ป๊อบ กิตติพงษ์ หาญเจริญ

“ไม่ใช่เพราะรู้สึกขาด แต่คือการบอกว่าพร้อมจะมีความรักแล้ว”: เข้าใจความรักแบบ ‘ป๊อบ’ กิตติพงษ์ หาญเจริญ หลังจากประกาศหาคนอยู่ด้วยกันในอนาคตผ่านเฟซบุ๊ก

~ ถึงเธอ คนที่เราอาจได้อยู่ด้วยกันในอนาคต ~

วันที่ 18 มกราคม 2024 ป๊อบ – กิตติพงษ์ หาญเจริญ ผู้ก่อตั้ง friends & forest และ มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ โพสต์ข้อความ ‘หาคู่’ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แม้ป๊อบจะออกตัวว่า นี่เป็นโพสต์ที่เขารู้สึกเขินที่สุดตั้งแต่เคยใช้เฟซบุ๊กมาแล้ว แต่ป๊อบก็สรุปคุณสมบัติของตัวเอง และคุณสมบัติของ ‘คู่’ ที่เขาต้องการมากกว่า 5 พารากราฟ 

ใน 5 พารากราฟนี้ ไม่มีเรื่องน้ำหนัก ส่วนสูง ระดับการศึกษา อาชีพการงานในคุณสมบัติของคู่ที่ป๊อปต้องการ มีแต่วิถีที่เขาบอกว่า “ผมน่าจะไปได้ยาวกับโทนประมาณนี้ครับ” 

โดยหลังพารากราฟคุณสมบัติ ป๊อบพิมพ์เพิ่มเติมสรุปขมวดเป็นหัวข้อว่า

  • ไม่ต้องจีบกันนะ 
  • ผมจะไม่ทำให้คุณเสียเวลา 
  • เหมือนดาวที่โคจรในจักรวาล
  • สนุก เกื้อกูล ยั่งยืน

และจบท้ายโพสต์ด้วยใจเขินๆ แบบสันติว่า “ไม่ว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในจักรวาลที่เรารู้จักกันหรือไม่ ยินดีที่ได้รู้จักกันและกันนะครับ” (ดูโพสต์ของป็อบได้ที่นี่)

ป๊อบ – กิตติพงษ์ หาญเจริญ

ในวันที่การกินชาบูคนเดียวเป็นเรื่องปกติในสังคม สถิติโลกระบุว่า มนุษย์แต่งงานกันน้อยลง และไลฟ์สไตล์ชีวิตเอื้อต่อสังคมเดี่ยว ตัวคนเดียวมากขึ้น แต่ป๊อบเลือกที่จะโพสต์มองหาคนที่เขาอาจได้อยู่ด้วยกันในอนาคต 

นี่ไม่ใช่ความคิดแปลกใหม่ในสังคม แต่การที่เขาตั้งใจมองหา ‘คู่’ ในหลักการ ‘สนุก-เกื้อกูล-ยั่งยืน’ มากกว่ายึดเอาความเหงาเป็นตัวเชื่อมของความสัมพันธ์ สำหรับคนทั่วไปเรื่องนี้อาจเข้าใจยากพอๆ กับปรัชญาอริสโตเติล ดังนั้นแล้วแอปฯ หาคู่จึงไม่ใช่ทางเลือกของป๊อบ เพราะแค่การปัดขวาแล้วเลือกจากรูปคงไม่พอ  

การอยู่ในห้วงแห่งรักของกันและกันต้องใช้มากกว่านั้น เหมือนที่หนังสือ We Understanding Psychology of Romantic Love อธิบายไว้ว่า สภาวะตกหลุมรักมันเป็นปรากฏการณ์ ที่จิตของเราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเราเอง ผ่านใครบางคน 

