‘ถ้าอยากรู้จักให้เดินเข้ามาทัก แต่อย่าถามว่าจำเราไดไหม’ เป็นเพื่อนกับคนตาบอดผ่านบทสัมภาษณ์ มอส ปราโมทย์ ชื่นขำ

“ถ้าจบการสัมภาษณ์นี้ไป แล้วคุณคิดถึงเรา อยากชวนเราไปแฮงค์เอาท์ เพราะคุณไม่ได้คิดว่า มอสคือคนตาบอด แต่คุณคิดว่ามอสคือเพื่อนคนหนึ่งที่เคยคุยกัน และอยากชวนไปแฮงค์เอ้าท์ แค่นั้น”

คือคำพูดจาก ‘มอส’ ปราโมทย์ ชื่นขำ วัย 25 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ผู้ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย บริษัท Z&M Legal consultant และเจ้าของเพจหลับตาเที่ยว ที่เพิ่งเจอเพียงไม่ถึงชั่วโมง แต่คำพูดนี้ติดอยู่ในใจของเรามาโดยตลอด

เมื่อเรามองคนพิการ ภาพจำที่สังคมมอบให้ คือ ‘ความน่าสงสาร’ กับ ‘สู้ชีวิต’ คนพิการถูกมองว่าบกพร่องทางร่างกาย ต้องรอแต่การช่วยเหลือ หรือสงเคราะห์จากคนอื่น ในอีกด้านผู้พิการที่ทำสิ่งต่างๆ ได้ ก็ถูกชื่นชมว่า ‘สู้ชีวิต’ 

มอส – ปราโมทย์ ชื่นขำ

นั่นเป็นภาพจำจาก ‘คนไม่พิการ’ มองคนพิการ  หากเรามองคนนั้นเป็น ‘เพื่อนคนหนึ่ง’ เราก็จะรับรู้ชีวิตจริงๆ ของเขา ที่ชอบเดินป่า ชอบแฮงค์เอาท์ และมองตัวเองเป็นคนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้คิดว่าข้อจำกัดทางร่างกายจะเป็นอุปสรรคอย่างที่คนอื่นๆ บอกพวกเขา

การฟังใครสักคน เริ่มต้นได้จากความเป็นมิตร “ถึงเราจะใช้ชีวิตได้ แต่เราก็พึ่งพาตัวเองคนเดียวไม่ได้หรอก” คนรอบข้างและสภาพแวดล้อมที่ ‘เป็นมิตร’ ก็เป็นสิ่งที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตคนพิการ 

“ถ้าโลกนี้ทำให้ทุกคนเข้าถึงการใช้ชีวิตได้ ความพิการก็จะไม่มีอยู่จริง”

25 ปีที่ผ่านมาของมอสเป็นอย่างไรบ้าง

เราเกิดมาเป็นคนตาปกติ แต่สัก 3 ขวบเรามีเนื้องอกที่บริเวณจอรับภาพ หมอบอกว่าต้องเอาตาออก ไม่งั้นจะกลายเป็นเนื้อร้ายเข้าสมองแล้วเสียชีวิต พ่อแม่ตัดสินใจเอาตาออก เราเลยกลายเป็นคนตาบอดตอน 5 ขวบ

ตั้งแต่ที่มอสตาบอด พ่อแม่ดูแลมอสเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

แม่เราเป็นห่วงลูก ยิ่งลูกตาบอดยิ่งเป็นห่วง ส่วนพ่อเราเป็นคนลุยๆ พาเราทำทุกอย่าง พ่อสอนเราผ่านการสัมผัส ช่วงที่มีข่าวดังอย่างเครื่องบินชนตึกเวิร์ดเทรด พ่อเล่าเหตุการณ์ผ่านการปั้นดินน้ำมันให้เราจับ หรือแผนที่โลก พ่อจะเอาแผ่นโฟมจากธุรกิจรองเท้าของที่บ้านมาทำเป็นแผนที่ เวลาไปพิพิธภัณฑ์ พ่อจะขอเจ้าหน้าที่ให้ลูกจับก้อนหิน ฟอสซิล พี่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเราตาบอดก็ให้จับ เราเรียนอนุบาลและประถมที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ด้วยความที่เป็นโรงเรียนประจำ กลับบ้านแค่เสาร์อาทิตย์กับปิดเทอม ช่วงเวลาที่อยู่กรุงเทพ พ่อเราก็จะพาไปเดินเล่นที่ลานพระรูป วัดราชนัดดา แถวราชดำเนิน ขึ้นภูเขาทอง พ่อจะเล่าให้ฟังว่าถนนเส้นนี้ตัดกับเส้นนี้ 

