‘ร้านเครื่องดนตรีมือสอง’ พื้นที่ที่รวบรวมความฝันที่ถูกทิ้ง และเกิดใหม่ คุยกับ เบ๊ง – เศกฤทธิ์ พลเสน เจ้าของร้าน Music Society

“เราคงไม่เคยเห็นใครยกกลองชุดไปเที่ยวทะเลด้วยใช่ไหม (หัวเราะ)” 

คำถามกลับจาก เบ๊ง – เศกฤทธิ์ พลเสน เมื่อเราถามว่าเสน่ห์ของ ‘กีตาร์’ สำหรับเขาคืออะไร

เบ๊งเป็นเจ้าของร้านขายเครื่องดนตรีมือสองที่มีชื่อว่า Music Society ตั้งอยู่ในย่านราชเทวี ซึ่งจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ย้อนกลับไปสมัยที่เขาอายุ 14 ปี ได้ลองจับกีตาร์ครั้งแรก ความชอบทำให้เขาอยู่กับสิ่งนี้มานานหลายสิบปี แถมได้ตำแหน่งแฟนพันธ์ุแท้กีตาร์ปี 2012 เป็นตัวการันตีอีกต่างหาก

สำหรับเบ๊ง เสน่ห์ของกีตาร์ที่ทำให้เขารู้สึกว่ามันแตกต่างจากเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ตรงที่มันพกพาสะดวก สามารถเล่นให้คนอื่นร่วมสนุกได้ด้วย แถมอีกหนึ่งคุณสมบัติพิเศษคือมันยังเพิ่มเสน่ห์ให้กับคนเล่น

“พี่เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเล่นกีตาร์ มีอย่างเดียวคือไว้อวดสาว (ยิ้ม)​ ถ้าไม่มีผู้หญิง มึงไม่เล่นดนตรีหรอก (หัวเราะ)”

จากความชอบกีตาร์ เมื่อได้สร้างร้านขายเครื่องดนตรีมือสอง กีตาร์ยังคงเป็นสินค้าหลักภายในร้าน เบ๊งบอกว่าที่เลือกขายมือสอง เพราะว่าเสน่ห์ของร้านมือสองที่เราจะได้เจอกีตาร์แปลกๆ กีตาร์ที่เราอาจไม่คิดว่าจะได้เจอ มาจากคนขายที่หลากหน้าหลายตาพาเข้ามา

“เมื่อก่อนพี่เคยเป็นพนักงานขาย เราก็จะเจอแต่กีตาร์ที่ร้านเขาสั่งมาขาย แต่ถ้าเป็นร้านเครื่องดนตรีมือสองจะไม่ใช่แบบนั้น เพราะเราจะเจอกีตาร์ทุกแบรนด์บนโลกนี้เลย เจอตัวที่เราคิดไม่ถึงว่าจะได้เจอ นี่คือเสน่ห์ของร้านมือสองที่พี่สัมผัสได้นะ”

ประโยคนับตั้งแต่นี้จะพาเราไปสัมผัสกับร้านเครื่องดนตรีมือสอง ที่ไม่ต้องไปก็รับความรู้สึกผ่านตัวอักษรได้ ฟังก์ชันของมันไม่ได้มีเพียงแค่การซื้อขาย แต่ต่อชีวิตหรือสร้างความฝันให้ใครบางคน

จากเด็กอายุ 14 ที่ลองเล่นกีตาร์ครั้งแรก กลายมาเป็นเจ้าของร้านกีตาร์มือสอง

“ยุคนั้นมันยังไม่มีอะไรเลยนะ ไม่มีหนังสือคอร์ดหรืออะไรให้เรามาจับเลียนแบบได้ พี่ต้องเปิดเทปฟังกับหูแล้วแกะคอร์ดเอง นักดนตรียุคเก่าๆ อย่างพี่กิตติ กีตาร์ปืน (กิตติ กาญจนสถิตย์) พี่แหลม มอริสัน เขาก็ต้องไปซ้อมกันจนไม่มีอะไรให้ซ้อมเลย”

