พออายุมากขึ้น เราจะค่อยๆ ตัวเล็กลง
จากที่เคยเป็นเสาหลักครอบครัว มีอำนาจจัดการทุกอย่างในบ้าน เมื่ออายุกำลังจะใกล้ครบ 60 ปีกลายเป็นว่า สิ่งที่เคยทำได้ กลับได้ทำน้อยลง เพราะสังคมบอกว่าพวกเขาคือผู้สูงอายุที่ต้อง ‘พัก’ และไม่ควรทำงานหนัก

(เนื้อหาเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Plan75)
‘มิจิ’ คุณยายวัย 78 ปีจากภาพยนตร์ Plan75 ก็กำลังต่อสู้กับตัวเองและความคิดของสังคมเช่นเดียวกัน
จริงๆ แล้วเธอคือแม่บ้านในโรงแรม งานทุกอย่างเธอทำได้หมด ตั้งแต่ทำความสะอาด ปูเตียง หรือดูความเรียบร้อยของห้องพัก แต่วันหนึ่งโรงแรมตัดสินใจเลิกจ้างผู้สูงอายุ เนื่องจากโรงแรมถูกมองว่า พวกเขากำลังใช้แรงงานผู้สูงอายุ
ขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันเลือกกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน แต่ ‘มิจิ’ กลับกังวลเรื่องที่อยู่และเงินเก็บที่เหลืออยู่ เพราะสัญญาบ้านกำลังจะหมดอายุ เธอจำเป็นต้องย้ายออก หากจะย้ายบ้านเธอก็ต้องจ่ายเงินมัดจำ 2 ปี แต่ ณ เวลานี้เธอไม่มีเงินมากขนาดนั้น เนื่องจากไปสมัครงานที่ไหน ล้วนไม่ได้การตอบรับ

ทำให้มิจิสมัครเข้าโครงการ Plan75 นโยบายผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่นที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปเลือกวันตายได้ อย่างน้อยๆ พวกเขาก็มีหลักประกันที่มั่นคงว่าเขาจะไม่จากโลกนี้ไปอย่างเดียวดาย
เมื่อตัดสินใจกรอกใบสมัคร Plan75 แล้ว สวัสดิการที่พวกเขาจะได้รับ คือ เงิน 100,000 เยนสำหรับใช้จ่ายสิ่งที่ต้องการ (แต่หลายคนเลือกเก็บไว้สำหรับค่าทำศพ) และการพูดคุยกับเพื่อนต่างวัยวันละ 15 นาที
“ขอบคุณที่ฟังยายแก่ๆ คนนี้” มิจิบอกกับโอเปอเรเตอร์รุ่นหลานที่ฟังอยู่ปลายสาย
สำหรับผู้สูงอายุบางคนการยอมรับว่า เราจะต้องจากโลกนี้ไปไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งก็รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว การมีใครสักคนที่รับฟังก็ช่วยให้เขามีแรงใจที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยความสุข

หากถอยออกมาจากเรื่องราวของภาพยนตร์ แม้ว่านโยบาย 75 อาจเป็นเพียงสิ่งที่ผู้กำกับสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนการแก้ปัญหาสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในประเทศ เพื่อลดภาระของลูกหลานที่กำลังเติบโตเป็นแรงงานในอนาคต
ขณะเดียวกัน หนังก็ตั้งคำถามกลับคนดูทุกคนว่า จะเป็นไปได้ไหม ถ้าผู้สูงอายุจะเลือกจากไปได้อย่างหมดห่วงได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร
คำว่า ‘ห่วง ของผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งก็มาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ การหลับตาแล้วหายไปจากโลกนี้ ผู้สูงอายุก็ต้องการหลักประกันว่า ลูกหลานของพวกเขาจะมีชีวิตที่ดี ดูแลตัวเองได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องเงิน
ระหว่างที่ผู้สูงอายุหลายๆ คนก็กำลังเผชิญหางานทำเหมือนกับคุณยายมิจิ แต่สังคมก็ตั้งคำถามกลับวัยชราในสังคมว่า ทำไมพวกเขายังต้องทำงาน ทำไมต้องทำงานหนัก ทั้งๆ ที่อายุมากขึ้น
คำถามนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน คำตอบของวรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กำลังขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ คือ ยุคหนึ่งผู้สูงอายุใช้เงินไปกับ ‘ลูก’ หมดแล้ว และเมื่อพวกเขาอายุ 60 ปี ปีแรกของเป็นผู้สูงอายุ คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับสวัสดิการที่สอดคล้องกับชีวิต
วรเวศม์มองว่า การมีหลักประกันทางเศรษฐกิจที่มั่นคงจะทำให้เขามีจิตใจที่แข็งแรงและมีความสุขในชีวิตวาระสุดท้ายของตัวเอง
“เขาจะรู้สึกมั่นคง ตัวเขาจะไม่เล็กยังคงรักษาสถานภาพเดิมของตัวเองในครอบครัวได้ มีกิน ได้ทำสิ่งที่ชอบและธำรงคุณภาพชีวิตแบบเดิมได้” วรเวศม์เสริม

และไม่ว่าจะเป็นโลกของภาพยนตร์หรือโลกความเป็นจริง ผู้สูงอายุอยากจะเป็นตัวเองแม้อายุจะมากขึ้น รักษาชีวิตของตัวเองไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพื่อที่จะ “ไม่เป็นภาระลูกหลาน” และพิสูจน์ตัวเองให้คนที่รักเห็นว่า พวกเขาก็คือพ่อแม่หรือญาติพี่น้องคนเดิมที่พวกเขารู้จัก ถึงแม้ในใจจะรู้ดีว่า เวลาของพวกเขาเหลือน้อยและกำลังเดินถอยหลังไปเรื่อยๆ