การตาบอดกระทบกับชีวิตที่ผ่านของมอสหรือไม่

ด้วยความเป็นเด็กเราไม่ได้กลัวว่าเราจะอยู่ในสังคมร่วมกับคนตาดีอย่างไร เราเรียนมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนมันสอนให้รักเพื่อน ไปไหนไปกัน ถ้าโดดก็โดดด้วยกัน โดนตีก็โดนด้วยกัน การช่วยเหลือกันก็มี เราเป็นคนที่ไม่ค่อยได้เรื่องภาษาอังกฤษ ไปขอดูการบ้านเพื่อน แต่เราได้คณิตศาสตร์ เพื่อนก็มาขอดู ก็แชร์กัน เราคงเข้าใจคำว่าแชร์ (หัวเราะ) เรากังวลเรื่องเรียนมากกว่าเรื่องเพื่อน เพราะเนื้อหาตอนเรียนประถมเป็นภาษาไทย แต่พอขึ้นมัธยมบางวิชาก็เป็นภาษาอังกฤษ สื่อสำหรับคนตาบอดก็มีน้อย ส่วนใหญ่เรียนผ่านอักษรเบรลล์ซึ่งใช้เวลาในการผลิตนาน กว่าจะได้อ่านเบรลล์เขาก็สอบมิตรเทอมกันแล้ว ต่อมา เราก็ใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอ (screen reader) เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยอ่านหน้าจอหรือไฟล์เอกสารที่เป็นตัวอักษรออกมาเป็นเสียง มันเร็วกว่าและไม่ต้องพกหนังสือเล่มใหญ่ๆ 

เราเรียนปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ซึ่งเรียนร่วมกับคนไม่พิการ กลุ่มเพื่อนของเราจึงมีสองกลุ่ม คือ เพื่อนที่เรียนนิติกับกลุ่มกิจกรรมนักศึกษา ชื่อ ‘ชุมนุมเพื่อนโดมสัมพันธ์’ ที่พาคนพิการกับคนไม่พิการมาเป็นเพื่อนกัน ทำค่ายอาสา หรือบำเพ็ญประโยชน์ด้วยกัน เพื่อให้คนไม่พิการเห็นว่าคนพิการก็สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ ถึงเราไม่ทำค่ายก็จะชอบหาเรื่องกัน ไปดอย ไปเที่ยวป่า ไปแม่ฮ่องสอน พอเราทำกิจกรรม เราก็ได้เพื่อนกินเหล้า (หัวเราะ) สังคมมักมีภาพจำว่า คนพิการต้องไม่แตะต้องอบายมุข เราเองจะไปเที่ยวกับคนที่มีเพื่อนกลุ่มที่พูดได้ว่าเป็นเพื่อน เชื่อในความเป็นคนเหมือนกัน อย่างเช่นพวกคุณสามคน วันนี้จบการสัมภาษณ์นี้ไป พวกคุณคิดถึงเรา อยากชวนเราไปแฮงค์เอาท์ พวกคุณไม่ได้คิดว่ามอสคือคนตาบอด พวกคุณคิดแค่ว่ามอสคือเพื่อนแค่นั้น 

การทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายในฐานะคนที่ตาบอดเป็นอย่างไร

ด้วยความที่เรามองไม่เห็น ก็มีคนที่ไม่เชื่อมั่นเราแต่เขาก็ไม่กล้าพูดให้เราได้ยิน ส่วนตัวมองว่าของแบบนี้มันต้องพิสูจน์กันที่ฝีมือ ในเมื่อเราเองก็เรียนกฎหมายมาเหมือนเพื่อน จบมาพร้อมกัน แต่ทำไมเราจะเป็นเหมือนเพื่อนไม่ได้ จะอ้างว่าเราตาบอดก็ไม่ใช่ 

