114
คือตัวเลขการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2562 – 2565 ข้อมูลจากเว็บไซต์ Momentum
ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ภายใต้การบริหารนำโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีกระแสสังคมบางส่วนมองว่า การทำงานของรัฐบาลชุดนี้นั้น ‘เอื้อ’ ผลประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุน
การควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition) คืออะไร? ตามนิยามที่ตลาดหลักทรัพย์ให้ไว้ เป็นการธุรกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจ และเป็นหนึ่งในมาตรการที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย
ถ้าให้อธิบายอย่างรวบรัดและเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในสายธุรกิจ การควบรวมกิจการ คือ การที่บริษัทหนึ่งเข้าไปครอบครองอีกบริษัทหนึ่ง อาจจะด้วยการซื้อหุ้น หรือซื้อกิจการ ซึ่งวิธีการนี้ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลงจากขนาดของกิจการที่ใหญ่ขึ้น (Economy of Scale) เพิ่มอำนาจต่อรองด้านการค้าที่สูงขึ้น จากส่วนแบ่งของตลาดหลังการควบรวมกิจการ
นี่อาจเป็นวิธีการที่ดีสำหรับคนทำธุรกิจ แต่ในแง่ประชาชนทั่วไป หรือผู้บริโภค การควบรวมกิจการอาจเข้าข่ายทำให้ตลาดนั้นๆ เกิดการผูกขาด (ทุนผูกขาด monopoly capital) เพราะผู้แข่งขันน้อยลง ทางเลือกก็ลดลงตาม หรืออาจส่งผลให้บริการหรือสินค้าปรับตัวสูงขึ้น เมื่อครอบครองตลาด
เป็นข่าวที่เราเห็นกันบ่อยช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ที่กิจการต่างๆ ควบรวมธุรกิจกัน อย่างเช่นในตลาดโทรคมนาคม ที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ในขณะที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ก็เข้าซื้อบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบนด์อย่าง 3BB เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็สร้างความกังวลให้กับผู้ใช้บริการที่ตัวเลือกในตลาดน้อยลด และอาจมาพร้อมกับค่าบริการที่เพิ่มสูงขึ้น
ในฟากร้านค้าปลีกอย่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ก็เข้าควบรวมบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกร้านใหญ่จากประเทศอังกฤษ โดยสถานะของ CP ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่นั้นถือเป็นผู้ครองตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่แล้ว การซื้อเทสโก้เข้าไปรวมด้วยอาจยิ่งเพิ่มการผูกขาดในตลาด
นี่อาจไม่ใช่ความกังวลของประชาชนอย่างเดียว ภาครัฐเองก็มีการออกมาตรการเพื่อควบคุมการควบรวมกิจการ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ที่มีเป้าหมายป้องกันการรวมธุรกิจที่ทำให้เกิดการผูกขาด หรือจำกัดการแข่งขันทางการค้า ซึ่งการควบรวมระหว่าง CP และเทสโก้ถือเป็นเคสแรกๆ ที่มีการใช้กฎหมายนี้เข้ามาร่วมด้วย และผลออกมาว่า การกระทำที่เกิดขึ้นไม่เข้าข่ายการผูกขาดทางตลาด แม้จะมีเสียงอีกแบบจากสังคมก็ตาม
การออกมาตรการควบรวมกิจการไม่ใช่มีแค่ที่ไทย แต่เป็นเรื่องที่ประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจเช่นกัน เพราะเสรีทางการค้า ย่อมมาพร้อมกับการดูแลจากภาครัฐ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคไร้ทางเลือก หรือถูกบีบคั้นจากการแข่งขันที่เกิดขึ้น เช่นสิงคโปร์ มีกฎหมายที่เรียกว่า Competition Act (กฎหมายแข่งขันด้านการค้าในสิงคโปร์) ที่ออกมาเพื่อควบคุมไม่ให้เกิด ‘การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม’ ในตลาดต่างๆ ซึ่งเคสที่น่าสนใจ คือ การควบรวมระหว่างแกร็บ (Grab) เป็นบริษัทสัญชาติมาเลเซียที่ให้บริการขนส่งต่างๆ ทั่วโลก วางแผนจะควบกิจการกับอูเบอร์ (Uber) ซึ่งทำธุรกิจประเภทเดียวกัน
แต่ในสิงคโปร์การควบรวมของ 2 บริษัทนี้ต้องหยุดชะงัก เพราะคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแห่งสิงคโปร์ หรือ Competition Commission of Singapore (CCS) ระบุว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเข้าข่ายผิดกฎหมาย Competition Act ทำให้การแข่งขันในตลาดให้บริการขนส่งในสิงคโปร์ลดลง และอาจเกิดการผูกขาดได้ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้ใช้บริการ
ในไทยตอนนี้ การให้ความสำคัญกับการควบรวมกิจการอาจเห็นได้จากว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งปี 2566 เป็นอันดับหนึ่ง และมีสิทธิ์เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล สร้าง MOU หรือ Memorandum of Understanding หนังสือบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงร่วมกันของแต่ละฝ่าย กับพรรคร่วมที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลด้วยกัน (สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่)
เนื้อหาใน MOU เปรียบเสมือนแนวทางการทำงานของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งทำงานบนหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กฎหมายสมรสเท่าเทียม เปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหาร แก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น และมีข้อที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ นั่นคือ ‘ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม’ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในทุกๆ ตลาด ซึ่งตลาดแรกที่มีแนวโน้มว่าจะเข้าไปเริ่มคือ ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ก้าวไกลมีนโยบายตอนหาเสียงอย่าง ‘สุราก้าวหน้า เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร’ ที่จะปลดล็อกระบบทำให้เกิดผู้ค้าธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้นในตลาด เป็นผลดีกับผู้บริโภคที่จะมีตัวเลือกเยอะขึ้น
สิ่งที่ประชาชนอย่างเราทำได้ในเวลานี้ คงเป็นการรอดูว่าที่รัฐบาลใหม่กับการทำงานแก้ปัญหาสิ่งนี้ว่าจะเป็นอย่างไร ในฐานะผู้บริโภคเราต่างหวังได้รับความหลากหลายและทางเลือกที่เราสามารถเลือกได้ตามเงินที่เราจ่าย คงไม่มีใครอยากถูกจำกัด หรือบังคับให้ต้องจ่ายเงินให้ใคร