ทำไมหน้ารามถึงมีคนมลายูมุสลิมเยอะ? ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์คนมลายูมุสลิมผ่านระบบการศึกษา กับนิฌามิล หะยีซะ

ทำไมหน้ารามถึงมีคนมลายูมุสลิมเยอะ?

คำถามสั้นๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นิฌามิล หะยีซะ ลงมือศึกษาข้อมูลเพื่อหาคำตอบ ออกมาเป็นบทความ นายูดือแปราม : ชาวมลายูไกลบ้านในกรุงเทพฯ ที่อธิบายถึงต้นสายปลายเหตุว่าทำไมบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถึงเป็นชุมชนของชาวมลายูมุสลิมขนาดใหญ่

‘มลายูมุสลิม’ คือคำเรียกกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมภาษามลายูและนับถือศาสนาอิสลามที่อาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 

คำว่า ‘คนไทย’ ในภาษามลายูเรียกว่า ‘ออแรซีแย’ ซึ่งหมายถึง คนไทยพุทธ ขณะเดียวกันการใช้คำว่า ‘ออแรนายู’ จะเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นมุสลิม ทำให้พวกเขาเลือกจะเรียกตัวเองด้วยคำคำนี้ 

ความต้องการที่จะรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตัวเองไว้ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเลือกอาศัยอยู่ใกล้ๆ กันจนกลายเป็นชุมชนที่ขยับขยาย และกระจายทั่วประเทศ

ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์คนมลายูมุสลิมผ่านระบบการศึกษา ที่จะทำให้เราเห็นความเหมือนบนความแตกต่าง ไม่ว่านับถือศาสนาใด พวกเราก็ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี และการศึกษาก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ 

จากนโยบายความมั่นคงของรัฐสู่การกระจายระบบการศึกษาไปต่างจังหวัด

“ส่วนหนึ่งเราก็เป็นคนมลายูด้วยแหละ คิดว่าการศึกษาตัวเองโดยไม่มีไบแอสน่าจะเป็นเรื่องที่สนุกดี ถ้าเรากลับมามองกระจกบนพื้นฐานที่เราไม่ได้หลงตัวเอง มันอาจจะทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ อย่างที่เราเขียนบทความ เราไม่ได้พยายามจะเขียนแค่ว่าชาวมลายูมีแต่ความสวยงามเท่านั้น แต่ก็ยังมีมุมปกติทั่วไปเหมือนกับที่คนในสังคมเจอ”

นิฌามิล หะยีซะ

ชุมชนตั้งอยู่ใกล้มหา’ลัย ทำให้นิฌามิลตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนเลือกมาอยู่ที่นี่ เขาค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์จนเจอว่า ช่วงหลังสงครามเย็นรัฐไทยมีความสนใจพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะที่เป็น ‘พื้นที่เปราะบาง’ มีความเสี่ยงที่จะถูกแทรนแซงด้วยภัยคุกคามจากภายนอก

ทำให้รัฐออกนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงผ่านโครงการพัฒนาในระดับภูมิภาค หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาด้านการศึกษา

“ยุคนั้นเป้าหมายหลักของรัฐ คือ พื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามภายนอก  ในปัจจุบัน paradigm นี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วในหลายพื้นที่ แต่ในมุมผมคิดว่า วิธีคิดแบบนี้ของรัฐต่อพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงหลงเหลืออยู่”

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มขึ้นของคนในพื้นที่ คือ รูปแบบการศึกษา จากการเรียนทางศาสนา มาเป็นการเรียนสายสามัญมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนเชิงนโยบายของรัฐ เช่น การจดทะเบียน ‘โรงเรียนปอเนาะ’ โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม กลายเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือเพิ่มจำนวน ‘ทุนมหาดไทย’ ให้กับกลุ่มมลายูมุสลิม เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษายิ่งขึ้น

“ในอดีตทุนมหาดไทยจะเน้นพัฒนาพวกข้าราชการ ผลิตคนเพื่อเข้าไปทำงานในระบบราชการ หลายๆ คนที่ได้ทุนมหาดไทยจะทำงานในวงการนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ซะส่วนใหญ่ ชาวมลายูมุสลิมได้ทุนมหาดไทยเยอะเหมือนกัน ในมุมเราคิดว่าลึกๆ  มันคือการดึงคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ”

แม้ว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นจะเพื่อความมั่นคงของรัฐ แต่นิฌามิลมองในทางกลับกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นการกระจายอำนาจ กระจายระบบการศึกษาไปยังบริเวณรอบนอกจากเมืองหลวงมากขึ้น คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่แค่คนมลายูมุสลิม แต่เป็นคนทุกกลุ่ม  

“ถ้าย้อนไปดูประวัติการก่อตั้งมหา’ลัยหลายๆ ที่ ในส่วนภูมิภาคจะเกิดในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน เช่น มหา’ลัยเชียงใหม่ สงขลานครินทร์ ทำให้เห็นความพยายามของรัฐในการกระจายการศึกษาเข้าไปในภูมิภาค บทความผมทำให้เห็นสเต็ปต่อไป คือ ศักยภาพในการรองรับนักศึกษาของมหา’ลัยเหล่านี้ก็ไม่ได้เพียงพอ 

