“หวาน 100 ไปเลย”
หลังจากกล่าวคำทักทายและนั่งประจำที่กันเรียบร้อย ก่อนเริ่มบทสนทนา เราสั่งเครื่องดื่มพร้อมถามระดับขมหวานล่วงหน้า
ลาเต้ไม่คุมน้ำตาลคือคำตอบของพระ ‘พระอั๋น’ พระเอกวีร์ มหาญาโณ คู่สนทนาหนนี้
สำหรับเรา การพูดคุยในวันนี้แตกต่างจากที่เราเคยคุยกับคนอื่นๆ เพราะอีกฝ่ายมีสถานะเป็น ‘พระ’ ความกังวลว่าจะทำตัวถูกหรือเปล่าเลยตีตื้นมาเป็นอันดับต้นๆ แต่จากที่ได้เจอกันครั้งแรก คำทักทายจากพระอั๋นทำให้เราเบาใจ เหมือนอย่างที่พระพูดไว้ในบทสนทนาว่า
“พระก็คนธรรมดา ไม่ได้บวชแล้วยิ่งใหญ่”
“พระอาจารย์ที่มาสอนเด็กๆ ในโรงเรียนมีกระบวนการคัดเลือกยังไงบ้าง?” คำถามที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเจอกันในวันนี้ เพราะเราเห็นข่าวพระไปเป็นวิทยากรสอนในโรงเรียน แต่พฤติกรรมตอนสอนและชีวิตของพระก่อนจะออกบวช ทำให้คนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของพระรูปนี้ที่มาสอนนักเรียน

ตัวเราเองก็เคยอยู่ในโรงเรียนที่มีการเชิญพระมาแสดงธรรม (หรือเรียกภาษาง่ายๆ ว่า มาสอนหนังสือ) และเราเชื่อว่าคนที่กำลังอ่านบทความนี้เองก็เคยมีประสบการณ์เรื่องนี้มาเหมือนกัน มันทำให้เราย้อนกลับไปคิดว่า ถ้าการคัดเลือกครูมาสอนนักเรียนถูกให้ความสำคัญมากๆ อย่างนั้นแล้วการเชิญพระมาสอนเด็กล่ะ? ควรปฎิบัติอย่างใส่ใจและเข้มข้นในระดับเดียวกันหรือไมบทสนทนาถัดจากนี้อาจทำให้เราได้คำตอบมุมหนึ่งที่ไม่ได้แปลว่าเป็นคำตอบเพียงหนึ่งเดียว ไปพร้อมๆ กับการมองโลกศาสนาพุทธในวันนี้ ที่ยังโอบ ‘สังคมไทย’ ไว้อย่างเหนียวแน่น ว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ตะกร้าใบที่ 1 ว่าด้วยเรื่องการคัดเลือกพระมาเทศน์ให้พุทธศาสนิกชน
“มันเป็นระบบที่ไม่เป็นระบบ ขึ้นอยู่กับว่าคุณเข้าไปหาใคร ถ้าสมมติโรงเรียนนี้อยู่ใกล้วัดเราที่อีสาน แล้วไปขออาจารย์เราให้ช่วยส่งพระมาสอนเด็กๆ ท่านก็จะเลือกให้โดยไม่ได้โฟกัสว่า พระรูปนั้นเรียนสูงระดับไหน แต่สนใจว่าพระรูปไหนมี ‘ธรรมะ’ ไปมอบให้นักเรียน”
คำตอบที่มาจากประสบการณ์พระอั๋น คือยังไม่มีระบบหรือเกณฑ์คัดเลือกพระที่เข้ามาทำหน้าที่สอนในโรงเรียนอย่างเป็นทางการ ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้น คือ พระที่อาวุโสในวัดนั้นๆ คัดเลือกพระไปสอนด้วยตัวเอง แต่ละคนก็มีวิธีการเลือกแตกต่างกันไป
“บางสำนักที่เน้นการเรียนการสอนในวัดของเขาเอง อาจจะเอาเกณฑ์การเรียนเป็นตัวเลือกคนไป แต่พอมันไม่มีระบบกลางก็จะเหมือนกับร้านขายของชำสมัยก่อน คือแต่ละร้านมีวิธีคัดเลือกสินค้าของเขาเอง ไม่ได้มีระบบกลางควบคุมคุณภาพสินค้าทุกร้านให้เหมือนกัน”


