ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

พนักงานร้านหมูกระทะ ช่างซ่อมรถ ซื้อบ้านให้แม่ : ความฝันของเด็กๆ ในศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ศูนย์การเรียนรู้นานาชาติของเด็กไร้สัญชาติ ที่ไม่เสียค่าเทอม แต่ได้ทักษะเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน

“ความฝัน…ก็อยากเป็นช่างซ่อมรถ”

‘หม่อง’ ในวัย 14 ปีบอกกับเราถึงความฝันที่เขาเริ่มวางไว้แล้ว 

เมื่อถามถึงต้นสายปลายเหตุของความฝันนี้ หม่องเล่าว่าเขาเคยเห็นคนซ่อมรถแล้วรู้สึกชอบ บวกกับคิดว่านี่น่าจะเป็นอาชีพที่ดีอาชีพหนึ่ง

“เปิดร้านซ่อมรถ อยากมีที่อยู่อาศัยให้แม่ ให้แม่ได้อยู่อย่างสุขสบาย 

“ซ่อมรถเหมือนอาชีพดี เราก็อยากทำตาม จะตั้งเป็นเป้าหมายในชีวิตให้ดีแล้วทำตาม”

หม่องเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา จังหวัดเชียงใหม่ ที่ศูนย์การเรียนแห่งนี้จะเรียกว่าเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้นานาชาติ’ ก็ได้ เพราะนักเรียนกว่า 168 คน เป็นชาวชาติพันธ์ุและลูกหลานแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาวกะเหรี่ยง ไทใหญ่ เป็นต้น 

ที่มาของศูนย์แห่งนี้เกิดจากการรวมตัวของคนกลุ่มหนึ่งที่อยากใช้ ‘การศึกษา’ พัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่พวกเขาจะทำงานในไร่ส้ม ทำให้โลกของเด็กๆ เกือบจะทั้งหมดถูกผูกไว้กับต้นส้มและพื้นหญ้า ชีวิตของพวกเขาจึงดำเนินตามรอยพ่อแม่

“ถ้าเราโตมาในสวน เราก็อาจเห็นเเค่นั้น เเต่ถ้าเรามาอยู่ที่นี่เราก็จะเห็นอะไรได้กว้างขึ้น แล้วเราเชื่อว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงคนนึงได้ในอนาคต นั่นหมายความว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตของตัวเองในเรื่องใดก็ได้ เช่น เอาตัวรอดในสังคมได้ มีอาชีพติดตัว” ครูสายลม – พลวัฒน์ ล้วนศรี คุณครูประจำศูนย์การเรียนฯ และเป็นหนึ่งในคนร่วมก่อตั้งศูนย์นี้ เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของที่นี่

ช่วงเวลาแห่งการเป็นเด็ก อาจเป็นช่วงเวลาที่ถูกบอกว่าควรให้ความสนใจกับการเรียน แต่ชีวิตของเด็กที่นี่พวกเขามีสิ่งสำคัญมากกว่า คือ ปากท้อง การออกไปทำงานเพื่อได้เงินจึงน่าสนใจกว่าการเรียนหนังสือ ทำให้หลักสูตรของที่ศูนย์การเรียนฯ ไม่เน้นวิชาการ แต่เน้น ‘วิชาชีวิต’ ที่เด็กๆ จะสามารถนำไปใช้ได้จริง

“เราจะมีเด็กเกินเกณฑ์ค่อนข้างเยอะ อย่างเช่นเด็กนักเรียนที่อายุ 14 – 15 ปี แต่ยังเรียนชั้นป.3 ซึ่งถ้าตามเกณฑ์จริงๆ คือต้อง 10 ขวบ ถ้าเข้าไปเรียนโรงเรียนทั่วไปอาจเกิดปัญหาถูกบูลลี่ ช่องว่างเรื่องภาษา วัฒนธรรมต่างๆ เขาก็เลยหลุดออกจากระบบ เราเลยมีโรงเรียนนี้ขึ้นมาเพื่อโอบรับเด็กกลุ่มนี้”

‘โรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะเพื่อเด็กชายขอบ’ ที่ศูนย์การเรียนฯ ทำร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดการเรียนรู้ที่ทำให้คนเรียนมี ‘ความสุข’ และมีสุขภาวะที่ดีควบคู่ไปด้วยกัน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนในสิ่งที่ชอบและเป็นทักษะชีวิตที่ใช้ได้จริง