การทำงานที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะงานทนายความมันทำกันเป็นทีม ยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ ความยากของเราคือการเข้าไม่ถึงเอกสาร สมมติว่ามีเอกสารมาปึกหนึ่ง เราก็ไม่สามารถอ่านได้ ต้องให้เพื่อนในทีมที่ตาดีอ่านให้ฟังและช่วยกันคิดช่วยกันตัดสินใจ จุดแข็งของเราคือการทำงานกันเป็นทีม และเราก็เป็นคนนึงที่รู้สึกว่าทีมเรามีความใส่ใจรักษาผลประโยชน์ของลูกค้า เข้าใจและค้นกฎหมายจริงๆ ไม่ใช่อ่านหนังสือแล้วนำมาพูด

ถ้าเราไม่รู้เราก็โทรถามทนายรุ่นพี่ มันก็เป็นเรื่องปกติในการทำงานเพราะไม่มีใครที่ทำเป็นมาตั้งแต่แรก ช่วงเริ่มต้นของทุกคนมันยากเสมอ ไม่ว่ากับใครก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งใจที่จะทำสิ่งนั้นจริงๆ รึเปล่า 

นอกจากทำงานด้านกฎหมายแล้ว คุณยังเปิดเพจ ‘หลับตาเที่ยว’ เล่าให้ฟังหน่อยว่าที่ของของการเปิดเพจนี้เริ่มต้นอย่างไร

เพจ ‘หลับตาเที่ยว’ เป็นเพจที่เรากับรุ่นน้องที่มหา’ลัยทำร่วมกัน ตอนปีสามเราเป็นประธานชมรมหนึ่งน้องเป็นเลขานุการ เลยสนิทกัน ชอบไปเที่ยวด้วยกัน 

การไปเที่ยวของเรามักจะเจอคำถามจากคนภายนอก เช่น “มองก็ไม่เห็นแล้วขึ้นไปดูอะไร” “คุณไม่เห็นแล้วรู้ได้ยังไงว่าป่ามันสวย” หรือ “จะเอาตัวเองขึ้นไปลำบากทำไม แล้วมันอาจจะลำบากคนอื่นหรือเปล่าที่ต้องพาเราไป” 

เราก็เลยทำเพจนี้ขึ้นมา เพื่อทำให้สังคมเห็นว่าคนพิการก็ออกไปเที่ยวได้ และตั้งใจให้เป็นบันทึกการเดินทาง ที่แสดงให้เห็นว่าตอนเราไปเที่ยว เราไม่ได้ให้คนอื่นช่วยเหลือเสมอ เราจะแบ่งกันว่าใครมีหน้าที่ทำอะไร เราแบกของ กางเตนท์ ส่วนน้องเป็นคนนำทางให้ หรือตอนเราพาเพื่อนๆ ตาบอดไปเที่ยว เพื่อนเราก็ไม่เคยคิดว่าเขาต้องรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว เขาเองก็ต้องช่วยคนอื่นเหมือนกัน คุณก็ต้องแบกของ ต้องขนน้ำ เพื่อขึ้นไปยอดเขา 

สรุปก็คือ ถ้าถามว่าไปเที่ยวทำไม ก็อย่างที่บอกว่าเป็นคนชอบป่า ไม่ได้ชอบทะเล และถามว่ามองไม่เห็นขึ้นไปดูอะไร หลายๆ อย่าง ถ้ามีโอกาสได้ขึ้นยอดเขา จะบอกว่าความรับรู้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายตาที่เรามอง แค่เราได้ยินเสียงธรรมชาติ มันก็รู้สึกสงบแล้ว พี่อาจจะเป็นคนที่ไม่ชอบเสียงดัง อยากได้ยินเสียงนก เสียงธรรมชาติก็เลยออกเที่ยวป่า

