ปัดขวา แมตช์ คุยไม่ได้คบ และเริ่มปัดขวาใหม่ : ลูปการหาคู่ออนไลน์กำลังซ้ำซาก ทำให้คนเหนื่อยล้ากับการหาแฟน

“ฉันเหนื่อยมาก การหาแฟนในแอปเดตเหมือนเป็นงานพาร์ตไทม์อย่างหนึ่งเลย”

กว่าจะเจอคนที่ใช่ไม่ใช่เรื่องง่าย แอ็บบี้ (Abby) หญิงสาววัย 28 ปี จากสหรัฐอเมริกาทุ่มเวลาไปทั้งหมด 8 ปี กับการใช้แอปหาคู่ออนไลน์ ไม่ว่าจะทินเดอร์ (Tinder) ซีเอ็มบี (CMB) บัมเบิล (Bumble) และอื่นๆ แอ็บบี้ก็ลองมาหมดแล้ว ไม่ใช่แค่เวลาที่เธอต้องเสียให้กับแอปฯ เหล่านี้ แต่เงินก็เหมือนกัน นับรวมแล้วแอ็บบี้จ่ายไปทั้งหมด 4,800 ดอลลาร์ หรือราว 1.7 แสนบาท สิ่งที่เธอได้กลับมา คือ ความเหนื่อยล้าและความโสดที่ไม่ยอมทิ้งเธอไปไหนเสียที

การวิ่งตามหาความรัก ถึงแม้จะไม่ได้ออกไปวิ่งจริงๆ มันก็เหนื่อย แอ็บบี้บอกว่า สำหรับเธอมันเหนื่อยที่ต้องทำอะไรซ้ำๆ เริ่มจากเลื่อนหาคนที่สนใจ ปัดขวา พอแมตช์กันก็เริ่มคุยกันได้ ประโยคสนทนาที่มีก็หนีไม่พ้น ‘เธอชอบอะไร’ ‘เวลาว่างชอบทำอะไร’ ‘วันนี้อยากกินอะไรไหม’ พอถึงจุดหนึ่งที่บทสนทนาไปต่อไม่ไหว ต่างคนต่างห่างกันไป และออกไปหาคนใหม่อีกครั้ง ลูปการหาแฟนในแอปออนไลน์มันจึงวนอยู่ในอ่างแบบนี้

ซิงเกิลรีพอร์ต (SingleReports) เว็บไซต์รวบรวมสถิติเกี่ยวกับคนโสดในสหรัฐอเมริการะบุว่า หลังจากไปสำรวจมาจากกลุ่มตัวอย่าง 500 คน 78.8% ของทั้งหมดตอบว่า พวกเขามีความรู้สึกเหนื่อย อีกทั้ง 4 ใน 5 ของคนวัย 18-54 ปี มีประสบการณ์เหนื่อยล้า หรือหมดไฟในการหาคู่เดตผ่านแอปออนไลน์

เมื่อเจาะตามกลุ่มตัวอย่างตามวัย ตั้งแต่อายุ 18 จนถึง 45 สถิติแสดงให้เห็นว่า เมื่อยิ่งอายุมากขึ้น การหาแฟนจะทำให้เหนื่อยมากขึ้น ซึ่งช่วงอายุ 35-44 เป็นวัยที่รู้สึกเหนื่อยล้ากับการหาคู่บ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มวัยอื่น อาจเป็นไปได้ว่า ช่วงวัยนี้เป็นวัยที่เพื่อนและคนรอบตัวเริ่มมีแฟน แต่งงาน มีลูกกันเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งพวกเขาอาจจะเจอความกดดันจากครอบครัว ที่อยากให้พวกเขาลงหลักปักฐานอย่างเป็นจริงเป็นจัง การหาแฟนจึงเป็นหน้าที่หนึ่งที่พวกเขาต้องทำ

นอกจากความซ้ำซากที่ทำให้เหนื่อยล้า การคุกคามและการถูกหลอกยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ทำให้แอ็บบี้และคนอื่นๆ มักรู้สึกหนักใจเวลาใช้แอป แอ็บบี้เปิดเผยว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยถูกคุกคามทางเพศจากการแมตช์กับคนที่เพิ่งรู้จักกันในแอป ข้อมูลจากสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) องค์กรที่สำรวจทัศนคติและเทรนด์นานาชาติ ได้ศึกษาพฤติกรรมการใช้แอปหาคู่ออนไลน์ของคนอเมริกา พบว่า 37% ของกลุ่มสำรวจโดนทักซ้ำๆ ทั้งที่ๆ พวกเขาปฏิเสธที่จะสานต่อไปแล้ว และยังมีอีก 35% ได้รับข้อความกับรูปโป๊เปลือยที่พวกเขาไม่ได้ขอ