ตารางเรียนที่ใช้ได้จริง

“ตอนแรกไม่อยากมา อยากอยู่บ้าน แต่แม่บอกให้มาก็มา มาแล้วได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เจอเพื่อน รู้สึกว่าสนุก”

‘เมือง’ เพื่อนร่วมชั้นของหม่องเล่าว่าเขาไม่ได้อยากมาเรียนที่นี่เอง แต่แม่เป็นคนคะยั้นคะยอให้มา การอยู่ที่นี่ช่วงแรกจึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่สนุกสำหรับเขา

“มาแรกๆ ก็เกร็ง ไม่รู้จักคนอื่น ไม่เคยออกจากบ้านมาแบบนี้ แล้วแรกก็อายๆ ด้วย ไม่มีเพื่อน รู้สึกอยากกลับบ้าน”

พอเรียนไปได้ 3 ปี เมืองก็เริ่มจะชอบชีวิตที่นี่ โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย เพราะยิ่งเรียนก็ทำให้เขาเข้าใจ สื่อสารกับคนอื่นได้มากขึ้น

นอกจากนี้ เมืองก็ยังชอบ ‘ชมรมโรงอาหารสุขภาวะ’ หนึ่งในกิจกรรมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะฯ ที่จะให้ออกแบบการเรียนรู้ในรูปแบบชมรม ซึ่งเด็กๆ เลือกได้เองว่าอยากเข้าชมรมอะไร เมืองอธิบายชมรมของเขาให้ฟังว่า เป็นชมรมที่ส่งเสริมให้รักษาความสะอาดภายในศูนย์การเรียน มีภารกิจไปเก็บขยะคนละ 1 ชิ้น หรือทำความสะอาดโรงอาหารบ้าง 

‘ชมรมอาหารปลอดภัย’ ชมรมที่หม่องเลือก เขาเล่าว่าที่เลือกชมรมนี้เพราะได้ทำอาหาร ซึ่งอาจกลายเป็นอาชีพในอนาคตได้อีกหนึ่งอย่าง เมนูที่หม่องเพิ่งทำไป คือ แยมส้ม

“ขั้นตอนแรกก็ปลอกเปลือกส้ม เอาใยแมงมุมออกแล้วก็เมล็ด ส่วนที่สำคัญต้องเอาออกให้สะอาด เอาไปใส่ในหม้อทอง ใช้ไฟอ่อนๆ ต้มส้ม” หม่องเล่าถึงกรรมวิธีทำแยมส้มที่เขาได้รู้ รสชาติแยมส้มจากเพื่อนๆ ที่ได้ชิม ต่างพากันบอกว่าอร่อยมาก ดูท่าอาจจะได้เห็นเขาขายแยมส้มควบคู่ไปกับการซ่อมรถ

“ด้วยหลักสูตรของที่นี่ เราเน้นเรื่องพัฒนาทักษะชีวิต หรือ life skill ตอนเช้าเด็กๆ ก็เรียนวิชาการ 8 สาระตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ พอตกบ่ายเราก็ออกแบบกิจกรรมไม่เน้นวิชาการ แต่เน้นทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้เด็ก เพราะเด็กจะอยู่ไม่นาน ไม่กี่ปีก็ต้องออกไปหรือกลับไปสู่วงจรการทำงาน เราเลยให้เด็กเลือกเรียนอะไรก็ได้ที่จะไปส่งเสริม ต่อยอด ทั้งอาชีพหรือการเดินทางของเขาในอนาคต” ครูสายลมช่วยอธิบายกิจกรรมเพิ่มเติม

ภาพปลายทางของเด็กๆ ที่จะเกิดจากการเรียนรู้ของที่นี่ จึงไม่ใช่เด็กที่เรียนได้เกรด 4 ทุกวิชา หรือสอบข้อสอบกลางแล้วได้คะแนนสูงที่สุด แต่คือการที่เด็กสามารถเอาสิ่งที่เรียนไปใช้ได้จริง

หลังเลิกเรียนที่ตรงกลับบ้านเท่านั้น

‘คนไร้สถานะ’ เป็นอีกสิ่งที่นักเรียนที่นี่สวมใส่ ไร้สถานะ หมายถึง คนที่ไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย หรือไม่มีเอกสารรับรองสถานะบุคคล เช่น บัตรประชาชน หรือสูจิบัตร ทำให้พวกเขากึ่งๆ จะเป็นคนไร้ตัวตน และส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างเช่นการเดินทาง