14 คืออายุที่เบ๊งได้รู้จักกับกีตาร์ครั้งแรก เพราะเห็นรุ่นพี่ที่รู้จักเล่นกีตาร์ ภาพที่ได้เห็นสำหรับเบ๊งรู้สึกว่าเท่มาก ทำให้เขาอยากเป็นแบบนั้นบ้าง เบ๊งเลยขอยืมกีตาร์มาเล่น แต่ความยากในยุคนั้นคือไม่สามารถหาวิธีเล่นกีตาร์ในโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างตอนนี้ เบ๊งเลยต้องคลำหาทางเอง ลองดีดสายจนจับทางเล่นเป็น ก่อนจะค่อยๆ ขยับเล่นเป็นเพลง อาศัยฟังเพลงที่เปิดตามสถานีวิทยุ เป็นครูพักลักจำ ฟังๆ แล้วมาถอดเป็นโน๊ตดนตรี

“บางคนมองว่ากีตาร์เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดเสียงดนตรี เอาไว้เล่นกับคนอื่น แต่สำหรับพี่รู้สึกว่ากีตาร์มันยิ้มให้เราอยู่ตลอดเวลา มันเหมือนเป็นเพื่อนของเรามากกว่า ก็แล้วแต่คนเนอะ พี่รู้สึกว่าเวลาเราให้ความรักกับอะไรสักอย่าง เราจะรู้สึกว่ามันมีชีวิต”

แต่กีตาร์ก็ยังไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่เบ๊งวาดว่า เมื่อโตขึ้นจะทำอาชีพเกี่ยวกับกีตาร์ ส่วนหนึ่งเพราะทัศนคติที่เบ๊งเจอในตอนนั้น อาชีพนักดนตรียังคงเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ไม่มั่นคงพอที่ผู้ใหญ่จะยอมให้เด็กๆ เลือก 

“พ่อแม่เขาก็ไม่ได้สนับสนุนพี่หรอก พี่เคยฝึกเล่นถึงตีสอง แม่เปิดประตูมาเจอเราเล่นกีตาร์ เชื่อไหมว่าพี่โดนตบกระเด็นเลย ทั้งคนทั้งกีตาร์ พี่ต้องแอบเล่นกีตาร์ 8 ปี แอบเล่นแบบถ้าเขาไม่อยู่บ้านเราก็เอาออกมาเล่น”

แต่เบ๊งยังคงหาทางให้กีตาร์ยังอยู่ในชีวิตเขา ไม่ว่าจะเข้าวงดนตรีสมัยเรียนมหาวิทยาลัย หรือจับพลัดจับพลูมาเป็นคนขายกีตาร์หลังเรียนจบ เบ๊งเริ่มจากเป็นพนักงานขายในร้านดนตรีแห่งหนึ่ง ทำให้เขารู้สึกชอบที่ได้สนทนาเรื่องกีตาร์กับคนที่มีความชอบเหมือนกัน ก่อนจะขยับขยายไปหุ้นร้านกับเพื่อน แล้วเปิดเป็นร้านของตัวเอง ตอนนี้ร้านของเขาก็ตั้งอยู่ที่ย่านราชเทวี

“เมื่อก่อนพี่เคยเป็นพนักงานขาย เราก็จะเจอแต่กีตาร์ที่ร้านเขาสั่งมาขาย แต่ถ้าเป็นร้านเครื่องดนตรีมือสองจะไม่ใช่แบบนั้น เพราะเราจะเจอกีตาร์ทุกแบรนด์บนโลกนี้เลย เจอตัวที่เราคิดไม่ถึงว่าจะได้เจอ นี่คือเสน่ห์ของร้านมือสองที่พี่สัมผัสได้นะ”

ร้านของเบ๊งก็จะมีทั้งหน้าร้านและเพจเฟซบุ๊กให้ลูกค้าเลือกได้ตามความพอใจ ซึ่งเขาก็วางไว้ในใจว่า อยากให้ร้านแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ร้านขายของ แต่เป็นพื้นที่สำหรับคนรักกีตาร์ได้มาเจอและแลกเปลี่ยนความชอบด้วยกัน

“ไอเดียในการสร้างที่นี่สำหรับพี่ คือ พี่รู้สึกว่าตอนนี้ร้านมือสองมันเหมือนกันหมดเลย เป็นร้านโล่งๆ มีกีตาร์วางโชว์ ใครจะซื้อก็เข้ามาชี้ๆ จ่ายเงิน แล้วก็กลับบ้าน พี่อยากให้คนที่มาร้านเรารู้สึกเหมือนมาเที่ยว คือไม่จำเป็นต้องมาซื้อ แต่มานั่งคุยกันก็ได้ 

