ภาพคนที่ต่างกำลังง่วนอยู่กับสิ่งของตรงหน้า ไม่ว่าจะเข็นใส่รถไปตามปลายทางที่วางไว้ หรือคัดแยกของประเภทต่างๆ ตามกองที่กำหนด หรือรอรับของจากคนที่เอามาส่งให้ใหม่เรื่อยๆ เป็นภาพแรกที่เราเห็นเมื่อมา ‘มูลนิธิกระจกเงา’
“จริงๆ กระจกเงามีหลากหลายหน้างาน ไม่ใช่เฉพาะหน้างานบริจาค เรามีโครงการทางสังคมอีกมาก แต่ว่ามูลนิธิเราได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริจาค แล้วก็มอบทรัพยากรเหล่านั้นมาให้กับเราจำนวนมาก”
วีราภรณ์ ประสพรัตนสุข หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร และระดมทุน มูลนิธิกระจกเงา ที่มารอต้อนรับเราในการพบเจอครั้งนี้ เล่าว่า คนที่ส่งของบริจาคให้มูลนิธิในแต่ละวันเฉลี่ยแล้วประมาณ 100 – 200 คน ทำให้เหล่าข้าวของที่เก็บไว้ในโกดังสูงหลายเมตรแล้วก็วางกระจายตัวแน่นขนัดเต็มพื้นที่

‘เป็นที่รับบริจาค’ อาจไม่ใช่เป้าหมายตั้งต้นในการทำงานของมูลนิธิ แต่เป็นโอกาสที่ทำให้เขาสามารถต่อยอดการทำงานที่ช่วยสังคม ไปพร้อมๆ กับตอบสนองความต้องการของคนที่ทำให้มูลนิธิยังคงอยู่ได้จนถึงวันนี้
“หลักการของมูลนิธิเรารับบริจาคของเหลือใช้ ของที่คุณไม่เอาแล้ว เดี๋ยวเราเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เรามีหน้าที่ออกแบบให้เขารู้สึกว่า สิ่งที่เขามอบให้มันคุ้มค่าเมื่อเอามาฝากไว้ที่เรา ให้เราดูแล”
Mutual พาไปดูเบื้องหลังของกองของที่เรียกว่า ‘น้ำใจ’ จาก ‘คนให้’ ที่อยากทำให้ของพวกนี้แม้พวกเขาจะไม่ใช้อีกต่อไปแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ให้คนที่ต้องการ โดยมีตัวกลางอย่างกระจกเงาทำหน้าที่ให้ยืดอายุของต่อไปได้
รับบริจาคอย่างแรก ‘ความต้องการของสังคม’
คอมพิวเตอร์
เป็นของชิ้นแรกๆ ที่กระจกเงาได้รับ เหตุผลมาจากว่ามีคนจำนวนหนึ่งรู้ว่าที่นี่เป็นมูลนิธิ มีโครงการที่ทำเรื่องการศึกษาเด็ก พวกเขาสนใจบริจาคคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช้แล้วให้มูลนิธิดูแลต่อ ณ ตอนนั้นกระจกเงาก็มองเห็นเช่นกันว่า มีเด็กๆ จำนวนหนึ่งต้องการใช้คอมพิวเตอร์ เลยจับ ‘ความต้องการ’ พวกเขามาเจอกัน

“โครงการของมูลนิธิกระจกเงาแทบทั้งหมดเกิดจากการฟังเสียงประชาชน ดูความต้องการสังคม ดูพฤติกรรมของคนในสังคมว่าเขาต้องการอะไร แล้วมีอะไรที่เป็นปัญหาบ้าง เราจะทำหน้าที่ออกแบบหรือ matching สิ่งเหล่านี้”
คอมพิวเตอร์ไม่ได้ถูกส่งมาเดี่ยวๆ แต่มีเพื่อนๆ ตามมาอีกเป็นขบวน ไม่ว่าจะหนังสือเรียน เสื้อผ้า หรือของสภาพดีต่างๆ ทำให้มูลนิธิเริ่มออกแบบโครงการต่างๆ เพื่อนำของเหล่านี้ไปส่งต่อให้คนที่ต้องการ ทำให้ของยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ
