สูญเสียพัฒนาการ สูญเสียการเรียนรู้ แต่ไม่ยอมสูญเสียอนาคตเด็ก ฟื้นฟู Learning loss อย่างไรกับ ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

ทักษะที่หายไป การเรียนรู้ที่ถดถอย สองคีย์เวิร์ดนี้เปรียบเสมือนแผลเป็นของโรคระบาดโควิด-19 แล้วมันเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำอย่างไร?

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถูกขยายขอบเขตเมื่อประเทศเจอวิกฤต

ส่วนหนึ่งของภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning loss มีปัจจัยจากสถานะเศรษฐกิจครัวเรือนที่แตกต่าง โดยเฉพาะกับเด็กนักเรียนที่ขาดความพร้อมและทรัพยากร การศึกษาทางไกลหรือการเรียนออนไลน์ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนรายบุคคลได้ นำไปสู่พัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งทางวิชาการ ร่างกาย อารมณ์ และทักษะจำเป็นต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง ซึ่งในท้ายที่สุดหากเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ไม่ลงมือฟื้นฟูอย่างจริงจัง เราอาจทำให้เด็กนักเรียนที่ไม่พร้อมหลุดออกจากระบบการศึกษาได้

Mutual คุยกับ ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ถึงบทบาทสำคัญในการเป็นม้าเร็วที่จัดการปัญหาด้านการศึกษาในช่วงเวลาที่ความเหลื่อมล้ำขยายตัวหลังสถานการณ์โรคระบาด ภารกิจครั้งนี้เป็นอย่างไร การฟื้นฟู Learning loss ทำได้จริงแค่ไหน และอะไรคือธงต่อไปของกสศ.?

ในฐานะที่กสศ. ทำงานด้านการศึกษามาโดยตลอด หลังโควิด-19 พบว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เกิดสถานการณ์ความรู้ถดถอยหรือ Learning loss สิ่งนี้เป็นผลกระทบที่เกิดกับเด็กทุกกลุ่มทั่วประเทศไทย เพียงแต่สถานการณ์ทำให้เด็กเปราะบาง เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาสหรือพิการได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นพิเศษ 

ที่สำคัญสถานการณ์นี้ทำให้เด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัยได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะด้านพัฒนาการ เนื่องจากโควิด-19 ทำให้เด็กต้องอยู่บ้านนานเกินไป ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่น ไม่ได้ไปโรงเรียน กสศ. จึงทำการวิจัยต่อยอดจากสถานการณ์ดังกล่าวถึงปัญหาและผลกระทบด้านพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ โดยติดตามเด็กชั้นป.2 จนพบว่าการที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ในช่วงป.1 หรือขณะเรียนอนุบาล ก่อให้เกิดปัญหาด้านการเขียน การจับปากกาดินสอ ท่าทางการนั่ง สมาธิ ความอดทน หรือแม้แต่การเดินขึ้นลงบันไดและการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับเด็กเล็กทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนหรือครอบครัวปานกลาง

เหตุผลคือเมื่อพ่อแม่ต้องไปทำงาน เกิดการฝากลูกไว้กับญาติช่วยดูแล ซึ่งอาจจะไม่ได้ดูแลเต็มที่นัก ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม หรืออะไรก็ตาม สิ่งนี้ยิ่งสะสมให้กลายเป็นปัญหาด้านพัฒนาการ 

ความรู้ถดถอยหรือ Learning loss ที่เกิดขึ้นในเด็กเล็ก มันอันตรายแค่ไหน?

ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย นักจิตวิทยา นักประสาทวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก หรือแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ ต่างบอกว่าช่วงวัยที่มีความสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตายก็คือวัย 0-7 ขวบ

พัฒนาการของเด็กแรกเกิดจนถึง 7 ขวบมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะในด้านพัฒนาการทางสมอง พัฒนาการทางจิตใจ หรือทาง EF (Executive Function) ฉะนั้นถ้าเราไม่ได้ดูแลชีวิตของคนในช่วงนี้ไว้อย่างดี สุดท้ายพอเขาผ่านพ้นวัยก็ยากที่จะกลับไปฟื้นฟู การลงทุนในช่วงปฐมวัยก็ถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญ เป็นช่วง Golden Years of Human Life เป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญดั่งทองคำ เราจึงต้องให้ความสนใจและให้การลงทุน