“มีศิลปินรุ่นใหญ่ๆ หลายคนมาร้านพี่นะ เรื่องที่เขาคุยบางครั้งก็ไม่ได้คุยเรื่องกีตาร์ด้วยนะ คุยเรื่องธรรมะด้วยซ้ำ พี่อยากทำให้เราเป็นมากกว่าร้านซื้อ-ขายกีตาร์ คนเข้ามาแล้วต้องรู้สึกว่า สุขใจด้วยอะ นั่นคือสิ่งที่เรารัก เวลาเราทำ เราเข้ามา เราก็ให้คนซื้อเขารู้สึกว่า พี่เบ๊งเขาสร้างมันมาจากความรัก ไม่ใช่ว่าทำมาเพื่อซื้อขายอย่างเดียว”

music society ชื่อของร้านก็อาจจะกำลังบ่งบอกสิ่งนี้อยู่

ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในร้านดนตรีมือสอง

“มีคนเคยบอกพี่ว่าเราจะเป็นคนขายของอะไรก็ตาม เราต้องขายของที่เรารักที่สุดให้ได้ก่อน สมมติเรามีแหวนวงหนึ่งที่เรารักมากที่สุดในโลก ให้ตายก็ไม่มีทางขาย วันหนึ่งถ้าเราทำใจขายได้ เราจะรู้สึกปลดปล่อยจากพันธนาการเลย รู้สึกว่ามันเบามาก ไม่มีแหวนวงไหนที่เราอยากได้แล้วบนโลกนี้” 

ซื้อ ขาย จำนำ ประมูล รูปแบบกิจกรรมที่เกิดภายในร้าน เบ๊งบอกว่าเขาไม่อยากทำอะไรที่ซ้ำไปซ้ำมา หรือทำอะไรเหมือนเดิมนานๆ จึงพยายามหาวิธีทำธุรกิจในร้านให้แตกต่าง รวมถึงสอดคล้องกับความต้องการของคนที่เข้ามา

“อย่างมีเคสที่บอกว่า พี่ หนูเสียดาย มันเป็นกีตาร์ของบรรพบุรุษ พ่อแม่เขาอยากเก็บไว้ แต่หนูจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ หนูยังไม่อยากเสียของนี้ไป หนูขอเอามาจำนำไว้ได้ไหม เราก็บอกว่าได้ครับ (ยิ้ม)” 

ช่วงโควิดระบาดเป็นช่วงที่คนนำของมาจำนำที่ร้านจำนวนมาก และมีรายหลายที่ไม่ได้กลับมารับของคืน สำหรับเคสเหล่านี้เบ๊งก็จะมีระยะเวลาในการจำนำ หากเกินกำหนดของก็จะถูกนำมาขายในร้าน ส่งต่อให้กับคนที่ต้องการต่อไป

เบ๊งย้ำเสมอว่า กีตาร์ที่ถูกขายมือสองไม่ใช่ของที่ไม่ดี หลายๆ ครั้งเหตุผลที่มันถูกขายเพราะเจ้าของอยากได้กีตาร์ตัวใหม่ เลยนำตัวเก่าไปขาย หรือบางครั้งกีตาร์บางตัวก็มีความหลังที่ทำให้เจ้าของยากจะขาย

“เครื่องดนตรีจะมีเสน่ห์ตรงที่บางตัวยิ่งนานยิ่งเสียงดี อย่างกีตาร์ใหม่ๆ ถ้าเราเอาไปเล่นเลยเสียงมันจะยังไม่ดีนะ เขาเรียกว่าต้องเอาไปทำ ‘รันอิน’ หรือ ‘เบิร์น’ ก่อน ให้มันโดนใช้งานมาบ้าง แล้วเสียงจะดีขึ้นเรื่อยๆ กีตาร์ตัวที่เสียงดีมันคือกีตาร์ที่ต้องเล่นบ่อยๆ

