เมื่อ ‘คณะจิตวิทยา’ ติดอันดับ 1 คณะที่เด็กเลือก :  เพราะเราอยากเป็นเพื่อนที่ดี เป็นคนใกล้ชิดที่ซัพพอร์ตคนข้างๆ ได้ด้วยการเข้าใจ ‘มนุษย์’

“คณะเราคะแนนสอบเข้าติดอันดับ 1 ใน 10 ทุกปี”

ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ‘คณะจิตวิทยา’ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับความนิยมจากนักเรียนเรื่อยๆ เมื่อปี 2552 ที่ประกาศคะแนนคนผ่านการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบแอดมิชชัน 10 อันดับแรกของประเทศ คณะจิตวิทยาติดอันดับที่ 10 หลังจากนั้นคณะยังคงติดมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

จากข้อมูลในแอคเคาท์ tcaster.official บนอินสตาร์แกรม ระบุ 3 อันดับแรกของคณะที่คะแนนสอบสูงที่สุดในรอบที่ 3 ของระบบ TCAS (เป็นระบบการคัดเลือกกลางในการรับคนเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แบ่งเป็น 4 รอบด้วยกัน โดยรอบที่ 3 จะเรียกว่ารอบ Admission รอบรับรวมที่ใช้คะแนนสอบต่างๆ ยื่นสมัคร) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอันดับหนึ่ง คือ คณะจิตวิทยา ด้วยคะแนนสอบเข้าต่ำที่สุด คือ 83.33 จาก 100 คะแนน

“อยากช่วยคน” เป็นเหตุผลอันดับต้นๆ ที่นักเรียนหลายคนบอกว่าทำไมพวกเขาถึงตัดสินใจเลือกเรียนคณะนี้ เพราะอยากเป็นเพื่อนที่ดี เป็นที่ปรึกษาที่ดี ซัพพอร์ตคนใกล้ตัวให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

และสถานการณ์สุขภาพจิตของคนในตอนนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คณะจิตวิทยายังคงเป็นที่ต้องการในท้องตลาดนักเรียน เพราะคนยังต้องการทำความเข้าใจตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาที่พวกเขาเผชิญ ซึ่งคณะจิตวิทยาเป็นหนึ่งในที่ที่ให้คำตอบพวกเขาได้

เรียนจิตวิทยาไปเพื่อเข้าใจมนุษย์

“มันเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สามารถบรรยาย อธิบายทำนาย และควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในบริบทต่างๆ” 

‘มะลิ’ (นามสมมติ) วัย 24 ปี ศิษย์เก่าจากจิตวิทยา จุฬาฯ บอกว่า การเรียนจิตวิทยาก็คือการเรียนเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์

และเป็นเหตุผลที่นักเรียนหลายคนบอกกับณัฐสุดาตอนสอบสัมภาษณ์เข้าคณะว่าพวกเขาอยากเป็นเพื่อนที่ดี เป็นคนซัพพอร์ตคนอื่นได้ดี หรือเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งพวกนี้เริ่มได้ด้วยการทำความเข้าใจมนุษย์

“เราชอบพูดเล่นๆ กับนิสิตว่า ที่ไหนมีคน ที่นั่นมีงานจิตวิทยา เพราะบทบาทของเรา คือ การที่เราทำความเข้าใจและรู้จักคน ยอมรับ สามารถช่วยเหลือเขาได้อย่างเหมาะสม 

“แต่ก่อนเวลาเราสอบสัมภาษณ์ เราก็จะถามว่าเพราะอะไรถึงเลือกคณะจิตวิทยา เด็กส่วนใหญ่จะบอกว่าชอบช่วยเหลือคน ซึ่งตอนนี้ยังมีคำตอบนี้อยู่นะ คำว่า ‘อยากช่วย’ ของเขา คือ เขาอยากเป็นเพื่อนที่ดี เขาอยากมีส่วนที่สามารถซัพพอร์ตคนอื่นได้ดีขึ้น เขาอยากเป็นผู้ฟังที่ดี”

ทักษะเหล่านี้ที่น่าจะเป็นสิ่งที่เรามีติดตัวตามธรรมชาติ แต่วันนี้มันอาจกลายเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เพื่อให้ได้มา