“พฤติกรรมของคนที่เอาของมามอบให้เราก็จะพ่วงของอย่างอื่นมาด้วย เพราะเขาต้องการเคลียร์บ้าน ‘ไหนๆ มูลนิธิรับไปด้วยเลยละกันนะ เผื่อได้ใช้ประโยชน์’ เราก็เริ่มมองหาโอกาสในสิ่งเหล่านี้ บวกกับศักยภาพที่เรามี
“ระหว่างทำมันก็มีต้นทุนหมดเลย เช่น ค่าเดินทางที่เราต้องขนของเหล่านี้ไปให้คนที่ต้องการ เราเลยมาคิดว่าถ้าอย่างนั้นของพวกนี้จะช่วยอะไรเราได้อีก ก็ลองเอารองเท้าที่ได้รับบริจาคไปติดป้ายราคา เออ…ขายได้ด้วย เราขายราคาถูกมากเลย อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอื่นๆ เป็นโมเดลหนึ่งในการทำงาน ทำให้เราเป็นมูลนิธิของประชาชน อยู่ได้ด้วยกำลังของผู้คนในสังคมที่สนับสนุนให้เราทำงาน”
นอกจากจับคู่ระหว่างคนต้องการมอบกับคนที่ต้องการของ กระจกเงาเริ่มทำโมเดลใช้ของเหล่านี้เป็นทุนเริ่มต้นชีวิตให้คนที่สนใจ นำของไปขายเพื่อให้รายได้เลี้ยงตัวเอง
วีราภรณ์ บอกว่า กลุ่มเป้าหมายงานนี้หลักๆ จะเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่รายได้น้อย คนที่ร่วงหล่นทางสังคม เช่น คนที่เพิ่งออกจากเรือนจำ ให้พวกเขาลองนำของเหล่านี้ไปขาย ตอนนี้มีประมาณ 1,000 กว่าคน ที่หมุนเวียนเข้ามา ซึ่งทางมูลนิธิเองก็มีไปติดตามว่าชีวิตเขาเหล่านี้เป็นอย่างไรต่อหลังจากนำของไปขายแล้ว
“แรกๆ เราจะให้ไปฟรีแล้วดูว่าขายได้ไหม ถ้าขายได้ล็อตถัดมาเราจะระดมทุนกับเขาละ แต่เราจะขายให้เขาในราคาถูก จนเราคิดว่าเขาสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ แล้วก็ดูแลคนในครอบครัวของเขาได้
“แต่ว่าจะมีคนที่ทำแบบนี้ไม่ได้ เช่น มีผู้ป่วยติดเตียงในบ้าน ไม่สามารถออกไปทำงานได้ หรือคนที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะน้ำท่วม หรือไฟไหม้ เราก็จะส่งของเหล่านี้ไปสนับสนุนเขา”
ขยายการรับบริจาค ‘ทัศนคติคนในสังคม’
“วิธีการทำงานของเราเน้นดูทิศทางของสังคมเป็นหลัก ทำงานกับปัญหาที่คนในสังคมต้องการแก้ไข แต่ยังไม่มีใครลุกขึ้นมาทำ หรือมีคนทำงานแก้ไขปัญหานั้นอยู่น้อย เพราะมันมีแนวคิดว่าเราต้องฟังก์ชันกับสังคม เราถึงจะอยู่ในใจของผู้คนได้ เราถึงจะเป็นที่ต้องการ มันถึงจะมีพื้นที่ให้กับเราในสังคม”
สิ่งที่มูลนิธิกระจกเงารับระดมแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ทุนทรัพย์ กำลังคนหรืออาสาสมัคร และสิ่งของต่างๆ