‘ไม่ตรงปก’ วลีที่อธิบายการหาคู่ออนไลน์ได้เป็นอย่างดี ในเมื่อไม่ต้องเจอหน้ากันจริงๆ เราจะแต่งเติมสร้างเรื่องเท่าไหร่ก็ไม่มีใครรู้ สำนักวิจัยพิวชี้ว่า 71% ของผู้ใช้แอปรู้สึกว่า การโกหกเพื่อสร้างโปรไฟล์ตัวเองให้น่าสนใจเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ มีทั้งคนที่โกหกว่าตัวเองหน้าตาเป็นอย่างไร โกหกว่าบ้านอยู่แถวไหน มีเงินเดือนเท่าไหร่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ตัวเอง ‘เป็นที่ต้องการ’ ในกลุ่มคนโสดมากยิ่งขึ้น

“รู้แล้วว่ามันเหนื่อยแต่ก็หยุดไม่ได้” แอ็บบี้เล่าว่า เธอรู้ตัวที่ผ่านกระบวนการหาคู่มันเริ่มก่อผลเสียต่อสุขภาพจิตของเธอยังไง แต่เธอก็ไม่ตัดสินใจหยุด หรือลบแอปพวกนี้ออกไป เพราะเธอกลัวว่าเนื้อคู่อาจจะปรากฏขึ้น ตอนที่เธอล็อกเอาต์ก็ได้ แบบนี้นี่เองทำให้แอ็บบี้ต้องใจจดใจจ่ออยู่กับหน้าจอตลอดเวลา เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า คนที่ใช่จะออกมาอยู่ในหน้าจอตอนไหน

ไม่แปลกใจว่าทำไมการหาคู่สำหรับแอ็บบี้เป็นเหมือนกับงานพาร์ตไทม์ไปแล้ว การทุ่มเทเวลาว่างเพื่อหาใครสักคน ท่ามกลางคนนับไม่ถ้วนในแอปถูกเปลี่ยนจาก ‘กิจกรรม’ และกลายเป็น ‘หน้าที่’ แอ็บบี้และคนอื่นๆ รู้สึกว่า ถ้าวันไหนที่ไม่ได้เข้าแอป มันเหมือนกับเธอมีงานค้างที่รอการสะสางให้เสร็จ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าแอปหาคู่ออนไลน์จะมีแต่ข้อเสีย สำนักวิจัยพิวพบว่า 57% ของคนที่ใช้แอปหาคู่ออนไลน์รู้สึกไปในทางบวกกับการใช้ช่องทางนี้ เพราะพวกเขามองว่ามันง่ายมากที่จะเจอทั้งคนที่น่าสนใจ คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน คนที่น่านัดออกมาเจอกันตัวเป็นๆ และคนที่มองหาความสัมพันธ์ในแบบเดียวกัน

มีคนจำนวนไม่น้อยประสบความสำเร็จ และเจอความรักดีๆ ผ่านการใช้แอป จากการสำรวจโดยสำนักวิจัยพิว 12% ของคนใช้แอปเดตได้มีความสัมพันธ์อย่างจริงจัง จนไปถึงแต่งงาน

สำนักข่าว บิซเนส อินไซต์เดอร์ (ฺBusiness Insider) นำเสนอเรื่องราวของคู่บ่าวสาวที่พบรักกันจากแอปทินเดอร์ จูเลียเน็ต กอนซาเลซ (Julianet Gonzalez) ในวัย 27 ปีมองหาความรักในโลกออนไลน์จนได้มาเจอกับ แกเบรียล การ์ซ่า (Gabriel Garza) คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยววัย 32 ปี จูเลียเน็ตบอกว่า สิ่งที่ทำให้เธอปัดขวาเขา เพราะรอยยิ้มในรูปโปรไฟล์ของเจ้าตัว

“หลังจากเดตแรกฉันรู้ทันทีว่า เขาคือคนที่ใช่ ฉันถึงกับไปบอกเพื่อนเลยว่า เราสองคนต้องได้แต่งงานกันแน่”