ดังนั้นสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กจึงเป็นเรื่องน่าห่วง 

แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว เด็กกลับเข้าสู่ระบบตามปกติ ทว่ายังมีผลคงค้างอยู่บ้าง บางคนได้รับบาดแผลที่เกิดขึ้น ซึ่งจากงานวิจัยกสศ. จะได้เห็นว่าเด็กป.2 พวกเขามีกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ที่ไม่แข็งแรงและต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกาย การบริหาร การเข้าไปพัฒนาสมองและจิตใจ เท่าที่ติดตามพบว่า เด็กปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว ถ้าได้รับการแก้ไข

แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะตระหนักเรื่องนี้ บางแห่งเขาก็อาจจะมีโปรแกรมของเขาเอง ฟื้นฟูดูแลต่างๆ แต่โรงเรียนบางแห่งอาจจะไม่ได้มีการฟื้นฟูที่ดีพอ 

โจทย์คือเราจะทำยังไงให้โรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก รวมถึงคุณครูที่สอนอนุบาลหรือครูพี่เลี้ยงต่างๆ ได้มีความรู้ มีกระบวนการ มีวิธีการที่จะเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กได้มากที่สุด เท่าที่เขาสามารถจะทำได้อย่างทั่วถึงทั่วประเทศ

ขณะที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้ กสศ. ทำงานร่วมกับหน่วยงานใดบ้าง หรือมีการบูรณาการร่วมกับใครบ้างกว่าจะออกมาเป็นงานวิจัยชิ้นนี้

กสศ.ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย เพื่อประเมินว่าเด็กปฐมวัยมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้ อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา ที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษาหรือไม่ โดยวัดทักษะพื้นฐานของเด็กปฐมวัย ด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ รวมถึง Executive Functions (EFs) เช่น ความจำใช้งาน (working memory) พร้อมทั้งสำรวจข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนและสถานศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญต่อระดับ ความพร้อมของเด็กปฐมวัยระดับอนุบาล 3 จำนวน 73 จังหวัด ระหว่างปีการศึกษา 2563 – 2565 

เราร่วมมือกับโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง และเครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อหาแนวทางฟื้นฟูพัฒนาการเรียนรู้ตลอดภาคเรียนที่ผ่านมา จำนวน 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบว่า การทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน ด้วยการวัดแรงบีบมือ นักเรียน กว่า 98% มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ผ่านเกณฑ์เพียง 1.19% เท่านั้น และมากกว่า 50% จับดินสอผิดวิธี ซึ่งสะท้อนว่ากล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนไม่ได้ การทรงตัวนั่งเขียนไม่ดี ทำงานเสร็จไม่ทันเพื่อน เรียนไม่รู้เรื่อง มีภาวะเครียด ขาดเรียนบ่อย

งานวิจัยนี้จึงเป็นการนำร่องที่สะท้อนอะไรบางอย่างที่เราประเมินแล้วว่ามันมีผลกระทบสูง ซึ่งในอนาคตเราอาจนำไปขยายผลในพื้นที่หรือจังหวัดอื่นๆ ได้ต่อไป

เวลาเรานึกถึง กสศ. เราจะนึกถึงคีย์เวิร์ดอย่างความเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำ อยากทราบว่า ‘Learning loss’ มันเกี่ยวกับคีย์เวิร์ดเหล่านั้นอย่างไร มันสะท้อนความเสมอภาคและความเหลื่อมล้ำในมิติไหนบ้าง

แม้คำว่า Learning loss จะไม่ได้เกี่ยวกับความเสมอภาคโดยตรง แต่การเรียนรู้ที่ถดถอยและการที่เด็กๆ ไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนต้องเรียนระบบออนไลน์ ถ้ามองในมุมของความเสมอภาคจะพบว่า เด็กที่ยากจน เขาขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆ ไม่มีทรัพยากร พวกเขาจะอยู่ในภาวะ Learning loss ที่มีความรุนแรงมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ

สมมติเด็กในเมืองใหญ่ที่มีทรัพยากรพร้อม อยู่ในโรงเรียนมีชื่อเสียง มีครูที่เก่ง แม้โควิด-19 ทำให้โรงเรียนต้องปิดเหมือนกัน แต่เขาอาจจะมีโปรแกรมพิเศษ มีครูสามารถสอนทางออนไลน์ได้ เด็กทุกคนก็มีอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต ไวไฟ เด็กเหล่านี้ก็จะรอด 

ตรงข้ามกันกับเด็กที่ขาดความพร้อม เด็กฐานะยากจน สถานการณ์ก็จะยิ่งรุนแรง ยิ่งทำให้องค์ความรู้เขาเสื่อมถอยลงไปมากขึ้น และนี่คือความเหลื่อมล้ำ

แล้วพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก เป็นส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำอย่างไร?

