‘แล้วเราจะได้พบกันในวันที่ความยุติธรรมเบ่งบาน’ คุยกับปวีณ พงศ์สิรินทร์ ผู้ลี้ภัยในระบบที่คนดีอยู่ไม่ได้ 

‘ก็ผมไม่ได้ให้เขาออกไป เขาออกไปเองไม่ใช่หรือ ใครจะมาทำอะไรเขาได้ บ้านเมืองมีขื่อมีแปอยู่’  ช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์ที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามสื่อเรื่องคดีของ ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตผู้รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8  ผู้ลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย 

ขื่อแปหรือความยุติธรรมในประเทศไทยโดยเฉพาะในวงการตำรวจถูกตั้งคำถามถึงความผิดปกติในระบบมานาน 

“กระบวนการยุติธรรม ศาล อัยการตำรวจที่ควรต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา มันไม่เคยปรากฏในชีวิตจริงเลย ถ้าผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิดไม่ให้การรับสารภาพเสียเอง ส่วนใหญ่จะมีการวิ่งเต้นในทางคดีช่องทางต่างๆ มากมาย ตํารวจก็ได้รับการวิ่งเต้นจากผู้ต้องหาที่กระทําความผิด กระบวนการอย่างนี้มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มันโกหกทั้งเพถึงความยุติธรรมที่ควรจะเป็น” 

ปวีณบอกสิ่งที่ได้เห็นและสัมผัสความผิดปกติตลอดชีวิตของการทำงานเป็นตำรวจถึง 33ปี นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงต้องลี้ภัย และคาดหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ที่จะทำเกิดรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบ 

“ผมอุทิศเวลานอนทั้งหมดเพื่อติดตามผลการเลือกตั้ง”  ปวีณ ให้สัมภาษณ์กับ Mutual ผ่านวิดีโอคอลด้วยรอยยิ้มที่ปิดไม่มิด ตลอดการใช้ชีวิตต่างบ้านต่างเมืองในฐานะผู้ลี้ภัยที่ยาวนานถึง 7 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่ปวีณมีความหวังว่าการ ‘กลับบ้าน’ ไปเจอครอบครัวอันเป็นที่รัก ได้เล่นทะเลพร้อมรับประทานอาหารไทยที่คิดถึง อาจจะเป็นจริงได้ในสักวันหนึ่ง ผ่านรัฐบาลใหม่ที่สร้างความยุติธรรมให้แผ่กระจายเข้าถึงทุกคน

เสียงจากบุคคลสาบสูญ ที่คาดหวังว่าความยุติธรรมจะเบ่งบานในประเทศไทยในสักวันหนึ่ง

ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNHCR นิยามความหมายของ ผู้ลี้ภัย ไว้ว่า เป็นบุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือการเป็นสมาชิกในกลุ่มสังคมเฉพาะ

ปวีณ พงศ์สิรินทร์ คืออดีตผู้รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ที่ต้องตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยยาวนานถึง 7 ปี จากการเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ซึ่งการทำงานนี้ทำให้เขาพบความผิดปกติต่างๆ ในระบบยุติธรรม โดยมีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง เมื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองแล้ว ทำให้ปวีณตัดสินใจจากบ้านเกิดเมืองนอน ลี้ภัยไปยังออสเตรเลียเมื่อปี 2558

เรื่องราวของปวีณ เจ้าของฉายามือปราบค้ามนุษย์ และคดีที่เริ่มไว้ค่อยๆ สูญหายไปเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นภายใต้การปกครองของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในขณะนั้น 

แต่ในเดือนมีนาคมปี 2565 ชื่อของปวีณ พงศ์สิรินทร์ ก็กลับมาอยู่ในความสนใจสังคมอีกครั้ง เมื่อรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล เอ่ยถึงปวีณในการอภิปรายในสภา เชื่อมโยงประเด็นการค้ามนุษย์ ชาวโรฮีนจา กรณีมีการค้นพบค่ายกักกัน และหลุมศพกลางป่าบนเทือกเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ในขณะเดียวกัน สำนักข่าวอัลจาซีราก็เผยแพร่สารคดีที่ชื่อว่า Thailand’s Fearless Cop (ดูเต็มๆ ได้ที่นี่)​ ซึ่งเป็นเรื่องราวการทำคดีการค้ามนุษย์โรฮิงญาของปวีณ 