กระบวนการคัดเลือกครูของไทย หากเป็นโรงเรียนรัฐบาลจะเริ่มตั้งแต่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัย คือ ต้องเรียนในคณะที่จัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นครูโดยเฉพาะ เช่น คณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ เป็นต้น จากนั้นก็ต้องสอบบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะอาชีพครูถือเป็นอาชีพอยู่ภายใต้รัฐราชการ หรือเข้ารับการคัดเลือกในรูปแบบอื่นๆ เช่น โครงการครูคืนถิ่น เป็นต้น
“ถ้าอย่างนั้นควรมีการทำระบบขึ้นมาไหม?” เราถามกลับไปที่พระอั๋น เพราะก็เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า พระเองสามารถสอนพระพุทธศาสนาได้เช่นกัน อาจเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ ณ วันนี้ยังไม่มีระบบคัดเลือกกลาง อาจเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ อย่างการตั้งคำถามว่าพระรูปนี้เหมาะสมที่จะมาสอนเด็กหรือไม่
“ควรมีไหมเหรอ? ถ้าในมุมเรามันก็ควรจะมีมาตรฐานเชิงคุณภาพ แต่อาจไม่ใช่มาตรฐานกลาง เราว่าพระพุทธศาสนาหรือความเป็นพระในสังคมไทยเองก็มีหลายฟังก์ชัน ฟังก์ชันที่โรงเรียนอยากมอบให้นักเรียนอาจไม่ใช่แค่สอนวิชาพุทธศาสนา อาจมีเรื่องวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะคุณอาศัยอยู่ในสังคมไทย คุณก็ควรรู้จักเรื่องเหล่านี้ เด็กนักเรียนควรจะรู้จักมิตินี้ของชีวิต แต่มันจะมีคนมาช่วยบอกได้ไหมว่าแนวทางสอนควรเป็นอย่างไร เพราะเราก็คิดว่าไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะจะสอนเด็ก มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”

“พระพุทธศาสนาก็เหมือนกับการเรียน Deconstruction เป็นการเข้าระบบไปถอดรหัสสิ่งที่เราเข้าใจผิด ตัวเราต้องเรียนรู้ตัวเองในการทำความเข้าใจสิ่งนี้ กลายเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายให้คนคนหนึ่งฟัง ยิ่งถ้าเขาไม่อยากฟัง หรือนานๆ ทีมาฟัง เป็นเรื่องท้าทายที่จะเอาพุทธศาสนาในมิตินี้ไปสอนในโรงเรียน
“เราว่าถ้าจะสอนจริงๆ มันควรแบ่งชั้นและความลึกซึ้งที่ชัดเจน จะทำให้เรียนเรื่องนี้แล้วเกิดประโยชน์ ไม่ใช่ว่าเรียนไปแล้วรู้สึกว่าไม่เวิร์ค พุทธศาสนาไม่มีประโยชน์กับตัวฉัน ตัดออกไปเลยดีกว่า เพราะคุณยังไม่เข้ามาถึงแก่นของมันจริงๆแล้วทุกๆ ศาสตร์ไม่ต่างกัน ถ้าให้ไอน์สไตน์สอนฟิสิกส์เราอาจเข้าใจเขาได้ในระดับพื้นฐาน ถ้าเราอยากลงลึกก็ต้องไปศึกษาเพิ่ม พระพุทธศาสนาก็ทำนองเดียวกันเลย”
ตะกร้าใบที่ 2 ว่าด้วยเรื่องพระในวัฒนธรรมไทยไทย
ตามความเข้าใจในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ‘พระสงฆ์’ มีหน้าที่ในการเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ว่าหน้าที่อันดับหนึ่งของพระสงฆ์ พระอั๋นบอกว่าคือการศึกษาคำสอนและทำให้ตนเองเข้าใจ
“จริงๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้ส่งเสริมให้ใครก็ได้ไปพูดธรรมะทันทีนะ หน้าที่หลักของคนที่บวชเข้ามา ไม่ได้เริ่มต้นเพื่อจะเข้ามาสอนคน แต่เข้ามาเพื่อฝึกตัวเองก่อน แน่นอนว่าเมื่อเราฝึกตัวเองได้แล้ว อีกหน้าที่หนึ่ง คือ ช่วยกันเผยแพร่สิ่งที่เราได้รับให้กับคนอื่นๆ พระแต่ละรูปควรจะมีจรรยาบรรณว่า ถ้าเรายังไม่เข้าใจคำสอนดีพอ เราก็ยังไม่ควรไปรีบสอนคนอื่น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะมีความสามารถในการพิจารณาตัวเองเสมอไป
“พระก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกัน ไม่ใช่บวชแล้วจะยิ่งใหญ่ จริงๆ การได้สอนคนอื่นก็เหมือนเสริมอัตตาให้ตัวเอง พระบางรูปชอบที่ได้มีคนมาเคารพ พูดอะไรก็ไม่มีคนเถียง กลายเป็นคนสำคัญ ทั้งๆ ที่ก่อนบวชเราอาจจะไม่ได้สำคัญขนาดนี้ ถ้าไม่หมั่นเช็คตัวเอง ก็อาจเสพติดความมีตัวตน แทนที่จะไปเรียนรู้ธรรมะ”
‘อาจารย์’ กลายเป็นคนสำคัญของพระบวชใหม่ เปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยดูแล ทำให้พระรูปนั้นสามารถปรับตัวเข้ามาในโลกนี้ได้ อาจารย์มักจะเป็นพระที่บวชมาสักระยะหนึ่ง ซึ่งตามการแบ่งลำดับอายุพระ หากเป็นพระที่บวชใหม่ 5 ปีแรกจะเรียกว่า ‘พระนวกะ’ ขั้นถัดมา 5 – 10 ปี เป็นระดับกลางๆเรียกว่า ‘พระมัชฌิมะ’ ถ้าบวช 10 ปีขึ้นไปเรียก ‘พระเถระ’ และ 20 ปีขึ้นไปเรียกว่า ‘พระมหาเถระ’

ถ้ายังเป็นพระนวกะ ตามบรรทัดฐานควรอยู่ภายใต้การดูแลของพระที่เป็นผู้อาวุโสกว่า เพื่อช่วยอบรมและดูแล หรือที่เรียกว่า ‘การขอนิสัย’ เพื่อให้พระใหม่ได้เรียนรู้วิถีพระจากคนที่บวชมาก่อน เช่น วิธีนอน วิธีขบฉัน(กิน) วิธีภาวนา เป็นต้น
“จริงๆ การบวชนี่เราไม่ได้บวชเป็นพระทันที ในกระบวนการบวชจริงๆ เขาจะให้เราบวชเป็น ‘สามเณร’ ก่อน อายุเท่าไรก็บวชเป็นเณรก่อน ไม่จำเป็นต้องเด็กเท่านั้น แต่ถ้าเอาเริ่มต้นจริงๆ เลย ควรให้คนคนนั้นไปห่มผ้าขาว ลองใช้ชีวิตในวัดก่อน เพื่อให้อาจารย์หรือคนที่เราไปขอบวชดูว่า คุณพร้อมที่จะเข้ามาเรียนรู้ธรรมะไหม บางอย่างขัดเกลาตอนเป็นพระกับตอนเป็นโยม ความยากง่ายต่างกันไป ถ้าท่านเห็นว่าพร้อมแล้วก็จะให้บวชเป็นเณรก่อน
“ถ้ามีเหตุการณ์อย่างในข่าวที่พระถูกมองว่าไม่เหมาะสมที่จะมาสอนธรรมะเด็ก จนคนตั้งคำถามว่าแล้วเขามาได้ยังไง? จริงๆ ทั้งตัวพระและอาจารย์ของเขาควรจะพิจารณาความเหมาะสมนะ ว่าพระรูปนี้เหมาะสมที่จะมาสอนหรือยัง”
ไม่ใช่แค่การออกไปสอนที่โรงเรียน แต่การเลือกพระมาเทศน์สักรูปหนึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ พระอั๋นเล่าว่า แต่ละวัดจะมีเกณฑ์เลือกแตกต่างไป เช่น ถ้าเป็นพระที่ออกมารับสังฆทานหรือปฏิสัมพันธ์กับญาติโยมแค่สั้นๆ อาจจะไม่ต้องคัดเลือกมากก็ได้ เพื่อให้เป็นพื้นที่ให้พระใหม่ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วไปสั้นๆ 5 – 10 นาที แต่ถ้าวัดจัดงานแล้วมีการแสดงธรรมจริงๆ จังๆ การคัดเลือกพระก็จะเข้มข้นขึ้น