คนตาบอดต้องมีการเตรียมตัวก่อนไปเที่ยวไหม

การเดินป่า การทำอาหาร หรือการกางเต้นท์ ไม่ใช่ทักษะที่เราเลยตั้งแต่ต้น แต่เป็นทักษะที่เราเตรียมตัวมาตั้งแต่ในเมือง เราเองเรียนรู้จากเพจเฟสบุ๊ค หรือแชแนลยูทูปที่แนะนำการเดินป่า ดูวิธีการกางเตนท์ การหุงข้าว กว่าเราจะหุงข้าวโดยใช้เตาแก๊สสนามได้ เราก็หุงไหม้เป็นสิบๆ รอบ เราก็โทร.ไปถามคนที่เขาเดินทางมาก่อน สุดท้ายเราก็ตกผลึกว่า เราต้องทำแบบไหนถึงได้ข้าวที่สุกและไม่ไหม้ เรื่องขำๆ คือ พอเวลาไปค่ายเราทำได้ก็กลายเป็นว่าเราเป็นคนหุงข้าวให้คนตาดีกินด้วย และถึงเราจะฝึกโดยใช้การฟังเป็นหลัก แต่บางอย่างที่ฟังอย่างเดียวไม่ได้ เช่น ยกเป้ขึ้นยังไงให้เราไม่บาดเจ็บ สื่อแนะนำการเดินป่าเขาบอกว่ายกแบบนี้ แต่เราก็ต้องถามคนที่มองเห็นว่ามันยกขึ้นอย่างไร แล้วให้คนที่มองเห็นสอนเรา เราก็จำ สุดท้ายเราก็เดินทางได้ 

มีสถานที่ท่องเที่ยวไหนที่อยากแนะนำให้ไปไหม

ถ้าเราอยากจะไปแคมปิ้ง ที่แรกที่ควรไปคือ ‘ภูกระดึง’ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ระหว่างทางมีอาหารให้กินตลอด ไม่ต้องแบกอาหารขึ้นไป มีลูกหาบ เอาแค่ร่างกายไปอย่างเดียว การเดินทางไม่ไกลมากประมาณ 5-6 กิโลเมตร ในวงการเราเรียกว่าเป็น ‘อนุบาลหมีน้อย’ ถ้าเราอยาก Advance อยากทำกินเอง อยากกางเตนท์เอง เราแนะนำให้ไป ‘ภูสอยดาว’ ภูสอยดาวควรไปหน้าฝน เพราะมันจะมีดอกหงอนนากให้ชม อีกที่หนึ่ง ถ้าคุณอยากดูดาว เราแนะนำให้ไป ‘ดอยพุ่ยโค’ เดินแค่ 800 เมตร แต่ต้องเอาของทุกอย่างขึ้นไปเอง

การที่มองไม่เห็น ทำให้ต้องใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ เพื่อเข้าใจสิ่งรอบตัว มอสใช้ประสาทสัมผัสอะไรบ้าง

ทักษะหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ‘การฟัง’ ฟังทั้งสิ่งแวดล้อม ฟังทั้งคนพูด ถ้าเราฟังคนเยอะๆ เราจะรู้เลยว่าคนคนนั้นคิดอะไรอยู่ มีมุมมองอย่างไร เราก็ต้องตั้งใจฟัง พยายามจับประเด็นให้ได้ว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร เขาต้องการอะไรจากเรา

การฟังสิ่งแวดล้อม ถ้าเราเดินเข้ามาได้ยินเสียงน้ำ เราก็จะรู้ว่ามีน้ำพุหรือน้ำตก หรือการเดินในที่ๆ มีต้นไม้เยอะๆ มันก็ไม่ร้อนเหมือนกลางแจ้ง ในการใช้ชีวิตหรือการเดินทาง เราต้องฟังสิ่งแวดล้อมว่า มีอะไรเกิดขึ้นรอบตัวเรา มันคือการตั้งใจฟัง ถ้าเราสังเกต เราสามารถระมัดระวังตัวได้ 

‘กลิ่น’ เป็นสัมผัสหนึ่งที่เราใช้ ย้อนกลับไปสมัยเรานั่งรถเมล์ไปเรียน เราจะต้องลงป้ายหน้ามหาวิทยาลัยสวนดุสิต เราจะบอกกระเป๋ารถเมล์ให้จอดป้ายนี้ แต่กระเป๋ารถเมล์ก็ลืมตลอด บังเอิญว่าป้ายรถเมล์นี้มีร้านหมูปิ้ง 5 ร้านที่กลิ่นคละคลุ้ง และมีคนลงเยอะ เราเลยจำป้ายรถเมล์จากเสียงคน กลิ่นหมูปิ้ง 

