กระต่ายกับเต่าเวอร์ชัน 2023 ที่ไม่แข่งวิ่ง แต่แข่งกันส่งของให้ได้มากที่สุด เพื่อเงินรางวัลก้อนใหญ่

“ตั้งแต่เด็กเราต่างได้ยินได้ฟังเรื่องราวคำสอนของพ่อแม่ที่เล่าต่อๆ กันมาจากเรื่องเล่าของปู่ย่าตายาย เรื่องเล่าที่พยายามสร้างเงื่อนไขให้เราอยู่กับร่องกับรอย”

บรรทัดแรกของบทบันทึกบรรณาธิการ ‘9 Folk Tales’ 9 นิทานพื้นบ้าน โดย Metabolic Modules กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันเพราะเชื่อในความเปลี่ยนแปลง นำนิทานที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นกบเลือกนาย ปลาบู่ทอง แก้วหน้าม้า ก่องข้าวน้อย ฯลฯ มาเล่าใหม่ เพื่อชวนคนอ่านตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราถูกบอกต่อๆ กันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน ว่ามันเป็นความจริงหรือไม่?

เพราะหน้าที่ของนิทานเหล่านี้นอกจากสร้างความเพลิดเพลิน ก็เป็นการให้ไอเดียหรือความเชื่อบางอย่างในรูปแบบที่เรียกว่า ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…’ แต่คำสั่งสอนบางอย่างเป็นสิทธิ์ของคนอ่านที่จะตั้งคำถามกลับได้เช่นกันว่า สิ่งที่นิทานพยายามสอนเรา มันจำเป็นต้องเชื่อหรือเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไหม

กล่องนิทานพื้นบ้าน 9 เรื่องถูกนำมาเล่าใหม่ เพื่อชวนพวกเราตั้งคำถาม เปลี่ยนทัศนคติที่เคยมี พร้อมกับสร้างพื้นที่ที่โอบอุ้มทุกๆ ความปรารถนาของทุกคน

‘กระต่ายกับเต่า (Rabbit & turtle)’ หนึ่งในนิทานที่เราได้ยินกันมานาน การแข่งวิ่งระหว่าง ‘เจ้ากระต่าย’ ที่มีธรรมชาติติดตัวคือวิ่งเร็ว กับเจ้าเต่าที่ถูกผูกไว้ให้ต้องเคลื่อนไหวช้าๆ แต่สุดท้ายการย่ามใจของกระต่าย ก็ทำให้เต่าที่วิ่งช้าที่สุดกลายเป็นผู้ชนะได้

แต่จะเป็นอย่างไร ถ้านิทานเวอร์ชันนี้ กระต่ายและเต่ากลายเป็นพนักงานส่งสินค้าที่กำลังแข่งกันส่งของให้ได้มากที่สุด เพื่อรางวัลเงินก้อนใหญ่ที่รออยู่ 

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น สารที่นิทานอยากส่งต่อให้ผู้อ่าน แม้เต่าจะเคลื่อนไหวช้าแค่ไหน แต่หากมีความเพียรพยายาม ก็จะสามารถเอาชนะกระต่ายที่เก่งกว่าได้

และขณะเดียวกัน นิทานก็ทำให้เราเห็นอีกมุมว่า ตัวละครกระต่ายแทนคนที่มีต้นทุน ความพ่ายแพ้ของกระต่ายก็เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจคนเหล่านี้ว่า อย่าชะล่าใจในสิ่งที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะความเก่ง หรือต้นทุนต่างๆ เพราะพวกเขาอาจมีโอกาสถูกคนที่ด้อยกว่าเช่นเต่าเอาชนะได้ ฉะนั้น ต้องถีบตัวเองให้ไกลที่สุด จนไม่มีใครตามหลังมาได้

ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกนิทาน มันอาจมีผลแค่การแข่งวิ่งที่มีคนแพ้และชนะ แต่ในโลกความเป็นจริงมันไม่ต่างจาก ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ไหลเวียนในสังคม เต่าอาจเป็นคนที่ต้องดิ้นรนในทุกๆ วัน เอาชนะชีวิตที่มีบททดสอบทุกจังหวะ ขณะที่กระต่ายก็ต้องพยายาม แต่เป็นความพยายามบนพื้นนุ่มๆ และลมเย็นๆ ที่ทำให้เส้นทางไม่ยากลำบากนัก แต่ปลายทางของคนทั้งสองกลุ่มก็คือการมีชีวิตที่ดีแบบที่ตัวเองต้องการ

‘ความพยายาม’ กลายเป็นตัวแปรในเกมนี้ ถ้ามีมันมากพอก็เท่ากับว่ามีโอกาสถึงเป้าหมายที่วาดไว้ ในขณะที่เราพยายามก็อาจมีคำถามเล็กๆ ที่เกิดขึ้นว่า แล้วการอยู่ในสังคมนี้เราต้องมีความพยายามเท่าไรกันถึงจะพอ แล้วความพยายามมันเป็นสิ่งที่เราต้องมีจริงๆ หรือ ‘สภาพสังคม’ ต่างหากที่ทำให้ความพยายามกลายเป็น ‘ของมันต้องมี’ คนที่ไม่ดิ้นรนมากพอ ก็จะถูกบอกว่าเขาไม่มีความพยายาม กลายเป็นปมเล็กๆ ที่อยู่บนตัวพวกเขา 

ที่กระต่ายและเต่าหวังรางวัล เพราะพวกเขามีแผนที่อยากนำเงินที่ได้ไปใช้ กระต่ายอยากปรับปรุงบ้านใหม่ให้ครอบครัว ส่วนเต่าต้องการเงินเพื่อพาลูกๆ ไปเที่ยว แต่ลูกๆ ที่เป็นเหตุผลของกระต่ายและเต่า การเห็นพ่อแม่ต้องทำงานหนักไม่ได้ทำให้รู้สึกดี ลูกๆ จึงไปหาคำตอบว่า การทำงานแบบไหนที่จะทำให้พ่อแม่พวกเขามีความสุขจากสิงสาราสัตว์ต่างๆ

การทำงานของเจ้าสลอธ คือ ทำงานเรื่อยๆ ไม่เร่งร้อน เหนื่อยก็พักแล้วค่อยกลับไปทำต่อ  

หรือ ม้าที่เร่งทำงานให้เสร็จแล้วค่อยพักทีเดียว

ขณะที่เหล่าฝูงนกขอทำงานที่มีความสุขมากๆ กับเพื่อนๆ ที่ดี

สัตว์แต่ละตัวก็มีวิธีทำงานของตัวเอง ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกัน แต่มันก็มีจุดร่วมอย่างหนึ่ง คือ เป็นการทำงานที่พวกเขาเลือกเอง สอดคล้องกับความต้องการ วิถีชีวิตของตัวเอง

การทำงานของกระต่ายกับเต่า พวกเขาทำงานที่ไม่สนระหว่างทาง ให้ความสนใจทั้งหมดไปที่เป้าหมายปลายทาง คือ ความก้าวหน้าทางอาชีพ และเงินมาเลี้ยงดูตัวเอง ครอบครัว 

แนวการทำงานแบบกระต่าย สลอธ หรือเต่าเองจะยังคงเกิดขึ้นในสังคมเรื่อยๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ผิดบาป แต่ในแง่หนึ่งหากต้นทุนชีวิตพวกเขาดีกว่านี้ ที่ไม่ต้องเฆี่ยนตีตัวเองในการทำงานให้หนัก จะยังทำให้กระต่ายและเต่าเลือกทำแบบนี้หรือไม่

คำตอบอาจหาไม่ได้เร็วๆ นี้ แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้น คือ สังคมที่เปลี่ยนแปลง คนเริ่มหันกลับมาให้ความสำคัญกับตัวเอง แล้วตั้งคำถามกับการทำงานที่พวกเขาเผชิญอยู่ทุกวันนี้ว่ามันเหมาะสมแล้วหรือยัง

หากใครสนใจอยากอ่านนิทานชุดนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่เพจ Nine Folk Tales

ภาพประกอบจากนิทานกระต่ายกับเต่า (Rabbit & turtle)