คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ?
วลีที่ชาวโซเชียลต้องได้ยินตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึง ณ เวลานี้ บางคนอาจสงสัยว่าวลีนี้คืออะไร มีที่มาจากไหน เป็นส่วนหนึ่งในเพลง “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ มีงานให้ทำไหมคะ ปริญญาไม่มี แต่มี x นะคะ แต่มี xx นะคะ” เป็นเพลงที่กำลังไวรัลทั่วอินเทอร์เน็ต เพราะความตรงไปตรงมาของเนื้อเพลง ประกอบกับความตลกหน้านิ่งของนักร้องหมอลำ เดือนเพ็ญ เด่นดวง ที่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากมาย เป็นเหตุให้ใน TikTok ทั้งดาราและใครๆ ก็ต่างพากันโคฟเวอร์
จริงๆ แล้วท่อนร้องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงหมอลำแขกเมื่อปี 2539 ที่ดัดแปลงมาจากเพลงต้นฉบับที่ชื่อว่า สมองจนจน โดย มืด ไข่มุก นักร้องวงพลอย ถูกปล่อยมาเมื่อปี 2531 นั่นเอง 35 ปีที่เพลงนี้ยังคงมีชีวิตและกลับมาเป็นกระแสได้เรื่อยๆ คงเป็นเพราะความตลกของเนื้อร้องและเนื้อหาของเพลงที่ยังสะท้อนสังคมได้ดีตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ความตลกอาจทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยม ซึ่งเป็น ‘ความตลกร้าย’ ของความจริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่คนชั้นล่างสุดต้องดิ้นรนทำทุกทางเพื่อถีบตัวเอง ไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนสถานะ เพราะนั้นอาจเป็นความฝันไกลเกินจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตนี้ แต่เพื่อให้ตัวเองลืมตาอ้าปากหายใจต่อไปได้
‘มีงานทำ’ อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะก่อนจะมีงานทำ เราต้องมี ‘ทุน’ ดูแลตัวเองก่อนจะเข้าไปถึงงานได้ แล้วสำหรับประเทศที่ความเจริญกระจุกอยู่แค่ที่เดียว ทำให้ใครหลายคนต่างแบกความฝันมาหางานในเมืองหลวง แต่ความฝันก็ไม่อาจสำเร็จได้ง่ายเพราะข้อจำกัดของเงินทุน การศึกษา ค่าครองชีพที่สูงลิบลิ่ว และรายได้ที่ไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย อุปสรรคที่คนต้นทุนชีวิตต่ำต้องดิ้นรนไม่จบไม่สิ้น เพลงนี้นี่แหละที่สะท้อนชีวิตของพวกเขาได้ดีที่สุด
‘สมองดี ขาดที่ไม่มีทุน คอยค้ำจุนก็เลยต้องเตะฝุ่น’
เพลงโดยรวมพูดถึงคนๆ หนึ่งที่อยากหาเลี้ยงตัวเองโดยการทำงาน แต่ความต้องการของเขาก็ไม่ได้สำเร็จได้โดยง่าย เนื่องจากไม่มีเงินทุนตั้งตนในการใช้ชีวิต เพราะการออกไปหางาน หรือทำงานต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมด้วย หรือในกรณีจะไปทำธุรกิจของตัวเองก็เป็นไปได้ยาก เพราะหากล้มขึ้นมาก็ไม่ได้ล้มบนฟูกเหมือนคนอื่นๆ
‘คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ คนจนมีเสียงไหมครับ มีอะไรให้ทำไหมครับ มีงานให้ทำไหมครับ’
มาถึงท่อนฮุกอันโด่งดังที่เต็มไปด้วยการประชดประชันแกมตลกขบขันว่า ในสถานะที่เป็น ‘คนจน’ พวกเขาจะมีสิทธิ์ได้ทำงานเหมือนคนอื่นๆ หรือไม่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบางครั้งพวกเขาก็ถูกด้อยค่าจากสังคมด้วยสถานะที่เป็น ทำให้ต้องตั้งคำถามกับคุณค่าในตัวเองเสมอ การทำงานก็เป็นหนึ่งในนั้น และหากพวกเขาทำงานได้ งานก็ถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มใช้แรงงาน ทำงานแล้วแต่คนจะสั่ง แม้นี่จะเป็นไปตามความสามารถที่มี แต่ก็ต้องย้อนกลับไปอีกว่า จุดเริ่มต้นอย่างการเข้าถึงการศึกษาที่จะกำหนดชีวิตการทำงานของเรา ทุกคนสามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียมหรือไม่ ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง
