“เราหมดศรัทธาในการใช้สิทธิ์ไปแล้ว” เสียงจากโหวตเตอร์ไทยในต่างแดน ที่กลับมามีความหวังในการเลือกตั้งครั้งนี้

“เลือกไปก็เหมือนเดิม”

ความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้นกับ ‘ปอนด์’ พรรณวิภา โพธิ์งาม โซลเบิร์ก และกับคนอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ‘การเลือกตั้ง’ ไม่ใช่กิจกรรมสำคัญที่ต้องทำแม้ว่าจะมีสิทธิ์ก็ตาม ตัวปอนด์เองก็ละทิ้งสิ่งนี้ไปหลายปีแล้ว

ส่วนหนึ่งเพราะบรรยากาศการเมืองที่ผ่านมา ปอนด์ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตในไทย แต่ย้ายจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาสร้างครอบครัว และทำงานเป็นคุณครูผู้ช่วยในโรงเรียนอนุบาลที่ประเทศนอร์เวย์ ยิ่งทำให้ปอนด์ไม่รู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องเลือกตั้ง

“ตัวเราไม่ได้เจอผลกระทบอะไร ถ้าให้พูดตรงๆ เมื่อก่อนมันเป็นรัฐบาลแบบรัฐประหาร ทำให้เราไม่รู้สึกอยากออกเสียง เราหมดศรัทธาในการใช้สิทธิ์ไปแล้ว”

แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ บรรยากาศการเมืองช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปอนด์กลับมาสนใจบ้านเกิดของเธออีกครั้ง มันจุดบางอย่างในตัวปอนด์ที่ซ่อนตัวมานาน อาจเรียกว่าเป็น ‘ความหวัง’ ก็ได้ การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้จึงเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของเธอในรอบหลายปี 

“กระแสมันมา ทำให้เราอยากใช้สิทธ์มากขึ้น แล้วโลกดิจิตอลมันสื่อสารถึงกัน เราได้รับข้อมูลข่าวสารหลายๆ ด้าน บวกกับความที่เราอายุเยอะด้วยแหละมั้ง เรา 40 แล้ว ชีวิตบั้นปลายก็อยากกลับไปอยู่เมืองไทยนะ แน่นอนว่าการเมืองมันมีผลกระทบกับความเป็นอยู่ของเราแน่ๆ มันเลยทำให้เราสนใจมากขึ้น”

เราชวนปอนด์มาคุยเรื่องเลือกตั้งในฐานะคนต่างแดนที่กลับมาใช้สิทธิ์ เพราะเธออาจไม่ใช่คนเดียว อาจยังมีหลายๆ คนที่เป็นเหมือนกัน และกำลังรอคอยว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปในทางที่พวกเขาหวังไว้หรือไม่ แต่หนึ่งสิ่งที่เราเห็นได้ คือ สัญญาณของคนที่กลับมาเห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง กลับมาใช้สิทธิ์ที่ตัวเองมี 

เมื่อการกาครั้งนี้ อาจเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้

“เรานอนหลับทับสิทธิ์ตลอด”

คนไทยหลายคนที่อยู่ในสังคมเดียวกับปอนด์ที่นอร์เวย์ พวกเขาไม่สนใจการเลือกตั้งเช่นกัน เพราะความคิดที่ว่าเลือกไปก็เหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างที่หวัง กลายเป็นการหมดใจและตัดขาดไป

แต่บรรยากาศการเมืองช่วงปีหลังๆ ที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของพรรคใหม่ๆ ทำให้ปอนด์เริ่มเห็นอะไรบางอย่างจนกลับมาสนใจการเมืองไทย และการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จึงเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบหลายปีของเธอ

“เราเห็นเลยว่ามีคนอยากใช้สิทธิ์เยอะมากนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะอะไร? เพราะคนต่างประเทศเขาต้องส่งเงินกลับมาที่บ้าน เขาต้องดูค่าเงิน ดูเศรษฐกิจ ซึ่งมันกระทบกันหมด ไหนจะความคิดที่อยากกลับไปใช้ชีวิตบั่นปลายที่ไทย บอกตรงๆ ว่า ถ้ารัฐบาลยังเป็นแบบนี้ เลือกได้คนคงไม่อยากกลับไทยแล้ว”