การทำงานตาม ‘ความต้องการของคน’ วีราภรณ์ ขยายความว่า มูลนิธิจะคอยมอนิเตอร์สังคมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างช่วงที่โควิดระบาดหนัก มีคนป่วยจำนวนมาก แต่โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับคนป่วยได้ทั้งหมด กระจกเงาออกโครงการ ‘ป่วยให้ยืม’ ให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์สำหรับใช้ในบ้าน เช่น เตียงผู้ป่วย เครื่องผลิตออกซิเจน วีลแชร์ เป็นต้น

“เราคาดการณ์สถานการณ์จากการดูประเทศที่มีคนป่วยจำนวนมาก เช่น อินเดีย เขาขาดแคลนถังออกซิเจนมากๆ แล้วประเทศเรามีแนวโน้มจะไปทิศทางนั้น กระจกเงาเลยเตรียมโครงการนี้ไว้ เพราะเราเองก็มีอุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่แล้ว ก็ดูว่าของเดิมมีเท่าไร แล้วถ้ามีความต้องการในสังคมเท่านี้ เราจะดูแลเขาได้ไหม ต้องเพิ่มอีกเท่าไร”
หรือโครงการ ‘จ้างวานข้า’ โครงการที่เรียกความสนใจจากสังคมได้มากในตอนนี้ วีราภรณ์บอกว่า เกิดจากการทำงานคลุกคลีกับคนไร้บ้านมานับสิบปี บวกกับมีข้อมูลใหม่เป็นแนวโน้มว่าจะเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 35% ทำให้มูลนิธิหาคำตอบว่าพวกเขาจะจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร จนออกมาเป็นโครงการหางานให้คนไร้บ้านได้ทำ เพื่อเริ่มต้นชีวิตและเลี้ยงดูตัวเอง
“การทำงานกับคนไร้บ้านช่วงแรกๆ เราทำอาหารไปแจก เป็นโครงการ food for friends ทำมาเป็น 10 ปีแล้ว ซึ่งบทเรียนที่เราได้จากงานนี้ คือ อาหารไม่ใช่คำตอบ แม้ว่าจะเป็นปัจจัยเริ่มต้นที่คนต้องการ แต่งานต่างหากที่จะทำให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของเขาได้ ดังนั้น เรามาคิดโจทย์ว่าจะทำยังไงให้คนไร้บ้านมีงานทำ ไม่ใช่มีแค่อาหาร ไม่งั้นเขาก็ต้องมารอรับอาหารในวันต่อๆ ไป แต่ถ้าเขามีงานมีรายได้ เขาจะมีศักยภาพในการดูแลตัวเอง
“เราก็ดูต่อว่ามีงานอะไรให้พวกเขาทำได้บ้าง ใครจะจ้าง แล้วจ้างเพราะอะไร จนเจอว่ามันต้องเป็นงานเพื่อส่วนรวมคนถึงจะยินดีจ้าง จริงๆ มันมีคนจำนวนหนึ่งที่ยินดีดูแลคนไร้บ้าน เป็นกระแสของโลกด้วยส่วนหนึ่งที่คนเริ่มมาสนใจคนไร้บ้าน เราพาคนเหล่านี้ไปทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ เพราะช่วงโควิดระบาดทุกคนอยากอยู่ในพื้นที่ที่สะอาด พื้นที่สาธารณะจึงควรได้รับการดูแล เช่น สะพานลอยที่เราใช้กันทุกวัน หรือป้ายรถเมล์ ให้คนเหล่านี้เข้าไปดูแลร่วมกับกทม. ทำความสะอาดพื้นที่ไปด้วยกัน”