ส่วนการเดินทางไปที่ต่างๆ ส่วนหนึ่งเราก็เรียนรู้จากการถามรุ่นพี่ที่ตาบอดที่เดินทางบ่อย “เอ้อ พี่รู้ได้ไงว่าเดินทางมาถึงตรงนี้แล้ว” “เห้ย ลองสังเกตดิ ถ้ามีรถมันสั่นกึกๆ คือมันข้ามทางรถไฟมา” สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องคอยสังเกต แต่ทุกวันนี้พอมีเทคโนโลยีก็สบายมากขึ้น แต่ก็ทำให้เราขาดการสังเกตสิ่งรอบข้างมากขึ้นด้วย

คนตาบอดจะใช้ screen reader ในการอ่านแผนที่บน google map ก็ช่วยทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น หรือนั่งรถไปกับเพื่อน เราก็สามารถบอกทางเพื่อนได้ 

มีบางคนเขาจะมองคนพิการว่า “คนพิการคือคนที่น่าสงสาร เพราะทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยตัวเองไม่ได้” คุณคิดอย่างไรกับมุมมองนี้

เรากล้าพูดว่าเราสามารถใช้ชีวิตคนเดียวในกรุงเทพฯ ได้ อาจจะต้องมีคนมาช่วยบ้าง เช่น อ่านป้ายต่างๆ ให้ฟัง เพราะโครงสร้างพื้นฐานประเทศเราไม่ได้เอื้อกับคนพิการขนาดนั้น การที่คนพิการคนหนึ่งจะทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด มันต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง 

ดังนั้น ไม่แปลกที่สังคมมองว่าคนพิการต้องการความช่วยเหลือ โลกนี้เป็นโลกของคนไม่พิการ คนพิการเลยถูกมองว่าเป็นคนที่ต้องช่วยเหลือ สมัยก่อนคนพิการต้องอยู่แต่บ้าน แต่ในสมัยนี้เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น คนพิการออกมาใช้ชีวิตได้ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าคนพิการต้องการความช่วยเหลืออยู่ดี

เราขอสะท้อนกลับว่า ถ้าคุณอยากช่วยเหลือคนพิการ มันง่ายมาก คุณไม่ต้องบริจาคเงินหรือ เอาข้าวให้เขากิน แต่ช่วยปรับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศนี้ให้มันดี ทำสิ่งต่างๆ ให้คนพิการใช้ประโยชน์ได้ ใช้ชีวิตได้เหมือนคนไม่พิการ นี่เป็นการช่วยที่ดีที่สุด หลายคนมองความพิการเป็นความบกพร่องทางร่างกาย เช่น แขนหาย ขาหาย ตาหาย แต่ถ้ามองความพิการเป็นความบ่งพร่องของสิ่งแวดล้อมละ เช่น ฟุตบาทไม่ดี เราก็จะเห็นว่ามีหลายคนที่ใช้ฟุตบาทไม่ได้ เราจะบอกตลอดว่าทำฟุตบาทให้ดีสิ คนตาบอดก็เดินได้ วีลแชร์ก็ไปได้ คนแก่ก็เดินสะดวก แล้วทำไมไม่ทำ ทำไมเรายังเห็นฝาท่อที่เปิดอยู่ เนี่ยมันคือความพิการของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ความพิการของคน 

เมื่อคนพิการใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ออกไปใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ความพิการก็จะไม่มีอยู่จริง มันอาจเป็นโลก ideal เกินไป แต่ในอนาคตมันต้องมีแหละ สังคมพัฒนาขึ้นจะช้าหรือเร็ว ความพิการก็จะน้อยลง

สภาพแวดล้อมเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่ค่อยโอบรับคนพิการ แล้วการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งสำหรับคนพิการเป็นอย่างไร 

สิทธิของคนพิการที่จะได้แน่นอน คือ เบี้ยยังชีพคนพิการ 800 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่มีทางพอ ค่าครองชีพบ้านเราแค่ข้าวมื้อนึงก็ 50 บาทแล้ว เบี้ยคนพิการไม่มีทางพอแน่นอน 