ปอนด์คอยติดตามข่าวสารการเลือกตั้ง นโยบายพรรคต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจครั้งนี้ โชคดีที่เทคโนโลยีตอนนี้ทำให้เธอเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย แม้ว่าตัวจะไม่อยู่ไทยก็ตาม ปอนด์ยังรู้สึกว่าเสียงของเธอมีความสำคัญนอกจากสร้างความเปลี่ยนแปลง มันก็ส่งผลกับคนที่อยู่ในไทย 

“มันไม่มีอะไรก้าวหน้า เราอยู่ต่างประเทศเราเห็นภาพรวมประเทศไทยเลยว่ากำลังเดินไปทางไหน คนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยบางคนเขาหาเช้ากินค่ำ บางทีเขาก็ไม่มีเวลามานั่งคิดหรอกว่ารัฐบาลไหนดี เขาอาจคิดแค่ว่า โอเค…วันนี้เราจะมีเงินไหม? เราจะมีค่าแรงพอกินไหม? ลำพังเขาใช้ชีวิตของเขาในทุกๆ วันพลังก็หมดแล้ว สภากาแฟเมื่อก่อนเคยมีนะ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยเห็นแล้ว เพราะทุกคนต้องทำมาหากิน ต้องแข่งกับชีวิตประจำวัน แข่งกับเวลา

“พอทุกวันนี้สื่อมีมากขึ้น มันเลยทำให้มีการวิจารณ์คุยกันมากขึ้นตาม คิดว่ามันคงถึงเวลาแล้วแหละที่เราต้องกระตือรือร้น คุยกันในห้องแชทกลุ่มสะใภ้นอร์เวย์ หลายคนบอกว่าหนึ่งเสียงของเราก็เปลี่ยนประเทศได้ มันจริงนะ เราก็อยากใช้เสียงของเราให้เต็มที่” 

ระบบไม่เอื้ออำนวย ทำให้คนเลือกไม่รู้สึกปลอดภัย ไม่รู้ว่าเสียงจะถึงปลายทางไหม

การกลับมาเลือกตั้งครั้งนี้ของปอนด์และคนไทยต่างแดนอีกหลายๆ คนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ปอนด์เล่าว่าระบบเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สร้างความยุ่งยากให้พวกเขามากที่สุด

“ตอนแรกเรานึกว่าจะชวดซะแล้ว เพราะไม่ได้รับเอกสารเลือกตั้งสักที นั่งคิดกับตัวเองว่าเราทำอะไรผิดหรือเปล่า จนไปดูในห้องแชทสะใภ้นอร์เวย์ก็อ้าว…จริงๆ ไม่ได้มีแค่เราที่ยังไม่ได้เอกสาร คนอื่นๆ ก็ยังไม่ได้”

ขั้นตอนสำหรับคนที่เลือกตั้งนอกประเทศไทย เริ่มจากลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งผ่านลิงก์ที่สถานทูตไทยในแต่ละประเทศแจ้งไว้ ซึ่งช่วงเวลาที่เปิดให้ลงทะเบียน คือ 25 มีนาคม – 9 เมษายน สำหรับปอนด์รู้สึกว่าช่วงเวลาสั้นไป ทำให้คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารใกล้ชิด อาจลงทะเบียนไม่ทันจนเสียสิทธิ์เลือกตั้ง 

“ทุกคนไม่ได้จับโทรศัพท์ได้ตลอดเวลานะ เขาก็มีงานต้องทำ ไหนจะต้องดูแลลูก ดูแลครอบครัวอีก ระบบก็ไม่ยืดหยุ่นให้เราเลย ทำเหมือนคนที่อยู่ต่างประเทศไม่ได้สำคัญ

“ยังไงเขาก็ต้องมีการประชุมล่วงหน้าเพื่อวางแผนการเลือกตั้ง แต่ทำไมคุณถึงให้ระยะเวลาลงทะเบียนเราสั้นจังเลย บวกกับหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น มันก็สร้างความหวั่นใจให้คนเลือกตั้งที่อยู่ต่างประเทศนะ”