จำนวนโครงการที่กระจกเงาทำจนถึงวันนี้มีหลากหลาย บางโครงการที่ทำต่อมาเรื่อยๆ บางโครงการที่จบไปแล้ว ซึ่งการปิดโครงการวีราภรณ์บอกว่ามีหลายปัจจัย เธอยกตัวอย่าง ‘โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน’ เป็นงานที่ตั้งต้นมาจากความต้องการของกระจกเงา สร้างทัศนคติคนในสังคมว่าการให้เงินเด็กขอทานหนึ่งคน อาจเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจค้ามนุษย์ยังอยู่ต่อ เพราะเด็กๆ บางคนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนั้น ถูกพ่อแม่ส่งให้นายจ้างเอามาเป็นแรงงานในลักษณะขอทานหรือขายของ เด็กๆ กำลังถูกแสวงหาประโยชน์ และที่สำคัญนี่ไม่ใช่พื้นที่ของเด็ก
“การรณรงค์ของเราก็ขยับจนถูกจังหวะ หนึ่ง – คนรู้เรื่องแล้ว หลังๆ เวลาจะให้เงินขอทาน เขาจะคิดแล้วว่าให้ดีไหม ควรจะให้ไหม? เราไม่ได้หมายความว่าห้ามให้ขอทานทุกคนนะ ไม่ได้ขนาดนั้น แต่เรากำลังจะบอกว่าก่อนจะให้ คุณลองมองเบื้องหลังของมันก่อน
“คนส่วนใหญ่ในสังคมรับทราบสารนี้ นอกจากนั้นก็มีหน่วยงานราชการ อย่างพม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) เองก็มีทำโครงการมาเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เราคิดว่าเรื่องนี้เราคอมพลีทแล้ว สังคมได้รับการเรียนรู้ เราก็ได้รับการตอบสนองมีฟังก์ชันในราชการที่รองรับเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว เราจึงยุติโครงการนี้ เหลือแค่เวลามีคนส่งเคสขอทานมาทางเพจ เราทำหน้าที่ส่งต่อเคสเหล่านี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
ของที่เปิดรับบริจาคตลอด : สิ่งของ ทุนทรัพย์ กำลังคน และคนให้
“ของที่ไปต่อไม่ได้ เช่น แก้วที่แตกแล้ว หลอดไฟใช้งานไม่ได้แล้ว เราจะไม่รับ”
แม้ว่ามูลนิธิกระจกเงาจะรับบริจาคของหลายอย่าง แต่ก็มีของบางอย่างที่พวกเขาไม่สามารถรับได้ คือ ของที่ไปต่อไม่ได้แล้ว
ซึ่งของที่รับบริจาคจะแบ่งเป็น 6 หมวดด้วยกัน ได้แก่
- หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า
- หมวดเฟอร์นิเจอร์
- หมวดของใช้ทั่วไป เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ ฯลฯ
- หมวดคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น หน้าจอ เมาส์ คีย์บอร์ด ฯลฯ
- หมวดหนังสือ รับหนังสือทุกประเภทรวมถึงกระดาษที่ไม่ใช่แล้ว ยกเว้นหนังสือโป๊นะ
- หมวดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย วีลแชร์ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ฯลฯ

“ทุกอย่างที่เขาไม่ดูแลแล้ว เขาจะเอามาฝากให้เราหมดเลย เพราะเขาก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปไว้ที่ไหน”
ในการบริจาคเองจะมีทั้งคนให้และคนรับ ด้วยสถานะที่ต่างกัน ทำให้การดูแลจึงเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละคน
“กลุ่มผู้เดือดร้อนจะมีช่องทางติดต่อเดียวกันกับกลุ่มผู้บริจาค คือ ทางเพจมูลนิธิ จะเป็นช่องทางหลักที่คนใช้ติดต่อมูลนิธิ ไม่ว่าจะขอบริจาคหรือขอความช่วยเหลือ อีกช่องทางหนึ่ง คือ โทรเข้ามา
