แก่ไม่ได้แปลว่าถอยหลัง เมื่อรักการมีชีวิตอยู่ เราจะรักชีวิตของเราในทุกขั้นตอน

“สังคมบอกว่าการแก่คือความตาย แต่วันนี้คุณยังมีชีวิตอยู่”

‘แหม่ม’ วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์และสตรีที่อยู่ในวัยสง่างาม บอกกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม Book Club by New Spirit #9 In Praise of Ageing โดย จิตวิญญาณใหม่ : New Spirit ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยและกำลังเข้าสู่วัยชราในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

หลายครั้งความแก่ถูกมองเป็นความเสื่อม แต่สำหรับวีรพร การก้าวสู่วัยชราเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงหนึ่งในชีวิตเท่านั้น

ตั้งแต่แต่งงานและมีลูก วีรพรตัดสินใจลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกจนอายุ 48 ปี วันที่ลูกโตมากพอที่เธอจะต้องปล่อยให้ลูกไปมีชีวิตของตัวเอง หน้าที่ของแม่จึงไม่ใช่การประคบประหงม แต่เป็นการเฝ้ามองอยู่ในระยะไกลๆ

ชีวิตวัยรุ่นของเธอ คือ ชีวิตที่อิสระและรักความสนุกในทุกๆ เรื่องราว แต่วันนี้ที่อายุมากขึ้น แม้จะกระโดดโลดเต้นไม่ได้เท่าสมัยก่อน แต่เธอก็เลือกที่จะไปโลดแล่นในงานเขียนแทน

เพราะทุกตัวอักษรของนักเขียนรางวัลซีไรต์ คือ การทบทวนชีวิตที่ผ่านมาในแต่ละช่วงวัยว่าตัวเองเป็นใครและมีความสุขกับเรื่องอะไรบ้าง

ความรู้สึกก่อตัวเป็นความเสรี นั่นทำให้วีรพรวันนี้สามารถใช้ชีวิตทุกวันได้อย่างมีความสุข มั่นคง และรักชีวิต ไม่กลัวว่าเข่าจะเสื่อม สายตาจะยาวขึ้น หรือมีผมสีขาวเข้ามาแซมผมดำ

“เมื่อรักการมีชีวิตอยู่ เราจะรักชีวิตของเราในทุกตอน”

ขณะเดียวกันทุกการเปลี่ยนผ่านเราต่างมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งร่างกายที่เสื่อมถอยลง ความรู้สึกโดดเดี่ยวและเหงาในบางครั้ง แต่วีรพรอธิบายเพิ่มเติมว่า ชีวิตเป็นเส้นเดียว อายุที่มากขึ้นอาจทำให้เราทำบางอย่างไม่ได้ แต่เราก็ยังทำอะไรได้อีกหลายอย่าง

“คุณจะเป็นคนที่ดีที่สุดในทุกช่วงวัย แสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในทุกวัน”

เพียงแต่สังคมไทยปัจจุบัน ผู้สูงอายุหน้าใหม่ยังไม่เห็นความเป็นไปได้ว่า เมื่อแก่ตัวลง พวกเขาจะทำอะไรได้บ้าง พอเป็นเช่นนั้น สิ่งเหล่านี้จึงตอกย้ำความรู้สึกในใจลึกของผู้สูงอายุว่า เขากำลังตัวเล็กลง สูญเสียความมั่นใจเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้วัยเกษียณหลายคนต้องเผชิญความโดดเดี่ยวและความเหงา แต่ไม่กล้าบอกใคร

พวกเขารู้แค่ว่า สิ่งที่ทำได้ คือ การนับเวลาถอยหลัง รอวันที่พวกเขาจะนอนหลับไปและไม่มีวันกลับมา

คาร์เมล ชาเลฟ ผู้เขียนหนังสือ ‘In Praise of Ageing’ ขอบใจวัยชรา เสนอแนวคิดเรื่องการเกษียณและวัยชราไว้ในหนังสือตอนหนึ่งว่า 

“การเกษียณจะหมายถึงการก้าวไปข้างหน้า เมื่อเราปล่อยวางความโลภ ความเกลียดชัง ความเห็นที่ยึดมั่น และความคิดว่าฉันถูกต้องลงได้ เราจะเจอกับอิสระในการเลือกกิจกรรมที่ชอบ ตอบสนองพรสวรรค์ที่รัก”

ตัวเราในวัยชราจะละทิ้งความเห็นของสังคมและกลับมาที่ความรู้สึกและนิยามความหมายชีวิตที่เราเป็นคนกำหนดด้วยตัวเองจนสุดท้ายอาจพบว่า ตัวเราก็คือตัวเราที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

“เราแต่ละคนเป็นชีวิตที่มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากชีวิตอื่นๆ ด้วย มนุษย์หลายพันล้านคนมีลักษณะเฉพาะเช่นที่ฉันมีลักษณะเฉพาะ มีโมเลกุลทับซ้อนซึ่งมีโอกาสสิ้นสุดได้ แต่ต่างว่าคนไม่เหมือนคนอื่น”

มุมหนึ่ง คาร์เมลก็ไม่ได้ฟันธงว่า ตัวตนของเราจะเหมือนเดิมตั้งแต่เกิดจนตาย เรื่องสำคัญคือความเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลงว่า ไม่มีสิ่งไหนคงอยู่ถาวรเช่นเดียวกับการแก่ชราและตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา 

“แต่ลักษณะเฉพาะนี้ไม่ได้บอกนัยถึงแก่นสารของชีวิต ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดเหมือนเดิม ตัวตนก็เช่นกัน มีกระบวนการที่เป็นพลวัตรต่อเนื่องในการสร้างตัวตนในปฏิสัมพันธ์กับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และเราใช้นิ้วจิ้มไปไม่ได้ว่าตรงไหนคือแก่นสารของตัวเรา”

ชีวิตคือเส้นเดียวที่ผ่านทั้งประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่ดีและไม่ดีที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าวันนี้จะอายุเท่าไหร่ เราคือเวอร์ชันที่ดีที่สุดของเราแล้ว

เช่นเดียวกับชีวิตวัยชราที่ไม่ได้เป็นความเสื่อม แต่เป็นบันทึกบทใหม่ของชีวิตเหมือนกับการก้าวข้ามผ่านแต่ละช่วงวัยที่เราเคยผ่านมา