“เรื่องของผมเงียบสาบสูญไปนานหลายปี ด้วยความที่เป็นตำรวจเราก็ระวังภัยเสมอ จนเมื่อปี 2563 คุณธนาธรติดต่อผมมาขอข้อมูลค้ามนุษย์โรฮิงญา จนนำไปสู่การอภิปรายในสภา แต่พูดได้ไม่มากเพราะเวลาจำกัด พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่เคยหยิบยกเรื่องผมมาเล่าเลย ผมไม่มีความหวังแล้ว แต่พอพรรคก้าวไกลติดต่อมา ให้ความสำคัญจนผมกลับมามีความหวัง” 

“มีคนไทยที่ลี้ภัยการเมืองจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคุณอั้ม เนโกะ อ.ปวิน ไฟเย็น ฯลฯ ทุกคนยากลำบาก แต่ละวันเหมือนฝันร้าย ผมขอบคุณคนไทยทุกคนที่ช่วยกันเปลี่ยนแปลงประเทศ จากที่เคยมืดมนให้มีความหวัง แล้วมันก็ช่วยสร้างความหวังให้ผมด้วยเช่นกัน” 

เรื่องเล่าจากวงใน…ที่คนดีๆ อยู่ไม่ได้ 

หนึ่งในนโยบายเด่นของพรรคก้าวไกล คือการปฏิรูปวงการยุติธรรม และการเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างของวงการตำรวจ คนมีสี โดยการยื่นเสนอเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ในพ.ร.บ.ตำรวจ โดยมีใจความสำคัญถึงกระบวนการการปกป้องและป้องกันตำรวจดีที่ออกมาเปิดโปงหรือแฉพฤติกรรมอันเลวร้าย และลดช่องโหว่ให้ผู้บังคับบัญชาสามารถลิดรอนสิทธิ ลิดรอนความเป็นธรรมของตำรวจชั้นผู้น้อย ภายใต้กฎหมายที่มีกลไกเอื้อให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง (อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://www.moveforwardparty.org/news/13425/

นี่อาจเป็นเหตุผลหลักที่ก้าวไกลติดต่อกับปวีณ เพราะปัญหาที่ซุกใต้พรมในวงการสีกากีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตั๋วช้าง การแทรกแซงในการทำคดีของผู้มีอำนาจ การทุจริตในองค์กรโดยไม่มีการตรวจสอบ หรือแม้แต่ระบบโครงสร้างที่ทำให้ ‘คนดี’ อยู่ในวงการตำรวจไม่ได้

“เอาตรงๆ เลยนะ วงการตำรวจคุณซื่อสัตย์ซื่อตรง คุณอยู่ไม่ได้”

ปวีณกล่าวพร้อมเล่าประสบการณ์ทำงานของตัวเองในฐานะตำรวจมากกว่า 10 ปี โดยเริ่มต้นตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ

“ผมอยู่ในวงการตำรวจมาครึ่งชีวิต เห็นทุกอย่าง ตำราเรียนบอกหลักการแบบหนึ่ง แต่พอไปทำงานจริงเจอแบบหนึ่ง สิ่งที่เขาไม่ได้สอนแต่มันปรากฏในโลกแห่งการทำงานจริงมีตั้งแต่การไหลตามน้ำ ประจบสอพลอเจ้านาย ระบบเส้นสายอุปถัมภ์ ซึ่งผมเล่าชีวิตตัวเองเขียนเป็นหนังสือและเผยแพร่ผ่านนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ไว้ว่าทำไมประเทศไทยถึงเป็นแบบนี้ ทำไมระบบราชการถึงล่มสลาย เพราะว่าคนเก่งเยอะ แต่เอาตัวรอดกันเยอะ มันทำให้ประเทศเราปกคลุมด้วยความมืดมิด ไม่มีอนาคต” 