“แต่ก่อนเราก็คิดว่า มันเป็นสิ่งที่เรามีได้ตามธรรมชาติ เรารู้สึกว่าไม่ต้องเรียนก็ได้ เพราะเราก็มีเพื่อน เราก็ฟังเพื่อนถูกไหม? แต่พอเราเข้ามาเรียน การมีความรู้ชุดหนึ่งทำให้เวลาเราช่วยใครเราจะช่วยอีกแบบหนึ่ง ถ้าช่วยในฐานะเพื่อน อาจบอกว่าทำตามที่ฉันบอกสิ่งนี้สิถึงจะดี แต่พอเรียนจิตวิทยา บทบาทของผู้ช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่งช่วยในนามเพื่อน ช่วยแค่ไหนถึงเหมาะสม การเรียนจิตวิทยาจะทำให้เราเข้าใจบทบาทของการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมมากขึ้น”

สถานการณ์ปัจจุบันก็ทำให้คนเลือกเข้าคณะจิตวิทยามากขึ้น ‘ปัญหาสุขภาพจิต’ ที่มีมากขึ้นจนคนเริ่มให้ความสำคัญ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ปี 2564 มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อชั่วโมง หรือมากกว่า 53,000 คนตลอดทั้งปี และมีผู้เสียชีวิตราว 4,000 คน

การเข้าใจมนุษย์นั้นอาจเป็นคำตอบหนึ่งที่ทำให้เขาเข้าใจตัวเองและคนอื่น แล้วสามารถหาทางช่วยเหลือกันได้ต่อไป

ถ้าอย่างนั้นการไปเรียนเป็นจิตแพทย์อาจตอบโจทย์กว่าไหม? เป็นคำถามที่หลายคนอาจมี ในมุมของณัฐสุดา ทั้ง 2 ศาสตร์นี้ต่างมีผลต่อการดูแลสุขภาพจิต และวิธีแก้ไขก็มีหลากหลายตามความต้องการของแต่ละคน บางคนอยากรักษากับผู้เชี่ยวชาญเช่นจิตแพทย์ หรือเลือกบำบัดกับนักจิตวิทยา

“สิ่งที่ทุกคนจะพูดกับเราตลอด คือ จบแล้วมารักษาฉันหน่อย หรือฉันเป็นบ้าหรือเปล่า? ช่วยดูให้หน่อยได้ไหม เราต้องบอกตลอดว่าไม่สามารถรักษาใครได้ เพราะยังไม่มีใบประกอบอาชีพ ไม่สามารถรักษาใครได้”

มะลิ เล่าถึงความคาดหวังของคนที่รู้ว่าเธอเรียนจิตวิทยา คือ สามารถตรวจสอบและรักษาปัญหาสุขภาพจิตที่พวกเขามี แต่สิ่งนี้นิสิตปริญญาตรียังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการรักษาต้องมีใบประกอบอาชีพตามกฎหมาย และนอกจากนี้การเรียนคณะนี้ก็ไม่ได้การันตีว่าคนเรียนจะไม่ประสบกับปัญหาสุขภาพจิต เพราะการเกิดโรคมีปัจจัยมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำได้ คือ การรู้จักและสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้

“ด้วยความเป็นมนุษย์มันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความคิดวิตกกังวลหรือเป็นโรคได้ การเรียนก็อาจจะช่วยบ้าง แต่เราไม่อยากตอบอะไรที่เป็นความคิดตัวเอง เพราะอาจารย์จะบอกเสมอว่า ถ้าจะพูดอะไรต้องมีงานวิจัยรองรับ 

“ถ้าในมุมเรา เราคิดว่าการเรียนจิตวิทยาช่วยได้นะ เพราะเวลาเรียนเราก็คิดตามบ้าง หันกลับมามองตัวเองบ้าง บางวิชาก็จะมี counseling session ที่อาจารย์เปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยกับพี่ๆนักจิตวิทยา เพื่อให้ได้เรียนรู้วิธีการให้คำปรึกษาพร้อมๆ ไปกับรับบริการจากพี่ๆ เขาด้วย ถ้ามีนิสิตคนไหนอยากเข้ารับบริการต่อ ทางคณะก็พร้อมจะ support ทันที”

พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว : ปัจจัยสำคัญในการเลือกคณะของเด็กคนหนึ่ง

“ตั้งแต่ม.1 ที่เราสนใจอยากเข้าคณะจิตวิทยา”