“เราวางโครงสร้างให้ทุกโครงการบริหารจัดการตัวเอง แต่ละโครงการจะมีช่องทางติดต่อที่เชื่อมกัน ถ้ามีเคสที่ติดต่อขอความช่วยเหลือทางเพจซึ่งเป็นส่วนกลาง เราจะดูว่าเขาต้องการอะไร เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ก็จะส่งเคสต่อไปให้โครงการป่วยให้ยืม”
100 – 200 เป็นตัวเลขของคนที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อบริจาคของ ทำให้ภาพที่คนในนี้ต่างชินตา คือ รถประเภทต่างๆ ที่ขับเข้ามาไม่ขาดสาย
“ความต้องการใหญ่ๆ ของคนบริจาค คือ เคลียร์บ้าน กิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ขององค์กรต่างๆ เราเลยเป็นเหมือนจุดรับเคลียร์ให้ เป็นบริการของเรา บางทีคุณเคลียร์ของแล้วไม่รู้จะเอาไปต่อไหน เราก็หาทางไปต่อให้ได้”
เมื่อนำของมาให้ ก็มีความต้องการต่อไปที่เกิดขึ้น คือ อยากรู้ว่าของนี้จะไปอย่างไรต่อ ใครจะได้รับมัน ซึ่งเป็นความต้องการที่เกิดขึ้นกับคนบริจาคหลายคน และอยากให้มูลนิธิช่วยอัปเดตให้พวกเขา แต่เนื่องจากปริมาณของที่มีจำนวนมาก แต่จำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อย ทำให้ไม่สามารถทำเป็นบริการได้ นอกจากผู้บริจาคจะร้องขอแล้วมูลนิธิจะติดตามให้
“ทีมสื่อสารขององค์กรจะโน้ตไว้เลยว่า คนนี้อยากรู้นะว่าของเขาเป็นยังไง มาถึงมูลนิธิหรือยัง หรือปลายทางของมันคือที่ไหน เราจะถ่ายรูปส่งให้เขาดูว่าของไปที่นี่นะ หรือถ้าของล็อตนี้เราจะส่งเข้าไปส่วนกลางก่อน แต่เราก็จะบอกไว้ เพราะจะมีศูนย์แบ่งต่อที่ทำหน้าที่ส่งของตามหมวดต่างๆ ที่เราแบ่งไว้ เราจะแจ้งศูนย์ฯ ว่า ถ้าของถึงมือผู้รับช่วยถ่ายรูปส่งมาให้หน่อย เราจะเอาไปบอกผู้บริจาค”

รูปแบบการแจ้งข่าวคนบริจาคก็มีตั้งแต่แจ้งส่วนตัว ไปจนถึงทำประกาศลงช่องทางโซเชียลมีเดียของกระจกเงา วีราภรณ์ เล่าว่า นี่เป็นงานใหม่ของมูลนิธิ จุดเริ่มต้นมาจากมีแฟนคลับชาวจีนกลุ่มหนึ่งต้องการบริจาคเงินให้มูลนิธิ แต่อยากให้มูลนิธิประกาศลงทวิตเตอร์ว่าบริจาคในนามศิลปินของพวกเขา เมื่อทำไปหนึ่งคนก็มีแฟนคลับกลุ่มอื่นๆ ตามมา ทำให้กลายเป็นงานหนึ่งไปเลย ที่จะลงประกาศขอบคุณแฟนคลับด้อมต่างๆ ที่บริจาคเงินเข้ามา
“เขาติดต่อมาจากประเทศจีนเลยนะ หาล่ามช่วยแปลหน่อย (หัวเราะ) เราจะมีกราฟฟิกคนหนึ่งก็คุยกันว่าทำให้เขาหน่อยได้ไหม ทำเป็นใบ Certificate ให้มันดีๆ เลย แล้วเขาต้องรู้สึกว่าสิ่งนี้พิเศษจริงๆ