สอง คือ สิทธิรักษาพยาบาล และสิทธิต่างๆ ส่วนนี้ภาคเอกชนก็ให้ความร่วมมือ เช่น ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ขึ้นรถเมล์ก็ลดราคาให้ครึ่งนึง ขึ้นรถโดยสารระหว่างเมืองก็ลดราคาประมาณ 20 – 30% แต่บางอันมีมีเงื่อนไขที่ทำได้ยาก สมมติตั๋วเครื่องบินลด 20% แต่ต้องไปซื้อหน้าเคาน์เตอร์ ซึ่งคนพิการจะเดินเข้าไปถึงหน้าเคาน์เตอร์เพื่อซื้อตั๋ว คุณต้องนั่งรถอะไรไปก่อน แค่ค่าแท็กซี่ 200 บาท ไปกลับก็หมดแล้ว 

ถ้าคุณจะให้ส่วนลดก็ให้เลย ทำไมต้องให้ไปจองหน้าเคาน์เตอร์ เพื่อความยาก แล้วก็ทำไมไม่ทำให้สิทธิ์ทุกอย่างเชื่อมโยงกันได้ อย่างเรา ยังไงก็ไม่มีทางกลับไปเป็นคนตามองเห็นได้อยู่แล้ว ทำไมคุณไม่ลิงก์บัตรประชาชนไปเลยว่า เลขบัตรประชาชน 13 หลักนี้คือคนตาบอดนะ ถ้าไปจองที่ไหนคุณจะได้ส่วนลดเลย 

คนตาดีเป็นคนหนึ่งที่สามารถอำนวยความสะดวกในชีวิตของคนตาบอด ซึ่งบางคนก็อยากช่วย แต่กลัวว่าช่วยไม่ถูกวิธี หรือสร้างภาระให้คนตาบอดเพิ่ม คุณพอจะมีคำแนะนำไหม

ก่อนเดินเข้าไปช่วย ให้ถามเขาก่อนว่าต้องการความช่วยเหลือไหม ถ้าเขาบอกว่าไม่ ก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา แต่ถ้าเขาบอกว่า “รบกวนช่วยทำนี้ให้หน่อย” ถามเขาต่อว่า “ช่วยอย่างไร” แล้วเขาจะบอกเรา เช่น เห็นคนตาบอดยืนอยู่บนฟุตบาท กำลังจะข้ามถนน สามารถเดินเข้าไปถามเขาเลยว่าต้องการให้ช่วยไหม อยากให้ช่วยยังไง คนตาบอดทุกคนจะรู้วิธีนำทาง คือ ให้คนตาดีเอาข้อศอกมาให้คนตาบอดจับ แล้วก็พาเดินไป 

เป็นเจตนาดีของคนทั่วไปนะ ที่อยากเดินเข้ามาช่วยคนพิการเลย แต่บางทีช่วยโดยที่ไม่ได้ถามว่าคนพิการต้องการไหม บางครั้งตัวเราก็มีความอินดี้ไง เลิกงานเหนื่อยๆ บางวันก็ไม่อยากคุยกับใครแล้ว เท่าที่เคยเจอคนส่วนใหญ่จะเดินเข้ามาจับเลย การปฏิเสธของคนพิการก็จะกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เพราะถ้าคนพิการพูดว่า “อย่ามายุ่งกับผม” มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ คนจะรู้สึกว่า “เฮ้ย ทำไมคนพิการคนนี้มันหยิ่งจัง” 

หรือเวลาเราใช้รถไฟฟ้า เราอยากยืนอยู่ตรงต้นเสาตรงกลางคนเดียว ไม่อยากนั่งที่นั่งคนพิการ เพราะมันใกล้ชิดคนแล้วกลัวโควิด ถ้ามีคนเดินมาถามว่า “นั่งมั้ยครับ” อันนี้ดีมากเลย แต่บางคนก็จับแล้วลากไปนั่งเลย ซึ่งมันไม่ได้ เพราะการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คุณควรถามเขาก่อน 

บางคนพาคนตาบอดเดิน ดึงลงไปในถนนทั้งที่ตัวเขายังหันหลังอยู่ ถ้าจะให้ดีคุณควรบอกหน่อยว่า ถนนมีสเต็ปให้เดินขึ้น-ลง ไม่ต้องละเอียดมากก็ได้ เพราะคนตาบอดจะเดินตามจังหวะคนที่พาเราเดินอยู่แล้ว 

อย่าไปคิดว่า “เฮ้ย ทำไมเป็นคนพิการแล้วเรื่องมากจังวะ” คุณเองก็ควรเคารพสิทธิส่วนบุคคล วิธีที่ safe ที่สุดในการช่วย คือ เดินเข้าไปถามเขาเลยว่ามีอะไรให้ช่วยรึเปล่า ถ้ามันเป็นแบบนี้สังคมมันก็อยู่ได้