ความฝันของ ‘ฝ้าย’ (นามสมมติ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ต้องการสอบเข้าคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เธอเล่าว่า เป็นคนที่อยากมีลูกมากๆ และอยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เพื่อให้ได้อยู่ใกล้ชิดและสามารถนำความรู้ไปใช้กับความฝันสูงสุดของเธอได้

วันหนึ่งขณะที่นั่งหาข้อมูลในเว็บเด็กดีสมัยม.1 ฝ้ายก็เจอกับคำว่า ‘คณะจิตวิทยา’ ที่ทำให้เธอสนใจและหาข้อมูลต่อเรื่อยๆ จนเจอว่าคณะนี้มีสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก ทำให้เธอปักธงว่าอยากเข้าคณะนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“ทะเลาะกันเกือบปีเลยค่ะ เริ่มแรกมีความไม่เข้าใจสูงสุด เพราะคุณแม่เราทำงานเกี่ยวกับภาครัฐ เป็นข้าราชการ เขาจะมองเรื่องความมั่นคง การเลี้ยงตัวเองได้ ส่วนคุณพ่อจะเป็นพาร์ทเอกชน ทำธุรกิจส่วนตัว แรกๆ เขาจะไม่เข้าใจว่าเรียนจิตวิทยาไปทำงานอะไร เนื้องานเป็นยังไง 

“ณ ตอนนั้นที่เรายืนยันว่า เราจะไปเรียนคณะนี้ประมาณหนึ่งปี คุณแม่ก็เริ่มเปลี่ยนกลายเป็นสนับสนุน หาข้อมูลว่าคณะนี้เรียนจบอะไร ไปทำงานอะไรต่อ ไปคุยกับคนที่จบคณะนี้ด้วยกัน เราใช้ความพยายามจนจูนความเข้าใจได้”

‘ครอบครัว’ เป็นปัจจัยใหญ่ที่มีผลต่อการเลือกคณะเรียน ฝ้ายเล่าว่า เพื่อนๆ หลายคนเลือกเรียนตามที่ครอบครัวต้องการ เพราะนั่นหมายถึงพวกเขาจะได้ทุนในการเรียนต่อที่ไม่ต้องกู้ยืม passion ที่อยากเรียนคณะในฝัน หรือรายได้จากอาชีพที่เลือกเรียน กลายเป็นเรื่องรองๆ ที่พวกเขาจะหยิบมาพิจารณา

“เรื่องรายได้ สำหรับคนรุ่นฝ้ายมันยืดหยุ่นขึ้นเยอะ เขารู้สึกว่าจบมามันมีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นของอาชีพ จบมาทำงานไม่ตรงสายเป็นเรื่องปกติ เราสามารถหาความรู้ได้ตลอดเวลา ทำให้ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ เรื่องครอบครัว เรื่องค่าเรียน เพื่อนหลายคนกู้กยศ. เขามองเป็นเรื่องปกติมาก ตัวเราเองไม่รู้ว่าการกู้กยศ. ของคนส่วนใหญ่เป็นยังไง เราไม่มีแผนจะกู้ เพราะแม่เคยกู้กยศ. ตอนเรียนแล้วค่อนข้างตั้งตัวยาก เขาเลยไม่อยากให้เรากู้ มีเพื่อนบางคนที่บ้านพร้อมส่ง แต่เขาตัดสินใจไม่เรียนต่อคณะที่พ่อแม่ต้องการ เลยกู้กยศ. เพื่อตัดปัญหาที่ต้องพึ่งผู้ปกครอง

“เรื่องเงินค่าเทอม เรื่องครอบครัวเป็นปัจจัยใหญ่สุดในการเลือกคณะ ส่วนเรื่อง passion เราก็ไม่มั่นใจว่าที่เลือกไปเรามี passion กับมันขนาดไหน เพราะเรื่องครอบครัวมันกลบหมดแล้ว”

สุขภาพจิตเป็นสิ่งที่ฝ้ายบอกว่า คนวัยเดียวกันให้ความสำคัญมากๆ แต่ ณ วันนี้มันกลับถูกสิ่งอื่นๆ กลบจนมองไม่เห็น