“เราคิดว่ามันน่ารักดีนะ เป็นอีกมุมที่เป็นมุมความสุขของคนบริจาค กระจกเงาพยายามดูว่าอะไรที่ทำแล้วทำให้เขามีความสุข ให้รู้สึกว่าสังคมนี้มันอบอุ่นเนอะ เราจะพยายามทำสิ่งนั้น เราไม่ได้ทำให้เฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนอย่างเดียว แต่กลุ่มนี้คือผู้ให้ เขาก็ควรได้รับอะไรกลับไป”
ของบริจาคในวันนี้ก็มีหลากหลายขึ้นตามพฤติกรรมของคน วีราภรณ์ยกตัวอย่าง ‘แต้มสะสมคะแนน’ ที่มีหลายๆ ที่รับบริจาคสิ่งนี้ ไม่ว่าจะแต้มร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า บัตรเครดิต เป็นต้น แต้มอาจจะมีค่าไม่มากหากมีจำนวนน้อย หรือใช้ไม่ทันจนหมดอายุไปซะก่อน แต่ถ้าพวกเขาไม่รู้จะทำอย่างไรกับสิ่งนี้ สามารถส่งมาให้มูลนิธินำไปทำงานต่อได้
“หลักการของมูลนิธิเรารับบริจาคของเหลือใช้ ของที่คุณไม่เอาแล้ว เดี๋ยวเราเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เรามีหน้าที่ออกแบบให้เขารู้สึกว่า สิ่งที่เขามอบให้มันคุ้มค่าเมื่อเอามาฝากไว้ที่เรา ให้เราดูแล
“บางที 2000 แต้มฟังดูเยอะนะ แต่สมมติแลกเป็นเงินได้ 20 บาท คนอาจจะรู้สึกว่าเอาไปทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าคุณลองเอามารวมที่มูลนิธิ เราจะทำให้มันเกิดประโยชน์ เช่น มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่กำลังประสบภัยพิบัติน้ำท่วม เราดึงมาสัก 80 คน แจกคนละ 50 บาทที่เกิดจากแต้มคะแนนสะสม ให้เขาไปซื้อขนมที่อยากกิน”
บริจาคไม่ทำกับทำบุญ แต่แบ่งปันที่ทำให้ช่องว่างในสังคมแคบลง
“การบริจาคของมูลนิธิเราเกิดจากกลุ่มคนที่หลากหลายมากๆ คนมีน้อยก็บริจาคน้อย คนมีมากก็บริจาคมาก บางคนดวงตกมากก็อยากจะมาบริจาค หรือบางคนเป็นกลุ่มบริษัทอยากจะทำ CSR ก็มาติดต่อเรา มีตั้งแต่ระดับบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศ ไปจนถึงคนที่ไม่มีแต่อยากบริจาค เพราะกระจกเงาเคยช่วยเขาไว้”
องค์กรต่างๆ ที่อยากทำกิจกรรมร่วมกับมูลนิธิ วีราภรณ์เล่าว่า ส่วนใหญ่จะเกิดจากพนักงานที่เป็นคนเสนอให้มากิจกรรมกับที่กระจกเงา สำหรับวีราภรณ์คนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มสนับสนุนใหญ่ที่ทำให้มูลนิธิทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ
“เราพบว่าถ้าคนที่ติดต่อจากบริษัทใหญ่ๆ ส่วนใหญ่จะมาจากคนเล็กคนน้อยในนั้น ไม่ใช่ระดับผู้บริหาร แต่อาจจะเป็นเลขาหน้าห้อง เป็นแอดมินคนหนึ่งที่ติดตามมูลนิธิกระจกเงาอย่างต่อเนื่อง พอบริษัทบอกว่าอยากจะทำ CSR ช่วยให้ความเห็นหน่อยว่าจะเป็นที่ไหน เขาก็จะโทรมาบอกว่าเราเชียร์กระจกเงานะ พรีเซนต์ให้ได้ หมายความว่ามีกลุ่มคนทั่วไปที่เป็นมดงานในสังคม เป็นนายเอ นายบี ที่เห็นและยอมรับการทำงานของมูลนิธิ คนกลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เราทำงานและดำเนินต่อไปได้