รัศมีภายในอำเภอที่พวกเขาอยู่ อาจเป็นระยะความยาวที่เด็กไปได้ไกลสุดและปลอดภัย เพราะถ้ามากกว่านี้หรือแค่ก้าวเท้าออกจากบ้าน พวกเขาอาจเจอถูกปรับเงินหรือจับ

“บางครั้งเพื่อนชวนไปเที่ยว แต่หนูคิดว่าไม่มีบัตรออกไปไหนก็ยากค่ะ” ‘แสงหอม’ เล่าให้ฟังถึงความยากของการออกไปข้างนอก

ที่ศูนย์การเรียนฯ แห่งนี้นอกจากติดตั้งทักษะชีวิตให้เด็กๆ จึงพยายามทำงานผลักดันให้ทุกคนได้รับเอกสารตามกฎหมายควบคู่ไปด้วยกัน

“เรากำลังผลักดันเรื่องนโยบายการเดินทางให้เด็กกลุ่มนี้อยู่ ทำควบคู่กับหลายๆ เรื่อง อย่างประเด็นสุขภาพที่เราทำไปให้เด็กเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ก็พยายามไปทีละเรื่อง น่าจะดีขึ้นในอนาคต” ครูสายลมเล่าเพิ่มเติม

ฝันที่ไม่ต้องไกลและยิ่งใหญ่ แต่ขอเป็นไปได้จริง

นอกจากหม่องอยากเป็นช่างซ่อมรถ อาชีพ ‘พนักงานร้านหมูกระทะ’ ก็เป็นสิ่งที่เขามองๆ ไว้ด้วยเช่นกัน ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ ก็เริ่มคิดถึงความฝันของตัวเองเหมือนกัน

“อยากทำงานช่วยแม่หาเงิน ตอนนี้แม่ทำงานแค่คนเดียว เลี้ยงครอบครัวก็เหมือนจะไม่ไหวแล้ว” อนาคตที่ ‘คำกู่’ เขียนให้ตัวเอง เธอก็เหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่ไม่แน่ใจว่าอาชีพที่จะได้ทำคืออะไร แต่หวังว่ามันจะทำให้เธอได้เงินที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ 

ส่วนเมืองเอง ตอนนี้เขายังไม่มีแผนแน่ชัด แต่ไร่ส้มอาจเป็นที่ทำงานหนึ่งแน่ๆ “อยากหาที่ทำงานดีๆ เก็บตังค์สร้างบ้านให้พ่อแม่สบาย”

ตรงกันข้ามกับหม่อง เขาเคยทำงานในไร่ส้มและนั่นเป็นประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ทำให้ถ้าเลือกได้ เขาขอไปทำงานที่อื่นดีกว่า “แต่ก่อนนี้ผมไปทำงาน ผมโดนเปรียบเทียบมาก เพราะตอนนั้นผมอายุ 13 ก็โดนด่า โดนใช้คำหยาบเยอะ เพราะตอนนั้นเราก็ไม่รู้เรื่องจริงๆ ว่าต้องทำงานยังไง พอได้ทำก็เป็นการเรียนรู้ ตอนนั้นที่เขาด่าอาจจะเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งก็ได้”

“หนูก็ยังไม่รู้ว่าเรียนจบมั้ย ดูก็มีแม่คนเดียว บางวันหนูก็มาโรงเรียน ไปทำงานช่วยแม่บ้าง

“หนูก็มีความฝันนะ หนูอยากมีงานดีๆ ทำ แล้วก็ซื้อบ้านซื้อรถให้แม่ ไม่อยากให้แม่ลำบาก”

ความฝันของ ‘แสงหอม’ อีกหนึ่งเพื่อนร่วมชั้น ที่ขอให้ได้ทำงานที่มีเงินเยอะๆ เพื่อดูแลแม่ได้

ครูสายลมคลุกคลีกับเด็กๆ กลุ่มนี้ เล่าว่า เด็กที่มาเรียนที่นี่ส่วนใหญ่จะมีภารกิจที่ต้องช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว เช่น ทำงานหาเงินเพิ่ม หรือดูแลน้องแทนพ่อแม่ที่ต้องออกไปทำงาน ทำให้ที่ศูนย์ฯ ช่วยเด็กๆ ด้วยการอนุญาตให้พาน้องมาเรียนด้วยกันได้ 