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ จำนวนคนไทยที่อาศัยอยู่ในนอร์เวย์ปี 2565 มีประมาณ 13,000 คน มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งในนอร์เวย์และไอซ์แลนด์ จำนวน 1,573 คน ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วจำนวน 1,247 คน คิดเป็นร้อยละ 79.22 ของผู้มีสิทธิลงคะแนน

ที่นอร์เวย์กำหนดวิธีเลือกตั้งโดยให้ส่งบัตรเลือกตั้งมาที่สถานทูตที่กรุงออสโล ระยะเวลาที่กำหนดให้ส่งก็ยังกระชั้นชิด ปอนด์บอกว่าเธอได้รับบัตรเลือกตั้งจากสถานทูต 1 วันก่อนถึงวันหมดเขตรับบัตร ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เธอจะสามารถส่งกลับไปได้ทัน

ปอนด์โชว์เอกสารที่เธอได้รับ มีจำนวนหลายใบที่ต้องอ่านเพื่อปฎิบัติตามได้ถูก แต่ระยะที่บีบทำให้เธอต้องรีบกรอกให้เสร็จแล้วส่งเพื่อให้ทันเวลา 

“เราอาจจะมองในแง่ร้ายนะ คุณเปิดให้เราลงทะเบียนก่อนนานมาก แต่เกิดอุปสรรคในเรื่องการส่งเอกสาร แล้วเวลาที่ให้ส่งบัตรเลือกตั้งกลับไปที่สถานทูตก็สั้นมาก เราได้เอกสารมาวันที่ 2 พ.ค. แต่ว่าต้องส่งให้สถานทูตภายในวันที่ 3 พ.ค. ซึ่งมันไม่ทันหรอก เพราะเราไปเช็คไปรษณีย์แถวบ้านหมดแล้ว ต้องใช้เวลาส่งขั้นต่ำ 2 วัน หรือให้ไปส่งที่สถานทูตก็ต้องก่อน 4 โมง แต่กว่าเราจะเลิกงาน ยังไงก็ไปส่งไม่ทันอยู่ดี”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สถานทูตเปิดรอบรับบัตรเลือกตั้งเพิ่มอีกรอบหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ปอนด์รู้สึกอุ่นใจได้ มันเต็มไปด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัยตลอดการเลือกตั้งครั้งนี้

“เขาบอกว่าจะส่งบัตรเลือกตั้งกลับไทย 2 รอบ คือ วันที่ 3 พ.ค. กับ 8 พ.ค. และย้ำว่าไม่ว่ายังไงก็จะส่งกลับให้ทัน แต่ทันนับคะแนนหรือไม่ เราก็ไม่สามารถรู้ได้เลย แล้วทางไทยมีวิธีอย่างไรกับเสียงที่นับไม่ทันไหม”       

“เขาควรจะทำให้มีการลงคะแนนเสียงที่ง่ายๆ เนอะ แต่นี่เหมือนเขาเปิดประตูแง้มเอาไว้ แต่ไม่ยอมเปิดเต็มๆ ให้เราสะดวกไปใช้สิทธิ์ มันไม่มีการอำนวยความสะดวกที่ 100% ทำให้เรากลัวจริงๆ ว่าเสียงตัวเองจะไปไม่ถึง”

ปอนด์สอบถามสามีที่เป็นชาวนอร์เวย์ถึงวิธีเลือกตั้งของคนนอร์เวย์ในต่างประเทศ เขาบอกว่าสามารถไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่สถานทูตได้เลย เพียงโชว์พาสปอรต์เพื่อยืนยันตัวตน

ตัวของปอนด์เองก็เคยใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่นอร์เวย์ เป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่คนในพื้นที่ทุกคนมีสิทธิ์ ระบบสำหรับเธอไม่ยุ่งยาก ไม่มีเอกสารกองเป็นตั้งๆ ให้ต้องกรอก สามารถเดินไปใช้สิทธิ์ที่คูหาได้เลย ทำให้ปอนด์คิดว่าสิ่งนี้ควรเกิดกับการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนกัน

“ทุกอย่างลงทะเบียนออนไลน์ แล้วเขาก็จะมีข้อมูลเราในทะเบียนราษฎของเขาอยู่แล้ว แค่ส่ง sms มาว่าคุณจะมีเลือกตั้งท้องถิ่นนะ คุณต้องไปเลือกที่ไหน ไม่มีเอกสารกระดาษอะไร เพราะเขาพยายามอนุรักษ์ธรรมชาติลดการใช้กระดาษ ทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญเราสามารถดูได้ในเว็บไซต์เขาเลย ไม่มีปัญหาส่งเอกสารไม่ถึง หรือส่งไปไม่ทัน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เราเสียสิทธิ์ในการเลือกตั้งมากๆ

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ‘บ้าน’ ก็ยังเป็นสิ่งที่คนอยากกลับไปหา 

ถึงจะใช้ชีวิตที่นอร์เวย์มานานเท่าไร แต่ปอนด์ยังคิดเสมอว่าเธออยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด “คนเรายังไงก็ต้องอยากกลับไปที่รากเหง้าของตัวเอง ต่อให้อยู่ที่ไหนก็ตาม ถึงมันจะไม่ดียังไง แต่ครึ่งชีวิตของเราก็อยากใช้ที่นั่น”

ขณะเดียวกัน ก็มีคนอื่นๆ ที่หมดใจไปแล้วด้วย บางคนสละสัญชาติไทยเพื่อไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการบางอย่าง เช่น การเกณฑ์ทหาร 

“เวลาที่เราคุยกันกับเพื่อนๆ สมมติมีเพื่อน 4 คน จะมี 3 คนที่บอกแล้วว่าไม่เลือกตั้ง มีเราคนเดียวที่เลือกตั้ง เขาบอกว่าเลือกไปก็เหมือนเดิม เราก็เลยบอกว่ามันไม่ใช่นะ ในเมื่อคุณมีสิทธิ์ตอนนี้ มันก็อาจช่วยเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้

“เราเคารพความคิดเห็นเขานะ โอเค…เขาอาจจะมองต่างเรา ไม่ได้อยากกลับไปใช้ชีวิตที่ไทยแล้ว มีบางคนที่แม่พาลูกไปยกเลิกสัญชาติลูก เพราะเขาใกล้วัยเกณฑ์ทหาร ซึ่งเรื่องเกณฑ์ทหารถือเป็นเรื่องใหญ่นะ น่าคิดต่อว่าคนคนหนึ่งที่เกิดมามีสัญชาติไทย แต่ต้องไปยกเลิกเพราะเรื่องเกณฑ์ทหาร แล้วทำให้เขาเสียสิทธิ์หลายๆ อย่างไป”

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ปอนด์รู้สึกว่าเธอได้ใช้สิ่งที่เธอมี แล้วก็หวังว่าเสียงของเธอจากนอร์เวย์จะได้ถูกนับในการเลือกตั้งเช่นกัน

“ถ้าให้บอกอะไรสักอย่าง เราอยากย้ำว่าการเลือกตั้งควรทำให้เป็นเรื่องที่ง่าย สร้างแรงจูงใจให้คนไปใช้ อย่างเช่น สถานทูตเปิดไปเลยหนึ่งวันให้คนเข้าไปเลือกตั้ง ลดเอกสารที่เราต้องใช้ พาสปอตหรือบัตรประชาชนมันเป็นสิ่งที่ยืนยันตัวตนเราได้ดีและมากที่สุดแล้ว จะได้ลดเวลาส่งเอกสารจากไทยมาที่นี่ด้วย หรือส่งกลับไปที่ไทย ขั้นตอนที่เป็นช่องโหว่งตรงนั้นทำให้เราหวั่นใจว่าเสียงของเราจะไม่ถึง 

“เอาจริงๆ นะ ใครๆ ก็อยากกลับไปอยู่บ้านเกิดตัวเองทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ารัฐบาลมันห่วย เขาก็ไม่อยากกลับ คนเราถ้ามีโอกาสเลือกที่อยู่ที่ดีกว่า เขาก็ต้องเลือกที่ดีกว่าอยู่แล้ว” ปอนด์ทิ้งท้าย

ภาพ
the asean post
อ้างอิง
oslo.thaiembassy.org