“คนจะชอบมองว่าถ้าเขาขายกีตาร์ออกไป แสดงว่ามันเป็นกีตาร์ไม่ดี จริงๆ มันมีเหตุผลในการขายเยอะแยะ กีตาร์บางตัวเสียงดีมาก ดีจนพี่ขนลุก คิดว่าโห เขาเอามาขายได้ไงวะ บางคนขายก็เพราะเบื่อแล้ว อยากไปซื้อกีตาร์ตัวใหม่ก็มี

“มีคนหนึ่งเอากีตาร์มาขายให้พี่ เป็นกีตาร์ของแฟนที่เสียไป เขารู้สึกเคว้งคว้างมากว่า จะขายแล้วเอาเงินมาดำรงชีวิต หรือไม่ขาย เก็บไว้เป็นตัวแทนของแฟน เราก็บอกว่าเขาจะเก็บไว้เพื่อให้นึกถึงแฟนก็ได้ แต่คือคนที่ตายแล้ว เขาไปสบายแล้ว คนที่ลำบากคือคนที่ยังอยู่ เราต้องไปข้างหน้า ถ้าเรายังมาจมปลักกับอดีต เราจะลำบาก”

การขายแบบออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพียงสัมผัสด้วยปลายนิ้ว แถมใช้เวลาไม่นานมาก เราก็อาจได้ของที่ต้องการ ร้านต่างๆ ก็เริ่มเปิดขายเฉพาะออนไลน์ แต่ในมุมเบ๊งเขาคิดว่าหน้าร้านก็ยังสำคัญ โดยเฉพาะร้านที่ขายเครื่องดนตรี มันเป็นพื้นที่ให้คนได้จับ สัมผัสสิ่งของ

“มีคนบอกว่าถ้าพี่มีเพจอย่างเดียวก็ได้ไม่ใช่หรอ ยิงโฆษณาก็พอแล้ว ทำไมต้องเปิดร้าน พี่มองว่าถ้าเปิดร้านเราจะได้เปรียบกว่าคนอื่น ตรงที่เป็นศูนย์กลางให้คนรู้สึกว่า มีพื้นที่ที่เขาสามารถซื้อ – ขาย – แลกเปลี่ยนเครื่องดนตรีนะ มันรู้สึกปลอดภัยกว่าด้วย ช่วงนี้มิจฉาชีพเยอะ ยิ่งขายแบบออนไลน์ยิ่งเยอะ ”

ที่สำคัญการมีอยู่ของร้านเครื่องดนตรีมือสองก็เป็นพื้นที่ให้ความฝันได้เติบโต โดยเฉพาะความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ได้มีโอกาสเข้ามาจับเครื่องดนตรี ได้มันกลับไปในราคาที่เอื้อมถึง หรือได้เห็นศิลปินซ้อมดนตรีในร้าน บรรยากาศที่เคยเกิดขึ้นในร้านของเบ๊งในช่วงที่เปิดแรกๆ เขาไม่ได้เปิดแค่ขายของ แต่ยังมีห้องซ้อมให้คนที่สนใจมาเช่า

แล้วแม้วันนี้ร้านจะถูกย้าย ห้องซ้อมไม่มีแล้ว แต่บรรยากาศเหล่านั้นยังคงอยู่ในความทรงจำของเบ๊ง

“ถ้าเรามีไอดอลที่ชอบสักคน การได้ใกล้ชิดเขามันมีโอกาสทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่ว่า ‘อยากเป็นอย่างพี่เขาว่ะ’

“เรามองว่าร้านเครื่องดนตรีมือสอง มันเป็นพื้นที่ที่รวมความฝันของใครหลายคน แต่ก่อนเราไม่ได้แค่ขาย เปิดห้องซ้อมดนตรีด้วย ก็จะมีวงที่ตอนนี้ดังไปแล้วมาซ้อมเยอะ มีเด็กนักเรียนอยากมาร้าน มาลองเล่นดนตรี ดูพี่ๆ เขาเล่น ทำให้เขาอยากเป็นศิลปินบ้าง มันกลายเป็นสังคมจริงๆ ณ เวลานั้น” 