“เพราะต้องอย่าลืมว่าช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีสถาบันการศึกษาอย่างเป็นทางการ ประชากรในพื้นที่ก็ต้องไปเรียนนอกพื้นที่ หรือไม่ก็ไม่เรียนไปเลย แต่พอสร้างมหาลัยขึ้นมาแล้ว มันกลายเป็นช่วงที่คนพยายามเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น มหา’ลัยที่เพิ่งสร้าง facility อาจไม่ได้มีพอเหมือนมหา’ลัยส่วนกลาง เลยเกิดปรากฎการณ์ที่คนท้องถิ่นเดินทางเข้ามาเรียนในส่วนกลางมากขึ้น”

แม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีการก่อตั้งมหา’ลัยสงขลานครินทร์ในปี 1968 หรือนักศึกษามลายูมุสลิมบางส่วนเลือกเข้ามาเรียนมหา’ลัยรัฐในกรุงเทพ แต่จำนวนที่นั่งก็ยังมีไม่เพียงพอ กลายเป็นที่มาของการจัดตั้งมหา’ลัยเปิด คือ มหา’ลัยรามคำแหงในปี 1971 ทำให้คนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มเข้ามาศึกษาต่อในมหา’ลัยรามคำแหงมากขึ้น  

เหตุผลที่พวกเขาเลือกเรียนที่นี่ นอกเหนือจากโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม หรือความต้องการส่วนบุคคลแล้ว เหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ มหา’ลัยแห่งนี้อยู่ใกล้กับชุมชนมลายูมุสลิม ทำให้พวกเขาสามารถใกล้ชิดกับวัฒนธรรมที่คุ้นเคยที่จากมาได้ พื้นที่หน้ามหา’ลัยรามฯ จึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ของพวกเขา  

ความคาดหวังของศาสนาและครอบครัวที่ทำให้ผู้หญิงมุสลิมออกจากการศึกษาเร็ว

“จริงๆ ความเข้าใจของคนโดยทั่วไปจะเข้าใจว่า ชาวมลายูมุสลิมไม่ค่อยเข้าถึงการศึกษา ถามว่าถูกไหม? ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมเห็นเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ปีที่ผ่านมา มีคนมลายูมุสลิมที่เข้าถึงการศึกษามากขึ้น ตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงมหา’ลัย อาจเป็นไปได้ว่าครอบครัวหรือสังคมโดยรอบส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงการศึกษามากขึ้น โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นการศึกษาเชิงศาสนา หรือสายสามัญทั่วไปแล้ว”

“มันอาจจะมีข้อจำกัดกับคนบางกลุ่ม เช่น คนที่ยากจนก็อาจจะเข้าไม่ถึงการศึกษาเลย หรือด้านหนึ่งก็อาจจะออกจากระบบการศึกษาเร็วไปเลย เช่น เรียนจบแค่ป.6 ซึ่งป.6 นี้ถือว่าสูงแล้วนะ บางคนไม่เรียนเลยก็มี”

‘ค่านิยม’ ยังเป็นสิ่งที่มีผลต่อการเข้าถึงระบบการศึกษาของคนมลายูมุสลิม โดยเฉพาะผู้หญิงที่ศาสนามีผลต่อการใช้ชีวิต

นิฌามิล บอกว่า ผู้หญิงมลายูมุสลิมเป็นกลุ่มประชากรหลักที่ออกจากระบบการศึกษาเร็ว บางคนจบป.6 หรือมากสุดคือม.3 “มันปฎิเสธไม่ได้ว่าความคาดหวังต่อบทบาทความเป็นเพศหญิงในอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้”

“โอเค ปัจจุบันมันมีคนที่เรียนในระดับอุดมศึกษามากขึ้นก็จริง แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่ได้ไปต่อ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้น คือ พอคนเหล่านี้เผชิญปัญหาในสังคมทั่วไปที่อยู่นอกบริบทสถาบันการศึกษา เช่น การหางาน ก็จะเป็นกลุ่มคนที่โดนจัดไปอยู่ในกลุ่มแรงงานรายได้ไม่เยอะ เช่น กลุ่มที่ทำงานในโรงงาน สิ่งเหล่านี้ยังเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

“เวลาที่เรามอง process การพัฒนาคนมันไม่ได้จบแค่การศึกษา หรือมีตลาดแรงงานรองรับไหม มันยังเกี่ยวข้องกับบริบทสังคมวัฒนธรรมโดยรอบ เช่น ความคาดหวังของครอบครัว หรือสังคมรอบข้าง กรณีผู้หญิงมลายูมุสลิมจะเห็นว่าบทบาทครอบครัวมีส่วนมาก มันคือความคาดหวังของสังคมมุสลิมต่อเพศหญิงที่จำกัดอยู่แค่การเป็นเเม่ เป็นภรรยา ฉะนั้น คนกลุ่มนี้ก็ไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว หรือออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เลยไม่ต้องเข้าถึงการศึกษาก็ได้ เพราะเเค่คุณมีสามีเลี้ยงดูก็ได้เเล้ว”