ความรักที่ผ่านมาของป๊อบเป็นยังไง 

หลายแบบนะ ที่จำได้คือประมาณประถม 6 เคยซื้อดอกไม้ให้ผู้หญิงที่แอบชอบคนหนึ่งในโรงเรียน วันนั้นเป็นวันวาเลนไทน์ เรารู้สึกว่าอากาศวันนั้นมันดี เลยไปซื้อดอกไม้หน้าโรงเรียน แล้วก็เหมือนเตรียมตัวเตรียมใจด้วยการไปช่วยครูเช็ดหน้าต่างห้องพักครูก่อน ก็คือแอบมองเขาแหละ ดูว่าเขามายังนะ แล้วพอเขามา เราก็เดินไปหาแล้วก็เอาดอกไม้ไปให้คนที่เราแอบชอบ แค่นั้น 

แต่ตอนนั้นมันแค่รู้สึกว่า โห! เหมือนเป็นความสำเร็จเล็กๆ ในวัยเด็ก คือกล้าทำอะ มันก็ไม่ง่ายนะเว้ย เพื่อนก็มอง คนก็เยอะ มันไม่ใช่จังหวะที่จะนัดกันสองคนได้อยู่แล้ว ยุคนั้นมันไม่มีอะไรเลย ก็ต้องเดินเข้าไปหาในจังหวะที่เขาอยู่กับเพื่อนนั่นแหละ

เคยเจอความรักที่ทำให้เราสัมผัสถึงแก่นของความโรแมนติกบ้างไหม 

หลังจากนั้นความรักก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จุดพีค คือ ตอนที่เราใช้เวลาอยู่กับคนเยอรมันคนหนึ่งอย่างเข้มข้น และค่อนข้างลึกซึ้ง เราไม่ได้เริ่มจากเห็นคนนี้แล้วปิ๊งเลย แต่ทำงานด้วยกันไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ  จนรักกัน  เขาก็บอกว่า การได้เจอกับเราก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของชีวิตเขาเหมือนกัน การเจอเขาก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตเราเช่นกัน ตอนนั้นคิดว่า คงได้อยู่กับคนนี้แล้ว เราคิดถึงขั้นนั้นจริงๆ นะ

แล้วอะไรทำให้ไม่ได้อยู่ด้วยกัน

ด้วยความที่อยู่คนละประเทศ ห่างกันแต่ก็ยังติดต่อกันเรื่อยๆ สุดท้ายพอถึงจุดหนึ่ง เหมือนเขาชอบคนอื่น เราพังมากตอนนั้น เสียใจ เศร้ามากๆ คือก่อนหน้านั้นเวลาเลิกกัน เรายังไม่ได้เข้าใจนิยามคำว่า อกหักแบบ MV ที่เราเห็น ฝนตกแล้วมองออกไปนอกหน้าต่าง แต่ครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจแบบเข้มข้น ช่วงเวลานั้นเราก็ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ We: Understanding Psychology of Romantic Love เล่มนี้ทำให้เข้าใจหลายๆ อย่างว่า ในกระบวนการความสัมพันธ์มันทำงานยังไง เกิดอะไรขึ้น เลยทำให้ปลดล็อก เข้าใจความต่างระหว่างรักแบบโรแมนติก (Romantic Love) กับรักแบบมนุษยสัมพันธ์ (Human Love) จนสุดท้ายทำให้เรามาจัดเวิร์กช็อป  ในconcept “เพราะความรัก เป็นมากกว่าเรื่องคนรัก” ได้ด้วย

ทฤษฎีรักของป๊อบคืออะไร

สภาวะตกหลุมรักเป็นปรากฏการณ์ที่จิตของเรา มันได้เห็นความเป็นไปได้ที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง ผ่านใครบางคน เราคิดว่าประโยคนี้อธิบายได้ครบ ปัญหามันอยู่ที่ เรามองไม่เห็นว่าเรากำลังชอบอะไร เราเข้าใจไปว่าเราแค่ชอบคนนั้น ทั้งๆ ที่จริงๆ คนนั้นคือกระจกที่มาบอกเราว่า จิตใต้สำนึกของเรากำลังแสวงหาอะไร จริงๆ เราอาจกำลังชอบคุณสมบัติบางอย่างที่เขามีมากกว่าตัวเขาด้วยซ้ำ 

ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราเป็นคนประนีประนอมสุดๆ เลย อาจจะมีสักโมเมนต์หนึ่งที่เรารู้สึกตกหลุมรักอะไรบางอย่างของคนที่เขาดูเด็ดขาดมากๆ ก็ได้ ในทางกลับกัน เมื่อโปรโมชันความโรแมนติกเริ่มจางลง ทั้งๆ ที่เขาอาจจะเป็นคนเดิม มีความเด็ดขาดเหมือนเดิมเลย เราอาจจะไม่พอใจเขาว่า ทำไมเรื่องเหล่านี้เธอประนีประนอมไม่ได้เลย ทำไมเธอถึงเห็นแก่ตัว ทั้งๆที่สิ่งนั้น คือ สิ่งเดียวกับที่เราชอบเขาในทีแรก 

จากทฤษฎีนี้ ป๊อบเห็นอะไรทั้งจากตัวเองและคนรักบ้าง

ส่วนใหญ่เรามีแนวโน้มจะได้คบกับคนที่บุคลิกค่อนข้างเรียบร้อย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะว่าเรามีความลุยก็ได้ มันเหมือนเป็นจิ๊กซอว์มั้ง อย่างคนที่เข้ามาคุยกับเราจากโพสต์นี้ (เฟซบุ๊ก) ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์กับบุคลากรทางการศึกษานะ 

จากโพสต์หาคู่ ป๊อบต้องการอะไร?

มีคนถามเยอะมากว่า ทำไมถึงโพสต์ แม้กระทั่งคนที่ทักมาก็ถามหลายคน เราตอบไปว่า “มันไม่ใช่แค่ความรู้สึก ‘อยากมีแฟน’ แต่คือความรู้สึก ‘พร้อมที่จะมีภรรยา’” แล้วความพร้อมของเรา คือ ไม่ได้รู้สึกเหมือนกับเราขาดอะไรบางอย่าง แล้วอยากให้เขามาเติมอะไร

มันไม่ได้เป็นความรู้สึกของการโหยหา หรือถ้าไม่มีแฟนแล้วคุณภาพชีวิตเราจะแย่ มีแล้วถึงจะดี มันไม่ได้เป็นแบบนั้น สำหรับเราพาร์ทนี้เป็นส่วนสำคัญในการสังเกตคนที่มาคุยกับเรา ถ้าเรายังจับความรู้สึกได้ว่า เขาอยากให้เราไปเติมอะไรบางอย่างที่มันพร่องในตัวเขา สำหรับเรารู้สึกว่า เรากับเขาอาจจะยังไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เรายินดีเป็นเพื่อนมากกว่า

ทำไมต้องเป็นเฟซบุ๊ก หรือการตั้งใจหาคู่แบบเปิดเผย 

ความเข้าใจสำหรับผมล่าสุด คือ จักรวาลไม่ได้จัดสิ่งที่เราอยากให้กับเรา

จักรวาลจัดสิ่งที่คู่ควรให้กับเรา ดังนั้น เราอยากได้แบบไหน เราก็ต้องทำตัวให้คู่ควร ไม่คู่ควรก็ไม่ได้ แค่นั้นเอง 

คู่ควรก็มีหลายปัจจัยมากมาย ผมเห็นว่าเราก็ควรสื่อสาร

ถ้าคุณอยากได้สิ่งนี้ คุณอยากได้กาแฟ คุณไม่เดินเข้าไปในร้าน กาแฟมันจะบินมาไหม (หัวเราะ) ถ้าอยู่ๆ เชื่อว่ากาแฟบินมา ผมว่าตรรกะมันหลุดไปนะ เราก็ต้องทำอะไรบางอย่างแหละเนาะ

‘ไม่ต้องจีบกันนะ’ ในโพสต์หมายความว่าอย่างไร

ความตั้งใจแรกของเราก็คือมาหาคู่ชีวิต เราไม่ได้จะมาหาเพื่อน เพื่อนมีเยอะแล้ว แถมโพสต์ไปแล้วก็ไม่ได้รู้ด้วยว่า ผลจะดีหรือไม่ แต่พอเริ่มมีคนมาทักเยอะ ผมสังเกตเห็นใจตัวเองเลยนะว่า ตอนที่เราวางจิตมองเขาเป็นตัวเลือก หรือคนเข้ารอบ ผมรู้สึกเลยว่า จิตผมมันแคบลง เราไม่ได้ชอบตัวเองแบบนั้น เรารู้สึกเหมือนเราไม่ได้เคารพเขา (คนที่ทักเข้ามา) เท่าที่ควรด้วย ผมก็เลย “ไม่ๆๆ เราจะไม่เล่นเวย์นี้ว่ะ” 