“เราจะเจอบ่อยมากกับคำว่า “เรามีไม่มากนะ แต่เราอยากช่วย” บางทีมีน้องนักเรียนบริจาคมา 5 บาท 9 บาท เราคิดว่าเป็นคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ของเรา เพราะเอาจริงๆ ประเทศไทยไม่ใช่ที่ที่คนมีตังค์อยู่กันเยอะ คนที่มีปริมาณมากสุดก็คือคนเล็กคนน้อย การสื่อสารของกระจกเงาพยายามบอกว่าเคสเราก็เป็นคนเล็กคนน้อย ถ้าไม่มีคนช่วยเขาจะไม่รอดนะ คนบริจาคก็เป็นคนเล็กคนน้อยที่รู้สึกว่าแม้ตัวเองจะดิ้นรนอยู่ แต่ก็อยากให้คนกลุ่มนี้รอดไปด้วยกัน”

แล้วพฤติกรรมคนในสังคมวันนี้ก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน คำว่า ‘บริจาค’ ไม่ได้ผูกติดไว้ที่การทำบุญหรือศาสนาเท่านั้น แต่คือการแบ่งปัน และมองไปที่คนอื่นๆ นอกจากตัวเอง
“สมัยก่อนการบริจาคเราจะทำกับสิ่งที่เป็นนามธรรมมากๆ ทำเพื่อดูแลตัวเองเป็นหลัก พูดถึงบุญในอนาคต พูดถึงชีวิตในภายภาคหน้า แต่ว่ากระแสสังคมหรือคนรุ่นใหม่ตอนนี้เริ่มคิดถึงการมีสังคมที่ดีขึ้น เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้มากขึ้น โลกมันเชื่อมกันมากขึ้น ทำให้ทัศนคติวิธีคิดของคนมันเชื่อมถึงกัน พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไปจากที่มองแค่ตัวเราเอง ครอบครัว พยายามทำตัวเองให้ดีขึ้น เช่น หาเงินเยอะๆ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ต่อให้มีเงินหลายล้าน ขับรถแพงๆ แต่ถ้าสภาพสังคมยังเป็นแบบนี้ เขาก็ต้องเจอรถติดร่วมกัน หรือออกไปข้างนอกเจอข่าวคนโดนทำร้าย เพราะมันคือสภาพแวดล้อมเดียวกัน ไม่มีอะไรรับประกันว่าถ้าคุณทำตัวดี แต่ถ้าไม่สนใจสังคมที่มันแย่แล้วคุณจะอยู่รอดได้ ถ้าคุณไม่ดูแลคนอื่น คุณไม่ดูแลสังคม แล้วคุณยังต้องอยู่ในสังคมเหล่านั้น คุณก็จะต้องยอมรับว่าต้องอยู่ในคุณภาพชีวิตเช่นนั้น
“คนเริ่มคิดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาเองกับสังคมคนเริ่มเห็นการเชื่อมโยงเหล่านี้ ตกผลึกในเรื่องเหล่านี้ มีผู้บริจาคบอกกับเราว่า อยากจะทำบุญวันนี้แล้วเห็นผลวันนี้เลย ไม่อยากเห็นผลในชาติหน้า ซึ่งไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า ทำบุญตอนนี้ได้เห็นเลยว่าคนไร้บ้านได้กินข้าว ข้าวเข้าปากเขาตอนนี้เลย
“การบริจาคมันกลายเป็นเรื่องของการแบ่งปัน ไม่ใช่การทำบุญเพียงอย่างเดียว แบ่งปันสิ่งที่มีให้คนที่ไม่มี เพื่อให้ช่องว่างสังคมที่ถ่างออกจนคนเห็นได้ชัดมันแคบลง ให้คนที่สู้ไม่ไหวเขาพอไปต่อได้ เพราะคนเริ่มมองเห็นว่าสังคมมันต้องเป็นบรรยากาศที่ทุกคนรอดไปด้วยกัน” วีราภรณ์ทิ้งท้าย