ปวีณตอบคำถามถึงความรู้สึกช่วงแรกของการลี้ภัยว่า “ช่วงที่ลี้ภัยมาใหม่ๆ เพื่อนพี่น้องหลายคนไม่กล้าติดต่อมา เข้าใจได้ว่ามันเป็นช่วงเผด็จการมีอำนาจ ซึ่งผมเองก็เหงา อยากติดต่อพี่ๆ น้องๆ หลายคนเหมือนกัน แต่ก็เข้าใจได้ว่าผู้มีอำนาจเพ่งเล็ง บางคนเขาก็ไม่เห็นด้วยที่ผมโดนแบบนี้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเขาเองก็ต้องอยู่เป็น” 

นอกจากนี้ปวีณยังเล่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาอีกว่า “ตอนผมเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรที่สุราษฎร์ธานี ผมลดคดีอาชญากรรมได้เยอะเลย คุณรู้ไหมเวลานั้น สุราษฯ เป็นจังหวัดสถิติคดีอาชญากรรมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศสลับกับนครศรีธรรมราช ถ้ามันลดได้ มันจะดีใช่ไหม แต่สิ่งที่ผมเจอมันไม่ใช่ การลดอาชญากรรมแทนที่ผู้ใหญ่จะชอบ แต่ผลกลับถูกต่อต้านอย่างหนักโดนสั่งห้ามทำ รองนายกรัฐมนตรีโกรธถึงขนาดเจอกันยกมือไหว้ก็ไม่ยอมรับไหว้” 

“คนดีอยู่ไม่ได้ในวงการตำรวจนี้ และก็คงไม่มีคนไหนที่ย้ายสายจากตำรวจไปเป็นนักการเมืองเพื่อบอกว่าจะทำดีต่อประเทศชาติ เพราะทุกคนคาดหวังอำนาจ เงินทองทั้งนั้น” ปวีณตอบคำถามถึงประเด็นเรื่องคนในวงการสีกากีและวงการลายพรางหลายคนหันไปเล่นการเมือง 

 “ในตำราสอนกันคนละแบบ หลักการบริหารก็คนละทาง แค่ระบบตำรวจยังเป็นที่ที่คนดีๆ อยู่ไม่ได้ นับอะไรกับไปพัฒนาด้านอื่นๆ”

คืนความเป็นธรรมให้ตำรวจ คืนตำรวจให้ประชาชน

ปวีณมองว่าการปฏิรูปตำรวจควรเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ก็ยอมรับว่ามันคงไม่เกิดการเปลี่ยนแบบพลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือภายใน 10-20 ปีนี้แน่นอน 

“การปฏิรูปตํารวจมันคงทำไม่ได้ในเร็วๆ นี้ เพราะว่าเป็นใหญ่เป็นโตมาจากระบบอุปถัมภ์ทั้งนั้นไม่ได้มาจากความรู้ความสามารถใดใด โดยเฉพาะตำแหน่งผบ.ตร. คนที่เก่งๆ มีความรู้ความสามารถไม่มีโอกาสที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้ พวกที่จะขึ้นมาได้ต้องเป็นคนของคนมีอำนาจเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ”

“ตำแหน่งผู้กํากับเขาพูดกันเลยนะว่าใช้เงินซื้อประมาณห้ากิโล เก้าโล มันคือจำนวนเงินสดนะครับแต่ชั่งเป็นกิโลกรัม 1 กิโลก็ตีคร่าวๆ ว่า 1 ล้านบาท ซึ่งผมเห็นมานานแล้วว่าระบบแบบนี้มันจะทําลายประเทศชาติอย่างมหาศาล จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่คนยุคใหม่ คนรุ่นใหม่ๆ จะต้องวางโครงร่างของตํารวจที่จะเป็นในอนาคตข้างหน้า” 