สิ่งที่ผมให้ความสำคัญที่สุด คือ อยากเพลย์เซฟ (Play Safe) ให้ไม่มีใครเลยที่ต้องเสียใจจากกระบวนการนี้ อย่างแรก คือ เราจะไม่มองเขาเป็นตัวเลือก เพราะถ้าเรามองแบบนั้น สมมติมีคนทักเข้ามา 30 คน ถ้ามี 1 คนที่ใช่ คนที่เหลือต้องเป็นคนที่ผิดหวังทั้งหมดเลยเหรอ หรืออาจจะผิดหวังทั้งหมดรวมถึงตัวเราเองด้วยก็ได้ 

ผมเลยพลิกมุมมอง เรารู้สึกว่า เราให้คุณค่ากับความเป็นเพื่อนมนุษย์ มากกว่าความที่กูจะได้เมีย เราเชื่อว่า ทุกความสัมพันธ์มีคุณค่า ทุกความสัมพันธ์มีความหมายที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบของมันเอง โดยเฉพาะในคืนที่เราได้คุยกับหลายๆ คนแล้วเราแบบ เชี่ย! คนนี้ก็เจ๋งเรื่องนี้ว่ะ!  คนนี้กลายเป็นว่าเราช่วยปลดล็อกเขาได้! คนนี้คุยด้วยแล้วอารมณ์ดีจังเลย คนนี้เหมือนเป็นห้องเซฟในเกม ฯลฯ 

เราเคลียร์เรื่องความคาดหวังเลยว่า “เราวางใจแบบเป็นเพื่อนกันไปเลยนะ”  ไม่ต้องมานั่งลุ้นๆ อะไรแบบนี้เลย ถ้าสุดท้ายมันจะพัฒนาไปสู่สิ่งนั้น ก็เดชะบุญ ถ้ามันไม่พัฒนา ก็เป็นเพื่อนกันไปเลย แล้วความสัมพันธ์ก็จะมีความหมายในตัวของมันเอง โดยส่วนตัวผมเชื่อมาตลอดว่า เรารักกันได้มากกว่าเป็นแฟนกัน ความรักมันคือความรัก ถ้าเราเหมาะจะเป็นแฟนค่อยเป็นแฟนกัน

‘มีประสบการณ์ความสัมพันธ์มาบ้าง’ ที่ระบุไว้ในคุณสมบัติของคู่ที่ต้องการ อธิบายเพิ่มเติมได้ไหมว่าเพราะอะไร

สำหรับผม ข้อนี้สำคัญมากนะ ถ้าเกิดเราจะเป็นแฟนคนแรกของเขา ผมขอผ่าน เพราะว่าจากประสบการณ์ในอดีตของผม เคยทดลองคบแบบไม่สนเงื่อนไข สุดท้ายมีปัญหากันจริงๆ 

สภาวะโรแมนติกมันทรงพลานุภาพมาก บางคนกินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือมองโลกเป็นสีชมพูได้เลย คนที่ไม่เคยคบใครมาก่อนเลย เขาอาจจะรู้สึกว่าสิ่งนี้คือความรัก แต่คนที่เคยคบหลายๆ คนมา เคยเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นวงจร จนถึงจุดหนึ่งมันจะรู้ว่า สิ่งนี้เป็นสภาวะซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และสัมพันธ์กับกระบวนการการเลี้ยงดูลูกให้รอด ซึ่งเป็นเรื่องชีววิทยา