สถานะที่เป็นคนจนจะทำให้คนได้ยินเสียงของพวกเขาบ้างหรือเปล่า และสถานะที่เป็นคนจนเขาจะมีสิทธิ์เหมือนกับคนอื่นมั้ย ถึงแม้คำว่าสิทธิ์ในแง่ของทางกฎหมายย่อมมีอยู่แล้ว แล้วถ้าสิทธิ์ที่หมายถึงโอกาสล่ะ? พวกเขามีเท่าคนอื่นๆ หรือเปล่า
‘เส้นไม่ใหญ่ไม่โต โล่ไม่มีจะโชว์ แต่งตัวก็ไม่โก้’
‘ระบบอุปถัมภ์’ ยังคงอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานของสังคมไทยเป็นเวลานาน ถึงแม้จะมีบางคนได้รับผลประโยชน์จากระบบดังกล่าว จนปัจจุบันมันจะกลายเป็นเรื่องเทาๆ ภายในการทำงาน เป็นเรื่องที่บางคนมองว่าปกติและพร้อมจะกระโดดเข้ามาหาเห็นลู่ทาง และแน่นอนว่าก็ต้องมีคนที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ หรือยังคงเชื่อมั่นในความตรงไปตรงมา พวกเขาจึงรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ความแบ่งแยก และความไม่เท่าเทียม
คนจนเองอาจจัดอยู่ในกลุ่มหลัง แต่เหตุผลอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่มีโอกาสเข้ามาเลย หรือไม่มีทางเลือกเท่าคนอื่นๆ
‘สมองกุ้ง กลับใหญ่เป็นนายทุน หรือผลบุญที่เขาประจบเก่ง’
แน่นอนว่าระบบอุปถัมภ์จะเกิดขึ้นและส่งต่อกันได้ก็ต้องมีคนที่ได้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้เองเนื้อเพลงจึงเสียดสีและเหน็บแนมคนที่ใช้ระบบดังกล่าวเพื่อเข้าทำงานว่าอันที่จริงคนเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่คนเก่ง แต่เป็นเพียงคนที่ใช้ระบบเหล่านี้โดยวิธีต่างๆ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ ‘อยู่เป็น’ นั่นเอง
เนื้อเพลงในต้นฉบับเหน็บแนมทั้งสังคมการทำงาน และสังคมไทยที่ไม่เปิดโอกาสในคนจนหาเลี้ยงตัวเองได้ซักที จนมาถึงเพลงเวอร์ชันของเดือนเพ็ญที่ได้เปลี่ยนเนื้อร้องบางท่อน ซึ่งก็มีเนื้อหาที่เสียดสีสังคมไม่แพ้กัน
‘คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ มีงานให้ทำไหมคะ ปริญญาไม่มี แต่มี x นะคะ แต่มี หมXย นะคะ’
แม้ใครจะว่าหยาบคาย แต่เนื้อร้องนี้ก็สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเข้าถึงคนฟังได้ทันที ภาพคนจนในอุดมคติของสังคมบางส่วน คือ คนไม่พยายาม ขี้เกียจ ไม่มีการศึกษา วันๆ เอาแต่กินเหล้า เหตุผลเหล่านี้จึงทำให้พวกเขาเป็นพวกไม่มีงานทำและต้องเป็นคนจนอยู่วันยังค่ำ ภาพจำเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีใครฟังเสียงหรือสนใจพวกเขามากเพียงพอ แต่ใครจะรู้ว่าคนจนอย่างพวกเขาก็พยายามมากและพยายามมาตลอด แต่เพราะโครงสร้างสังคมที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้หนทางการลืมตาอ้าปากของพวกเขาไม่เกิดขึ้นง่ายเหมือนคนอื่น
ในเพลงเวอร์ชันนี้ สิทธิ์ของคนจนยังคงถูกตั้งคำถามอีกเช่นเคย ทั้งยังเพิ่มประเด็นที่ว่า การเป็นคนจนระดับการศึกษาก็คงไม่ได้ดีเด่อะไร ไม่ได้จบปริญญาตรีด้วยซ้ำ