“ที่ผ่านมาตำรวจผู้น้อยถูกกดอย่างมาก ในยุคของผมเมื่อ 10 ปีที่แล้วยังต้องออกเงินซื้อกุญแจมืออยู่เลย หรือตอนผมเป็นรองสารวัตรจราจรที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา ไม่มีรถร้อยเวร ต้องใช้รถกระบะส่วนตัวมาเป็นรถร้อยเวรเพื่อบรรทุกรถที่เสียหายจากน้ำท่วม นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล แม้กระทั่งบรรทุกศพ และที่สำคัญต้องออกเงินเติมน้ำมันเอง พอถามผู้บังคับบัญชา เขาตอบว่าถ้าไม่มีความสามารถก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น นี่คือคำตอบที่ผมได้รับจากผู้บังคับบัญชาตลอดระยะเวลา ระบบมันให้อำนาจเฉพาะหัวหน้า คนเล็กคนน้อยต้องดิ้นรน ต้องออกเงินเองแม้กระทั่งกระดาษ เครื่องพิมพ์ ในเมื่อเริ่มต้นทํางานมันก็ขาดแคลนไปทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว มันจะถูกต้องไปได้ยังไง” ปวีณเล่าถึงประสบการณ์การทำงานของตนเองในช่วงเริ่มต้นในตำแหน่งร้อยเวร 

ปวีณยังเสริมอีกว่าตอนที่เขาเป็นตํารวจชั้นผู้น้อย ส่วนใหญ่จะไม่รู้ถึงการจัดสรรงบประมาณ แต่เมื่อทำงานมาได้สักระยะหนึ่งก็เริ่มเข้าใจว่ามันเป็นราชการรวมศูนย์นะครับ งบประมาณแผ่นดินก็เหมือนไอติม

“คนข้างบนก็ดูดไป มันไม่เคยเหลือมาถึงผู้ปฏิบัติข้างล่าง”

ปวีณกล่าวว่าในช่วงหนึ่งของการทำงานมีนโยบายจากผบ.ตร. ให้ตำรวจมีอาชีพเสริมเพราะเขารู้อยู่แล้วว่าอาชีพตํารวจอย่างเดียว ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ 

โดยในช่วง 10 ที่ผ่านมามีความร่วมมือของกรมตำรวจ และกระทรวงแรงงานจัดโครงการเพื่ออบรมอาชีพเสริมแก่ตำรวจ เพื่อเพิ่มรายได้ หลายโครงการ เช่นในปี 2562 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมให้ข้าราชการตำรวจและครอบครัวประกอบอาชีพเสริม เช่น อาชีพตัดผม 

“ผมสลดใจอย่างมากทําไมผมเรียนมา แทบเป็นแทบตายเพื่อจะมีอาชีพเป็นตํารวจ เพื่อช่วยเหลือประชาชนเพื่อปกป้องคุ้มครองสังคมอย่างที่ผมตั้งใจ แต่อาชีพนี้มันไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้จนต้องไปหาอาชีพเสริม และผมไม่เห็นด้วยกับผบ.ตร.ที่บอกตำรวจชั้นผู้น้อยแบบนั้น ส่วนตัวเองรวยเป็นร้อยล้าน”

“ด้วยวิธีคิดแบบนี้ เลยทำคนให้ในระบบเสาะแสวงหาผลประโยชน์ที่จะได้ในทุกวิถีทาง เพราะเขาไม่คํานึงถึงอะไรทั้งสิ้นแล้ว เขาคํานึงถึงอย่างเดียวคือ การมักใหญ่ใฝ่สูง เป็นใหญ่เป็นโตให้ได้ ไม่คํานึงว่าระบบมันจะเสียหายขนาดไหน มันเลยกลายเป็นว่าคนในวงการหิวอำนาจ หิวเงินเพราะเขาไม่อยากเจอแบบเดิมอีกแล้ว พยายามหาเงินนอกระบบ ตอดเล็กตอดน้อย ตั้งด่าน อยู่เบื้องหลังธุรกิจสีเทา”