“ ‘การบวช’ เดิม คือ การตั้งใจเด็ดขาดในระดับที่ว่า เราจะทิ้งวิถีชีวิตที่เคยอยู่ ออกไปโดยไม่คิดกลับ ด้วยเจตนารมณ์ดั้งเดิมมันมีความยั่งยืน แต่โลกยุคนี้ หรืออาจเป็นไทยที่เดียวที่มีวัฒนธรรมบวชระยะสั้น เป็น Invention (สิ่งประดิษฐ์) ของไทยเลย เรามีพระเยอะแต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้ามาเพื่อธรรมะจริงๆ อาจมีคนที่อยู่ไปวันๆ แต่ข้อดีก็มี คือ พระหลายรูปเริ่มสนใจจริงจังเมื่อลองบวช เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น”
บวชหน้าไฟ บวชแก้บน บวชก่อนเบียด สารพัดคำเรียกประเภทของการบวช หรือการปฎิบัติตัวที่ต้องโกนคิ้ว ล้วนเป็นผลผลิตจากการผสมวัฒนธรรมไทยให้เข้ากับแนวทางการใช้ชีวิตของพระ ไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี แต่ทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่าพระในบ้านเรามีปัจจัยอะไรในการใช้ชีวิตบ้าง
ในมุมพระอั๋นมองว่า การบวชที่จริงแล้วไม่ควรมีการกำหนดระยะเวลา เพราะการเรียนรู้ธรรมะไม่สามารถบอกได้ว่าเราจะเรียนจบเมื่อไร แต่การบวชระยะสั้นๆ ก็เป็นประตูที่เปิดกว้าง ให้คนที่สนใจแต่ไม่มั่นใจว่าจะใช้ชีวิตในเส้นทางนี้ได้หรือไม่ ได้เข้ามาเปิดประสบการณ์
“จริงๆ ข้อดีมันมีไม่น้อยเลย อย่างคนในยุคก่อนที่อาจจะไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา การบวชเป็นเณร บวชเป็นพระ เป็นทางเดียวที่ทำให้คนยุคหนึ่งอ่านออกเขียนได้ หรือถ้าเรามีลูกเป็นผู้ชาย แต่ไม่มีเวลาดูแล ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ การพาไปอยู่วัดให้มีคนที่ไว้ใจดูแลเขาได้ก็เป็นเรื่องดี หรือเมื่อบวชถึงจุดๆ หนึ่ง ชีวิตของพระรูปนั้นอาจมีสิ่งที่อยากทำมากขึ้น ก็สึกออกมาเป็นเรื่องปกติ”
ตะกร้าใบที่ 3 ว่าด้วยเรื่องพระพุทธศาสนาคือการเรียนรู้ที่ผิดพลาดได้ ไม่ใช่ว่าตกนรกเท่านั้น
“ที่เราคุยกันก็คือมิติหนึ่งของพระพุทธศาสนา การคุยกันแบบนี้ ไม่ใช่ว่าต้องห่มผ้าแบบไหน หรือเดินยังไง เป็นมิติพุทธศาสนาที่พยายามทำให้คนเข้าใจ”
เพราะการพูดคุยวันนี้ไม่ใช่เพื่อหาคำตอบหนึ่งเดียวที่แท้จริง อย่างหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่ทำให้เราเข้าใจและมองเห็นโลกของศาสนาที่เป็นตราประทับตัวเราตั้งแต่ลืมตาดูโลก หรืออาจจะก่อนเกิดด้วยซ้ำ
ในโลกของศาสนาพุทธ ไม่มีสิ่งใดที่ตายตัว ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป มีเพียงการเรียนรู้ที่จะทำให้เราเข้าใจและใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้ นั่นจึงเป็นวิธีการที่เราจะใช้เพื่อได้รู้จักศาสนาพุทธจริงๆ