สภาพแวดล้อมที่จะโอบรับความฝันอยากเป็นนักดนตรี

“พี่รู้สึกว่าวงการดนตรีทั่วโลกตอนนี้มันกำลังพัฒนาไปข้างหน้านะ พี่รู้สึกได้ว่ามันมีแนวเพลงหลากหลายกว่าสมัยก่อนมาก แต่ก่อนจะมีอยู่ไม่กี่แนว ไม่ป็อป ก็ป็อป – ร็อก ไม่ก็แจ๊สไปเลย เดี๋ยวนี้มีหลายแนวมาก จนเขาเรียกตัวเองไม่ถูกเลยว่าเป็นแนวไหน การฟังเพลงยุคนี้เลยไม่ได้อยู่ที่ว่า คุณต้องฟังแบบไหนไง แต่มันอยู่ที่ว่าคุณชอบแบบไหน” 

แต่วงการดนตรีในบ้านเรา สิ่งที่เบ๊งสัมผัสได้คือบทบาทของ ‘นักดนตรี’ เองกำลังเริ่มหายไป เบ๊งบอกว่าถ้าเป็นยุค 90 ที่เขาเติบโตมากพูดชื่อนักดนตรีได้หลายคน แต่เวลานี้ให้นึกยังยาก เพราะสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนหันไปสนใจ ‘นักร้อง’ มากกว่า

“นักดนตรีก็คือนักดนตรี ศิลปินก็คือศิลปิน มีน้อยที่จะเป็นทั้งศิลปินและนักดนตรี แต่ตอนนี้ คนพยายามเอาสองสิ่งนี้มารวมกัน การเป็นนักร้องได้เปรียบกว่าเป็นนักดนตรี เพราะนักดนตรีต่อให้คุณเล่นเก่งแค่ไหน คุณก็ไม่มีทางดังสู้นักร้องได้ เพราะว่านักร้องเป็นคนที่อยู่ข้างหน้า

“คนที่อยากเป็นแบบนั้นก็ต้องเป็นคนที่รักจริงๆ วิ่งเข้าหางานตลอด ต้องคอยเข้าสังคมกับคนอื่น เพราะการที่เราจะมีงานตรงนี้ต้องมีคอนเน็กชัน ยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่เราไปเรียนที่ไหนก็แล้วแต่ เพื่อที่จะได้ความรู้เยอะๆ สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาหาความรู้เองอยู่ดี” 

หรือทัศนคติที่ไม่ได้มองว่าอาชีพนี้มั่นคงยังคงมีอยู่ พ่อแม่เองก็ยังไม่อยากให้ลูกๆ เลือกเส้นทางนี้ หรือตัววัยรุ่นเองก็ไม่ได้มองว่านี่จะเป็นอาชีพสร้างความมั่นคงให้พวกเขาได้ 

“ถ้าเราไปถามคนรุ่นใหม่ว่าอาชีพนักดนตรีมันเต้นกินรำกินไหม เขาจะบอกว่า ไร้สาระ จริงๆ เขาอาจจะมองว่าดนตรีไม่ใช่อาชีพด้วยซ้ำ แต่มองว่ามันเป็นงานอดิเรก ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพแล้ว”

และอีกปัจจัยที่สำคัญ คือ วงการดนตรียังคงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับคนที่มี ‘ต้นทุน’ ที่จะเข้ามา

“มันไม่ได้หมายความว่าเรามีเงินซื้อเครื่องดนตรีแล้วจบ เราต้องมีเวลาว่างที่จะเล่นด้วย เมื่อก่อนพี่ใช้เวลาฝึกประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน สมมติถ้าตอนนี้พี่ทำงานประจำ พี่จะมีเวลาเล่นเท่านั้นไหม เอาแค่วันละชั่วโมงทุกวันยังยากเลย”

แต่คนเล่นดนตรีก็ไม่ได้หายไป เพราะยังคงมีคนใหม่ๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาแทนคนที่ออกไป ให้สังคมของเรายังคงมีเสียงดนตรีเป็นส่วนประกอบเสมอ และร้านเครื่องดนตรีมือสองเช่นกันที่จะมีอยู่ไปอีกนานเพื่อเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ยากจนเกินไป

“ถามว่าคนเล่นกีตาร์น้อยลงไหม? พี่ว่ามันเท่าเดิมนะ เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน คนเก่าออกไปก็มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามา จะมีกลุ่มเฉพาะๆ ของเขา ถ้าเราไม่ได้อยู่อาจจะคิดว่าคนเล่นน้อยลง แต่จริงๆ เขามีพื้นที่ของเขาเอง” เบ๊งทิ้งท้าย