ไม่ใช่แค่จูเลียเน็ตที่คิดแบบนั้น แกเบรียลเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน การเป็นคนแปลกหน้ามาก่อนไม่ได้ทำให้ทั้งคู่รู้สึกแปลกเลย ท้ายที่สุดพวกเขาแต่งงานกันและสร้างครอบครัวในแบบที่ต้องการ

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีที่โลกเหวี่ยงคนรู้ใจมาให้ คนที่ทุ่มเททุกอย่างอย่างแอ็บบี้ก็ยังไม่เจอรักแท้ที่ตามหาสักที ยิ่งมาเห็นคนอื่นเขาหาได้ แต่ตัวเองกลับยังไม่มีใคร ยิ่งทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง

“หลังจากเกือบ 10 ปี ที่อยู่ในวงการแอปหาคู่ ฉันเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า ที่ฉันเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาไป ฉันได้อะไรกลับมาบ้างไหม”

‘ชานิ ซิลเวอร์ (Shani Siliver)’ ในวัย 40 ปี ก็ถามคำถามนี้กับตัวเอง แชร์มันผ่านหนังสือ ‘การปฏิวัติความโสด (A Single Revolution)’ ในฐานะที่เธอเองก็เป็นคนหนึ่งที่จมอยู่มหาสมุทรแห่งความโสด และว่ายวนไปเจอแต่ความผิดหวังซ้ำๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ฉุกคิดได้ว่า “นี่เรากำลังทำร้ายตัวเองอยู่หรือเปล่า” ซานิตัดสินใจจบกิจกรรม 10 ปีของการใช้แอปหาคู่ไว้แค่นี้และลบทุกแอปทิ้ง

หลังจากลบทุกอย่างไปแล้ว เธอค้นพบว่า ที่ผ่านมาเธอรู้สึกโกรธและน้อยใจที่คนอื่นมีแฟนได้ แต่เธอไม่มี อีกทั้งอารมณ์ จิตใจ และร่างกาย ก็หมดแรงไปกับการที่อยู่ในสถานะ ‘รอคอย’ ให้ใครสักคนแมตช์กับเรา

“เมื่อก่อนฉันเอาแต่คิดว่า ‘ต้องมีสักวัน’ ที่ฉันจะมีแฟน รอมาแบบนี้เป็นเวลานาน และมันส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตจริงๆ”

พฤติกรรมหาคู่ของคนไทย

คงไม่ใช่แค่แอ็บบี้คนเดียวที่เหนื่อยกับกระบวนการหาคู่ ข้ามมาที่ประเทศไทย ‘เอิ้ก ชาลิสา’ ยูทูบเบอร์ชื่อดังก็เคยพูดในรายการกับเพื่อนๆ ว่า

“เราเริ่มไม่คุยกับใครเพราะมันเหนื่อย ต้องมาเริ่มคุยกับคนใหม่ด้วยแพตเทิร์นเดิมๆ มันเหนื่อยนะ อย่าง ‘เธอชื่ออะไร’ ‘อายุเท่าไหร่’ ‘อยู่แถวไหน’ พอคุยไปเรื่อยๆ เราก็ต้องบอกว่าเราไม่ใช่ผู้หญิงนะ เหตุการณ์ก็ซ้ำๆ กลับไปเจอเรื่องเดิม”

นอกจากความซ้ำซากที่ทำให้เหนื่อยล้า พฤติกรรมบางอย่างที่ในกระบวนการเดตก็ทำให้คนรู้สึกว่า ไปต่อไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน

ทินเดอร์รายงานสถิติการใช้งานแอปผ่าน Year in Swipe 2023 เล่าพฤติกรรมการหาแฟนของคนทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยด้วย เหล่าคนโสดไทยวัย Gen Z มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยยึดติดกับผลลัพธ์ เน้นการตามหาคนใหม่ๆ ให้มารู้จักกัน และสนุกไปกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นตอนนี้ ดีกว่าไปกังวลว่าในอนาคตจะมีแฟนไหม 27% ของคนวัยนี้เลือกฟีเจอร์แบบ ‘ยังค้นหาแบบที่ชอบอยู่’ 

‘คนคุย’ สถานะที่หมายถึงการคุยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ออกเดตหรือไปเที่ยวเล่นด้วยกัน แต่ไม่ได้เป็นอะไรกัน ซึ่งเป็นสถานะที่ได้มาจากพฤติกรรมการตามหาคนใหม่ไปเรื่อยๆ ของคนหาคู่ผ่านแอป บางคนอาจพอใจที่ได้อยู่สถานะนี้ แต่ก็มีหลายคนที่บอกว่านี่มัน ‘Toxic’