ในเชิงวิทยาศาสตร์มันมีส่วนของสารสื่อประสาทปนด้วยจริงๆ ดังนั้น ถ้าคนที่ไม่เคยเห็นการเกิดดับของสิ่งนี้ก่อน จะรู้สึกว่าสิ่งนี้คือความรัก แต่ถ้าเคยเห็นการเกิดดับของมันหลายๆ รอบแล้ว มันจะเริ่มมองเห็นแล้วว่า  มันเป็นสภาวะชั่วคราว คือ เราไม่ได้ปฏิเสธ ไม่ได้ฝืนธรรมชาตินะ ความโรแมนติกมันเป็นสภาวะที่ทำให้คนใกล้กัน เข้าหากัน แต่มันไม่ได้เป็นตัวการันตีว่า เราเหมาะจะอยู่ด้วยกัน ดังนั้น ถ้าเราจะมองหาความสัมพันธ์ระยะยาว มันเอาปัจจัยนี้มาเป็นปัจจัยหลักอย่างเดียวไม่ได้

มีคำสามคำที่ป๊อปบอกว่าเชื่อในความสัมพันธ์มาตลอด คือ ‘สนุก เกื้อกูล ยั่งยืน’ อันนี้มีที่มาที่ไปยังไง

3 คำนี้น่าจะค่อยๆ ตกผลึกมาเรื่อยๆ จากตอนที่อยู่กับคน หรือตอนทำงาน คือ ถ้าไม่สนุก จะคบกันไปทำไม 

เราว่า ความสนุกมันเป็นตัวแทนของความมีชีวิตชีวานะ มันมีพลังชีวิต เวลามนุษย์พลังชีวิตมันต่ำมาก มันก็จะไปทางซึมเศร้าเนาะ ดังนั้น สนุกนี่เป็นตัวการันตีสุขภาพจิตที่ดีหลายมิติมาก คือ เราเคยคบกับบางคน แล้วมีความเกื้อกูลกันมากๆ เลย แต่ก็นั่งๆ นอนๆ กันอยู่ในห้อง มันทำให้เราได้เรียนรู้ตัวเองว่า ในความสัมพันธ์เราชอบอะไรที่มีพื้นที่ตรงกลางด้วย ยิ่งถ้าเราจะอยู่ด้วยกันนานๆ เป็น 10 – 20 ปี มันน่าจะเป็นตี้เล่นบอร์ดเกมของกันและกันได้ด้วย สำหรับผมนะ จริงๆ คำแรกที่ผมคิดในใจ คือ คำว่า ‘ตี้ประจำ’ จริงๆ วันนี้ที่ผมหาคือหาตี้ประจำนะ

วันนี้ถ้าเป็นแฟนกัน ผมเน้นความสบายใจแล้ว อันไหนต้องแยกคือแยก อันไหนรวมก็รวม ไม่ต้องฝืน ถ้าใช้ตู้เย็นเดียวกันแล้วมีปัญหา คนหนึ่งชอบตู้เย็นโล่ง อีกคนชอบเอาของยัดตู้เย็นแล้วมันรก อยู่ด้วยกันมันจะยาก แยกใช้คนละตู้เย็นกันไปเลยก็ได้ ผมว่าเราเลือกได้ ถ้าอันไหนรวมแล้วเวิร์กก็รวม แยกแล้วเวิร์กก็แยก

เรียกร้องพื้นที่ตรงกลางในความสัมพันธ์ เพื่ออะไร 

ผมไม่ได้มองแค่เรื่องแฟนนะ ผมมองในทุกความสัมพันธ์เลย จากการทำงานให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต เจอว่า ปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นรากของปัญหาสุขภาพจิตเลย คือ ฝืนตัวเอง ฝืนเพราะเชื่ออะไรบางอย่าง เช่น เชื่อว่าเราจะเป็นคนดีหากเป็นแบบนี้ เชื่อว่าถ้าเป็นแฟนกันแล้วจะต้องปฏิบัติต่อกันแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่มีนิยามตายตัวเลย

ผมเลยพบว่า รากของความโกรธที่เรามี เกิดจากเราฝืนตัวเอง แล้วทำเพื่อผู้อื่น พอมันฝืนมากๆ แล้วเราไม่โอเค สุดท้ายไอ้จิตดวงนั้นแหละ จะย้อนกลับไปกลายเป็นคนที่โทษคนอื่น ถ้าเราไม่อยากโทษใคร เราไม่ต้องฝืน ถ้าเราไม่ฝืนแต่ต้น เรารับรู้ความต้องการของเราว่าเราพอดีเท่านี้ สุดท้ายเราจะไม่โทษใครเลยนะ เราจะไม่ค่อยโกรธใครด้วย