“ทุกกระบวนการในศาสนาพุทธมันคือการให้เราได้เรียนรู้ ไม่ใช่ผิดพลาดแล้วต้องตกนรกหมกไหม้ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายขนาดนั้น อย่างศีล 5 ถ้าเราไปดูลึกๆ มันเป็นสิ่งที่ควรและไม่ควรทำในการใช้ชีวิต เป็นระดับขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าพลาดไปแล้วก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่ว่าเราจะกลายเป็นคนชั่วเลวร้ายอะไรขนาดนั้น ถ้าเรารู้ตัวว่าทำผิดและสารภาพกับตัวเอง มันก็ดีต่อใจระดับหนึ่ง หรือไปเล่าให้คนอื่นฟัง ก็เหมือนเปิดเผยตัวเองลึกซึ้งขึ้น ไปสารภาพกับพระที่เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า”
ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามขโมย ห้ามประพฤติผิดในกาม ห้ามโกหก และห้ามดื่มหรือเสพของมึนเมา ศีล 5 ที่เราต่างเคยท่องกัน และก็จะมีประโยคที่ตามมาคู่กันว่า ถ้าทำผิดข้อไหนจะต้องตกนรก แม้ว่าจะพยายามใช้ชีวิตโดยรักษาศีล 5 ไว้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำยาก เราต่างก็เคยทำข้อห้ามต่างๆ ไป

พระอั๋น บอกว่า ศีล 5 เป็นบรรทัดฐานในการใช้ชีวิตขั้นเริ่มต้นสำหรับคนที่ถือว่าตัวเองเป็นชาวพุทธ สิ่งที่ควรและไม่ควรทำ ยังมีศีลระดับอื่นๆ อีก ที่ตอบสนองความเข้มข้นในการฝึกตนของเรา เช่น ศีล 8 แต่ไม่ได้แปลว่าถ้าเราทำผิดไปจะต้องเป็นบาปหรือตกนรกทันที ความผิดพลาดก็คือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจและเดินต่อไปได้
“ของพระจะเรียกว่า ‘พระวินัย’ 227 ข้อ เป็นการกำหนดสิ่งที่พระควรและไม่ควรทำ มันก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘อาบัติ’ แปลว่าเราทำผิดไป ซึ่งในพระวินัยจะมีกำหนดความเข้มข้นไว้ เช่น ถ้าทำผิด 4 ข้อต่อไปนี้ จะหลุดจากการเป็นพระทันทีที่กระทำผิด หรือปาราชิก คือ หนึ่ง – ฆ่ามนุษย์ด้วยความจงใจ ไม่ว่าจะทางตรงหรืออ้อม สอง – จงใจขโมยของผู้อื่น ซึ่งของมีมูลค่ามากพอที่จะถูกจับตามกฎหมายบ้านเมืองนั้นๆ สาม – มีเพศสัมพันธ์ และสี่ – อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตัวเอง สร้างความหลอกลวงให้คนอื่น
“จะมีบางข้อที่เมื่อทำผิด ให้ไปเปิดเผยหรือเรียกว่าแสดงอาบัติกับพระรูปอื่นก็พอ เช่น ในพระวินัยมีข้อที่ห้ามกินเสียงดัง ถ้าเราทำไปแล้ว ก็ไปแสดงอาบัติกับพระรูปอื่นว่าผมไปทำผิดเรื่องนี้มา ผมพลาดเรื่องนี้ ต่อไปผมจะตั้งใจไม่พลาดเรื่องนี้อีก แค่นั้นเอง ถามว่าสามารถผิดได้ใหม่ได้อีกไหม? ได้นะ เพราะมันเป็นกระบวนการเรียนรู้ไง ศีลไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ยกเว้นข้อที่บอกไป