“เด็กที่นี่เขาก็จะมีความเป็นพี่น้องสูงมาก คือ ไม่ใช่แค่ดูแลน้องของตัวเองนะ น้องคนอื่นพวกเขาก็ช่วยกันดูแลเหมือนกัน เสมือนเป็นคนในครอบครัว”

และชีวิตที่มีสิ่งที่ต้องทำเต็มไปหมด ทำให้ความฝันของพวกเขาจะไม่ใช่สิ่งที่ไกล แต่เป็นสิ่งใกล้ๆ มองเห็นจำต้องได้ และที่สำคัญเป็นไปได้จริง “เด็กที่นี่ความฝันเขาจะไม่ฝันไกล พอ 6 เดือนเขาก็จะมีความฝันหนึ่งเกิดขึ้นมาล่ะ อาจจะเปลี่ยนหรือว่าต้องออกไปทำงานแล้ว 

“เราจะไม่เข้าไปบอกว่า ความฝันอย่างนี้มันไม่ดีนะ แต่หน้าที่เราคือการสนับสนุน เด็กจะทำอะไรเราพยายามหนุนเสริม เช่น เด็กฝันอยากเป็นคนทำขนม มีร้านเบเกอรี่ของตัวเอง เราก็พาเชฟมา เพื่อสนับสนุนในสิ่งที่เขาอยากรู้ หรือบางคนอยากเป็นช่างถ่ายภาพ เราก็พยายามหนุนด้วยการเอากล้องให้เด็กเล่น แล้วก็เชิญคนที่เขาถนัดทางด้านถ่ายภาพเข้ามาสอน  

“เป็นเรื่องดีที่ทำให้เด็กฝันให้ไกล แต่เราก็ต้องมองความเป็นจริงที่เด็กเจอ หรือพัฒนาจากสิ่งใกล้ตัวเขาก็ได้ ตอนผมมาแรกๆ มีเด็กขอให้สอนตัดหญ้า เราก็สงสัยว่าทำไมให้สอนเรื่องนี้ แต่ก็สอนไป จนเขากลับมาบอกว่าไปช่วยพ่อแม่ทำงานตอนปิดเทอม ได้ค่าแรงเพิ่มที่ตัดหญ้าได้ 50 บาท เป็นเรื่องที่เรานึกไม่ถึงนะ สิ่งที่เราสอนแล้วเขาเอาไปใช้ในสวนได้”

แม้ว่าการศึกษาอาจเป็นเรื่องลำดับท้ายๆ ที่คนจะสนใจ แต่สัญญาณจากการทำศูนย์การเรียนมาเกือบ 5 ปีแล้วมีเด็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครูสายลมมองว่า คนที่นี่อาจตื่นตัวและมองเห็นความสำคัญของการศึกษา

“ประเทศเราคัดเลือกคนจากเอกสาร จากวุฒิการศึกษา ถ้าเราจบแค่ป.3 เอกสารก็ยังไม่ทันมี วุฒิการศึกษาก็ไม่มี อาจทำให้เด็กกลับไปสู่วงจรแบบผู้ปกครอง ดังนั้น เราพยายามทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาว่า ในอนาคตอย่างน้อยก็ขยับจากไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นจบศึกษาขั้นพื้นฐาน มันก็เพิ่มรายได้มากขึ้น สามารถดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น 

“เราพยายามทำให้ผู้ปกครองรู้สึกว่า อย่างน้อยก็ยังมีคนสนใจเขาอยู่ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะถูกทำให้เหมือนไม่มีตัวตนในสังคม แต่เขาก็รู้ว่าโรงเรียนนี้ยังดูแลเขาได้ในเรื่องของพัฒนาคุณภาพชีวิต อย่างน้อยลูกไปโรงเรียนแล้วเขาก็สามารถดูแลครอบครัวได้ด้วย”

เปิดเทอมหน้าไม่รู้ว่าเด็กๆ กลุ่มนี้จะได้กลับมาอีกไหม แต่ที่แน่ๆ ถ้าพวกเขาได้ออกไปใช้ชีวิตที่ตัดสินใจเอง โดยมีช่วงเวลาในศูนย์การเรียนนี้ ที่ทำให้มีทักษะเอาตัวรอดติดตัวไปได้