“ทำทุกอย่างเหมือนแฟนแต่ไม่ใช่แฟน” นั้นหมายถึงไม่มีการครอบครองซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายสามารถหายไปจากกันตอนไหนก็ได้ แถมในบางทีต่างฝ่ายต่างก็ไม่ได้มีคนคุยแค่คนเดียวเสมอไป อาจจะมีอีกหลายคนที่อยู่ในสถานะนี้ไปพร้อมกับเรา เพราะฉะนั้น วันหนึ่งคนที่เราคุยด้วยอยู่เขาอาจจะหายไปเลยก็ได้

เพราะการหาคู่ออนไลน์มันง่ายมาก แค่เปิด ปัด แมตช์ เพียงเท่านี้ก็มีคนใหม่ๆ เป็นสิบคนให้ได้ทำความรู้จักแต่ในขณะเดียวกัน เราทุกคนอาจเป็น ‘ตัวเลือก’ ของกันและกันก็ได้ ฉะนั้นแล้ว การเผื่อใจในการเล่นแอปหาคู่ออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า ระหว่างที่อีกฝ่ายกำลังส่งความมาหา เขากำลังนอนจับมือใครอยู่หรือเปล่า

หาคู่อย่างไรให้ใจไม่พัง

ความโสดอาจไม่น่ากลัวเท่าสุขภาพจิตเสีย เอฟเฮชอี เฮลท์ (FHE Health) คลินิกสุขภาพจิตในฟลอริดา สหรัฐอเมริกา แนะนำนักหาคู่ออนไลน์ทุกคนที่กำลังพบเจอความเครียด ความเหนื่อยล้า หรือความเศร้า จากการหาแฟนทางออนไลน์ให้ลองปฏิบัติตามนี้

พักก่อนสักนิด ถ้าเริ่มรู้สึกกดดันหรือเครียดจากการเล่นแอปเดต อยากให้ลองหยุดและวางโทรศัพท์ลงก่อน อาจจะออกไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำ หรือลองคุยกับคนที่อยู่ใกล้ตัวในโลกความเป็นจริงดู เพื่อให้ผ่อนคลายจากอาการนี้

ตั้งขอบเขตให้ตัวเอง จริงอยู่ที่ในแอปเดตมีคนเป็นล้านที่โชคชะตาอาจกำลังจะดลบันดาลให้มาพบกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภายใน 1 วัน เราจะต้องรีบหาคนๆ นั้นให้เจอ การเลื่อนหาแฟนแบบไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเหนื่อย เอฟเฮชอี เฮลท์แนะนำว่า ให้ตั้งเวลา 1 วันเราจะให้แอปหาคู่เท่าไหร่ และถึงตอนไหนที่เราควรพักก่อน

เดตกับคนที่เราสนใจ อย่ากดดันตัวเองจนต้องฝืนคุยกับคนที่เราไม่ได้สนใจ ถึงแม้คนที่ใช่จะยังไม่โผล่มา เอฟเฮชอีก็อยากให้ชาวหาคู่ออนไลน์ลองใช้เวลา ไปกับคนที่เราให้ความสนใจจะดีกว่า ไม่อย่างนั้นการฝืนคุยกับคนที่ไม่ชอบก็จะทำให้เหนื่อยล้าโดยไม่รู้ตัว

อย่าตั้งเดดไลน์ การหาแฟนไม่ใช่งานขายของ ไม่จำเป็นตั้งทำยอดหรือตั้งเป้าว่า ในแต่ละวันจะต้องหาคนคุยให้ได้เท่าไร บางคนถึงขั้นปักวันในปฏิทินว่า จะต้องเจอเนื้อคู่ภายในวันไหน และต้องเริ่มออกเดตไปจนถึงแต่งงานกันวันไหน การกดดันด้วยตารางวันแบบนี้อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและเครียด ฉะนั้นแล้ว การหาคู่แบบตามใจตัวเอง อยากหยุดตอนไหนก็หยุด อยากเล่นตอนไหนก็เล่น จะทำให้เราสนุกกับการหาแฟนมากกว่า

อ้างอิง

www.businessinsider.com

www.fherehab.com

www.nytimes.com

www.pewresearch.org

www.singlesreports.com

www.tinderpressroom.com