“ศาสตร์ของศาสนาพุทธมันเป็นการฝึกตัวเอง ฉะนั้น คนที่ทำได้ดีมักจะเป็นคนที่ย้อนกลับมาสนใจตัวเอง ฝึกตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนคนที่จะเก่งในการอธิบายสิ่งนี้ให้คนอื่นฟัง เราจึงมีพระดีที่เงียบๆ จำนวนไม่น้อย , ในขณะเดียวกัน ก็อาจมีพระอีกกลุ่มที่ถนัดด้านการพูดธรรมะ แต่คำสอนเหล่านั้นอาจยังไม่ได้เป็นเนื้อเป็นตัวของเขา ทำให้บางทีการแนะนำก็อาจคลาดเคลื่อนไปจากพฤติกรรมของเขาได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ”
นอกจากศีล 5 ที่มีโอกาสได้เห็นอีกมุม เราหยิบอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นข้อถกเถียงตลอดมา คือ LGBTQ+ สามารถบวชได้หรือไม่ พระอั๋นก็บอกว่าขึ้นอยู่กับการปฎิบัติตน
“คุณเลือกไม่เป็นได้ไหมล่ะ? Sex (เพศสรีระ) คือ ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ทางชีวภาพ โครโมโซม ส่วน Sex Orientation คือ ความรู้สึกที่เรามีต่อร่างกายตัวเองและต่ออีกคนหนึ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้ปิดกั้น ไม่ได้ห้ามแบบไร้เหตุผล หากคุณรู้สึกว่าความรู้สึกภายในต่อร่างกายตัวเองเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ คุณก็ต้องยอมรับเหตุปัจจัยของมัน, แต่ในสิ่งที่คุณเลือกได้ คุณต้องดูแลมัน เช่น การแสดงออก วิธีการพูด สื่อสาร การมอง ฯลฯ เพราะนั่นคือสิ่งที่คุณควบคุณได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าถ้าคุณมีจิตใจชอบผู้ชาย ห้ามบวช เราไม่เคยได้ยินคำนี้นะ

“พระพุทธเจ้าไม่ได้รังเกียจมนุษย์คนไหน แต่กฏบางอย่างกำหนดเพื่อความไปได้ดีของคนที่อยู่รวมกัน เพราะสังคมพระไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบขนาดนั้น พวกเราคิดว่าถ้าคุณเป็นผู้ชายรักชายบวชได้ไหมล่ะ? บวชได้ ถ้าคุณดูแลตัวเองได้ตามที่บอกข้างต้น ในตลอดเวลาที่สนใจมาบวชศึกษาพุทธศาสนา ถ้าตัวเขาพยายามที่จะวางใจ เอาเรื่องนี้ออก ก็ไม่มีปัญหา แล้วไม่ควรจะเป็นปัญหาด้วย”
“แต่ก็ไม่ผิดเหมือนกันถ้าพระอาจารย์ที่รับบวชจะบอกว่า ขอให้เรามั่นใจด้วยได้ไหมว่าคุณสามารถดูแลตัวเองขณะที่บวชในระยะยาวได้ อาจจะลองให้ครองผ้าขาวอยู่วัดสักอาทิตย์หนึ่งดู เพราะเขาก็มีหน้าที่ต้องดูแลพื้นที่ตรงนั้น ถ้ามีความเสี่ยงที่เข้ามาแล้วอาจจะส่งผลกระทบกับคนอื่นๆ เราว่ามันสมเหตุสมผลที่เขาจะบอกว่าคุณยังไม่พร้อม ไม่ใช่เพราะว่าเธอเป็นอะไร แต่ว่าเพราะสิ่งที่เธอเลือกแสดงออกมา มันไม่เกื้อกูลที่ตรงนั้น”
สุดท้าย อาจมีเพียงการพูดคุยและเปิดใจที่จะทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ บนโลกนี้
“เราว่าถ้าสังคมคุยกันแบบนี้ ไม่ได้อคติ แต่คุยกันด้วยเหตุผล มันจะไปได้ เพราะเรารู้สึกว่าหลายๆ ครั้งการพูดกันในโซเชียลมันเอาความถูกต้องมาบังหน้า แต่เอาอคติเป็นแรงขับก็ไม่น้อย เราเลยอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง บางทีรู้เลยว่าเราไม่เก็ทอารมณ์เขา แล้วบางทีคนที่เก็ทอารมณ์คนที่พลุ่งพล่านอยู่ อาจจะเติมอารมณ์ที่ไม่ดีให้เขาไป กลายเป็นความทุกข์ได้”