“หลายๆ ครั้งการเลือกคณะของเพื่อนบางคน เขาทำเพื่อมั่นใจว่าตัวเองจะสามารถประคองสุขภาพจิตตัวเองได้ไปจนถึงตอนจบ หรือการที่ขอพ่อแม่ไปอยู่หอนอก เพื่อสมดุลความเครียดในการเรียนกับปัญหาที่บ้าน

“พวกเราให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของตัวเอง แต่คนอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ เรา ที่เขาคาดหวังเราจะไม่ค่อยสนใจ เขารู้สึกว่ามันมองข้ามได้ ไปมองถึงความสำเร็จของอนาคตเรามากกว่า”

ณัฐสุดา เต้พันธ์

ในมุมอาจารย์ประจำคณะที่ใกล้ชิดผู้ปกครองนิสิต ณัฐสุดา บอกว่า ความกังวลเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับผู้ปกครองคณะนี้ เพราะไม่มีอาชีพที่กำหนดตายตัวว่าหลังพวกเขาเรียนจบจะสามารถทำงานนี้ต่อได้เลย เช่นอาชีพเฉพาะอื่นๆ ต้องอาศัยกับการประยุกต์นำความรู้ที่มีไปผสมกับอาชีพที่พวกเขาสนใจ ทำให้พ่อแม่หลายคนกังวลถึงเส้นทางอนาคตของลูก

“พ่อแม่จะรู้สึกกังวล มันมั่นคงไหม? ถ้าเทียบกับอาชีพที่มีองค์กรสังกัดชัดเจน มีสายงานที่เห็นว่าเรียนจบมาเป็นแบบนี้นะ ทำให้พ่อแม่จะกังวลมากกว่า ซึ่งเราเข้าใจความกังวลของพ่อแม่นะ หน้าที่ของเราต้องทำให้เขาเห็นว่างานจิตวิทยาทำอะไรได้ ต้องมีบทบาทการทำงานออกมาให้เยอะ พยายามเอาศิษย์เก่ามาคุยให้ผู้ปกครองฟังด้วยบ่อยๆ 

“แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราเห็น คือ พ่อแม่ให้ลูกเลือกเข้าคณะนี้มาแล้ว เขามีใจที่จะฟังลูก เป็นสิ่งที่สำคัญ บางคนบอกไม่เข้าใจ แต่ลูกอยากเรียน ก็คือเชื่อในลูก แต่ความกังวลยังมีอยู่ ก็เป็นหน้าที่ของคณะที่ต้องช่วยให้พ่อแม่เข้าใจ ไม่ใช่เป็นภาระของเด็กๆ เท่านั้น”

แต่ ‘อาชีพ’ ก็ยังเป็นเหตุผลหนึ่งที่เด็กๆ ใช้มองคณะที่จะเรียนต่อ อย่างเช่นฝ้ายที่ตัดสินใจโบกมือลาคณะจิตวิทยา แล้วเข้าคณะพยาบาลแทน เธอให้เหตุผลว่า เป็นเพราะความต้องการที่อยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิด การเรียนพยาบาลจะทำให้มีโอกาสหางานมากขึ้น แล้วที่สำคัญเธอยังได้ความรู้ไปใช้กับความฝันสูงสุดได้ต่อ

สำหรับณัฐสุดา นี่อาจเป็นสิ่งที่เด็กจิตวิทยาต้องเจอ คือ การไม่มีสายอาชีพเฉพาะเจาะจงที่รอพวกเขา ต้องอาศัยแรงตัวเองในการหาสิ่งที่อยากทำ ผสมกับความรู้ที่มีติดตัวด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นความยืดหยุ่นที่ทำให้เด็กมีโอกาสเลือก ไม่ปิดกั้นตัวเองจากความเป็นไปได้ทุกรูปแบบ

“มันก็เป็นความยากอย่างหนึ่งนะ ในแง่ที่ว่าเราจะสามารถ apply ความรู้ที่มีไปทำอาชีพอื่นๆ เราต้องรู้จักตัวเราพอสมควร ต้องคิดว่าฉันจะทำอะไร สิ่งที่จะทำ อนุญาตให้ฉันเอาความรู้ไปใช้ได้ไหม แต่ถ้าเป็นคณะที่อาชีพมีกล่องให้อยู่แล้ว เช่น โจทย์มาอันนี้ก็ทำอันนี้เท่านั้น ก็จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ ไม่ต้องไปไกลเกินกล่องสี่เหลี่ยม แต่เด็กจิตวิทยาเราต้องไปค้นเองด้วย ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่คนต้องไปค้นหา ไม่อยู่ในกล่องที่กำหนดไว้ มันก็เกิดความท้าท้าย ความกดดัน

