสนุนให้ทุกชนชั้นได้มาอยู่ตรงนี้เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าเขาทำอะไร เขาเป็นยังไง หรือเป็นพื้นที่ที่ละทิ้งความจน ความรวย มาคุยกันเรื่องความสามารถ มันคือการเข้าใจและมีพื้นที่ให้เขาได้มาเจอกันและคุยกัน”
เพราะเมื่อเราเปิดใจยอมรับความหลากหลาย สิ่งนี้จะคอยช่วยให้สังคมกลับมาคุยกันและหาทางออกไปด้วยกันได้
“เมื่อต่างคนต่างไม่ยอมรับ มันก็ไม่มีทางเข้าใจ ไม่มีทางหันหน้ามาคุยกันได้ว่า เราไม่ชอบตรงไหน หาตรงกลางยังไง มันจะตัดไปเลย มันจะมีแต่ความแยกกัน ไม่กลมกลืน อึดอัด หรือบางอย่างมันไปต่อไม่ได้ แต่ความหลากหลายมันคือเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องแต่ง ถ้ายอมรับได้ เปิดใจรับความหลากหลายได้ เราก็อยู่ในสังคมได้อย่างสบายใจ ถึงจะไม่ชอบ แต่โลกนี้ก็ยังมีความหลากหลายที่จะช่วยซัพพอร์ทกันและกัน แล้วนำไปสู่ความเข้าใจ ยอมรับ และหันมาคุยกันมากขึ้นปัญหาต่างๆก็จะคลี่คลายลงได้ มันก็จะทำให้เมืองนั้น สังคมนั้นๆ น่าอยู่มากขึ้น ”
“สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมส่งผลกับตัวเราอยู่แล้ว เราต้องเปิดใจมองสิ่งต่างๆ ในสังคมให้มากขึ้น เมื่อเราเปิดใจมันก็คือการเปิดใจรักตัวเองมากขึ้นด้วย”
ภาพประกอบ คือ เครื่องมือเชื่อมทุกความหลากหลายให้ใกล้กัน
“สิ่งรอบตัว ทำให้โจทย์การวาดภาพของเราเกิดขึ้น”
ตั้งแต่วาดภาพมา มิมิบอกว่า ภาพวาดเป็นเครื่องมือในการสื่อสารอย่างหนึ่ง และนอกจากจะสื่อสารกับคนทั่วไปแล้ว ยังทำให้เธอกลับมาสื่อสารกับตัวเองด้วย
“การวาดภาพช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เช่น ถ้าเราดูรูปที่วาดเเล้วมองย้อนกลับไป เราจะเข้าใจตัวเองในตอนนั้นมากขึ้น เหมือนกับการหาคำตอบของเราในตอนนั้นว่าช่วงเวลานั้นที่เราวาดภาพมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น ทำไมเราถึงวาดรูปนี้ไม่ได้ หรือทำไมต้องวาดรูปนี้”
เมื่อเราสื่อสารกับตัวเองมากขึ้น มิมิบอกว่า สิ่งนี้จะทำให้มนุษย์เข้าใจกันมากขึ้น
“เเต่ละคนไม่ค่อยฟังความรู้สึกตัวเอง เราว่ามันสำคัญนะ เพราะก่อนที่เราจะเข้าใจคนอื่น เราต้องเข้าใจตัวเองก่อน เข้าใจความต้องการ เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเรา เมื่อเราเข้าใจตัวเองอย่างดีเเล้ว เราถึงจะเข้าใจคนอื่นได้”
ขณะเดียวกัน ภาพวาดหลายๆ ภาพของมิมิ คือ ภาพที่สื่อความหมายตรงๆ ไม่ต้องตีความ เธอบอกว่า เป็นข้อดี เพราะภาพวาดจะช่วยให้เรื่องราวที่เธอสะท้อนในทุกสีและทุกรายละเอียดยังมีความหมายต่อผู้ชมได้ แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม


“ภาพวาดหรือสื่อที่เป็นภาพ สำหรับเราเป็นสื่อที่สำคัญมากในการจะบอกสังคม เพราะคนไปดูรูปภาพ แล้วจำไว้ในหัว ถึงจะจำไม่ได้ แต่มันน่าจะเคยอยู่ในความทรงจำ แล้วมันจะติดต่อไปเรื่อยๆ เราคิดว่าการที่ภาพได้ทำหน้าที่บอกเรื่องที่เราอยากบอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียม เรื่องพื้นที่ เรื่องธรรมชาติ แล้วคนเห็นมันอาจจะทำให้คนได้จดจำเรื่องบางเรื่องไว้ได้”
เช่นเดียวกับเรื่องราวของผู้คนที่หลากหลายในสังคมที่นักดวาดภาพประกอบคนนี้ก็จะแทรกชีวิตของพวกเขาไว้ในภาพอย่างกลมกลืนต่อไปเรื่อยๆ
“อยากวาดภาพเมืองที่มีพวกเขาเหล่านั้นอยู่ด้วย มีความเป็นวิถีชีวิตเเทรกอยู่ตามธรรมชาติในรูปวาด เเละสร้างองค์ประกอบของภาพด้วยความหลากหลายของคน สิ่งเเวดล้อมอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ เรารู้สึกว่าอยากให้ภาพมันหลากหลาย ทั้งหลากหลายวัฒนธรรม เเละหลากหลายชีวิตความเป็นอยู่”
และไม่ว่าอย่างไร สำหรับมิมิแล้ว การวาดภาพคือประตูเปิดโลกที่ทำให้รู้จักโลกที่แสนกว้างใหญ่ใบนี้มากขึ้น

“ตัวเราเองเชื่อว่าการวาดรูปต้องเข้าใจสิ่งที่วาดด้วย ฉะนั้น วาดอะไรเราก็ไปศึกษาสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น มันก็เลยรู้สิ่งนั้นมากขึ้น ซึ่งการรู้สิ่งนั้นไม่ได้แปลว่ารู้อย่างเดียว มันรู้อย่างอื่นด้วย”
“เช่น เราไปวาดนิทานเกี่ยวชีวิตในทุ่งกุหลาบ ที่เราไป residence ที่เชียงดาว เราไปเป็นศิลปินพำนัก 1 เดือน เขาให้โจทย์ว่าพี่อยากแสดงความหลากหลายผ่านชีวิตในทุ่งกุหลาบนี้ เราก็ไปดูมันทุกวันเลย ปรากฏว่าเราได้เข้าใจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทุ่งกุหลาบนี้ มันมากกว่าประเด็นที่เราจะวาดทางตรง มันได้ภาพกว้างมากขึ้นอีก”
ภาพวาดของมิมิจึงไม่ได้มีไว้สำหรับเปลี่ยนสังคม แต่มันคืองานที่เธอรักเพื่อเชื่อมโยงเรื่องที่สนใจเข้ากับความหลากหลายต่างๆ ไว้ด้วยกัน
“ถ้าจะบอกว่าไม่มีความคาดหวังกับรูปภาพที่เราวาดเลยก็ไม่ได้เนอะ (หัวเราะ) เราก็อยากให้รูปออกมาสวยๆ แต่ไม่ได้คิดว่าต้องให้มีคนมาสนใจงานเรา สำหรับเราการวาดมันเป็นเครื่องมือให้เราได้รู้จักธรรมชาติ รู้จักโลกใบนี้มากขึ้น การวาดรูปมันเป็นตัวกลางที่ทำให้เราใกล้กัน”
“สำหรับเราการที่ได้วาดรูปแล้วรู้จักสิ่งต่างๆ มากขึ้น อันนี้คือประสบความสำเร็จ เรามีความสุขมาก”