“ดังนั้นสิ่ง หนึ่งที่ทำให้ระบบตำรวจมันเป็นอย่างที่ควรจะเป็นคือทำให้ตำรวจชั้นผู้น้อยอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง ดูแลตัวเองได้ ดูแลครอบครัวตัวเองได้ กฎระเบียบเอื้อ และปกป้องตำรวจชั้นผู้น้อย” 

จากข้อมูลของพรรคก้าวไกล นโยบายการปฏิรูปตำรวจเขียนไว้ตอนหนึ่งว่าปกติใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน มาตรา 98 กำหนดไว้ว่า ถ้าเห็นผู้บังคับบัญชาทำผิด แล้วเราเปิดโปงแฉการกระทำผิดนั้น เราย่อมสมควรได้รับการยกย่อง ได้รับรางวัล และได้รับการปกป้องไม่ให้โดนกลั่นแกล้งเล่นงานใดๆ นี่เป็นหลักการที่ข้าราชการพลเรือนทั่วไปมี และเป็นสิทธิพื้นฐานของข้าราชการแต่ของตำรวจกลับถูกทำให้หายไป 

รัฐบาลใหม่ ความหวังใหม่ 

จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้มีโอกาสเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศต่อไปอีก 4 ปีสำหรับปวีณ นี่เป็นสิ่งที่จุดความหวังของเขาให้กลับมาอีกครั้ง ในฐานะผู้ลี้ภัยที่มีโอกาสได้กลับบ้าน ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีสถานะเป็นพลเมืองออสเตรเลียและได้สัญชาติอย่างถูกกฎหมายแล้วก็ตาม 

เรื่องหนึ่งที่ปวีณไม่เคยบอกใครคือพรรคก้าวไกลเคยทาบทามให้เป็นหนึ่งในปาร์ตี้ลิสท์ของพรรค 

“ช่วงที่ผมกำลังทำงานอยู่ คุณรังสิมันต์ โรมก็ส่งข้อความมาว่า พี่ปวีณว่างช่วงไหน อยากจะติดต่อพูดคุยด้วย ผมก็บอกว่าช่วงหลังจากเลิกงานไปแล้ว พอนัดแนะกัน ปรากฏว่าคุณรังสิมันต์ โรมบอกว่าอยากจะทาบทามพี่ ชวนพี่ เสนอกับพรรคก้าวไกลเพื่อเป็นปาร์ตี้ลิสท์ของพรรค พี่จะขัดข้องไหม”

ปวีณยอมรับว่าเมื่อได้ยินข้อเสนอในครั้งแรกนั้นตกใจ พร้อมกล่าวว่าเหตุผลที่ก้าวไกลนำเสนอเขาเป็นปาร์ตี้ลิสท์ทำให้เขาซาบซึ่งใจเป็นอย่างมาก โดยรังสิมันต์ โรมกล่าวกับเขาว่า 

“พี่ปวีณ ผมอยากพาพี่กลับประเทศอย่างปลอดภัย ผมคิดดูแล้ว ไม่มีวิธีไหนที่ปลอดภัยเท่าวิธีนี้อีกแล้ว โอ้โหตอนนั้น ผมขอบคุณรังสิมันต์ โรม และพรรคก้าวไกลทุกท่านที่ใส่ใจผมมาก ผมน้ำตาซึมเลยนะครับ ขอบคุณจนไม่รู้จะขอบคุณเขายังไงเลย แล้วเวลาเขาไปปราศรัยแล้วพูดถึงผม ผมไปดู น้ำตาผมไหลเลย โอ้ ผมสำคัญถึงขนาดนั้น แต่ผมก็ไม่อยากจะให้ความสำคัญผมแค่คนเดียว ผมอยากให้ไปถึงทุกคนด้วย อาจารย์ปวิน อาจารย์สมศักดิ์ จอม ไฟเย็น จอม เพชรประดับ อาจารย์สุนัย จุลพงศธร หรือทุกคนที่เขาลี้ภัยควรให้ความสำคัญกับเขา เพราะทุกคนมีค่า มีความหมายกับประเทศทั้งนั้น ทุกคนหวังดีต่อชาติบ้านเมืองทั้งนั้น” 