“ข้อดีคือเราสามารถยืดหยุ่นเอาความรู้ไปใช้ได้ แต่ด้วยความยากของวัย ทุกคนอยู่ในช่วงจังหวะเปลี่ยนผ่านของชีวิต เด็กม.6 จะเข้ามหา’ลัยก็มีความกดดันแบบหนึ่งละ เด็กมหา’ลัยจะจบไปทำงานก็มีความกดดันแบบหนึ่ง เราว่าคนเลยต้องการสิ่งที่มันปลอดภัย เช่น จบก.มาแล้ว ก็จงเป็นก. แต่เด็กจิตวิทยาอาจจะไม่ใช่ เรามีความรู้ให้คุณ มีทางให้คุณทางนี้ แต่ถ้าคุณจะไปประยุกต์ทางอื่น คุณต้องมีสกิลพอที่จะค้นหาว่าฉันจะอยู่จุดไหน”

ณัฐสุดาบอกว่า อาชีพที่คนจบจากคณะนี้ทำต่อมีมากมายไม่ใช่แค่ครูแนะแนว หรือนักจิตวิทยา บางคนไปเป็นนักการตลาด หรือทำงานเป็นนักวิจัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาจากการนำความรู้หรือจุดแข็งของพวกเขา คือ การเข้าใจมนุษย์ ไปประยุกต์กับการทำงานอื่นๆ

“สิ่งที่คณะจิตวิทยาแข็งมาก คือ เราทำ research เก่งมาก เน้นหนักด้านงานวิจัย แล้วสิ่งสำคัญในฐานะคนเรียนจิตวิทยา คือ เราต้องเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์และสามารถอธิบาย ทำนายว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้ กระบวนการเพื่อทำความเข้าใจ อธิบาย และทำนาย กระบวนการวิจัยเชิงมนุษย์จะเข้ามา แล้วสามารถไปใช้กับงานอื่นๆ ได้”

เราต้องการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนเส้นทางได้ตลอดเวลา

“ไม่ได้รู้สึกว่า 4 ปีที่ผ่านมาเสียดายอะไร เพราะการเรียนคณะนี้ทำให้ความคิดที่เรามีเปลี่ยน ตัวเราใจเย็นขึ้น ทำอะไรคิดถึงสิ่งที่จะตามมามากขึ้น เวลาจะพูดหรือทำอะไรบางอย่าง เราจะคิดแล้วว่าคนตรงข้ามจะเสียใจไหม” 

แม้ว่าศิษย์เก่าอย่างมะลิจะยังไม่ได้ทำงานในสายที่ได้ใช้ความรู้จากที่เรียนมาอย่างเต็มที่ แต่เธอก็ยังสามารถเอาสิ่งที่เรียนมาใช้ได้ในชีวิตทำงานและชีวิตประจำวัน คือ การทำความเข้าใจคนอื่น ทำความเข้าใจเพื่อนร่วมงาน เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ชีวิตการทำงานต่อไปได้

และความต้องการของคนที่มีเรื่อยๆ ทำให้ณัฐสุดามองว่าเส้นทางของคณะจะทอดต่อไปอีกยาวๆ 

“เราคิดว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่คนสนใจ และก็คิดว่ามันจะเป็นกราฟที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง เพราะจิตวิทยายังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย”

ไม่ว่าจะเรียนจบจากคณะที่มีอาชีพเฉพาะรองรับอย่างเช่นหมอ ทนายความ หรือวิศวะกร หรือต้องตามหาอาชีพที่เราต้องการ โดยเอาความรู้ที่มีติดตัวไปใช้ แต่ที่เราส่วนใหญ่รู้สึกและอยากได้ คือ การได้เลือกคณะที่อยากเรียน และสามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทาง หรือเริ่มต้นใหม่ได้ตลอดเวลา เพราะความต้องการของเราเกิดขึ้นได้ใหม่และเปลี่ยนได้เสมอ และคงจะดีหากสังคมมีพื้นที่ให้สิ่งนี้

อ้างอิง
mgronline.com
smartmathpro.com
thaipbs.or.th
instagram.com