นิยามของคำว่าแฟนเป็นอย่างไร 

ในเวิร์กช็อปเรื่องความรัก ผมจะชอบพูดว่า ที่เราอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่เพราะว่าเราเป็นคู่แท้ มันไม่มีจริงนะ แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีทักษะในการอยู่ร่วมกันมากแค่ไหนต่างหาก คือเราดีลกันไว้ยังไง 

สิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์แบบแฟนมักจะมีปัญหา เพราะเราชอบคิดไปเองว่าเราเข้าใจคำว่า ‘แฟน’ ตรงกัน ถ้าจะให้ผมนิยามคำว่าแฟน มันคือคนสองคน หรือมากกว่าสองคนในบางกรณี ที่ช่วงนั้นเอาตัวเอาใจมาอยู่ใกล้ๆ กัน ส่วนที่เหลือเราอาจจะคิดไปเองหมดเลย คนหนึ่งอาจจะมีภาพว่า เป็นแฟนคือคนได้เดินจับมือ อีกคนก็อาจจะเป็นภาพที่มีอะไรกันได้ มีลูกกันได้ อีกคนก็อาจจะมีภาพที่งุ้งงิ้งใส่กันได้ อีกคนก็อาจจะจินตนาการว่า แฟนคือสิ่งที่เราจะระบายทุกเรื่องให้ฟังได้ แต่ละคนจะมีความคาดหวังของคำว่าแฟนไม่ตรงกัน

อย่างแรกคิดว่าดีลกันก่อนเลย คุณจะเอาอะไรกับคำว่าแฟน คุณซื่อสัตย์กับตัวเองก่อน ไม่ต้องมาเนียนๆ เต๊าะให้เขาเป็นแฟน เพื่อให้เขาเข้าร่อง แล้วเราก็จะได้สิ่งที่เราต้องการ แต่เรายังไม่ได้ดีลกับเขา แล้วอาจจะต้องผิดหวังในที่สุด

หลังโพสต์ไป อัปเดตสถานะหัวใจว่าเป็นยังไงบ้าง

ยังโสดอยู่ครับ (หัวเราะ) ก็ใจเย็นๆ ครับ ค่อยๆ คุยไป ช่วงที่ผ่านมาโฟกัสกับเรื่องให้ความสัมพันธ์ มันมีความหมายในแบบของตัวเอง มันก็เลยใช้เวลา แล้วก็ค่อยๆ ให้มันเป็นไป ที่ผ่านมาก็ทยอยโทรคุย ทยอยเจอกัน

การโพสต์ครั้งนั้นมันให้อะไรป๊อบบ้าง

ก็ได้เจอคนน่าสนใจหลายคนเลย ได้เพื่อนเพิ่มขึ้นอีก แล้วก็ทำให้ได้เข้าใจว่า ในระดับจิตใต้สำนึกของหลายๆ คนที่ตามมาจากโพสต์ เขาต้องมีบางอย่างที่เชื่อมโยงกับเราแหละ อาจจะมองเป็นเรื่องบุญกรรมหรืออะไรก็ได้ แต่เขาต้องมีมุมที่รู้สึกอะไรสักอย่างในคุณสมบัติที่เรามี แล้วเขาอยากจะมีไม่มากก็น้อย และมันทำให้เรากลับมามองว่า เราจะด่วนตัดสินใครก่อนไม่ได้ บางคนเขาก็คุยกับเราเหมือนเขาคุยกับตัวเอง บางทีมันก็เหมือนมึงบอกกูทำไม กูไม่ได้อยากรู้เลย มึงต้องให้กูรู้เรื่องนี้ทำไมหรอ (หัวเราะ) แต่ถ้าเกิดเรามองข้ามเรื่องพวกนี้ไป เฮ้ย หลายคนเขาเจ๋งจริงนะเว้ย เขามีอะไรที่น่าสนใจเยอะมากเลย บางคนส่งวิดีโอเพลงที่เขามาทำ Cover อย่างล้ำ ไปๆ มาๆ การคุยกับคนที่ทักมาชักคล้ายกับการปฏิบัติธรรม (หัวเราะ)