การใส่ถ้อยคำทะลึ่งและพูดถึงเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมาเป็นวัฒนธรรมของเพลงหมอลำ ผู้ร้องอาจจะไม่ได้มีเจตนาประชดประชันออกไปก็เป็นได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งการที่ผู้หญิงคนหนึ่งพูดเรื่องเพศในที่สาธารณะ อาจเป็นการแสดงออกทางจุดยืนบางอย่าง อย่างเช่นโครงสร้างสังคม โครงสร้างเศรษฐกิจ และแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ก็กดทับไม่ให้พวกเธอสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้ไม่แพ้การเป็นคนจน การหาเงินก็เป็นเรื่องที่ยากแล้ว แต่การเป็นผู้หญิงที่หางานด้วยยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้น เรื่องเพศอยู่ในท่อนนี้อาจหมายถึงการคัดง้างกับสังคมผ่านการประชดประชันที่ว่า มีแต่ร่างกายเปล่าๆ นี่แหละที่พอจะเป็นคุณสมบัติให้คนอื่นพิจารณาเข้ารับทำงาน
ใครหลายคนอาจจะให้ความสนใจกับเนื้อร้องและคำไม่สุภาพที่ตรงไปตรงมาของเพลง แต่อย่าลืมว่าความจริงที่อยู่ในเนื้อเพลงและอยู่ตรงหน้า คือ ความเหลื่อมล้ำที่คนจนเผชิญ พวกเขาต้องออกพูดโดยใช้วิธีนี้เพื่อให้คนรับฟัง ถึงแม้ใครจะว่าหยาบคายอย่างไร แต่ความเหลื่อมล้ำในสังคมต่อให้อธิบายด้วยคำที่สวยหรูเท่าไหร่ก็ไม่ไพเราะอยู่ดี
ทำงานเพื่อหาเงิน แต่ต้องมีเงินก่อนจะหางาน
หนทางหนึ่งที่จะทำให้คนหลุดพ้น หรือเปลี่ยนสถานะคนจน คือ การมีงานทำ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราไม่สามารถเดินไปหางานหรือสมัครงานได้เลย เพราะนอกจากต้องมีต้นทุนทางการศึกษา ‘เงิน’ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยข้อมูลของปี 2565 ว่าค่าใช้จ่ายของครัวเรือนทั่วประเทศเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 22,372 บาท ค่าใช้จ่ายหมวดอุปโภคบริโภคที่จ่ายไปมากที่สุด คือ ค่าอาหาร 35.8% ต่อมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ 20.7% ตามมาด้วยค่ายานพาหนะและค่าเดินทาง 17.2% นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างเช่นค่าเสื้อผ้า ค่ารักษาพยาบาล ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น
ในขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลเมื่อปี 2564 โดยการใช้มาตรวัดที่เรียกว่า ‘เส้นแบ่งความยากจน’ แสดงให้เห็นว่า การนิยามว่าใครเข้าข่ายคนจน คือ คนที่มีรายได้เดือนละ 2,803 หรือราวๆ วันละ 93 บาท ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6.32% ของประชากรทั้งหมด คนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตอยู่กับเงินที่มีไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาทด้วยซ้ำ ต้องเผชิญค่าใช้จ่ายที่สวนทางกับรายได้อย่างน่าเศร้า อีกทั้งบริษัททั้งเล็กและใหญ่ทั้งหลายก็ต่างอยากได้คนที่ ‘พร้อม’ กันทั้งนั้น ไม่ว่าความพร้อมด้านการศึกษา ความพร้อมด้านการงาน ความพร้อมด้านการเดินทาง และอีกสารพัดพร้อมที่ต้องมีเงินทุนมากมายกว่าจะเป็นคนที่พร้อมได้
ล่าสุดสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยโดยข้อมูลจากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Index 2023 โดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีสถานะต่อเป้าหมายที่ 10 ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ ที่เปลี่ยนไป เดิมทีในปี 2565 ไทยมีสถานะต่อเป็นหมายดังกล่าวคือ ‘ค่อนข้างก้าวหน้า’ แต่ในปีนี้กลับกลายเป็น ‘ไม่คืบหน้า’
ถ้าความเหลื่อมล้ำในสังคมที่คนจนต้องเผชิญยังไม่มีวี่แววที่จะเลือนรางหายไป คำถามที่ว่า ‘คนจนมีสิทธิ์ไหม’ ก็จะอยู่กับสังคมไปต่อเหมือนกัน
อ้างอิง
- การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
- thaipublica.org