ในเรื่องของพัฒนาการอาจจะมีความคล้ายความเหลื่อมล้ำ 

บางครั้งเรามองไม่เห็นความสำคัญของตัวพัฒนาการด้านต่างๆ ส่งผลต่อการเลี้ยงดูและส่งเสริม อย่างที่กล่าวไปว่า เด็กเล็กวัย 0-7 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาด้านกล้ามเนื้อ ร่างกาย สมอง การอ่านหนังสือ การเขียน จับปากกา 

เมื่อไม่สามารถมีพัฒนาการได้ตามวัย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ทำให้ศักยภาพในการเรียนรู้ลดลง เด็กไม่มีความสุขในการเรียน สมองและร่างกายไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่ หากเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ด้อยโอกาสทางทรัพยากร ก็ยิ่งความเสี่ยงที่เขาอาจจะหลุดออกนอกระบบ

ถ้ามองในภาพใหญ่ของประเทศ จะเห็นว่าประชากรที่ยากจน ด้อยโอกาส เขาไม่สามารถเลื่อนระดับสถานะทางสังคมได้ มันมีผลต่อเศรษฐกิจสังคมประเทศด้วยเช่นกัน เราเชื่อว่าการศึกษา จะสามารถเข้าไปพัฒนามนุษย์ให้หลุดพ้นจากช่องว่างนี้ ยกระดับคนในประเทศให้กินดีอยู่ดี ลืมตาอ้าปาก และหลุดพ้นจากความจนรุ่นสู่รุ่น 

ข้อเสนอในการฟื้นฟูเรื่อง Learning loss ของ กสศ. คืออะไร

ในงานวิจัยชิ้นนี้ที่เราทำ ระบุข้อเสนอไว้ อาทิ การส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เด็กเล็กมีพัฒนาทางร่างกายและพัฒนากล้ามเนื้อมือแข็งแรงขึ้น รวมถึงกิจกรรมมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการคิด การทรงตัว การยืดหยุ่น การพัฒนาสมอง และการส่งเสริมให้เกิด Active Learning เพื่อฟื้นฟูทักษะต่างๆ ที่หายไป

โดยกิจกรรมที่กระตุ้นการพัฒนาการจะต้องทำให้เด็กได้ใช้ร่างกายหลายส่วนร่วมกัน มีการเคลื่อนไหวในท่าทางที่หลากหลาย รวมถึงได้ใช้ความคิด ได้แก้ปัญหา ได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ได้สื่อสาร ได้ฝึกควบคุมการออกแรง การทำตามกติกา เป็นต้น 

วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นมันผลักให้เราเห็นปัญหาด้านการศึกษาอะไรได้บ้าง

หลายอย่างเลยครับ

อย่างแรกที่เห็นชัดคือเรื่องทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเด็กในเมืองและในชนบท โควิด-19 ทำให้เราเห็นความแตกต่างของเด็กที่มีความพร้อมและเด็กที่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงอุปกรณ์อินเทอร์เน็ต มือถือ แท็บเลต คอมพิวเตอร์ อันนี้เราเห็นได้ชัดเลยว่าเด็กยากจนที่เรียนออนไลน์ แต่เบื้องหลังคือการดูหน้าจอมือถือเล็กๆ ร่วมกับพี่น้องอีกหลายคน

เช่นเดียวในระดับโรงเรียน วิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นโรงเรียนที่มีความพร้อม สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น เพราะยังพบโรงเรียนอีกจำนวนมากที่ขาดแคลนอุปกรณ์ ขาดแคลนครู ขาดแคลนทรัพยากร 

วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ทำให้ภารกิจกสศ. เปลี่ยนไปหรือไม่?

ตัวโครงการอาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปมาก เพราะเป้าหมายของเรายังเหมือนเดิม นั่นคือช่วยเหลือเด็ก โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสที่เขาไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้พวกเขาได้มีทักษะ มีความรู้ สามารถยกระดับเอาไปใช้กับชีวิตตนเองได้ในอนาคต

แต่โควิด-19 ก็ช่วยทำให้กสศ. ได้ปรับเปลี่ยนความจำเป็นและความเร่งด่วนของบางโครงการเหมือนกัน 

จากเดิมที่เราอาจไม่ได้โฟกัสไปที่เรื่อง Learning loss มากนัก แต่พอมีโควิด-19 เราต้องถอยกลับมาจัดลำดับความสำคัญไปในเชิงของการป้องกันและฟื้นฟูภาวะถดถอย ทั้งการเรียนรู้ การหลุดออกนอกระบบของเด็ก รวมถึงภาวะเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เราต้องมาทำประเด็นนี้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น กสศ. เรามีศูนย์การช่วยเหลือฉุกเฉิน โดยก่อนหน้าอาจจะไม่มีที่ชัดเจนมากนัก แต่พอมีสถานการณ์โควิด-19 ศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉินได้รับการเรียกร้องและความสนใจจากทั้งตัวผู้ปกครอง คุณครู และโรงเรียนค่อนข้างมาก เช่น เด็กไม่มีเงินค่าเทอม เพราะพ่อแม่ตกงาน เด็กที่เคยอยู่โรงเรียนเอกชนแต่พ่อแม่ไม่มีค่าเทอมจ่าย จำเป็นต้องย้ายไปโรงเรียนรัฐบาลแต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีใบรับรองจบการศึกษา ศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉินของกสศ. จึงต้องเข้าไปดูและปัญหาในเชิงลักษณะของเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เกิดในช่วงโควิด-19 มากขึ้น

เมื่อเทียบกับหน่วยงานการด้านศึกษาอื่นๆ จุดแข็งของกสศ. คือการเป็นม้าเร็ว เพราะมีทั้งข้อมูล การลงทุนงานวิจัย ธงอันใกล้ต่อไปจะเป็นอย่างไร

เราเป็นม้าเร็ว เราคล่องตัวกว่าเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ 

เรามีทุนที่สนับสนุนโดยรัฐธรรมนูญและพรบ. ของเราเอง เพื่อทำหน้าที่ช่วยเติมเต็มงานด้านการศึกษา โดยเฉพาะเด็กยากจน ด้อยโอกาสต่างๆ สนับสนุนงานเชิงวิจัย สนับสนุนงานเชิงพื้นที่ แต่โควิด-19 ทำให้ กสศ. ปรับตัวรวดเร็ว และยืดหยุ่นค่อนข้างสูง 

ถ้าถามว่าในระยะยาว เราอยากเห็นองค์กรเป็นอย่างไร เราคิดว่าเราคงต้องรักษาจุดแข็งที่มีไว้ให้แข็งแรงกว่าเดิม และเราอยากทำงานในเชิงโครงสร้างมากขึ้น เพื่อให้ภาพในระบบการศึกษาเปลี่ยนแปลง

งานเชิงโครงสร้างคืออะไร? หมายถึงโครงการที่เข้าไปทำข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการปรับเพิ่มจำนวนเงินอุดหนุนต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กด้อยโอกาส เราอยากจะให้ภาครัฐได้มีการปรับ โดยให้ความช่วยเหลืออย่างยั่งยืนและเป็นระบบ  

รวมถึงโครงการต่างๆ ที่จะเข้าไปทำงานวิจัยเพื่อเสนอให้มีรูปแบบของการจัดสรรงบประมาณในการศึกษาเพื่อให้มีความเสมอภาคมากขึ้น โดยพิจารณาความแตกต่างของโรงเรียนและนักเรียน โดยที่เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องได้รับทุนที่เท่ากัน แต่ควรมีการปรับมากสัดส่วนเงินอุดหนุนให้ตามความเหมาะสมกับรายได้ครัวเรือน

นอกจากนั้นกสศ. ยังทำโครงการลักษณะ Innovative Financing ที่มีเป้าหมายเพื่อการระดมทุนเอามาใช้แก้ปัญหาในทางการศึกษา เพราะการรอคอยงบประมาณจากภาครัฐอย่างเดียวไม่อาจเพียงพอ 

