“แม่รู้ไหมว่าเธอมาที่นี่” หมอเอ่ยถาม ‘ออทัมน์’ วัย 17 ปี ที่วันนี้มาเพื่อตรวจการตั้งครรภ์
อาการส่ายหัวแทนคำตอบจากออทัมน์ และ 2 ขีดสีแดงที่ปรากฎบนที่ตรวจครรภ์ยืนยันว่าเธอกำลังตั้งท้อง
ไม่มีอาการดีใจ หรือน้ำตาไหลต่อคำตอบนี้ มีเพียงใบหน้าเรียบเฉย ไร้เสียงใดๆ จากออทัมน์
“หมอรู้ว่าเรื่องนี้ทำใจยาก แต่หมอมั่นใจว่าพอหนูได้อุ้มหนูน้อยคนนั้นแล้ว หนูจะลืมความลังเลทั้งหมดไปเลย
“หมอเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะหมอก็เป็นแม่คน”

“หนูแค่นึกภาพตัวเองแบบนั้นไม่ออก” ออทัมน์ตอบกลับหมอ พร้อมกับเดินออกจากคลินิกเพื่อหาวิธีจัดการเรื่องที่เกิดขึ้น
เงื่อนไขในรัฐเพนซิวาเนียที่ออทัมน์อาศัย กำหนดว่าหากเป็นผู้เยาว์ทำแท้งต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ทำให้ออทัมน์เลือกที่จะไปทำที่อื่น ที่ที่เธอสามารถทำได้เอง โดยพ่อแม่ไม่ต้องรับรู้เรื่องนี้
โรดทริปเดินทางไปนิวยอร์คครั้งแรกของออทัมน์ และ ‘สกายลาร์’ ลูกพี่ลูกน้องที่ยืนยันว่าจะไปเป็นเพื่อน จึงเริ่มต้นขึ้น ไม่ใช่เพื่อท่องเที่ยว แต่เพื่อจัดการเรื่องที่เกิดขึ้น
ตลอด 1 ชั่วโมงที่เหลือของภาพยนตร์ ‘Never Rarely Sometimes Always’ อุทิศให้กับภารกิจทำแท้งของออทัมน์ บรรยากาศของหนังไม่ได้ทั้งตีตราว่าการทำแท้งเป็นสิ่งเลวร้าย หรือไม่เชิงสนับสนุนให้คนดูแล้วไปทำแท้งเถอะ เพียงแต่เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นของคนคนหนึ่งที่อาจไม่ใช่แค่ตัวละครในโลกภาพยนตร์ แต่อาจเป็นชีวิตของคนบนโลกความเป็นจริงที่ประสบเรื่องราวเช่นเดียวกัน
และสภาพแวดล้อมที่ 2 ตัวละครอาศัยอยู่ก็ทำให้คนดูรู้สึกว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดอาจไม่ใช่การทำแท้ง หรือมันอาจกลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว เมื่อต้องใช้ชีวิตหายใจร่วมกับคนที่ไม่เคารพร่างกายพวกเธอ

ตั้งแต่หัวหน้าซุปเปอร์มาร์เก็ตที่พวกเธอทำงานพาร์ทไทม์ ชอบคว้ามือของพวกเธอที่ยื่นซองเงินจากแคชเชียร์มาให้ เอามาจูบ ลูบคลำโดยไม่ถามความยินยอมพวกเธอสักนิด สีหน้าที่นิ่งเฉยเหมือนว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พวกเธอเจอจนชิน แต่ปฎิกิริยาร่างกายที่พยายามดึงมือตัวเองกลับมา ก็บ่งบอกได้ว่าเธอรู้สึกกับพฤติกรรมนี้อย่างไร
หรือตอนที่ออทัมน์ไปพบหมอเพื่อเข้ากระบวนการทำแท้ง ตามกฎระเบียบมีคำถามที่หมอต้องถามเพื่อให้ได้ข้อมูล และทำให้แน่ใจว่าเธอต้องการทำสิ่งนี้จริงๆ
“คุณบอกเหตุผลที่เลือกยุติการตั้งครรภ์ได้ไหม”
“ฉันยังไม่พร้อมเป็นแม่คน”
“ไม่เป็นไร ไม่ว่าจะตัดสินใจยังไงก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่มันคือการตัดสินใจของคุณเอง” หมอรีบตอบกลับออทัมน์ทันที อาจเพราะความเคยชินของหมอที่เจอคนไข้รู้สึกไม่ดีกับคำตอบ หรือตัวออทัมน์เองที่แม้จะทำท่าไม่ยินดียินร้ายอะไร แล้วรู้สึกว่าเรื่องนี่ปกติ แต่ลึกๆ เธอเองก็อาจหวาดกลัว และอายที่จะตอบบางคำถาม คำพูดจากหมอพอทำให้ใจเธอชื้นได้บ้าง

“คู่นอนของคุณชอบมายุ่งกับยาคุมของคุณ หรือพยายามทำให้คุณท้องทั้งที่คุณไม่ต้องการไหม”
“คู่นอนข่มขู่หรือทำให้คุณกลัวไหม”
คำถามจากหมอที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะจบ แต่ละคำถามก็เริ่มทำให้ออทัมน์รู้สึกอึดอัด
“ทำไมถึงถามแบบนี้ล่ะ” ออทัมน์เริ่มถามหมอกลับบ้าง
“หมอแค่อยากมั่นใจว่าคุณปลอดภัย”
“เคยมีคนบังคับให้คุณมีเซ็กส์ไหม”
เมื่อจบคำถามนี้ สิ่งที่ออทัมน์พยายามกลั้นมาตลอดพังทลายลง น้ำตาที่ไหลออกมาเป็นคำตอบที่ไม่ต้องพูด แต่ทั้งสองฝ่ายต่างรับรู้ได้
สำหรับออทัมน์ ชีวิตที่ผ่านมาเธอเจอกับคนที่ไม่เคารพร่างกายของเธอ พวกเขาต่างเลือกที่จะทำอะไรตามความต้องการตัวเอง ออทัมน์เองก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ด้วยปัจจัยต่างๆ นอกจากนิ่งเฉยและภาวนาให้มันจบเร็วๆ
แต่การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นสิ่งแรกๆ ที่เธอเลือกทำเอง มันอาจไม่ใช่สิ่งที่ดี หรือทำให้มีความสุข แต่อย่างน้อยก็ยืนยันว่าร่างกายนี้ยังคงเป็นของเธอ เธอยังมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจ เป็นเจ้าของมัน