การหาความสัมพันธ์คล้ายกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร

แต่ละคนมีสไตล์ที่หลากหลาย มันจะมีอะไรให้เราตัดสินได้ง่ายมาก การที่เราไม่ตัดสินเขาไปก่อน ไม่ว่าท่าทีของเขาจะโผล่มาแบบไหน มันเหมือนเป็นการฝึกเจริญเมตตามากๆ เลยนะ ใจเราจะกว้างได้อีก กว้างได้อีก กว้างได้อีก!

ถ้าเราจะมองแบบคัดคนโดยใช้สมองมาจับ มันง่ายมากที่เราจะรู้สึกว่า คนนี้ไม่ต้องคุยต่อแล้วก็ได้มั้ง แต่พอเราวางเรื่องนั้นไปก่อน ลองพูดคุยดู บางคนคุยกันโคตรสนุกเลย คุยยาวจนถึงทุกวันนี้ คุยด้วยแล้วอารมณ์ดีมากๆ เลย ยังบอกกันอยู่เลยว่าสุดท้ายเราไม่ได้เป็นแฟนกัน เป็นเพื่อนกันไปตลอดชีวิตเลยนะเว้ย เนี่ย มันเห็นเลยว่า ถ้าวันนั้นเราไปใช้มายด์เซตแบบนั้น อดสนุกเลยนะ

เราจะมีวิธีในการไม่ตัดสินคนอื่น รวมถึงคนที่เรารักได้อย่างไร

ตอบง่ายๆ คือ ทุกวันนี้เรายังตัดสินตัวเองเรื่องอะไรบ้าง เพราะทุกรากของการตัดสินคนอื่น มาจากเราตัดสินตัวเองอยู่แล้ว แล้วไอ้ตัวนั้นเองเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ตัดสินทุกอย่างเลย แล้วการตัดสินส่วนหนึ่งมันก็มาจากอีโก้ 

อีโก้ไม่ได้แปลว่าการกร่างนะ แต่หมายถึงภาพลักษณ์ของตัวเราเองในอุดมคติ ที่เราไม่อยากให้แปดเปื้อน มันคือ การที่เราไม่อนุญาตให้เราเป็นคนแบบไหนได้บ้าง ดังนั้น เราจะตัดสินคนอื่นได้น้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราขยายพื้นที่ของอีโก้เราให้กว้างออกไป เรายึดติดกับภาพลักษณ์ของตัวเราในสายตาเราเองได้น้อยแค่ไหน

มนุษย์เรามีแนวโน้มจะจำกัดตัวเองว่า จะต้องมีคาแรกเตอร์แบบนี้ๆ เพราะเรากลัวว่า ถ้าเราไม่เป็นแบบนี้ เราจะไม่รอด เช่น สมมติถ้าเราเติบโตมาในวัยเด็กที่เราถูกรับรู้ว่า ถ้าเราเป็นคนไม่ประนีประนอม ชีวิตเรามันจะยากมาก ช่วงที่เราต้องการเด็ดขาด เราอาจจะมีนะ แต่ไม่กล้าแสดงออกมาเลยก็ได้ เพราะถ้าเราเป็นแบบนี้พ่อแม่ไม่รัก อันนี้แย่เลย คือถ้าเด็กคนหนึ่งจะไม่ถูกรักจากพ่อแม่ คุณมีโอกาสที่จะไม่มีชีวิตรอดบนโลกนี้นะ มันคือความรู้สึกกลัว

แต่ในที่สุดแล้ว โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในส่วนลึก มนุษย์เราไม่ได้แค่ต้องการเป็นตัวเองในอุดมคติ มนุษย์อยากจะเข้าสู่สภาวะที่ตัวเองเป็นอะไรก็ได้ คือเป็นอิสระแท้จริง และนี่คือสาเหตุว่าทำไมเราถึงตกหลุมรัก คนที่มีอะไรบางอย่างที่เราไม่มี