เพื่อนคนหนึ่งของนิฌามิลมีโอกาสไปเก็บข้อมูลภาคสนามในจังหวัดนราธิวาส พบว่า มีผู้หญิงที่ออกจากระบบการศึกษาเร็วเพื่อไปเเต่งงานจำนวนมาก ทำให้วุฒิการศึกษาของผู้หญิงส่วนใหญ่จะจบชั้นประถมปลาย หรือไม่ก็มัธยมต้นเท่านั้น สิ่งที่ตามมา คือ คุณภาพชีวิต การไม่สามารถหางานทำได้ ยิ่งถ้าคนเป็นสามีไม่ได้ทำงานมั่นคงพอที่จะมีรายได้ในการซัพพอร์ตทั้งครอบครัวก็อาจมีปัญหาตามมา เช่น ต้องอยู่กับความยากจนตลอดไป ซึ่งฝ่ายหญิงเองก็ไม่สามารถออกไปทำงานเพื่อซัพพอร์ตเพิ่ม เพราะไม่มีวุฒิการศึกษาและคนรอบตัวที่ไม่สนับสนุนให้ออกไปทำงาน ปัญหานี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตของผู้หญิงมลายูมุสลิมจำนวนมาก

แต่ ณ วันนี้เริ่มมีคนมองเห็นปัญหานี้มากขึ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ สนับสนุนให้ผู้หญิงมุสลิมเข้าถึงการศึกษามากขึ้น หรือในแง่ของบุคคลก็เริ่มเปลี่ยนไปเช่นกัน บางครอบครัวสนับสนุนให้ลูกสาวเรียนสูงที่สุด มีงานทำ 

“ถ้าเราตีความการศึกษาแบบใหม่ ที่ไม่ยึดติดกับใบปริญญาหรือวุฒิ เราคิดว่ามันมีแนวทางในการพัฒนาหลายแบบมากๆ เช่น การศึกษาทางเลือกหรือ life long learning มันก็อาจจะเป็นแนวทางหรือโอกาสในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น”

การศึกษาในมุมเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

“ตอนที่เราเรียนมหา’ลัยค่อนข้างเรียนได้เกรดดี ก็จะมีเพื่อนและอาจารย์บางคนแปลกใจ พูดกับเราบ่อยๆ ว่า “ไม่คิดเลยว่าสามจังหวัดฯ จะเรียนเก่งขนาดนี้” มันยังมีความเข้าใจเดิมๆ ต่อคนต่างจังหวัดอยู่

มุมมองที่คนอื่น ๆ มีต่อคนที่มาจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคงเข้มข้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บางคนเลือกจะเรียนระดับสูง ๆ เพื่อลบภาพที่ตีตราพวกเขาไว้

“สังคมคนเมือง พ่อแม่จะคาดหวังให้ลูกเรียนสูงมาก ๆ มากจนบางครั้งเป็นการกดดันลูก แต่เราคิดว่ามันไม่ใช่เหตุผลแค่เรื่องความก้าวหน้า หรือเรื่องความมั่นคงในชีวิตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว มันมีเรื่องของการโหยหาการยอมรับด้วย เหมือนกับว่าคนรุ่นก่อนหน้าเคยถูกมองเป็นคนไม่มีความรู้ เราเองก็ไม่อยากให้ตัวเองหรือลูกหลานถูกมองแบบนี้ เลยเลือกเรียนสูง ๆ ทำงานที่ดีเป็นการพิสูจน์ตัวเอง”

ไม่ว่าจะเป็นเหตุใดก็ตาม แต่จำนวนคนมลายูมุสลิมที่มีในระบบการศึกษามากขึ้น ถือเป็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลง การเข้ามาเรียนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งทุนใดๆ ทำให้พื้นที่ของคนมุสลิมในสังคมนี้ก็ขยับขยายตัวตาม

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรก – การปรับตัวของเด็กและเยาวชนที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงความคิดของครอบครัวหรือของสังคม และอีกส่วน คือ การปรับตัวของสถาบันการศึกษาที่เน้นพัฒนาเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มากขึ้น มหา’ลัยในไทยในทุกภูมิภาคก็มีนักศึกษาชาวมุสลิมเข้าไปศึกษาอยู่มากขึ้น 

“พื้นที่ที่ชาวมุสลิมไม่เคยมีตัวตนอยู่ แต่ในปัจจุบันคนพวกนี้เริ่มปรากฏตัวในพื้นที่พวกนี้มากขึ้น นั่นหมายความว่าคนพวกนี้เข้าถึงโอกาสด้านการศึกษามากขึ้นแล้ว” นิฌามิลทิ้งท้าย

ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค
อ้างอิง
https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/418
https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/46