นอกจากช่วยเหลือ เราก็อยากเป็นเพื่อนด้วย มอสมีคำแนะนำส่วนนี้ไหม

ทำความรู้จักคนตาบอดเหมือนทำความรู้จักคนทั่วไป ถ้าอยากรู้จักก็แค่เดินเข้าไปทัก “สวัสดีค่ะ/ครับ เราชื่อ…นะ” เพียงแต่คนทั่วไปมักจะสบตากัน แต่คนตาบอดไม่ต้องสบตา 

แต่ถ้าคุณยังไม่สนิทกับคนตาบอดคนนั้น สิ่งหนึ่งที่เราขอร้องว่าอย่าไปทำ คือ “จำได้มั้ย เราเป็นใคร” (หัวเราะ) ถ้าสนิทกันแล้วคุณเดินไปหาเขาได้เลย จริงๆ ถ้าสนิทกันประมาณหนึ่งแค่ได้กลิ่นน้ำหอมเราก็จำได้แล้ว หรือวิธีที่เขาเดินเข้ามาหาเรา บางคนชอบเดินมาทางข้างหน้า บางคนเดินมาทางข้างๆ

สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจเวลาคุยกับคนตาบอด คือ อย่าพยักหน้า เพราะคนตาบอดจะมองไม่เห็น ให้บอกเขาไปเลยว่าใช่หรือไม่ใช่ ได้หรือไม่ได้ ใช้การพูดเป็นหลัก 

สุดท้ายแล้ว ในฐานะคนพิการ คนมีอะไรที่อยากบอกกับคนอื่นๆ ไหม 

มันมีสิ่งที่เราเคยพูดไปแล้ว แต่สังคมไม่ได้เปลี่ยนแปลง เรื่องการมองคนพิการ มองคนพิการให้เป็นคน  ปฏิบัติต่อเขาในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน ไม่ต้องสงสาร เพียงแต่ให้ความช่วยเขาเท่าที่จำเป็น และถ้ามีโอกาสก็อยากให้ช่วยกันผลักดันนโบายภาครัฐ ทำให้สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน มันเอื้อกับคนทุกคน เราย้ำนะว่า “คนทุกคน” ไม่ใช่แค่คนพิการ ทำให้คนทุกคนใช้ได้ 

ตัวอย่างเช่น คนตาบอดมักมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงเอกสารราชการ เอกสารส่วนใหญ่ของภาครัฐยังเป็นกระดาษอยู่เลย หรือ PDF ที่สแกนมา แล้วคนตาบอดจะอ่านอย่างไร ทำไมคุณไม่ทำเป็น text หรือเป็นเว็บไซต์ให้กดลิงก์เข้าไป แสกน qr code ก็ได้ ซึ่งการเปลี่ยนรูปแบบเอกสารก็ไม่น่ายาก 

การที่คนพิการเข้าถึงข้อมูลของรัฐมันสำคัญมากๆ สำหรับคนทั่วไปมันง่ายมากถ้าบัตรประชาชนหายต้องทำอย่างไร หรือจะไปติดต่ออำเภอที่ไหน หรือประกาศมาตราการให้สวมหน้ากากเวลาออกไปข้างนอก การสวมหน้ากากระดับคนทั่วไปมันง่ายมาก แต่ลองคิดดูว่าคนตาบอดที่เขาอยู่คนเดียว ชีวิตเขาไม่ได้เจอกับคนตาไม่บอดเลย เขาจะรู้ไหมว่าการสวมหน้ากากที่ถูกต้องมันเป็นอย่างไร 

คนส่วนใหญ่ในสังคมก็มองว่า คนพิการเป็นคนที่ด้อยโอกาส ต้องการความช่วยเหลือ แล้วก็ต้องให้ความช่วยเหลือ หรือแม้แต่คนพิการเป็นคนที่น่าสงสาร ซึ่งเราควรหยุดมองแบบนี้ได้แล้ว เราควรมองว่าเขาเป็นคนเหมือนกัน มีทั้งคนที่ต้องการความช่วยเหลือและไม่ต้องการความช่วยเหลือ