สุดท้ายแล้วปวีณตัดสินใจปฏิเสธตำแหน่งนี้ไป หลังคิดอย่างหนักถึง 3 คืนพร้อมกับปรึกษาคนรอบตัว โดยให้เหตุผลว่า 

“อันดับแรกคุณสมบัติของผมกลัวจะไม่ครบ เพราะผมไม่ได้เลือกตั้งท้องถิ่นอะไรขึ้นมา กลัวว่าทางพรรคจะมีปัญหา แล้วอีกอย่างยุคสมัยนี้ ควรจะให้โอกาสคนหนุ่มคนสาวซึ่งมีพลังมากกว่าผมและเป็นโอกาสของคนรุ่นนี้จะเป็นพลังในการสร้างชาติ ผมไม่ควรจะไปตัดโอกาสคนหนุ่มคนสาว”

ผมหวังว่าเราจะได้เจอกัน… 

มีคนไทยหลายคนที่ติดตามคดีของปวีณ รวมถึงรอคอยการกลับมาของเขา แต่เมื่อถามถึงกำหนดการกลับ ปวีณกลับบอกว่า 

“ยังไม่มีกำหนดกลับ เพราะสถานการณ์ยังไม่แน่นอน ผู้มีอำนาจยังคงอำนาจอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ผมต้องขอบคุณคนไทยทุกคนก่อนนะครับที่ช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศ จากประเทศที่มืดมนกลายเป็นประเทศที่มีความหวัง แล้วรู้สึกว่าประเทศไทยสมาร์ตมากในสายตาคนทั่วโลก ณ เวลานี้ นั่นคือสิ่งที่ผมอยากขอบคุณคนไทยและสร้างความหวังให้กับผมด้วย” 

ในขณะเดียวกันปวีณก็ยังฝากบอกถึงคนยุคใหม่ หรือเด็กๆ ที่อยากเป็นตำรวจด้วยว่ามันถึงเวลาที่คนใหม่จะสร้างระบบตำรวจให้เป็นตำรวจในอุดมคติได้แล้ว 

“ต้องบอกก่อนว่าผมเป็นตำรวจตั้งแต่ตำรวจชั้นผู้น้อย เจอปัญหามาเยอะเลย มีแต่ปัญหาที่คนไม่กล้าทำทั้งนั้นเลย ผมต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่ซูเปอร์แมน ไม่ได้เก่งกาจอะไร ผมเป็นตำรวจธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง คนที่เก่งกว่าผมมีเยอะแยะไปหมดเลย ผมยืนยันว่ามีตำรวจที่เก่งๆ มีสติปัญญา มีไหวพริบปฏิภาณมากมาย แต่คนเหล่านั้นเขาขาดความกล้าหาญในการทำสิ่งถูกต้อง ถ้าคุณกล้าทำและยึดมั่นสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านั้นจะคุ้มครองตัวคุณเองเหมือนกันกับผม ที่ฝั่งผู้มีอำนาจหาเรื่องยัดคดีต่างๆ ผมไม่ได้เพราะไม่เคยทำ” 

ก่อนจบบทสนทนา ปวีนทิ้งท้ายด้วยคำขอบคุณ 

“ผมขอบคุณคนไทยทุกคนเลยนะครับ ที่ให้กําลังใจกับผม ในทุกช่องทาง ในทุกโอกาส รวมทั้งมีความปรารถนาดีต่อผม ขอให้คนไทยได้สมหวังกับการเปลี่ยนแปลงประเทศในครั้งนี้ และเดินทางไปกับประเทศไทยในยุคใหม่ด้วยกัน แล้วก็ลุ้นไปด้วยกันว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเริ่มทําหน้าที่เมื่อไหร่ ผมหวังว่าเราจะได้เจอกันในช่วงเวลานั้นครับ” 

อ้างอิง