ตัวอย่างที่เราเคยทำ คือ กสศ. ทำโครงการร่วมกับ ‘แสนสิริ’ ที่ร่วมลงทุน เพื่อพัฒนาลดความเหลื่อมล้ำในเขตพื้นที่ราชบุรี นี่เป็นตัวอย่างของการระดมทุนในภาคเอกชนเพื่อเอามาขับเคลื่อนงานการศึกษา และเรายังคงดำเนินโครงการลักษณะนี้กับบริษัทเอกชนอีก ไม่ว่าจะ ปตท. หรือ เซ็นทรัลกรุ๊ป 

กสศ. ยังจัดทำระบบหรือฐานข้อมูลร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อฐานข้อมูลที่สามารถนำไปเชื่อมโยงและใช้ช่วยเหลือเด็กในกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มที่ได้รับความรุนแรงต่างๆ จากสังคม รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ยังสามารถนำข้อมูลที่เราทำไปขยายผลต่อได้อีก  

ตลอดช่วงโควิด-19 กสศ. ได้ทำเรื่องอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง

เราเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่เข้าไปแก้ปัญหาเรื่องอาหารของเด็ก เพราะโควิด-19 ทำให้เด็กๆ อยู่บ้าน เด็กที่อยู่ในกลุ่มยากจนจำเป็นต้องพึ่งอาหารจากโรงเรียนเป็นหลัก ดังนั้นการที่โรงเรียนปิด หมายความว่าเขาจะไม่ได้รับอาหารที่ดี ซึ่งจะมีผลต่อพัฒนาการต่างๆ เรื่องแรกที่เราคิดว่าทำสำเร็จคือแคมเปญระดมอาหาร ร่วมกับบริษัทภาคเอกชนต่างๆ เพื่อไปดูแลและแจกจ่ายในพื้นที่โรงเรียน 

อีกโครงการหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ โครงการพาน้องกลับไปเรียน ที่เราร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อระดมสรรพกำลัง ระดมครู ผู้ปกครอง ชุมชน เพื่อติดตามเด็กที่หลุดออกนอกโรงเรียนเพราะโควิด-19 โดย กสศ. มีบทบาทในการเชื่อมโยงติดตามข้อมูลเด็ก เพื่อพาเด็กๆ  ที่่หลุดออกนอกระบบได้กลับเข้ามาเรียน รวมถึงโครงการศูนย์ฉุกเฉินที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ ที่ครอบครัวไม่มีเงินค่าเทอม ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อได้ หรือเด็กที่เกิดภาวะยากจนเฉียบพลัน

นอกจากนั้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก เราได้เข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ ที่ติดโควิด-19 ผ่านการมีศูนย์พักดูแล จัดยารักษา จัดพื้นที่กักตัว เพื่อให้เขาได้กลับเข้าสู่โรงเรียนและเข้าสู่ระบบการเรียนให้ได้

ส่วนด้านการเรียนรู้ที่เด็กจำเป็นต้องเรียนออนไลน์ เราก็ไปทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เด็กๆ ได้เข้าเรียนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าไปเจรจากับกสทช. ถึงเรื่องค่าบริการเพื่อแบ่งเบาภาระ ลดค่าอินเทอร์เน็ตให้เด็กและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล

ท้ายที่สุดเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เด็กกลับเข้าสู่โรงเรียนตามปกติ เราพบว่าเกิดปัญหาความรู้ที่ถดถอย (Learning loss) ที่กระทบต่อพัฒนาการ ไม่ว่าจะในด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และทักษะต่างๆ เราจึงมีโครงการที่เข้าไปฟื้นฟู ทั้งในเชิงวิชาการและร่างกาย เช่น โรงเรียนโรงเรียนวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง จ.สมุทรสาคร ที่เราเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูทักษะต่างๆ ให้กลับมา 

สุดท้ายสิ่งที่เราอยากจะทำต่อไป นั่นคือ การสร้างสิ่งที่เรียกว่า life-long learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากเด็กจำนวนมากที่เขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่โรงเรียน ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใดก็ตาม แต่เราเชื่อมั่นว่าจะเข้าไปทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนรู้ที่เกิดในห้องเรียน เน้นการเรียนรู้ในชุมชน จากเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อประกอบอาชีพในอนาคต ให้พวกเขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถที่จะหลุดออกจากห่วงโซ่ของความยากจนได้ นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจไว